มองโกลรุกรานโปแลนด์-ฮังการี ในมุมมองของประวัติศาสตร์ปัจจุบัน [ไม่อวยมองโกล]

โดย กาลามชน

เรื่องราวของการบุกยุโรปของกองทัพมองโกลในปี 1241 มีสองลักษณะ แบบแรกเป็นแนวพงศาวดาร คือเป็นเรื่องเล่าที่ตกทอดมาจากยุคโบราณ ซึ่งมักจะบรรยายภาพมองโกลเป็นยอดนักรบไร้เทียมทานที่พิชิตไปทั่วโดยไร้ผู้ต่อต้าน โดยเรื่องพงศาวดารนั้นแม้จะมีหลายฉบับแต่เมื่อสืบสาวแล้วพบว่าทั้งหมดมีต้นตอมาจากแหล่งเดียว คือบันทึกของบาทหลวงจอห์น คาร์ปินี่ ราชทูตอิตาลีที่เดินทางไปราชสำนักมองโกล ที่คาราโครัมในมองโกเลีย ระหว่างปี 1245-1246 เนื่องจากโอเกได ข่านผู้ยิ่งใหญ่แห่งมองโกลที่สั่งบุกยุโรปเสียชีวิตและมีการเลือกผู้นำคนใหม่ ทางวาติกันเห็นเป็นโอกาสที่จะสร้างความสัมพันธ์ไว้เป็นหลักประกันว่ายุโรปจะไม่ถูกรุกรานอีก จึงส่งคาร์ปินี่เป็นทูตไปเจริญสัมพันธไมตรี ซึ่งทางมองโกลได้ให้การต้อนรับอย่างดี แม้ว่าการเจริญสัมพันธไมตรีจะไม่ประสบผลตามเป้าหมาย แต่คาร์ปินี่ก็มีโอกาสได้สอบถามผู้นำมองโกลหลายคนเกี่ยวกับสงครามรุกรานยุโรปปี 1241 เมื่อกลับมาเขาได้เขียนหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์ของมองโกล’ (Estoria Mongolorum) ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับมองโกลที่เก่าแก่ที่สุดของทางยุโรป และเป็นแหล่งข้อมูลเพียงหนึ่งเดียวที่มี ซึ่งถูกใช้เป็นแหล่งอ้างอิงอย่างต่อเนื่องนานหลายร้อยปี

อย่างไรก็ตามเรื่องในหนังสือของคาร์ปินีมีบางส่วนที่ไม่ถูกต้อง เพราะรับฟังข้อมูลด้านเดียวมาจากมองโกล เนื้อหาย่อมต้องยกย่องมองโกลเป็นธรรมดา รวมทั้งทัศนคติของชาวยุโรปในสมัยก่อนจะเกลียดฮังการี เนื่องจากเคยเป็นอันธพาลใหญ่ที่ออกรุกรานไปทั่วยุโรปนานหลายศตวรรษ ดังนั้นเรื่องเล่าในแนวมองโกลพิฆาตฮังการีจึงเป็นที่ถูกใจผู้อ่านและได้รับความนิยมมาโดยตลอด

ต่อมาเมื่อเข้าสู่ยุคปัจจุบัน เมื่อการสื่อสารระหว่างตะวันตกกับตะวันออกมีมากขึ้น นักวิชาการก็สนใจศึกษาข้อมูลจากทางเอเชีย แต่การศึกษาเริ่มต้นค่อนข้างช้าเพราะนักวิชาการตะวันตกอ่านหนังสือโบราณของแถบเอเชียกลางไม่ได้ ต้องศึกษาจากผลงานการแปลของนักวิชาการจีน ซึ่งต้องรอจนถึงต้นศตวรรษที่ยี่สิบจึงจะเริ่มมีมาให้ศึกษา และกว่าจะมีข้อมูลอย่างเพียงพอก็เป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งพอได้ข้อมูลจากเอเชียเอามารวมกับข้อมูลของทางยุโรปที่มีการชำระใหม่ ทำให้มุมมองของเหตุการณ์เปลี่ยนไปจากเดิม แม้ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเรื่องอาจจะเปลี่ยนไปไม่มาก แต่รายละเอียดที่มากขึ้นทำให้คำอธิบายถึงเหตุผล เพราะอะไร หรือทำไม ค่อนข้างจะต่างไปจากความเข้าใจเดิมมากพอควร

เรื่องของมองโกลที่เผยแพร่ในต่างประเทศมีทั้งสองแบบ ความเชื่อแบบดั้งเดิมก็ยังคงเห็นมีเผยแพร่อยู่ ส่วนเรื่องที่ค้นพบใหม่ก็เป็นประวัติศาสตร์ทางเลือก อย่างไรก็ตามเรื่องที่เห็นเผยแพร่ในภาคภาษาไทยเกือบทั้งหมดจะเป็นแนวพงศาวดารเก่าที่ยกย่องมองโกล ยังไม่ค่อยเห็นแนวประวัติศาสตร์สมัยใหม่ ก็เลยขอตั้งกระทู้เพื่อให้ลองเปรียบเทียบความแตกต่าง โดยจะมีบางส่วนที่ต่างไปจากเดิมค่อนข้างมากซี่งจะอยู่ช่วงท้ายๆของกระทู้ซึ่งค่อนข้างจะยาวสักหน่อย

อนึ่ง เรื่องราวเกี่ยวกับการขึ้นสู่อำนาจของมองโกล ผมจะขอข้าม เพราะจะทำให้เรื่องยืดยาว และเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะทราบแล้ว หรืออย่างน้อยก็หาอ่านได้จากหลายแหล่ง ดังนั้นเพื่อไม่ให้เสียเวลาจะขอข้ามไปตอนที่มองโกลเตรียมจะบุกฮังการีเลย

แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่