ความคืบหน้าของความพยายามการคืนชีพไทลาซีน หรือเสือแทสมาเนียน

หนึ่งในสัตว์ที่สูญพันธุ์ไปเพราะฝีมือของมนุษย์ที่โด่งดังที่สุดจากซีกโลกใต้ คือ ไทลาซีน (Thylacine) หรือเป็นที่รู้จักในชื่อเสือแทสมาเนียน (Tasmanian Tiger) สัตว์รูปร่างคล้ายสุนัขป่า มีลายเหมือนเสือโคร่ง และมีกระเป๋าหน้าท้องเหมือนจิงโจ้ สัตว์ชนิดนี้เคยอาศัยอยู่ในทวีปออสเตรเลีย แทสมาเนียและนิวกินี จวบจนตัวสุดท้ายตายไปที่ Hobart Zoo ในปี 1936 นับจากนั้นมาโลกก็รู้จักเพียงภาพถ่าย ภาพวิดีโอ ซากที่ถูกสต๊าฟและตัวอย่างที่ดองไว้ในโหลแก้ว


ไทลาซีนหรือเสือแทสมาเนียน


ด้วยตัวอย่างซากและชิ้นส่วนกว่า 450 ชิ้นที่ยังหลงเหลือมาจนถึงปัจจุบัน จึงมีความพยายามหลายต่อหลายครั้งในการที่จะคืนชีพสัตว์ชนิดนี้ ด้วยการสกัดเอาสารพันธุกรรมออกมาจากกระดูก หนัง และตัวอย่างสำคัญที่สุดจาก The Melbourne Museum คือตัวอ่อนของไทลาซีนที่ชื่อโจอี้ (Joey) ที่ถูกดองไว้ในแอลกอฮอล์นับตั้งแต่ปี 1886 และทีมของมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นนำโดย Andrew Pask สามารถสกัดดีเอ็นดีทั้งหมด หรือจีโนมทั้งหมดของโจอี้ได้เป็นผลสำเร็จในปี 2017 ทำให้เราได้แม่แบบอันสมบูรณ์ของจีโนมทั้งหมดในไทลาซีน และนี่ถือเป็นจีโนมของสัตว์สูญพันธุ์ที่สมบูรณ์ที่สุดอีกด้วย

เราประสบความสำเร็จในการโคลนนิ่งสัตว์โดยใช้นิวเคลียสจีโนมจากสัตว์ตัวหนึ่งใส่เข้าไปในไข่ของสัตว์ที่เป็นแม่อุ้มบุญสำเร็จมาตั้งแต่คราวของแกะชื่อดอลลี่ในปี 1996 แล้ว ทว่านั่นเป็นสัตว์ที่ยังไม่สูญพันธุ์และยังมีแม่อุ้มบุญที่เป็นสปีชีส์เดียวกันหาได้ทั่วไป ซึ่งไทลาซีนไม่โชคดีขนาดนั้น สัตว์ตัวนี้เกือบจะคล้ายๆกับไดโนเสาร์ใน Jurassic Park ที่ต้องหาสัตว์อื่นมาเติมช่องว่างที่ขาดหายไป แต่คราวนี้เราไม่ได้เอาดีเอ็นเอของสัตว์อื่นมาเติมในจีโนมของไทลาซีน แต่เราเอาดีเอ็นเอของไทลาซีนไปใส่ในจีโนมของสัตว์อื่น


Joey ซากตัวอ่อนของไทลาซีนที่ถูกดองแอลกอฮอล์ไว้ตั้งแต่ปี 1886

ถึงตอนนี้เรามีเทคโนโลยีพันธุวิศวกรรมใหม่ที่ช่วยให้เราตัดต่อดีเอ็นเอได้ง่ายขึ้น อย่าง CRISPR ที่ทำให้เรานำดีเอ็นเอจากสิ่งมีชีวิตหนึ่งใส่เข้าไปในจีโนมของอีกสิ่งมีชีวิตหนึ่งได้สะดวกขึ้นและตรงตำแหน่งที่ต้องการขึ้น (เทคโนโลยีก่อนหน้านี้เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นการสุ่ม ไม่รู้ว่าจะเข้าไปตรงไหน เข้าไปถูกหรือไม่)

ทีมวิจัยที่นำโดย Dr. George Church จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทำงานคล้ายๆกันนี้ในช้างแมมมอธและพยายามสร้างแมมมอธขึ้นมาใหม่จากญาติที่ใกล้ชิดที่สุดในปัจจุบันอย่างช้างเอเชีย ทีมนี้ตรวจสอบพบยีน 1642 ยีน ที่ควบคุมลักษณะต่างๆและทำให้สัตว์แต่ละชนิด “แตกต่างกัน” เช่น ลักษณะใบหู ลักษณะเส้นขน Dr. Church กล่าวว่ามีความเป็นไปได้ที่จะสร้างลูกผสมของช้างเอเชียและช้างแมมมอธได้ในเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้และพยายามที่จะสร้างสิ่งที่เรียกว่าครรภ์เทียม (Artificial Wombs) ขึ้นมาด้วย


ย้อนกลับมาที่ไทลาซีน แม้จะเป็นไปได้ยากที่เราจะหาลำดับนิวคลีโอไทด์ทั้งหมดของไทลาซีนโดยที่ไม่มีต้นแบบ แต่ทีมจากมหาวิทยาลัยเมลเบิร์นก็ลองศึกษาจีโนมของ marsupial หรือสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องชนิดอื่นๆเปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นเพื่อหาความแตกต่าง และนำส่วนที่แตกต่างของสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้องพวกนั้นมาจับกับไทลาซีน จึงสามารถหายีนของไทลาซีนมาได้หนึ่งยีนคือ Col 2A1 ที่ควบคุมการสร้างกระดูกและกระดูกอ่อน ยีน Col 2A1 จึงถูกทดลองถ่ายให้กับตัวอ่อนของหนูพร้อมกับยีนติดตามที่จะแสดงสีฟ้าเมื่อยีนที่ถ่ายเข้าไปมีการแสดงออก และก็พบว่ายีนมีการทำงานในตัวอ่อนหนูจริงๆในขั้นตอนการพัฒนากระดูก


ตัวอ่อนของหนูที่ถูกถ่ายยีน Col 2A1 จากไทลาซีนเข้าไป และยีนมีการแสดงออกในหนู เห็นได้จากสีฟ้าซึ่งเกิดยีนติดตามผลเมื่อยีนที่ถ่ายเข้าไปมีการแสดงออกในเป้าหมาย

นี่ทำให้เราพอมีความหวังว่าเราจะสามารถศึกษาได้มากพอที่จะหายีนเกือบทั้งหมดที่ทำให้สัตว์ที่เป็นญาติห่างๆของจิงโจ้นี่พัฒนามามีรูปร่างแบบสุนัขได้ แต่การที่จะฟื้นคืนชีพไทลาซีนออกมาได้อย่างสมบูรณ์ยังเป็นเรื่องของอนาคตที่ยังต้องรอการศึกษาอีกมาก



ที่มาของข้อมูลและอ่านเพิ่มเติม
https://cosmosmagazine.com/biology/return-of-the-living-thylacine
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่