วงการโทรคมนาคมสุดกังขาระบบซิมอัตลักษณ์ 2 แชะ

กระทู้ข่าว
กสทช.เมินตรวจสอบลงทะเบียนระบบซิมอัตลักษณ์ 2 แชะ จนป่านนี้ยังไม่คืบ เผย 6 เดือนเพี่งตื่นทำหนังสือเตือนผู้ให้บริการมือถือเร่งจัดทำระบบลงทะเบียนตามประกาศ กสทช.ทั้งที่ดีเดย์มาตั้งแต่ปีมะโว้

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมเปิดเผยถึงความคืบหน้า กรณีที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) สั่งให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกค่ายจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยระบบแสดงตนแบบ “อัตลักษณ์”  ที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลได้ทั้งการตรวจสอบใบหน้า (face recognition) หรือสแกนลายนิ้วมือ (finger print) โดยดีเดย์ระบบดังกล่าวมาตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2561 นั้นว่า แม้จะล่วงเลยมากว่า 6 เดือนแล้วยังคงปรากฏว่าค่ายสื่อสารบางรายที่ขายซิมการ์ดผ่านร้านสะดวกซื้อและตัวแทนยังคงไม่ได้วางระบบจัดเก็บข้อมูลตามระบบใหม่ตามประกาศ กสทช.แต่อย่างใด  โดยที่ กสทช.เองก็ไม่มีมาตรการลงโทษใด ๆ

แม้ว่าก่อนหน้านี้จะเกิดกรณีอื้อฉาวขึ้น เมื่อดีลเลอร์ขายโทรศัพท์มือถือรายหนึ่งในเมืองพัทยาแอบปลอมบัตรประชาชนของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  นายกรัฐมนตรี ทำการลงทะเบียนซื้อซิมการ์ดหลายสิบใบเพื่อขายให้นักท่องเที่ยวจนกระทั่งถูก กองบังคับการ ปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ตรวจสอบจับกุมจนทำให้เรื่องแดงขึ้นมาว่าค่ายมือถือบางรายที่ขายซิมการ์ดและเปิดให้ลงทะเบียนผ่านร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศนั้นยังไม่มีการจัดทำระบบลงทะเบียนซื้อซิมการ์ดระบบอัตลักษณ์ ตามประกาศ กสทช.แต่ก็กลับไม่มีการลงโทษแต่อย่างใด

ล่าสุดเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.เพิ่งจะมีหนังสือแจ้งไปยังโอปอเรเตอร์มือถือทุกค่ายให้เร่งรัดติดตั้งระบบลงทะเบียนแบบอัตลักษณ์เพื่อป้องกันการปลอมแปลงซื้อซิมการ์ดไปก่ออาชญากรรม โดยระบุว่า หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตาม กสทช.จะมีมาตรการลงโทษตามกฎหมาย

“ก็ไม่รู้กสทช.กำลังเล่นปาหี่อะไร เพราะประกาศกสทช.ที่กำหนดให้ทุกค่ายมือถือทำการลงทะเบียนระบบอัตลักษณ์เพื่อป้องกันการปลอมแปลงซื้อซิมการ์ดไปก่ออาชญากรรมทางเศรษฐกิจนั้นประกาศใช้มาตั้งแต่ปลายปี 2560 แล้ว แต่เนื่องจากค่ายมือถือบางรายอ้างว่ายังไม่พร้อม จึงได้ขยายมาตรการดังกล่าวมาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 61 แต่ผ่านมากว่า 6 เดือนแล้วกลับปรากฏว่าค่ายมือถือบางค่ายยังคงไม่ปฏิบัติตามประกาศ กสทช.ที่ว่านี้ ซึ่งหากไม่เกิดกรณีอื้อฉาวปลอมบัตรประชาชนนายกฯไปลงทะเบียนซื้อซิมการ์ดก็คงไม่มีใครรู้ว่ากสทช.ละเลยการบังคับใช้ประกาศ กสทช.ว่าด้วยการลงทะเบียนซิมการ์ดแบบอัตลักษณ์ที่ว่านี้ โดยไม่มีมาตรการลงโทษใด ๆ”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำนักงานกสทช. ได้ออกประกาศ และแจ้งไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (โอเปอเรเตอร์)ทุกรายให้เริ่มจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยวิธีอัตลักษณ์ ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถพิสูจน์และยืนยันตัวบุคคลป้องกันการแอบอ้างหรือปลอมแปลงการลงทะเบียนซิมการ์ด  โดยเริ่มใช้ตั้งแต่วันที่  15 ธ.ค. 2560 โดยกำหนดให้ผู้ที่มีความประสงค์จะซื้อซิมมือถือเบอร์ใหม่ ต้องนำบัตรประจำตัวประชาชนสมาร์ทการ์ดหรือพาสปอร์ตตัวจริงกรณีเป็นชาวต่างชาติ  หรือบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าวตัวจริงไปซื้อซิม ณ จุดขาย ไม่ว่าจะเป็นศูนย์บริการลูกค้าของ ค่ายมือถือตัวแทนจำหน่ายซิมมือถือที่มีอยู่ราว 55,000 แห่งทั่วประเทศ ก่อนจะเลื่อนใช้ระบบดังกล่าวมาเป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์​2561 เนื่องจากค่ายมือถือได้แจ้งว่าไม่พร้อมและมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการซับซ้อน จึงขอให้เลื่อนใช้ประกาศดังกล่าวออกไป แต่กระนั้นแม้จะล่วงเลยมากว่า 6 เดือนก็กลับไม่มีความคืบหน้า

“ระบบลงทะเบียนซิม 2 แชะ ซิมอัตลักษณ์ที่ กสทช.ตีปี๊บกันเป็นวรรคเป็นเวรยืนยันเป็นระบบที่ป้องกันการลักลอบนำเอาของผู้อื่นไปใช้เป็นระบบที่จะสร้างความมั่นใจให้ประชาชนคนไทยว่าจะไม่ถูกลักลอกปลอมแปลงสวมรอยอะไรน้ัน วันนี้ ยังไม่มีการดำเนินการกันอย่างจริงจัง ค่ายมือถือที่ยืนยันพร้อมจะดีเดย์ระบบใหม่ มาต้ังแต่วันที่ 1กุมภาพันธ์ 2561 หลังจากเลื่อนมาจากปลายปี 2560 กลับยังไม่มีการดำเนินการติดตั้งระบบซิมอัตลักษณ์ที่ว่านี้แต่น้อย”แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว

ที่มา : http://www.komchadluek.net/news/economic/341999#.W4zR_ugRmA4.lineme
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่