ครูบาบุญชุ่มเฝ้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ความเคารพต่างจากความอ่อนน้อม ดี?

ฉบับที่ ๓๔ วันพุธที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๑
เรื่อง ความเคารพต่างจากความอ่อนน้อม ดี?

              ประเทศไทยถือได้ว่ามีวัฒนธรรมการแสดงความความเคารพ ให้เกียรติผู้อื่น เป็นเรื่องสำคัญยิ่ง สังเกตได้จากการไหว้ที่งดงาม อีกทั้งยังมีระดับการพนมมือที่แตกต่างกันตามระดับสถานะ “ยิ่งก้มมาก สิ่งนั้นยิ่งสูงมาก” “ยิ่งน้อมมาก ผู้น้อมยิ่งมีคุณค่ามาก” สัญลักษณ์อุปมาเหมือนดอกมะเขือ ที่โน้มลงมามากแสดงว่าต้นดี ถ้ายังไม่น้อมใช้ไม่ได้ ซึ่งสัญลักษณ์นี้เอง บูรพาจารย์ได้นำมาใช้ใน พิธีไหว้ครู เพื่อให้ผู้เป็นศิษย์ได้ตระหนักถึงความเคารพและอ่อนน้อม
             ทำไมจึงให้ความสำคัญถึงเรื่องนี้ ผู้เขียนในฐานะชาวพุทธจึงค้นหาหลักธรรมมาพิจารณา ว่าสะท้อนถึงเรื่องใด จึงพบว่า มีอยู่ในมงคลชีวิต 38 ประการ ข้อที่ 22 (เคารพ) และข้อที่ 23 (ถ่อมตน) ขั้นตอนสู่ความสุข ข้อที่ 38 (จิตเกษม)
             ความเคารพ คือ อะไร?
             ความเคารพ หมายถึง ความตระหนัก ซาบซึ้ง รู้ถึงคุณความดีที่มี อยู่จริงของบุคคลอื่น ยอมรับนับถือความดีของเขาด้วยใจจริง แล้วแสดงความนับถือต่อผู้นั้นด้วยการแสดงความอ่อนน้อม อ่อนโยน อย่างเหมาะสม ทั้งต่อหน้าและลับหลัง
              ความอ่อนน้อมถ่อมตน คือ อะไร ?
              ความถ่อมตน  ภาษาบาลีว่า  นิวาโต
                       วาโต    แปลว่า ลม พองลม
                        นิ         แปลว่า ไม่มี ออก
              นิวาโต แปลว่า ไม่พองลม เอาลมออกแล้ว คือเอามานะทิฏฐิออก มีความสงบเสงี่ยม เจียมตน ไม่เบ่ง ไม่ทะนงตน ไม่มีความมานะถือตัว ไม่อวดดื้อถือดี ไม่ยโสโอหัง ไม่ดูถูกเหยียดหยามใคร ไม่กระด้าง ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
              ความแตกต่างระหว่างความเคารพกับความถ่อมตน ?
               ความเคารพ เป็นการปรารภผู้อื่น คือตระหนักในคุณความดีของผู้อื่น พบใครก็คอยจ้องหาข้อดีของเขา ไม่จับผิด สามารถประเมินคุณค่าของ   ผู้อื่นได้ตามความเป็นจริง แล้วแสดงอาการเคารพนับถือด้วยกาย วาจา ใจ
               ความถ่อมตน เป็นการปรารภตนเอง คือคอยตามพิจารณาข้อบกพร่องขอตนเอง จับผิดตัวเอง สามารถประเมินค่าของตนเองได้ถูกต้องตามความเป็นจริง ไม่อวดดื้อถือดี  สามารถน้อมตัวลงเพื่อถ่ายทอดคุณความดีของผู้อื่นเข้าสู่ตนเองได้อย่างเต็มที่
                คนที่มีความเคารพอาจขาดความถ่อมตนก็ได้ เช่น บางคนเมื่อพบคนดีก็ตระหนักในความดีความสามารถของเขา คือมีความเคารพแต่ขณะเดียวกัน ถ้าจะให้อ่อนเข้าไปหาเขาทำไม่ได้ ชอบเอาตัวเข้าไปเทียบด้วย แล้วใจของตัวก็พองรับทันทีว่า “ถึงเอ็งจะแน่ แต่ข้าก็หนึ่งเหมือนกัน” ใจของเขาจะพองเหมือน อึ่งอ่างพองลม คอยแต่คิดว่า “ข้าวิเศษกว่า” ทุกที
                สรุปสั้น ๆ ว่า ความเคารพ = จับดีผู้อื่น ความอ่อนน้อม = จับผิดตัวเอง “เมื่อเห็นดีเราก็จะได้ดี แต่จะเอาดีได้ต้องยอมด้วยนั่นเอง”
                 พระพุทธองค์ตรัสว่า “บุคคลผู้เป็นบัณฑิตถึงพร้อมด้วยศีล ละเอียด มีปฏิภาณไหวพริบ ประพฤติถ่อมตน และไม่กระด้างเช่นนั้น ย่อมได้ยศ” ดังนั้นยศของผู้มีอำนาจบ้านเราทุกระดับ (ทางโลก) สมควรได้ด้วยเหตุนี้ เป็นสิ่งที่น่าพิจารณา
                 ทุกท่านคิดเห็นอย่างไร แลกเปลี่ยนความความรู้กันใน Comment Facebook, YouTube, Blog, Line, IG, Twitter, pantip ...กันนะครับ ขอบคุณครับ

                 B.S.
           18 ก.ค. 2561
      
ตอน ความเคารพต่างจากความอ่อนน้อม ดี?เวลา 14.00-14.20 น. https://youtu.be/l-ZBhRourkIคลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่