[Nubeever's World] #สาระคู่ซีรี่ส์ #AboutTime #어바웃타임 : มิคา-โดฮา และโรคทางจิตเวช

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
สวัสดีค่ะ หายไปนานมากกกกกก... กับการมานั่งเขียนกระทู้เม้าท์มอยละครแบบนี้
กลับมารอบนี้ มีสาระจากซีรี่ส์เกาหลีเรื่อง "About Time(어바웃 타임)" จากช่อง TvN มาฝากกันค่ะ
รับรองว่าแน่นด้วยสาระและความฟิน(หรือเปล่า อันนี้จากการดูชื่อกระทู้แล้วแอบไม่แน่ใจ) ๕๕๕+
ปล. ขอออกตัวก่อนว่าเขียนกระทู้นี้ในมุมมองของการวิเคราะห์ตัวละคร และใช้ประสบการณ์ในการเขียน ไม่ได้เขียนเพื่อบ่งบอกความเป็น Specialist แต่อย่างใด ดังนั้น ขอให้ทุกท่านที่ผ่านมาอ่านใช้ความตั้งใจ ใส่ใจ และวิจารณญาณในการอ่านกระทู้นี้นะคะ และสำคัญมาก กระทู้มีการสปอยล์เนื้อหาละครบางส่วน ดังนั้น ถ้าท่านไหนไม่ต้องการสปอยล์ แนะนำให้ผ่านกระทู้นี้ไปเลยค่ะ


ก่อนจะเข้าเรื่องกัน ในฐานะที่นี่คือกระทู้แรกของซีรี่ส์เกาหลี About Time ทางเราขอแนะนำละครกันพอเป็นพิธีก่อนนะคะ "About Time(어바웃 타임)" เป็นละครเกาหลีแนวโรแมนติกแฟนตาซีที่กล่าวถึง "มิคา" หญิงสาวที่สามารถมองเห็นเวลาชีวิตของคนอื่นและตัวเองได้ว่าจะมีเวลาอยู่บนโลกใบนี้ได้นานเท่าไหร่ ชะตาทำให้เธอได้พบกับ "ผอ.อีโดฮา" ลูกชายทายาทเศรษฐีเจ้าของธุรกิจใหญ่โตในสายวัฒนธรรมที่มีความสามารถพิเศษคือสามารถหยุดเวลาชีวิตที่มิคามองเห็นได้ ความพิเศษนำพาให้เกิดความรักและการเอาชนะชะตากรรมที่นับถอยหลังทุกวินาทีจึงเริ่มขึ้น

โอเค จบปึ้งกับการแนะนำละคร (สั้นๆง่ายๆแบบนี้แหละ๕๕๕) มาเข้าเรื่องกันดีกว่าค่ะคุณผู้อ่านขา อย่างที่เราดูกันไป 4 ตอนรวดของ About Time ผอ.โดฮารูปหล่อพ่อรวยดั๊นมาเป็นโรควิตกกังวลทั่วไปเสียนี่ ... แต่เอ! ไอ้คำว่าโรควิตกกังวลทั่วไป ทำไมต้องเรียกว่าทั่วไปด้วยนะ? เราเรียกกันว่าโรควิตกกังวลเฉยๆไม่ได้หรอ? แล้วมันโรคเดียวกันกับโรคซึมเศร้า โรคที่ตอนนี้สังคมไทยเรากำลังตื่นตัวหรือเปล่า? ... กระทู้นี้จะไขความกระจ่างนี้ให้คุณๆทราบกันค่ะ


ผอ.โดฮาเป็นโรควิตกกังวลทั่วไปตามคำบอกของคุณหมอพัคซองบิน ... จริงๆแล้ว การเรียกว่าโรควิตกกังวลทั่วไปถือว่าถูกต้องแล้วค่ะ เพราะโรควิตกกังวลสามารถจำแนกแตกย่อยเป็น 5 โรคย่อย แล้วโรคที่ ผอ. เป็นก็เป็น 1 ในสาขาย่อยนั้น ตาม Chart ที่เราเขียนสรุปให้ตามนี้เลยเจ้าค่ะ ในละครได้ให้ข้อมูลชัดเจนเลยว่าผลจากการที่ ผอ. เป็นโรควิตกกังวลทั่วไป หรือ CAD  นั้นทำให้ ผอ. ไม่สามารถเดินทางด้วยเครื่องบินและไม่สามารถขับรถเองได้ ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่เป็น CAD ทั้งคนที่เป็น CAD แท้ และเป็น CAD ควบคู่กับโรคซึมเศร้าก็มีผลกระทบในการใช้ชีวิตประจำวันแบบนั้นจริงๆ ผลที่เห็นได้ชัดคือประสิทธิภาพในการขับขี่ลดลงหรือบางคนคือเท่ากับศูนย์ ไม่สามารถขับได้เลย บางคนขับไม่ได้เพราะหวาดกลัว และบางคนขับไม่ได้เพราะอาจหลับในตลอดเวลาซึ่งไม่ปลอดภัยต่อชีวิตเลยค่ะ นอกจากเรื่องผลกระทบดังกล่าวนั้น ยังส่งผลที่ทำให้มองเห็นว่า ผอ.โดฮาเป็นบุคคลที่มีความ Phobias ในตัวด้วยเช่นกัน เพราะใน EP.1 แสดงเห็นชัดเจนว่ามีปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการกำเริบขึ้นมา (สำหรับละคร About Time Ep.01 ปัจจัยกระตุ้นมีอยู่ 4 อย่างคือ 1.ของมีคม-คีมคีบปลายแหลมและดินสอไม้ 2.เสียงเคาะ-สามารถอนุมานได้ถึงเสียงที่อาจมีผลกระทบถึงสถานการณ์ฝังใจบางอย่างของคนไข้หรือในละครอาจอนุมานถึงเสียงเข็มนาฬิกา 3.เลือด-เห็นได้ชัดเจนใน EP.4 ที่พระเอกกลัวเลือด และEp.1 ในกองผ้าก็อตเปื้อนเลือดในห้องฉุกเฉิน และ 4.คนใกล้ตาย-ซึ่งอาจอนุมานถึงคนใกล้ตัวหรือใครสักคนที่เป็นเหตุการณ์ฝังใจในตัวคนไข้)

ในส่วนนี้ ขอชื่นชมทีมงานที่รอบคอบในเรื่องการจัดพร๊อพหรือวางองค์ประกอบในการอธิบายลักษณะอาการของผอ.โดฮาได้ดีมากๆและค่อนข้างสมบูรณ์เลยล่ะค่ะ เพราะในความเป็นจริงแล้วปัจจัยกระตุ้นที่กล่าวมาล้วนเกิดขึ้นและทำให้อาการกำเริบได้จริงๆ ซึ่งผลของการถูกกระตุ้นนั้นมีได้หลายทิศทาง บางคนถึงขั้นใจสั่น กังวล กระวนกระวาย บางคนถึงกับหายใจไม่ออก จุกในลำคอจนเผลอกัดฟันตัวเองก็มี หรือแม้แต่ปัจจัยที่น่าฉงนอย่างเสียงเคาะที่ไม่น่ากระตุ้นก็ยังกระตุ้นขึ้นมาได้ เพราะเสียงนั้นอาจทำให้คนไข้นึกถึงเหตุการณ์เลวร้ายแล้วเกิดภาวะพีคขึ้นมาได้เหมือน

ในบางกรณีศึกษา เสียงที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอาการวิตกกังวลทั่วไปอาจไม่จำเป็นแค่เพียงเสียงเคาะจังหวะเท่านั้นนะคะ แม้แต่คำพูดธรรมดาแต่ถ้ามันไปกระทบจิตใจของคนไข้ ก็เกิดภาวะวิตกกังวลฉับพลันได้เลย ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคซึมเศร้าที่เป็น CAD ร่วมด้วย ต้องใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านทั้งๆที่หน้าตาตัวเองก็ดูดี แต่ไม่สามารถใช้ชีวิตปกติได้เพราะครอบครัวกดดันว่าหน้าตาอัปลักษณ์จนเกิดอาการและเข้าใจว่าคนอื่นก็คิดแบบนี้เหมือนกัน ซึ่งในช่วงของการรักษา คนไข้คนนี้ต้องได้รับยาระงับความวิตกกังวลแบบฉับพลันควบคู่กับยาต้านเศร้าไปพร้อมๆกับการบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรมหรือ CBT (Cognitive Behavior Therapy) ... แอบคุ้นๆประโยคนี้มั้ยคะ? ผอ.ก็ได้รับการบำบัดด้วยวิธีนี้นั่นแหละค่ะ^^

แล้วมิคาเกี่ยวข้องอะไรด้วยกับโรคทางจิตเวชล่ะ? .... ถ้ามองดีๆ ลึกๆแล้ว โรคซึมเศร้าก็ซ่อนแอบอยู่ในตัวมิคาเช่นกันค่ะ

ลองนึกว่าคุณคือมิคาดูนะคะ เราจะหดหู่แค่ไหนกันที่รู้ว่าตัวเองมีชีวิตอยู่ได้แค่ 100 กว่าวันแถมยังต้องเห็นเวลาที่วิ่งถอยหลังของคนรอบตัวตลอดเวลา? แล้วที่มันเป็นปมทิ่มแทงหัวจิตหัวใจของมิคาลงไปอีกก็คือเหตุการณ์ในวัยเยาว์ ที่เธอเคยลองพยายามช่วยชีวิตเด็กน้อยที่กำลังจะข้ามถนนแล้วเสียชีวิตโดยการที่เอาตัวไปขวางรถบรรทุก แต่สุดท้ายเด็กคนนั้นก็เสียชีวิตอยู่ดีเพราะลูกอมติดคอ เธอเองใช้ชีวิตเหมือนคนสิ้นหวังมาตลอดแต่ซ่อนไว้ด้วยใบหน้าที่ดูดีและยิ้มแย้ม ...

ทุกคนจะบอกว่านี่คือดูเป็นคนปกติดี? ไม่เลยค่ะ คนแบบนี้แหละที่น่ากลัว คุณรู้หรือไม่ว่าร้อยละ 70 ของคนที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าคือคนที่ดูตลก ยิ้มแย้มตลอดเวลาพบปะผู้คน เพราะพวกเขาซ่อนมันไว้อยู่ข้างในค่ะ และในบรรดาผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามากมาย จะมีผู้ป่วยประเภทหนึ่งที่แข็งแกร่งมาก ต่อให้ร่างกายได้รับความเจ็บปวดอะไรมา ไม่ว่าทางกายก็ดี ทางจิตใจก็ดี ร่างกายจะมีระบบจัดการบำบัดตัวเองได้อย่างดีและผ่านพ้นไปได้ทุกครั้งไป สิ่งนี้เค้าเรียกว่าความอดทนของร่างกายค่ะ แต่...สายพิณ ถ้าตึงเกินไปย่อมขาดสะบั้นได้เช่นกัน ความอดทนย่อมมีลิมิต และเมื่อร่างกายรองรับความเจ็บปวดจนเกิดนลิมิตนั้นไป มันจะส่งผลออกมาทางความผิดปกติทางร่างกายเพื่อเป็นสัญญาณเตือนคุณเจ้าของร่างว่า "เฮ้! ซ่อมด่วนนะ ร่างกายยูไม่ไหวแล้ว" ซึ่งกว่าจะถึงจุดนั้น ก็เกิดความเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากแล้ว


มิคาก็มีระเบิดเวลาในตัวเองแบบที่กล่าวมาเช่นกันค่ะ เพราะเมื่อเธอได้พบว่าโดฮาสามารถหยุดเวลาได้ เธอจึงพยายามทุกทางชนิดที่พวกเราเป็นคนเฝ้าติดตามชีวิตนางยังต้องคิดเลยว่าเฮ้ย! คนธรรมดาเค้าไม่ทำแบบนี้แน่ๆเหอะ แล้วจุดๆนี้ คนทั่วไปอาจมองว่ามิคาเห็นแก่ตัว แต่เชื่อไหมคะว่าในโลกของคนเป็นโรคซึมเศร้าที่เค้าลุกขึ้นมาขอสู้กับโรคนี้มันคือ "ความรักตัวเอง" ความรักตัวเองที่คนทั่วไปมักมองว่ามันคือความเห็นแก่ตัวนั่นเองค่ะ

ความรักตัวเองที่จะกลับมาสู้อีกครั้งของมิคาได้รับการปลดปล่อยและเข้าล็อคอย่างสมบูรณ์ในฉากที่โดฮาจับมือมิคาที่สถานีตำรวจค่ะ ความเจ็บปวดทั้งหมดที่มีปนความสงสัยของมิคามันจุติและลงล็อคเมื่อโดฮาส่งปฏิสัมพันธ์กลับไป มันก็ไม่ต่างกับยาต้านเศร้าดีๆที่เรียกว่าความรักความอบอุ่นนั่นเองค่ะ (อ่านกระทู้จบแล้วลองย้อนฉากนี้ดูดีๆแล้วคุณอาจจะเข้าใจค่ะ)


ปัจจัยมากมายที่เกิด ไม่ว่าพันธุกรรม หรือสารเคมีในสมองที่ไม่สมดุล หรือแม้แต่ความเครียด ความกดดัน สิ่งแวดล้อมที่บีบคั้นให้คนเราเป็นมนุษย์ที่ดีแต่มันคือความคาดหวังที่มากเกินไป จนนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าหรือโรควิตกกังวลก็ตาม จะเรียกว่าโรควิตกกังวลคือซับเซตของโรคซึมเศร้าหรือไม่เป็นซับเซตต่อกันก็ได้ แต่ทั้งสองโรคล้วนขึ้นตรงว่าเป็นโรคทางจิตเวชทั้งสิ้น ดังนั้นมันจึงเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและสมอง จึงไม่แปลกที่แผนกจิตเวชของบางโรงพยาบาลจะอยู่ในแผนกประสาทและสมอง และด้วยความที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมอง นี่จึงไม่ใช่โรคที่เกี่ยวกับบาปบุญใดๆแต่มันเกี่ยวของกับโรคที่ต้องรักษาด้วยการใช้ยา ต้องได้รับการบำบัด ก็เหมือนกับที่ ผอ. ได้รับการบำบัดจิตและให้คุณหมอซองบินดูคลื่นไฟฟ้าการเต้นของหัวใจเช่นกัน นี่ก็คือการบำบัดจิตวิธีหนึ่งค่ะ

สิ่งที่ชอบใน About Time คือการนำเอาแผนกจิตเวชมาใกล้ประชาชน ทำให้เรารู้สึกว่าจิตแพทย์เป็นบุคลากรที่เข้าถึงได้ง่ายไม่แพ้แพททย์แผนกอื่น ดังนั้น เมื่อร่างกายป่วยได้ จิตใจก็ป่วยได้เหมือนกัน ป่วยใจก็ต้องให้หมอใจรักษา จริงมั้ยคะ? อย่าอายเลยที่จะต้องเดินเข้าแผนกจิตเวช ใครจะรู้คะว่าการได้ระบายให้หมอฟังเพียง 30-40 นาที อาจเปลี่ยนชีวิตคุณให้มีพลังกลับมาสู้กับโรคนี้ก็ได้ และเหนือสิ่งอื่นใด ... คนรอบข้าง ความเข้าใจ ใส่ใจในสิ่งที่เป็นก็สำคัญ มันเป็นเรื่องละเอียดอ่อนแต่ก็ไม่มากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ผู้ป่วยโรคนี้ไม่ได้ต้องการคำพูดมากมายอะไรจากคุณหรอกค่ะ แต่แค่นั่งข้างๆให้เค้ารู้ว่าคุณยังอยู่ตรงนี้ ข้างๆเขาก็พอ ให้เขาไม่รู้สึกว่าต้องสู้กับโรคนี้เพียงลำพังก็พอแล้ว

#สาระคู่ซีรี่ส์ ComeBack รอบนี้ อาจจะหนักหน่วงไปหน่อย แต่เชื่อเถอะค่ะว่ามันอาจจะช่วยให้คุณสังเกตคนรอบข้างของคุณได้ง่ายขึ้นก็ได้นะ อ่อ... คนเป็นโรคนี้ เค้าไม่บอกคุณตรงๆหรอกนะว่าเค้าเป็น เพราะคนส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับ แต่เชื่อเถอะว่าทุกเบาะแสจากเค้า เค้ากำลังบอกคุณอยู่

ไว้เจอกันใหม่ในตอนหน้านะคะ สัญญาว่าจะบันเทิงกว่านี้ ๕๕๕
นานาสวัสดี
NUBEEVER
YEAR2018 MONTH5 DAY31 04:36:07AM
(เลียนแบบละครไปอีก หมดมุข ๕๕๕๕๕)

ถ้าชอบ ฝากกด LIKE กด SHARE งด COPY นะคะ
รอบนี้ไม่มีหนังสือให้คุณๆต้องเกรงใจยอมก๊อปปี้
แต่เกรงใจชีวิตเสี้ยวนึงของบีที่บีเขียนลงไปในนี้ให้คุณได้อ่านด้วยนะคะ
สงสัยหรอ... ค่ะ ... เพราะบีก็เป็นไง (ทำไมจบเศร้าล่ะ โธ่ TvT)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่