อาริโก้ ซาคคี่ ผู้สร้างระบบโซน เพรสซิ่ง ฟุตบอล



ย้อนหลังกลับไปในช่วงปลายทศวรรษที่ 1980s ในขณะที่มาราโดน่ากำลังสร้างปรากฏการณ์แก่โลกฟุตบอล พานาโปลีแย่งแชมป์กับเหล่ายักษ์ใหญ่ในเวทีกัลโช่นั้น ทีมเอซี มิลาน มหาอำนาจของวงการฟุตบอลอิตาลีเอง ก็กำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญเช่นกัน





อาริโก้ ซาคคี่ ผู้จัดการของทีมในขณะนั้น ได้ริเริ่มและเกิดแนวคิดการเล่นฟุตบอลที่ค่อยๆแตกแยกออกมาจากแนวคิดการเล่นสไตล์คาเตนัคโช่แบบดั้งเดิมของอิตาลี ซึ่งจะนิยมการเล่นเกมรับอย่างเหนียวแน่น ปลอดภัยไว้ก่อนเป็นหลัก ทำให้ฟุตบอลกัลโช่ถูกครหาว่าเล่นได้น่าเบื่อและเน้นผลจนเกินไปอย่างมาก

แต่ด้วยการมาของพลาตินี่ สู่ยูเวนตุส และมาราโดน่า สู่นาโปลี ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ได้ทำให้เกิดการเริ่มพลิกแนวคิดปฏิวัติแท็คติคฟุตบอลเกมรุกและการวางเกมรับเพื่อรุกมากขึ้น กระนั้น ธรรมชาติของคนอิตาลีก็ยังคงเป็นแบบเดิมๆ ยากที่จะเปลี่ยน แต่ด้วยแนวคิดและแท็คติคใหม่ที่ช้าคคี่นำมาใช้กับเอซีมิลาน กลับส่งผลให้มิลานผงาดขึ้นมาแทบจะครองยุโรปและครองโลกฟุตบอลในขณะนั้น และยังเป็นรากฐานที่ทำให้ทีมยิ่งใหญ่ต่อมาในยุคของคาเปลโล่ในต้นยุค 90 และยังสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน แท็คติคใหม่ที่ว่านั้นคือ โซนเพรสซิ่ง ฟุตบอล

โซน เพรสซิ่ง ฟุตบอล เป็นจุดแรกเริ่มของการนำฟุตบอลเข้าสู่ยุคแห่งแท็คติคฟุตบอลสมัยใหม่ ด้วยเหตุที่ว่านักเตะเชิงรุกที่ฝีเท้าร้ายกาจเริ่มเกิดขึ้นมามากมายในยุคปลาย 80 ถึงต้น 90 ไม่ว่าจะมาราโดน่า พลาตินี่ รวมถึงเหล่าเพลย์เมคเกอร์ที่เริ่มผุดขึ้นมากมาย การวางแนวรับเพื่อป้องกันการทำเกมรุกของนักเตะเหล่านั้นเริ่มทำได้ยากขึ้น บวกกับกฎล้ำหน้าที่ถูกปรับเปลี่ยนใหม่ กองหน้าที่นับวันจะเร็วขึ้น ตัวใหญ่ขึ้น การที่กองหลังจะเจอกับนักเตะฝีเท้าร้ายกาจมีโอกาสมากขึ้น ดังนั้นการใช้แค่แนวรับ 4-5 คน เล่นเกมรับประกับตัวแบบมาร์คแมนทูแมน หรือให้ใช้ตัวผู้รับอีกชั้นคอยซ้อนก็เริ่มยากแก่การป้องกันอีกต่อไป และเมื่อป้องกันประตูไม่ได้ ก็เลิกคิดเรื่องการทำประตูเลย

เมื่อพูดถึงการกำเนิดของโซนเพรสซิ่งฟุตบอลแล้ว ก็ต้องพูดถึง อาริโก ซ้าคคี่ เขาเป็นปรมาจารย์ลูกหนังที่มีชีวิตเกี่ยวข้องกับวงการฟุตบอลมาตั้งแต่ยุคฟุตบอลเกมรุกระดับทวยเทพของฮังการี ในสมัยของ เฟเรนซ์ ปุสกัส พ่อมดแห่งแมกยาร์ด ผู้นำรีลมาดริดกลายเป็นมหาอำนาจของโลก ต่อมาถึงยุคของโททัลฟุตบอล ระบบการเล่นเกมรุกขั้นสูงสุดภายใต้การสรรสร้างของท่านนายพลไรนุส มิเชล และนักเตะเทวดาโยฮัน ครัฟฟ์ จึงไม่แน่ใจว่า ซ้าคคี่ได้รับอิทธิพลตรงจุดนี้ที่ต้องการเห็นฟุตบอลอิตาลีหันมาเล่นเกมรุกหรือไม่

ในสมัยที่ยูเวนตุสเริ่มเข้ามาครองอำนาจในเวทีกัลโช่ภายใต้การนำของนโปเลียนลูกหนัง มิเชล พลาตินี่นั้น ซิลวิโอ แบร์คุสโลนี่ ประธานคนใหม่ของเอซีมิลาน พยายามที่จะนำความยิ่งใหญ่ในอดีตของทีมกลับมา และสิ่งที่เขาได้ทำคือการปลดบุคลากรรุ่นเก่าจนหมด และแต่งตั้งอาริโก ซ้าคคี่ กุนซือของปาร์ม่าขึ้นรับตำแหน่ง ซึ่งสมัยนั้น ชื่อของซ้าคคี่ถือว่าใหม่มากในวงการลูกหนัง โดยเฉพาะกับตำแหน่งผู้จัดการทีมยักษ์ใหญ่อย่างมิลาน



และซ้าคคี่ก็แสดงให้อิตาลีและทั่วโลกเห็นว่า ทำไมเขาจึงถูกเลือกให้เป็นผู้กอบกู้มิลานกลับมา เมื่อซ้าคคี่ปฏิวัติแนวคิดการเล่นฟุตบอลแบบคาเตนัคโช่ของอิตาลี ที่เรียกง่ายๆว่า “ตีหัวเข้าบ้าน” จนหมดสิ้น

การเล่นเกมรับแบบคาเตนัคโซ่นั้น จะเน้นการเข้าประกบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามแบบมาร์คแมนทูแมน ให้กองหลังเข้าประกบตายตลอดเกม และเพิ่มความเหนียวแน่นด้วยการวางตัวรับคอยซ้อนอีกชั้น ซึ่งแผนนี้ได้ผลมากในยุค 80 โดยแผนนี้ถูกสร้างมาเพื่อรับมือกับเหล่าเพลย์เมคเกอร์ของทีมต่างๆ ให้สร้างเกมรุกไม่ได้สะดวก ทั้งยังทำลายกองหน้าอีกฝ่ายด้วย ซึ่งในยุคนั้น การเข้าบอลหนักหน่วงของกองหลังไม่ได้มีข้อห้ามมากมายเหมือนตอนนี้ การเสียบสกัดจากด้านข้างหรือด้านหลังแล้วไม่เสียฟาล์วไม่ใช่เรื่องน่าแปลกอะไร

ซ้าคคี่มองว่าการเล่นแบบนั้น มีแต่จะทำลายวงการลูกหนัง สร้างความน่าเบื่อให้แก่คนดู แต่ขณะเดียวการเล่นเกมรุกแบบสุดโต่งตามลีลาแซมบ้าของพวกบราซิลก็ไม่ได้ช่วยให้บราซิลได้ถ้วยใดๆเลยตั้งแต่หมดยุคเปเล่ หรือแม้แต่ระบบโททัลฟุตบอลของฮอลแลนด์เอง ที่แม้จะดูสมบูรณ์แบบในเชิงแนวคิด ต่อเมื่อสิ้นยุคของนักเตะที่เป็นผู้บัญชาการในสนามระดับสุดยอดอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ แล้ว ฮอลแลนด์เองก็ไม่อาจขึ้นมาเป็นทีมแนวหน้าได้อีก

เช่นนั้นแล้ว ปรัชญาฟุตบอลยุคต่อจากนี้ ควรผสมสานทั้งเกมรุกและรับได้ นักเตะเพลย์เมคเกอร์แม้จะสำคัญกับทีมในฐานะศูนย์กลาง แต่หากปราศจากนักเตะเหล่านี้ไป ทีมๆนั้นก็จะรวนทันที ดังนั้นทางแก้ที่ถูกต้องที่สุดคือ นักเตะทั้ง 10 คนในสนาม จะต้องเป็นเพลย์เมคเกอร์ได้ทั้งหมด และสามารถเล่นในแนวทางเดียวกันได้หมด ในการทำเกมรุก ฟุตบอลต้องเคลื่อนที่ไปมาได้ โดยไม่ไปหยุดที่ใครคนใดคนหนึ่ง และในเกมรับ ผู้เล่นทั้งสนามต้องช่วยกันกดดันฝ่ายตรงข้ามเพื่อเอาบอลกลับมาให้ได้เร็วที่สุด เพื่อที่อีกฝ่ายจะไม่มีเวลาสร้างเกมรุก และทางแก้ที่ดูง่ายที่สุด นั่นคือการเข้ากดดันและรุมใส่เพลย์เมคเกอร์ของฝ่ายตรงข้าม

ด้วยแนวคิดข้างบน จึงก่อเกิดเป็นแนวคิดฟุตบอลแบบใหม่ ที่ซ้าคคี่พยายามปลูกสร้างมันลงไปให้นักเตะของมิลานเป็นเวลาหลายปี แต่จะให้เร็วที่สุด นักเตะทั้ง 10 คนในสนามควรเป็นผู้เล่นชั้นยอด ดังนั้นเมื่อการมาสู่ทีมมิลานของนักเตะชาวดัตซ์นามว่า รุด กุลลิท ระบบนี้จึงได้ฉายแววแห่งความสำเร็จขึ้นมา

เอซีมิลานกลับกลายเป็นทีมมหาอำนาจแห่งอิตาลีและของโลก หลังการมาของกุลลิท ตามด้วยนักเตะดัตซ์อีก 2 คนนั่นคือ มาร์โก แวน บาสเท่น และ แฟร้งค์ ไรการ์ท ทำให้ก่อเกิดเป็นสามทหารเสือชาวดัตซ์ ร่วมกับผู้เล่นอิตาลีชั้นแนวหน้าของมิลานอย่าง ฟรังโก บาเรซี่ กัปตันทีม ผู้นำแผงหลัง ซึ่งประกอบด้วย เมาโร ทัสซอตติ อเล็กซานโดร คอสตาคูต้า และ กองหลังดาวรุ่งผู้จะกลายเป็นตำนานของมิลานในภายหลัง นาม เปาโล มัลดินี่


กับ ซิลวิโอ แบลุสโคนี่ (ประธานสโมสรในขณะนั้น)



กับ มาร์โค ฟาน(แวน) บาสเท่น

ด้วยระบบโซนพรสนี้ ได้สร้างความลือลั่นไปทั่วอิตาลีและยุโรป ในเกมรับนั้น กองหลังจะไม่สนใจประกบฝ่ายตรงข้ามนัก แต่จะเล่นแบบคุมโซน รับผิดชอบพื้นที่ของตนเอง กองหลังทั้งแนวจะมีการเคลื่อนที่แบบเป็นกลุ่ม พร้อมเพรียง สามารถเล่นแบบชิงจังหวะไลน์เพื่อทำให้กองหน้าอีกฝ่ายโดนจับล้ำหน้าได้ ซึ่งในสายตาของแฟนบอลทั่วไปตอนนั้น ถือว่าเป็นวิธีการเล่นที่กล้าได้กล้าเสียและตื่นตามาก เพราะหากดักล้ำหน้าพลาดแม้แค่คนเดียว กองหน้าอีกฝ่ายจะหลุดเดี่ยวไปดวลกับผู้รักษาประตูเลย แต่แผนนี้ที่ซ้าคคี่นำมาใช้ กลับสามารถทำให้แผงหลังมิลานดักล้ำหน้ากองหน้าฝ่ายตรงข้ามได้มากมายในแต่ละเกม

และในการป้องกันเกมบุกจากแดนกลาง เหล่ากองกลางของทีมจะมุ่งเน้นเข้ากดดันใส่เพลย์เมคเกอร์ของฝ่ายตรงข้าม เพื่อรุมจนแย่งบอลกลับมาได้ แม้แต่กองหน้าของทีมอย่างแวนบาสเท่น ก็ต้องเข้าช่วยกดดันด้วย ซึ่งแผนนี้ส่งผลให้แดนกลางและแดนหน้าของมิลานต้องใช้ความฟิตสูงมาก จึงเกิดเป็นข้อเสียที่ทำให้นักเตะแนวรุกของทีมมีปัญหาอาการบาดเจ็บในภายหลังเมื่ออายุมากขึ้น

สำหรับการขึ้นเกมรุก เนื่องจากการเล่นแบบนี้ ทำให้แดนกลางของมิลานจึงไม่มีใครเป็นเพลย์เมคเกอร์เพียงคนเดียว แต่ทุกคนสามารถเป็นผู้สร้างเกมได้ทั้งหมด ลูกบอลจะไม่ไปรวมศูนย์ที่ใครเท่านั้นเหมือนทีมอื่นๆ กุลลิทอาจจะเป็นตัวทำเกมรุกที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าบอลจะไปรวมศูนย์ที่เขาก่อนทำเกมรุก และเขาก็มีหน้าที่ต้องช่วยเพื่อนเล่นเกมเพรซิ่งด้วย

แนวทางการเล่นแบบนี้ จึงเป็นการเล่นแบบ เน้นระบบทีมเป็นหลัก ทำให้มิลานสามารถสานต่อความยิ่งใหญ่ในระดับยุโรปและโลกเรื่อยมานานถึง 10 ปี ตั้งแต่ยุค 80 ต่อเนื่องถึงกลางยุค 90 ด้วยเหตุที่ว่าทั้งทีมไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้เล่นแค่คนเดียวหรือสองคนเหมือนทีมอื่นๆ และด้วยแนวทางนี้ มิลานจึงสามารถที่จะไล่ถล่มทีมยักษ์ใหญ่ต่างๆในยุโรปได้ในยุคที่นักเตะของทีมฝีเท้าพีคถึงขีดสุด

ช่วงที่นาโปลีและมาราโดน่ากำลังประกาศศักดาในกัลโช่นั้น มิลานก็กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแท็คติคนี้เรื่อยมา และซ้าคคี่ก็สามารถนำพามิลานได้แชมป์กัลโช่ 1 สมัย และแชมป์ยุโรป ถึง 2 สมัย ก่อนจะลาจากไปเพื่อคุมทีมชาติอิตาลี และเขาเองก็ได้นำระบบนี้ไปปรับใช้กับทีมชาติ แต่เนื่องจากระบบนี้ไม่เน้นสตาร์เพียงคนเดียว จึงเกิดเป็นเหตุขัดแย้งกับโกลเด้นบอย เพลย์เมคเกอร์ผู้ยิ่งใหญ่ของอิตาลีและของโลกในยุคนั้นอย่าง โรแบร์โต บาจโจ

สำหรับมิลานจากนั้นมา ระบบโซนเพรสซิ่งที่ซ้าคคี่วางรากฐานเอาไว้ มาสุกงอมเอาถึงขีดสุดเมื่อ ฟาบิโอ คาเปลโล่ เข้ามารับตำแหน่งผู้จัดการทีม และสานต่อแนวคิดนี้ต่อ เขาเองดำเนินรอยตามแนวคิดโซนเพรสซิ่ง รวมถึงการสร้างทีมที่ ไม่มีใครเป็นสตาร์เพียงลำพัง แต่ทุกคนในทีมคือสตาร์ และมิลานยุคของคาเปลโล่นี้เองที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นทีมแรกที่ทำสำเร็จในการทำให้นักเตะทั้ง 11 คน ในสนาม เป็น “ออลสตาร์”

มิลานภายใต้การนำของคาเปลโล่ซึ่งยึดถือการเล่นโซนเพรสซิ่งเป็นคีย์หลัก ทั้งยังเพิ่มวินัยในการเล่น และความละเอียดในแท็คติคเข้าไปเพิ่ม ทำให้มิลานประสบความสำเร็จอย่างสูงสุดในประวัติศาสตร์สโมสร คว้าแชมป์กัลโช่ได้ 3 ปีติดต่อกัน รวมถึงแชมป์ยุโรปอีก 1 สมัย โดยปีนั้นสามารถไล่ถล่มรีลมาดริดในรอบรองถึง 5 ลูก และ เมื่อเข้าสู่รอบชิงก็สามารถไล่ถล่มบาร์เซโลน่ายุคดรีมทีมของโยฮัน ครัฟฟ์ถึง 4-0 ท่ามกลางความตกตะลึงของแฟนบอลทั่วโลก อันเป็นการพิสูจน์และแสดงให้เห็นว่าระบบโซนเพรสซิ่งฟุตบอล สามารถเอาชนะระบบโททัลฟุตบอลได้อย่างเด็ดขาด

มิลานในยุคนั้นเป็นทีมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นออลสตาร์ทุกตำแหน่ง ทั้งสไตล์การเล่นยังกร้าวแกร่ง และสวยงาม ลงตัวภายใต้ระบบและการเคลื่อนไหวที่ออกแบบมาอย่างดีในเวลาเดียวกัน ยุคปัจจุบัน ระบบนี้ได้กลายเป็นรากฐานและหนึ่งในแท็คติคที่ถูกปลูกฝังลงสู่นักเตะตั้งแต่ระดับเยาวชน และกลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทุกทีมในโลกนำมาปรับใช้กันหมดแล้ว หากแต่คงไม่มีที่ใดในโลกที่จะใช้มันได้อย่างสมบูรณ์แบบเสมอเหมือนกับเอซีมิลานต้นตำรับอีก

หากแต่ช่วงเวลาที่มิลานผงาดสูงสุดตามแนวคิดโซนเพรสซิ่งนั้น ก็มีจุดเสียหายร้ายแรงที่ส่งผลต่อชีวิตนักเตะเกมรุกสำคัญของทีมอย่างที่ไม่คาดคิด เนื่องจากมันเป็นระบบที่อาศัยพละกำลังและความฟิตของนักเตะสูง ทั้งเกมรุกและรับ สำหรับนักเตะเกมรับโดยเฉพาะแผงหลังนั้น นี่เป็นระบบที่หากฝึกฝนได้ดีจะถือว่าเป็นการเล่นในฝัน เพราะสามารถป้องกันเกมรุกของคู่แข่งได้ชะงัด แต่สำหรับเหล่านักเตะเกมรุกซึ่งต้องเข้าร่วมในแผนนี้แล้ว มันเป็นระบบที่บั่นทอนสมรรถภาพร่างกายไปอย่างไม่รู้ตัว กุลลิท และ แวนบาสเท่น หนึ่งในสามทหารเสือดัตซ์ต่างประสบปัญหาอาการบาดเจ็บเรื้อรังนับตั้งแต่เล่นให้มิลาน โดยเฉพาะ แวน บาสเท่นนั้นจำต้องแขวนสตั๊ดในเวลาอันรวดเร็ว จะมีก็เพียงไรด์ การ์ทซึ่งเล่นเน้นที่เกมรับกว่าคนอื่นที่ยังสามารถยืนระยะได้นานที่สุด



มิเชล พลาตินี่ ในทีมม้าลาย "จูเวนตุส" ยุค 80 ถือว่ากัลโช่ซีเรอา เป็นลีกอันดับหนึ่งของโลก



คาร์โล อันเชล็อตติ หนึ่งในผู้สืบทอดตำนาน



แลกเปลี่ยนทัศนคติกับโฆเษ่ มูรินโญ่ ช่วงทำทีมให้อินเตอร์ มิลาน



ฟาบิโอ คาเปลโล่
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่