เกิดใหม่ > กลายเป็น > “อ่านเอา” = นิตยสารออนไลน์ฉบับวรรณกรรม



วันนี้ขอเชิญเพื่อนๆ นักอ่านทุกท่านไปทำความรู้จักกับเว็บไซต์สำหรับอ่านนิยายแห่งใหม่  ที่มีจุดเด่นตรงที่เว็บนี้มีนวนิยายของนักเขียนชื่อดังหลายเรื่อง  แต่ละเรื่องท่านสามารถคลิกเข้าไปอ่านกันได้ฟรี ไม่ต้องเสียจ่ายใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  และที่สำคัญที่สุดมีการอัพเดทลงตอนใหม่ให้ท่านได้อ่านกันตลอด  เรียกได้ว่าทั้งทันสมัย ทันเวลา และทันใจของนักอ่านในยุคนี้เลย

ด้วยพฤติกรรมการอ่านที่เปลี่ยนแปลงไป  ทำให้เกิดการล้มหายตายจากของนิตยสารเล่มต่างๆ ที่แต่ละหัวทยอยปิดตัวลงไปตามๆ กัน  ในวันนี้เนื้อหาต่างๆ ที่เคยอยู่ในนิตยสารพวกนั้นได้กลับมาเกิดใหม่แล้ว  เปลี่ยนแปลงกลายเป็นนิตยสารออนไลน์แทน  ซึ่งในวันนี้เราจะขอพูดถึง “อ่านเอา” anowl.co นิตยสารออนไลน์ฉบับวรรณกรรมที่เพียบพร้อมไปด้วยนวนิยายดีๆ หลายเรื่อง รวมทั้งเนื้อหาต่างๆ ที่น่าสนใจที่เคยปรากฎอยู่ในนิตยสารเล่ม  วันนี้ทีมงาน “อ่านเอา” ได้รวบรวมเอานักเขียนและคอนเทนต์ดีๆ มากมายมาไว้ในนิตยสารออนไลน์ฉบับนี้



โดยรายละเอียดที่ผมจะขอพูดถึงในวันนี้  เป็นการพูดคุยในงานเสวนาเปิดตัวเว็บไซต์นิตยสารออนไลน์ anowl.co ที่มีขึ้นเมื่อวันจันทร์ที่ 2 เมษายน 2561  บนเวทีเอเทรียม ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 46   โดยเป็นการพูดคุยกับผู้ร่วมก่อตั้งทั้ง 3 ท่านคือ 1. คุณปิยะพร ศักดิ์เกษม  2. คุณหมอพงศกร  3. คุณกิ่งฉัตร  เว็บไซต์ “อ่านเอา” นี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นเว็บสำหรับอ่านนิยายอย่างเดียว  แต่ยังรวบรวมเอาคอนเทนต์ล้ำๆ ทันสมัยในแนวอื่นๆ ที่ไม่ใช่นิยายเอาไว้ด้วย

(รายละเอียดจากการเสวนา  ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่  โดยมีการคัดตัดย่อเพื่อเขียนสรุปเป็นประเด็น  ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด  หรือคาดเคลื่อนไปจากที่ท่านวิทยากรพูด  ผมก็ต้องกราบขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)



คุณหมอพงศกร

-เราคิดกันว่าจะร่วมกันทำเว็บไซต์สำหรับการอ่านขึ้นมา  โดยเรามีหุ้นส่วนทั้งหมด 8 คน ซึ่งแต่ละคนจะมีความรับผิดชอบในหน้าที่แตกต่างกันออกไป

-ตอนที่เราคิดชื่อเว็บไซต์  เราก็เลือกมาหลายชื่อ อาทิเช่น ธาราลัย , เอนกเขนก , เดอะรีดเดอร์ ฯลฯ ได้ชื่อมาเยอะแต่ชื่อที่ชนะเลิศเป็นชื่อที่คุณปิยะพรตั้ง

@@@@@@@@@@

คุณปิยะพร ศักดิ์เกษม

-ชื่อเว็บว่า “อ่านเอา” นี้คิดได้ตอนที่อยู่ในสถานที่สงบเงียบ  คือตอนที่กำลังเข้าห้องน้ำ  ปกติเวลาที่คิดอะไรยังไม่ออกจะเข้าห้องน้ำสระผมทันที  แล้วก็จะคิดออกได้เอง ตอนที่คิดก็อยากได้ชื่อเว็บที่อ่านได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ (เพราะอยากได้ชื่อ URL เป็นภาษาอังกฤษ)  และต้องมีความหมายที่ดีด้วย

-แล้วก็มาได้คำว่า “อ่านเอา” ที่มาจากอ่านเอาเรื่อง อ่านเอารัก อ่านเอารู้  ที่แปลได้หลายความหมาย  ส่วนพอเป็นภาษาอังกฤษชื่อเว็บว่า owl แปลว่านกฮูก

@@@@@@@@@@

คุณหมอพงศกร

-นกฮูกมันเป็นสัญลักษณ์ของความรู้ ความฉลาด  ดังนั้นชื่อนี้จึงตอบโจทย์เราได้ทันทีในคำๆ เดียว

@@@@@@@@@@

พิธีกรถามว่า ทำไมถึงสร้างเว็บนี้ขึ้นมามีจุดประสงค์อย่างไร?


คุณกิ่งฉัตร

-ตอนนี้พอมีกระแสอินเตอร์เน็ตเข้ามา มีอีบุ๊ค มีออนไลน์ ทำให้นิตยสารทยอยปิดตัวกันเยอะ  นักเขียนจึงขาดพื้นที่ในการเผยแพร่ผลงาน เราจึงคิดกันว่ามันถึงจุดที่เปลี่ยนแปลงแล้ว  เราจึงคิดว่ามาทำนิตยสารออนไลน์กันดีกว่า  แล้วตัวคุณหมอพงศกรเองก็มีความคิดอยากทำนิตยสารมานานแล้วด้วย

-เราจึงลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อปรับตัวไปพร้อมกับกระแสการเปลี่ยนแปลงนี้  แต่ตัวเราเป็นนักเขียนไม่ใช่เป็นนักธุรกิจ  อะไรที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เกี่ยวกับไอที เกี่ยวกับโปรแกรม ฯลฯ เราจะไม่ถนัดเลย

@@@@@@@@@@

คุณหมอพงศกร

-คือเริ่มต้นจากที่พวกเรามีคอนเทนต์ที่ดีแล้ว  แต่เรายังกังวลเรื่องระบบ เรื่องการจัดการเว็บไซต์  เราจึงมีน้องๆ อีกกลุ่มหนึ่งมาช่วยดูแลหลังบ้านให้เรา  รวมทั้งการทำกิจกรรมพิเศษที่จะมีขึ้นในอนาคตด้วย ซึ่งจะมีน้องๆ เขามาช่วยในจุดนี้ด้วย


@@@@@@@@@@

พิธีกรถามว่า  อ่านเอาไม่ใช่อีบุ๊ค  แต่เป็นนิตยสารออนไลน์  ดังนั้นคนอ่านเข้ามาอ่านจะต้องเสียค่าใช้จ่ายไหม?


คุณปิยะพร

-คนอ่านสามารถเข้าเว็บเข้าเราได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น  เราต้องการทำให้ anowl.co เป็นศูนย์รวมของนักอ่านและนักเขียน  เราจะไม่รบกวนนักอ่าน  เราจะทำเป็นฟรีคอนเทนต์ทั้งหมด  เราหวังว่าจะมีนักอ่านเข้ามากันเยอะๆ เราจะได้มีโฆษณา จะได้มีรายได้ จะได้อยู่รอดได้

-เราอยากให้คนอ่านได้เข้ามาอ่านคอนทนต์ของเราที่มีความหลากหลาย เพื่อเป็นการชดเชยที่นิตยสารต่างๆ ทยอยปิดตัวกันไป  พอไม่มีนิตยสารนักเขียนก็เหงา ก็รู้สึกว้าหว่ คนอ่านเองก็คิดถึงนักเขียน อยากจะอ่านเรื่องของนักเขียนคนโปรด นักเขียนและนักอ่านต่างก็คิดถึงกัน  เราจึงตัดสินใจทำ anowl.co ขึ้นมา



พิธีกรถามถึงยุครุ่งเรืองของวงการสื่อสิ่งพิมพ์ ในยุคสมัยที่นิตยสารกำลังเฟื่องฟู  ตอนนั้นบรรยากาศเป็นอย่างไรบ้าง? อยากจะให้แต่ละท่านเล่าให้ฟังหน่อย


คุณปิยะพร

-คุณปิยะพรเป็นคนที่อยู่ในวงการนิตยสารนานที่สุด (นานกว่าคุณหมอพงศกรและคุณกิ่งฉัตร)  เคยเขียนเรื่องลงสกุลไทยครั้งแรกนานมากแล้ว ได้เห็นบรรยากาศของการเขียนเรื่องลงทีละตอนในนิตยสาร  ในยุคนั้นต้องบอกว่านิตยสารรุ่งเรืองมาก  โดยสมัยนั้นความสัมพันธ์ระหว่างผู้อ่านกับนักเขียนคือการเขียนจดหมายมาคุยกัน บรรยากาศโดยรวมถือว่ามีความสุขมาก

-ในสมัยก่อนถ้าเรื่องของเราได้ลงนิตยสารแสดงว่าเรื่องของเราดี เรามีฝีมือพอตัว  เพราะนิตยสารเขามีบรรณาธิการคอยกลั่นกรองเรื่อง คอยดูแลให้เราว่าเหมาะสมหรือยัง ควรต้องลงเรื่องในจังหวะไหนถึงจะดี ทำให้เราประทับใจบทบาทของบรรณาธิการมาตลอด  เราจึงตัดสินใจว่าทำเว็บ “อ่านเอา” นี้

-จริงๆ แล้วยังมีเว็บไซต์อีกหลายๆ เว็บ ที่ลงนิยายให้อ่านกันฟรี  เนื่องจากแพล็ตฟอร์มทางไอทีมันกว้างมาก  มันเปิดโอกาสให้ใครก็ได้เอานิยายมาลงก็ได้  แต่เราพยายามจะสร้างทางเลือกใหม่ให้แก่ผู้อ่าน  โดยมาที่นี่ที่เดียวสามารถอ่านเรื่องที่มีคุณภาพได้ เรื่องที่เราเอาลง anowl.co ทุกเรื่องจะเป็นเรื่องที่เราคัดสรรมาอย่างดีแล้ว

-คุณสุภัทร สวัสดิรักษ์ (อดีตบรรณาธิการบริหาร นิตยสารสกุลไทย ผู้ล่วงลับ) เคยบอกไว้ว่า “นิตยสารหนึ่งเล่มก็เหมือนข้าว 1 สำรับ ที่จะต้องมีทั้ง ต้ม ผัด แกง ทอด ให้อร่อยครบรส ครบเครื่อง ต้องมีผลไม้ มีของหวานด้วย” เราจึงตั้งใจทำ “อ่านเอา” ให้เป็นแบบนี้ด้วย คือคนอ่านเข้ามาอ่านแล้วได้อ่านเรื่องที่หลากหลายครบรส โดยไม่ต้องกระโดดลงไปในทะเลแห่งคอนเทนต์แล้วก็ดำลงไป งม หากันเอาเอง

-จึงรู้สึกว่าเวลามันเปลี่ยน  จากยุคสมัยก่อนที่มีความคลาสิคในแบบหนึ่งแต่เราหยุดโลกเอาไว้ไม่ได้ ดังนั้นพอมาถึงยุคนี้เราก็จะพยายามทำให้ดีที่สุดเท่าที่ในยุคนี้จะทำได้

@@@@@@@@@@

คุณหมอพงศกร

-คุณหมอพงศกรอยู่ในวินาทีสุดท้ายของนิตยสารเยอะมาก คือได้อยู่จนเห็นมรณกรรมของนิตยสารหลายเล่ม เริ่มจากนิตยสารวอลลุ่มที่ปิดตัวเป็นเล่มแรก ๆ ก็ตกใจมาก คือไม่เคยคิดมาก่อนว่านิตยสารจะปิดตัว หลังจากนั้นก็สกุลไทย , ขวัญเรือน , พลอยแกมเพชร  ล่าสุดก็คือนิตยสารแอตติจูดก็ปิดตัวไปอีกเล่มหนึ่งแล้ว

-คือว่าการอ่านยังคงอยู่  แต่ว่าพฤติกรรมของคนอ่านมันเปลี่ยนแปลงไป  การอ่านหนังสือเล่มอาจจะไม่ตอบโจทย์ของคนรุ่นนี้ที่ชอบอะไรสั้นๆ กระชับ ฉับไว รวมทั้งความรวดเร็วในการสื่อสารกับคนเขียนด้วย

-งบโฆษณาต่างๆ จึงย้ายฐานตามไปด้วย  จึงเป็นที่มาว่าเรามาทำนิตยสารออนไลน์กันดีกว่า  พอมีคุณปิยะพร คุณกิ่งฉัตร และมีน้องๆ อีก 5 คนมาร่วมงานด้วยเราจึงอุ่นใจได้ว่าน่าจะไปได้

-สำหรับนวนิยายในเฟสแรกเรามี 10 เรื่อง  ซึ่งเราได้รับเกียรติจากอาจารย์มาลา คำจันทร์ ที่เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ และเป็นนักเขียนซีไรต์ด้วย  อาจารย์มาลาเอานวนิยายเรื่องหนึ่งที่เขียนจบแล้วเตรียมจะให้ขวัญเรือน แต่ทางขวัญเรือนปิดตัวไปก่อน  พอท่านทราบว่าเราจะทำนิตยสารออนไลน์ก็ให้นวนิยายเรื่องนี้มาเลย  โดยไม่คิดเงินด้วย ซึ่งเราสัญญาว่าเราจะทำการบ้านกันเรื่องรายได้  คือถ้าเรามีรายได้แล้วเราจะไม่ลืมคนที่มีพระคุณต่อเราเลย

-นอกจากนั้นยังมีนวนิยายจากคุณหมอพงศกร , คุณปิยะพร , คุณกิ่งฉัตร  และนวนิยายจากนักเขียนอื่นๆ อีกเช่น คุณทอม สิริ , คุณภัสรสา ,คุณกานต์ , คุณนาคเหรา , คุณปองวุฒิ และคุณปราปต์


@@@@@@@@@@



พิธีกรถามว่าถ้าเกิดมีคนที่อ่านนวนิยายแล้วติดใจ อยากจะซื้อเป็นหนังสือเล่มเก็บไว้เขาจะต้องทำอย่างไรดี?


คุณกิ่งฉัตร

-คือนวนิยายทุกเรื่องที่ลงในอ่านเอา  พอลงจบเรื่องแล้วจะมีการรวมเล่มออกมา แต่จะกระจายกันไปพิมพ์ตามสำนักพิมพ์ของตัวเอง คือของคุณหมอพงศกรก็จะพิมพ์กับทางกรุ๊ฟ พับลิชชิ่ง , ของคุณกิ่งฉัตรจะพิมพ์กับสำนักพิมพ์ลูกองุ่น , ของคุณปิยะพร จะพิมพ์กับทางสำนักพิมพ์อมรินทร์ ฯลฯ  

-คือนักเขียนจะกลับไปสู่จุดเดิม  เพราะว่า anowl.co จะเหมือนกับนิตยสารมาก  พอเอานวนิยายมาลงเป็นตอนๆ พอจบก็เอากลับไปพิมพ์รวมเล่มได้เลย  ตัวลิขสิทธิ์ในเรื่องเราไม่ได้ถือไว้  ถ้าใครอ่านไม่ทันในออนไลน์ก็สามารถตามหาซื้อหนังสือเล่มไปอ่านได้


@@@@@@@@@@


พิธีกรถามถึงความต้องการของคนอ่าน  ที่อยากจะให้เปลี่ยนแปลงตอนจบ ไม่อยากให้คนนี้ตาย ไม่อยากให้คนนี้เป็นแบบนี้ ไม่อยากให้จบแบบนี้  ถ้าเกิดมีกรณีแบบนี้ทางเรามีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง?


คุณปิยะพร

-ในสมัยก่อนเคยมีแบบนี้อยู่เหมือนกัน  แต่พอได้รับฟีดแบ็คหรือคำแนะนำกลับมาจากผู้อ่าน  มันล่าช้าไปแล้ว บางครั้งผ่านไป 3 สัปดาห์แล้ว ซึ่งเราเขียนตอนต่อไปแล้ว  มันจึงเปลี่ยนแปลงตามที่คนอ่านต้องการไม่ได้ แต่ในยุคสมัยนี้ฟีดแบ็คแบบนี้จะเร็วขึ้นแน่  ซึ่งตัวนักเขียนเองต้องเตรียมตัวล่วงหน้าไว้รับสถานการณ์ในแบบนี้ได้เลย  

-ตัวนักเขียนเองจะต้องเป็นคนที่ประสาทแข็งอย่างที่สุด  แม้ว่าข้อมูลจะมีเข้ามาถล่มทลายอย่างไรก็ตามถ้านักเขียนวางโครงเรื่องเอาไว้มั่นคงแล้ว  ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงเรื่องตามที่คนอ่านต้องการได้แน่




@@@@@@@@@@


คุณหมอพงศกร

-พอมันเป็นนิตยสารออนไลน์มันจะมีข้อดีตรงที่ว่า  พอมันมีฟีดแบ็คก็แสดงว่ามีคนติดตาม และเราได้เห็นมุมมองของคนอ่าน  ชอบหรือไม่ชอบมันต้องมีอยู่แล้ว อย่างน้อยที่สุดเราจะได้รู้ว่าความรู้สึกของนักอ่านที่มีต่อเรื่องของเรามันเป็นอย่างไร  และเรา (นักเขียน) สามารถพูดคุยตอบโต้กับผู้อ่านได้อย่างทันทีเลย

-ในเฟสแรกเรามีนวนิยายจากนักเขียน 10 ท่านให้ได้อ่านกัน  มีคนถามว่าในอนาคตจะมีนักเขียนอื่นเพิ่มขึ้นอีกไหม?  ในกรณีแบบนี้เราต้องบอกว่าตอนนี้เราเพิ่งเริ่มต้น  เราเพิ่งตลอด เรายังไม่แข็งแรง  ขอให้เราเติบโตและแข็งแรงมากกว่านี้ก่อน  คือสามารถดูแลคนอื่นได้เราถึงจะเชิญนักเขียนท่านอื่นๆ มาเพิ่มเติมอีก

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่