แชร์เทคนิคการค้นหาเปเปอร์สำหรับนักเรียนที่กำลังทำวิจัย

ในการทำวิจัยนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้วิจัยต้องทำการสืบค้นงานวิจัยที่ผ่านมา ว่ามีใครทำอะไรไปแล้วบ้างและได้ผลว่าอย่างไร เพื่อที่จะได้นำความรู้ที่ได้จากงานวิจัยเหล่านั้น มาต่อยอดงานวิจัยของเราเพื่อสร้างเป็นองค์ความรู้ใหม่ได้ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ่อยโดยเฉพาะกับนักศึกษาวิจัยทั้งในระดับป.ตรี/โท/เอกเวลาค้นหาเปเปอร์คือ เจอเปเปอร์เยอะมากในฐานข้อมูล จนเลือกไม่ถูกว่าจะอ่านงานชิ้นไหนก่อน ไม่รู้ว่าจะเริ่มอ่านตรงไหนดี หรือบางครั้งเสียเวลาอ่านเปเปอร์ตั้งแต่ต้นจนจบก็ยังไม่เจอสิ่งที่กำลังค้นหาอยู่

------------------------------------------------------

เพื่อให้การค้นหาเปเปอร์ของนักศึกษาวิจัยแต่ละครั้งเจอสิ่งที่สามารถนำมาต่อยอดงานวิจัยของตัวเองได้แบบไม่เสียเวลาเปล่า เราจึงมีเคล็ดลับมาฝากดังนี้ค่ะ

1. กำหนดเป้าหมายเพื่อสร้างคีย์เวิร์ด

เราต้องรู้ก่อนว่าเรากำลังจะค้นหาอะไร เช่น เราต้องการหาคำอธิบายเกี่ยวกับ X ต้องการหางานวิจัยที่มีการใช้เทคนิค Y หรือต้องการหาอุณหภูมิที่ใช้สำหรับเตรียมสาร Z เป็นต้น กำหนดเป้าหมายขึ้นมาเพื่อป้องกันการออกนอกลู่นอกทางระหว่างค้นหา ที่นอกจากจะไม่เจอสิ่งที่กำลังค้นหาแล้วยังทำให้เราเสียเวลาอีกด้วย เวลาค้นหาให้เลือกใส่คีย์เวิร์ดที่ตรงกับสิ่งที่เราต้องการค้นหามากที่สุดก่อน บางครั้งต้องใส่มากกว่าหนึ่งคำ เพื่อคัดเอาเปเปอร์ที่ไม่เกี่ยวข้องออก เหลือเพียงเปเปอร์ที่มีเนื้อหาตรงกับที่เรามองหาอยู่ที่สุด

2. ชื่อเรื่องและชื่อผู้เขียนก็สำคัญนะ

ถึงแม้ว่าเราจะกำหนดคีย์เวิร์ดตอนค้นหาไปแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเจอสิ่งที่เรากำลังค้นหาอยู่ในทุกเปเปอร์เสมอไป เวลาเลือกเปเปอร์ที่จะอ่านเนื้อหาข้างในต่อ แนะนำว่าให้พิจารณาจากชื่อเรื่องต่อ โดยให้เลือกจากชื่อเรื่องที่มีความใกล้เคียงกับงานวิจัยของเราที่สุด

นอกจากนี้ให้ดูด้วยว่าผู้เขียนเป็นใครมาจากหน่วยงานไหน สำหรับนักเรียนที่ยังมีประสบการณ์น้อยอยู่นั้น การดูชื่อผู้เขียนกับหน่วยงานอาจไม่ค่อยช่วยเท่าไหร่ แต่สำหรับคนที่มีประสบการณ์ทำวิจัยมากพอ หรือเรียกว่าอยู่ในวงการนั้นๆ จะรู้จักชื่อนักวิจัยที่โด่งดังทางด้านงานวิจัยที่ตัวเองทำอยู่ ดังนั้นการดูชื่อผู้เขียนและหน่วยงานจึงเป็นอีกตัวแปรหนึ่งที่ช่วยในการคัดเลือกเปเปอร์ได้ แต่ถ้าเป็นนักเรียนที่ประสบการณ์ทำวิจัยน้อย ยังไม่ค่อยรู้จักใครในวงการ แนะนำว่าเวลาอ่านเปเปอร์ให้ลองสังเกตชื่อผู้เขียนเอาไว้ด้วย ว่าเราอ่านเปเปอร์ใครอยู่ หรือถ้าเจอเปเปอร์ดีๆก็ให้จำกลุ่มชื่อผู้เขียนเอาไว้ เผื่อภายหลังค้นหาเจอเปเปอร์ของกลุ่มวิจัยนี้อีก จะได้เข้าไปติดตามอ่านเพื่ออัพเดตข้อมูลเพิ่มเติมได้

3. เลือกอ่านให้ถูกจุด

เวลาอ่านเปเปอร์เพื่อค้นหาอะไรบางอย่างเวลาทำวิจัย เราไม่จำเป็นต้องอ่านทุกตัวอักษร เพราะเราไม่ได้จะเอาเปเปอร์นั้นไปพูดสัมมนา ไม่จำเป็นต้องเข้าใจเปเปอร์นั้นทุกซอกมุมก็ได้ แต่เราต้องรู้ว่าสิ่งที่เรากำลังค้นหาอยู่นั้นคืออะไรและน่าจะอยู่ตรงหัวข้อไหน

แนะนำว่าเริ่มต้นให้ Skim หรืออ่านอย่างรวดเร็วเพื่อจับประเด็นในส่วนของ Abstract กับ Conclusion ก่อน เพื่อที่จะได้รู้ว่าเปเปอร์นี้ต้องการศึกษาอะไรและได้ข้อสรุปอย่างไรคร่าวๆ จากนั้นจึงค่อย Scan หรืออ่านเพื่อค้นหาสิ่งที่ต้องการในหัวข้อที่คิดว่าน่าจะมีก่อน ถ้าเจอก็แสดงว่ามาถูกทางแล้ว แต่ถ้าไม่เจอก็อาจต้องย้อนกลับมาดูที่ Abstract ว่าสิ่งที่เรากำลังค้นหาน่าจะอยู่หัวข้อไหนได้อีก หรือไม่ก็ต้องไปหาในเปเปอร์อื่นต่อแทน

4. ตัวช่วยแจ้งเตือนในเว็บฐานข้อมูล

ตัวช่วยที่ว่านี้น่าจะเหมาะสำหรับนักเรียนปริญญาเอกที่สุด เนื่องจากงานวิจัยปริญญาเอกจะต้องเป็นงานที่ใหม่ไม่ซ้ำใคร ดังนั้นตัวช่วยแจ้งเตือนนี้ จะคอยแจ้งเตือนทางอีเมลว่าตอนนี้มีเปเปอร์ใหม่อะไรตีพิมพ์ออกมา โดยเราสามารถกำหนดชื่อวารสารหรือคีย์เวิร์ดเพื่อจำกัดการแจ้งเตือนให้ใกล้เคียงกับงานวิจัยของเราสุดได้ เพื่อคอยอัพเดตว่าตอนนี้เรื่องที่เรากำลังทำวิจัยอยู่ มีใครตีพิมพ์อะไรออกมาแล้วบ้าง แล้วเราจะได้หาทางป้องกันหรือเร่งมือตีพิมพ์งานวิจัยของเราออกไปก่อนที่จะไปซ้ำกับคนอื่น (แล้วเดี๋ยวจะเรียนไม่จบเอา)

ถ้าใครสนใจอยากตั้งค่าการแจ้งเตือนนี้ แนะนำว่าให้ลองดูในเว็บฐานข้อมูลที่เราเข้าใช้บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะให้เราต้องลงทะเบียนก่อน โดยประโยชน์ของการลงทะเบียนเวลาใช้งาน คือจะช่วยบันทึกประวัติการค้นหา และมีตัวช่วยแจ้งเตือนเปเปอร์ใหม่ที่บอกไปด้วย ยกตัวอย่างเช่น ในเว็บฐานข้อมูลงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่าง ScienceDirect เมื่อเราลงทะเบียนแล้ว สามารถกำหนดการตั้งค่าแจ้งเตือนได้ตรง Manage alerts เป็นต้น

------------------------------------------------------

สุดท้ายนี้อย่างที่เราเคยเรียนกันมาว่ากว่านักวิทยาศาสตร์จะได้แบบจำลองอะตอมในปัจจุบันนั้น มีการแก้ไขมาแล้วหลายครั้ง จากในอดีตนักวิทยาศาสตร์เคยรายงานว่าอะตอมเป็นหน่วยที่เล็กที่สุด ไม่สามารถแบ่งแยกได้ แต่ด้วยความรู้และเทคโนโลยีต่างๆที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน ทำให้ทราบว่าอะตอมยังประกอบด้วยโปรตอนและนิวตรอนที่อยู่ในนิวเคลียสและล้อมรอบด้วยอิเล็กตรอนอีก  ดังนั้นเวลาที่เราอ่านเปเปอร์ แนะนำว่าให้คิดวิเคราะห์ตามไปด้วย ว่าเนื้อหาในรายงานนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ มีขั้นตอนการศึกษาที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือไม่ อย่าเพิ่งเชื่อทันทีว่าทุกอย่างที่อยู่ในรายงานนั้นถูกต้องทั้งหมด เพราะองค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นได้เสมอถ้าเรารู้จักคิด วิเคราะห์ และแยกแยะ

Cr. จากเพจ "เคล็ดลับนักเรียน"
https://www.facebook.com/allaboutstudents
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่