วิธีคิดเบื้องหลัง 'บุพเพสันนิวาส' ของ หน่อง อรุโณชา ที่ทำเอาคน 'ออเจ้า' กันทั้งพระนคร

ไม่ว่าคุณจะเป็นสาวกละครโทรทัศน์หรือไม่ เราก็เชื่อมั่นว่าคุณเคยได้ยิน ได้เห็น ชื่อละคร บุพเพสันนิวาส และศัพท์เก่าไม่คุ้นหูอย่าง ‘ออเจ้า’ แน่ๆ

บุพเพสันนิวาส คือละครพีเรียดที่ดัดแปลงจากบทประพันธ์ชื่อเดียวกันของ ‘รอมแพง’ สร้างโดยค่าย Broadcast Thai Television ในมือผู้จัดอย่าง หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธ์ ละครเรื่องนี้กำลังออนแอร์ทางช่อง 33 HD ของช่อง 3 ทุกวันพุธและพฤหัสบดี โดยมีนักแสดงนำคือ โป๊บ-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ และ เบลล่า-ราณี แคมเปน (อ่านบทสัมภาษณ์เบลล่าเรื่องการแสดงชนิดจ้างร้อยเล่นล้านและตัวตนหลังกองถ่ายของเธอได้ที่นี่)

ในอาทิตย์แรกที่ออกฉาย มีคนทวีตถึง บุพเพสันนิวาส ไปกว่า 1 ล้านทวีต ชื่อละครพุ่งไปติด top ten ของทวิตเตอร์โลก ขณะที่คลิปละครมีคนชมไปกว่า 39 ล้านวิว


ตัวละครในเรื่องกลายเป็น meme ว่อนอินเทอร์เน็ต ส่วนคำไทยโบราณอย่าง ‘ออเจ้า’ ถูกพูดถึงหนาหูและกลายเป็นคำที่บรรดาเพจหยิบมาเล่น

นวนิยายต้นเรื่องถูกพิมพ์ซ้ำจนล่าสุดไปถึงครั้งที่ 39

และวันหยุดที่ผ่านมา จังหวัดพระนครศรีอยุธยามีรถติดยาวเหยียด เพราะคนดูไปตามรอยโลเคชันละครที่วัดไชยวัฒนาราม

เมืองไทยมีละครพีเรียดมากมาย พล็อตการข้ามภพของตัวเอกจากปัจจุบันสู่อดีตก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ละครเรื่องนี้ซึ่งสร้างจากบทประพันธ์เป็นครั้งแรก ไม่ได้รีเมกละครดังเรื่องไหน กลับสร้างปรากฏการณ์ในยุคที่อาจกล่าวได้ว่าละครโทรทัศน์ไม่เฟื่องฟูเหมือนก่อน

นี่ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

ด้านล่างนี้คือวิธีคิดเบื้องหลังเรื่องรักสมัยอยุธยาของเกศสุรางค์และหมื่นสุนทรเทวา ที่หน่อง-อรุโณชา ภาณุพันธ์ นั่งลงและเล่าให้เราฟัง



ละครที่มาจากนิยายขวัญใจนักอ่าน

ต้นทางของ บุพเพสันนิวาส มาจากนิยายพีเรียดของ ‘รอมแพง’ นักเขียนผู้เรียนจบด้านโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยศิลปากร หนังสือเล่มนี้โด่งดังชนิดมีคนเลือกเรียนโบราณคดีตามเกศสุรางค์ผู้เป็นนางเอก


รุโณชาบอกเราว่าความดีงามของบุพเพสันนิวาสคือเนื้อเรื่องโดดเด่น สนุกสนาน ทำให้เห็นความแตกต่างระหว่างยุค เมื่อนางเอกจากยุคปัจจุบันย้อนอดีตไปสู่อยุธยารัชสมัยพระนารายณ์ นอกจากความสนุกในการปรับตัว ยังมีเรื่องรักโรแมนติก บวกกับการได้เจอประวัติศาสตร์มีชีวิต ผ่านการใช้ชีวิตกับบุคคลในประวัติศาสตร์ยุคนั้น

ที่สำคัญ เมื่อมีการเปิดโหวตว่าอยากเห็นนิยายเรื่องไหนถูกสร้างเป็นละคร บุพเพสันนิวาส ก็มาอันดับหนึ่ง

บรอดคาซท์จึงไม่ได้สุ่มเลือกหยิบนิยายเรื่องนี้มาทำละคร แต่ตัดสินใจโดยมีปัจจัยต่างๆ รองรับ แถมหลังเซ็นสัญญาซื้อเรียบร้อย ก็มีผู้ที่แสดงตัวว่าอยากซื้อบทประพันธ์อีกหลายเจ้า

ยิ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่านี่เป็นการเลือกหยิบวัตถุดิบที่ถูกต้องที่สุด


นักเขียนบทผู้เป็นปรมาจารย์ละครพีเรียด

เมื่อได้ตัวบทประพันธ์ ผู้จัดต้องนำมาดัดแปลงเป็นบทที่เหมาะกับการทำละครโทรทัศน์ บทละครจึงนับเป็นหัวใจสำคัญของละคร 1 เรื่อง

มีคนบอกว่าเราทำละครที่ดีจากบทที่เลวไม่ได้ แต่เราทำละครที่เลวจากบทที่ดีได้ มันมาจากบทเป็นเบื้องต้นก่อน-อรุโณชาอธิบาย

ละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส เขียนบทโดย ‘ศัลยา’ หรือศัลยา สุขะนิวัตติ์

นี่คือนักเขียนบทละครไทยชั้นครูผู้โลดแล่นในวงการจอแก้วมาหลายสิบปี มีผลงานโด่งดังฝากไว้นับไม่ถ้วน เช่น ลูกตาลลอยแก้ว คู่กรรม และ ดอกส้มสีทอง มากกว่านั้น อาจารย์ศัลยาคือนักเขียนบทผู้เชี่ยวชาญการเขียนละครพีเรียด เช่น รัตนโกสินทร์ และ สายโลหิต

เรียกได้ว่าบทละคร บุพเพสันนิวาส มีการจับคู่ตัวเรื่องกับคนเขียนที่สมบูรณ์แบบ

อย่างไรก็ตาม บทละครที่ทำคนอินจัดนี้ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ อรุโณชาเล่าว่า ศัลยาออกปากว่าเป็นบทที่ยากมาก เพราะถึงจะมีโครงบทประพันธ์ แต่ผู้เขียนบทต้องไปศึกษาภาษาในยุคนั้นจนแตกฉาน เพราะต้องใช้ในบทสนทนาตลอดเรื่อง รวมถึงศึกษาความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และเกร็ดประวัติศาสตร์ต่างๆ เนื่องจากการทำละครจะใช้เนื้อเรื่องที่ยาวกว่าหนังสือ แปลว่าคนเขียนบทต้องขยายความ เพิ่มเหตุการณ์ โดยรักษาไม่ให้หลุดจากโครงของนวนิยายและต้องตรงกับข้อมูลจริงในประวัติศาสตร์ด้วย  

ศัลยาทุ่มเทพลังเขียนบทละครเรื่อง บุพเพสันนิวาส อยู่ถึง 2 ปี

และตอนนี้ คนดูคงรู้แล้วว่าบทจากปลายปากกานักเขียนบทชั้นครูคุณภาพคับแก้วแค่ไหน


ผู้กำกับที่เชี่ยวชาญและเฉียบคม

คนที่ค่ายบรอดคาซท์เลือกมากำกับ บุพเพสันนิวาส คือ ภวัต พนังคสิริ



อรุโณชาวิเคราะห์ว่าภวัตกำกับละครได้หลายแนว ที่ผ่านมาเขาเคยทำละครยุคใหม่อย่างบางตอนของซีรีส์ คิวปิด บริษัทรักอุตลุด ขณะที่ละครย้อนยุคอย่าง บ่วง ก็เอาอยู่ และถ้าเจาะลึกลงไปถึงคุณสมบัติเฉพาะตัว ภวัตมีสายตาละเอียดในการถ่ายทำ ซึ่งแน่นอนว่าเหมาะกับ บุพเพสันนิวาส ที่มีรายละเอียดปลีกย่อยรายล้อมมากมาย

ภวัตยังกำกับนักแสดงได้ดีด้วย เขาพยายามให้นักแสดงสนุกกับการเล่นแต่ละบทบาท ย้ำให้รักษาความต่อเนื่องของบุคลิกตัวละคร และรู้ว่าน้ำหนักการแสดงที่เหมาะเจาะอยู่ตรงไหน อรุโณชายกตัวอย่างฉากที่เบลล่าทำหน้าเลียนแบบกิ๊ก สุวัจนี ซึ่งตอนแรกเบลล่าจัดมาน้อยกว่านี้ แต่ภวัตขอให้อัพเลเวล จนกลายเป็นที่จดจำ (และกลายเป็น meme ว่อนเน็ต) อย่างที่เห็น

อีกเรื่องที่สำคัญมากคือ การคุมโทนเรื่อง คนที่ดู บุพเพสันนิวาส น่าจะรู้ว่าหนึ่งจุดดึงดูดสุดๆ ของละครเรื่องนี้คือความตลก ซึ่งผู้กำกับจะต้องมองให้ออกว่าตลกแค่ไหนถึงจะพอดี และภวัตก็ทำออกมาได้สวยงาม จนเรานั่งขำกับกับมุกของแม่การะเกด แต่ยังคงได้อรรถรสด้านอื่นครบถ้วน


นักแสดงที่สมบทบาท

หนึ่งในสิ่งที่คนดูประทับใจมากจาก บุพเพสันนิวาส คือนักแสดง

ยิ่งถ้าใครเคยอ่านหนังสือ จะยิ่งรู้ว่าผู้จัดเลือกดาราได้เหมาะสมมาก


อรุโณชาเล่าถึงเกณฑ์การเลือกให้เราฟังว่า เหตุผลที่เลือก โป๊ป-ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ มาเป็น ‘หมื่นสุนทรเทวา’ หรือพี่หมื่นของแฟนคลับ เพราะรู้จักโป๊ปมาตั้งแต่เล่นเรื่อง สะใภ้จ้าว แล้วเล็งเห็นว่าบุคลิกดูอบอุ่นเข้ากับบุคลิกพระเอก รวมถึงเชื่อว่าโป๊ปมีฝีมือพอจะแสดงเป็นหมื่นสุนทรเทวาได้ และผลก็ออกมาดีอย่างที่คาดไว้ แม้บางฉากจะยากเย็น เช่น ต้องแร็พด่ายาวเหยียด (อรุโณชาบอกว่าปาเข้าไป 10 เทก) แต่สุดท้ายคุณพี่หมื่นของเราก็เอาอยู่

ส่วน เบลล่า-ราณี แคมเปน ผู้กลายมาเป็น ‘เกศสุรางค์’ และ ‘แม่หญิงการะเกด’ ถูกคัดเลือกมาเพราะมองว่าน่าจะเล่นบทบาทเป็นหลายคน หลายบุคลิกได้ ซึ่งเบลล่าก็พิสูจน์แล้วว่าทำได้ดีมาก เล่นจนคนดูแยกตัวละครจากกันได้เด็ดขาด

เมื่อเลือกตัวละครได้ดี ก็แน่นอนว่าเราจึงดูได้แบบดำดิ่งจนอินมากอย่างนี้เอง


ฉากและพร็อพที่ประณีตตระการตา

หนึ่งในความยากเย็นของการทำละครพีเรียดคือ ต้องทำให้โลกอดีตมีชีวิตขึ้นในโลกปัจจุบัน แต่เรื่องยากนี้กลับกลายเป็นสิ่งที่โดดเด่นใน บุพเพสันนิวาส

อรุโณชากล่าวว่าว่าบรอดคาซท์ตั้งใจเนรมิตโลกสมัยอยุธยาใบนี้มาก ตั้งแต่ฉากซึ่งต้องค้นข้อมูลอย่างหนัก ออกแบบ ทำเป็นสตอรี่บอร์ดก่อนถ่ายทำ โดยโลเคชันที่มีอยู่จริง เช่น กำแพงเมือง หรือวัดไชยวัฒนาราม ก็เก่าแก่ ต้องทำขึ้นใหม่ให้เหมือนบทประพันธ์ ส่วนฉากที่ไม่หลงเหลือแล้ว ก็แน่นอนว่าต้องสร้างขึ้นมาใหม่ให้ทั้งสวยและถูกต้องตามประวัติศาสตร์ และไม่ใช่แค่สถานที่ที่ต้องเนรมิตขึ้นให้ดี แต่หมายถึงอุปกรณ์ประกอบหรือพร็อพทั้งหมดด้วย


ตัวอย่างเช่น เรือนไทยที่เป็นฉากหลักก็ดูหรูหราเหมาะกับตำแหน่งของครอบครัวพระเอก การตกแต่งก็มีรายละเอียด แพนกล้องซ้ายขวาก็เห็นข้าวของตามแบบยุคอยุธยาวางอยู่ นอกจากนั้น ในฉากที่สะท้อนวัฒนธรรม เช่น ฉากการทำขนมหวาน ก็เชิญอาจารย์ที่เชี่ยวชาญการทำขนมไทยโบราณมาทำให้ จนได้ขนมหวานละเมียดละไม ฝอยทองเส้นเล็กละเอียด หรืออาทิตย์หน้าที่จะมีฉากคุณหญิงจำปาสอนการเรือนการะเกด เราก็ได้เห็นผักแกะสลักอลังการ

นอกจากนั้น ยังมีฉากที่ต้องอาศัยพลังงานมาก เช่น ฉากตลาดจีน ที่สร้างทั้งตลาดขึ้นมาเพื่อการถ่ายทำจริงฉากเดียว ฉากนรกที่ถ่ายกันในสตูดิโอถึง 2 วัน แต่ออกมาแค่ 2 นาที รวมถึงฉากท้องพระโรงที่สมเด็จพระนารายณ์ทรงรับพระราชสาส์นจากพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส ซึ่งทางค่ายตั้งใจสร้างออกมาให้สวยเหมือนภาพในหนังสือประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกัน


ไม่หมดเท่านั้น เสื้อผ้าหน้าผมก็จัดเต็มเพื่อให้สวยและถูกต้องตามประวัติศาสตร์ให้มากที่สุด อรุโณชาเล่าว่าเครื่องแต่งกายตัวละครเรื่องนี้มีการออกแบบใหม่หมดตั้งแต่สี ลายผ้า เครื่องประดับจนถึงหัวเข็มขัด ตามบุคลิกตัวละครและตามยศศักดิ์ นอกจากนี้ ทรงผมแต่ละคนก็อ้างอิงจากทรงผมจริงสมัยอยุธยา ผลคือคนชื่นชมและฮือฮา เช่น ทรงผมคุณหญิงจำปาซึ่งมีคนแซวว่าเหมือนบลูทูธ แต่ก็มีผู้ชมที่รู้เรื่องประวัติศาสตร์มาช่วยตอบว่าเป็นทรงที่เขาทำกันในยุคนั้นจริงๆ

ความบ้าพลังนี้ทำให้คนดูได้เห็นทั้งองค์ประกอบที่สวยงามและได้รู้จักโลกสมัยอยุธยาซึ่งมีชีวิตขึ้นในจอด้วย


(ต่อ-)

Cr. https://readthecloud.co/scoop-40/
ภาพ:   Broadcast Thai Television และ   ธีรรินทร์ รุจิธันยพัชร์

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่