ทางรอดหรือทางตายของประเทศที่รัฐบาลไม่มีระบบหนังสือแห่งชาติ




เมื่อวันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้อง 300 อาคารจักรีมหาสิรินธร คณะอักษรศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีการเสวนาในหัวข้อ “ทางรอดหรือทางตายแห่งอนาคตของประเทศและรัฐบาลที่ไม่มีระบบหนังสือของชาติ”  พูดถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขเกี่ยวกับวิกฤติของธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์  โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับหนังสือ  โดยมีผู้ร่วมเสวนาดังนี้ 1.) อาจารย์ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย  2.) คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย, 3.) คุณพิมลพร  ยุติศรี  ตัวแทนลิขสิทธิ์วรรณกรรมในประเทศและระหว่างประเทศ  บริษัท ทัทเทิล-มอริ ประเทศไทย จำกัด  4.) อาจารย์ ดร.ปณิธิ หุ่นแสวง  ประธานมูลนิธิวิชาหนังสือ  นำการเสนวาโดย อาจารย์มกุฏ  อรฤดี ครูสอนหนังสือและบรรณาธิการศึกษา  การเสวนาครั้งนี้มีรายละเอียดอันน่าสนใจที่ผมอยากนำเสนอดังนี้

(รายละเอียดจากการเสวนาในครั้งนี้  ผมจดเป็นบันทึกช่วยจำย่อ (จดเลคเชอร์) แล้วจึงนำมาเรียบเรียงใหม่  ดังนั้นถ้ามีรายละเอียดประการใดที่ผิดพลาด , คาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง หรือผิดเพี้ยนไปจากที่ท่านวิทยากรพูดไว้   ผมก็ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วยครับ)




อาจารย์มกุฏ  อรฤดี ครูสอนหนังสือและบรรณาธิการศึกษาชวนคุยเรื่องสำคัญ มีความจริงอย่างหนึ่งว่าประเทศที่ไม่มีระบบหนังสือแห่งชาติจะไปไม่รอด  เพราะการอ่านหนังสือเป็นเรื่องที่จะทำให้ประชาชนมีความรู้   เราเคยเสนอเรื่องนี้ไปเมื่อ 15 ปีที่แล้ว  จนปัจจุบันถึงสถานการณ์ที่วิกฤติที่สุด  เมื่อนิตยสารต่างๆ ปิดตัวลง  สำนักพิมพ์ต่างๆ ปิดตัวลง  รวมทั้งร้านค้าขายหนังสือได้ทยอยปิดตัวตามด้วย

-ประเทศที่ไม่มีระบบหนังสือแห่งชาติก็เหมือนกับที่หมู่บ้านต้องปล่อยให้ลูกบ้านล้มตายไปเรื่อยๆ ถ้า ณ วันนี้มีใครสักคนที่ถือขวานเล่มโตๆ ออกมาจามหัวใครสักคน(ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้)ก็คงดีมาก  ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องจัดงานพูดคุยในวันนี้ขึ้นมา

-ขอถามท่านนายกสมาคมนักเขียนฯ ว่า ถึงตอนนี้แล้วเริ่มวิตกอะไรเกี่ยวกับสถานะการณ์ในขณะนี้บ้าง?



อาจารย์ กนกวลี พจนปกรณ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย

-ในกระบวนการอ่านนั้น  นักเขียนสำคัญที่สุด  แต่จริงๆ แล้วนักเขียนเป็นคนที่จนที่สุดในระบบของการทำหนังสือ

-สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทยมีภาระโดยตรงเกี่ยวกับการอ่าน  ในยุคนี้มีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในทุกระบบ  สมาคมนักเขียนฯ จึงมีนโยบายต้องดูแลนักเขียนทุกคนที่เป็นสมาชิกของเรา  และดูแลสนับสนุนนักเขียนทุกกลุ่มด้วย

-โดยเฉพาะเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของนักเขียน ซึ่งนักเขียนไม่ได้รับการดูแลหรือเหลียวแลจากใครเลย  ภาครัฐก็นิ่งเฉย  นักเขียนจึงต้องดูแลตัวเอง  ทนทำงานกันต่อไป โดยต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างสมถะ(มักน้อย)

-ยุคนี้นักเขียนอาชีพที่จะอยู่รอดได้จะต้องเป็นนักเขียนไซด์ไลน์เท่านั้น  หมายความว่านักเขียนควรจะมีงานประจำอย่างอื่นทำเพื่อเลี้ยงชีพก่อน  แล้วจึงค่อยมาเขียนหนังสือ  เช่นบางคนเป็นนายแพทย์ , นายธนาคาร , พนักงานประจำตามออฟฟิศ ฯลฯ  ปัจจุบันนี้คนที่เป็นนักเขียนโดยการเขียนอย่างเดียวจะต้องอยู่อย่างยากลำบากมาก

-จริงๆ แล้วอาชีพนักเขียนไม่ได้ใช้ชีวิตที่สวยงามเลย  ยุคนี้ค่าเรื่องน้อยมาก  เขียนเรื่องส่งไปยังนิตยสารได้ค่าเรื่องแค่ 500 บาทก็มี  และนักเขียนที่เขียนเรื่องส่งให้นิตยสาร  ครั้งแรกเคยได้ค่าเรื่องเท่าใหร่ปัจจุบันก็เท่าเดิม  ไม่มีการเพิ่มค่าเรื่องขึ้นให้เลย

-และเมื่อเรื่องที่เคยเขียนลงนิตยสารเอามารวมเล่มจะพิมพ์ขาย  สำนักพิมพ์บางแห่งก็ให้นักเขียนเซ็นสัญญาที่ถูกเอาเปรียบ  เช่น  ให้เปอร์เซ็นต์น้อย  ขอให้มอบสิทธิ์ทั้งในการจะทำเป็นละคร หรือจะทำขายเป็นอีบุ๊ค ฯลฯ

-ปัจจุบันสมาคมนักเขียนจะทำอะไรทุกอย่างก็ต้องทำงานไปหาเงินไปด้วย  การดูแลช่วยเหลือนักเขียนเมื่อป่วยก็ช่วยเงินได้แค่หลักพันบาทเอง  แต่ก็ถือว่าเป็นน้ำใจที่มีมอบให้แก่กัน และในกรณีที่นักเขียนที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปแล้ว  พวกเขาเหล่านี้จะคอยส่งเงินมาช่วยสมาคมนักเขียนฯ เสมอ

-ดังนั้นสมาคมนักเขียนฯ จึงต้องพยายามส่งเสริมให้นักเขียนมีความรู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อที่จะพัฒนางานเขียนของเขาให้ดีขึ้นด้วย

-ปัจจุบันนี้สมาคมนักเขียนฯ จะหวังพึ่งอะไรจากรัฐบาลไม่ได้เลย  การทำงานแต่ละครั้งต้องหาเงินสนับสนุนจากภาคเอกชนเอง อย่างเช่นงานที่ผ่านมา  “งานแจกรางวัลลุ่มแม่น้ำโขง”  ที่ถือว่าเป็นงานใหญ่ระดับชาติแต่ก็ไม่มีภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนเลย  เราต้องหาเงินจากสปอนเซอร์ภาคเอกชนเองทุกอย่างเลย

-นี่แหละชีวิตของนักเขียนในยุคสมัยนี้



อาจารย์มกุฏ อรฤดี ครูสอนหนังสือและบรรณาธิการศึกษา

-ดูแล้วมันไม่มีความหวังอะไรเลย สมาคมนักเขียนฯ ที่เป็นผู้ดูแลสติปัญญาเบื้องต้น  เหมือนเป็นยุ้งฉางที่เก็บพันธุ์ข้าว  แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้รับการดูแลที่ดี  ปล่อยให้โดนมดกัดโดนมอดกินเสียหายหมด  แล้วเมล็ดพันธุ์ที่จะงอกเงยออกมามันจะกลายเป็นต้นพันธ์ที่ดีได้อย่างไร?  เราจึงหวังอะไรไม่ได้  ดังนั้นขอหันไปถามทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บ้าง  ว่าปัจจุบันนี้เป็นอย่างไรบ้าง?


คุณสุชาดา สหัสกุล นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จัดจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย

-ที่ผ่านมาคุณสุชาดาเป็นกรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มาเกือบทุกสมัยจนกระทั่งได้เป็นนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ในสมัยนี้   ทุกครั้งเวลาที่เราพูดเรื่องนี้เราจะเดินเข้าไปหากระทรวงศึกษาธิการ  แต่ก็ไม่เคยได้คำตอบใดๆ กลับมาเลย  ถ้าพูดถึงการส่งเสริมการอ่าน  คงต้องเป็นหน้าที่โดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ

-ปีนี้ (พ.ศ. 2561) เป็นปีสุดท้ายแห่งทศวรรษการอ่าน  แต่ปัจจุบันเราไม่เห็นอะไรที่เป็นรูปเป็นร่างเลย ที่ผ่านมาสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทำทุกอย่างที่จะผลักดันเรื่องนี้  เราเป็นภาคีการอ่านอยู่ในทุกเครือข่ายเช่นกัน

-ปัจจุบันนี้ในเมืองไทยเมื่อพูดถึงการทำงานส่งเสริมการอ่าน กลายเป็นว่าคือการจัดงานอีเวนต์ขายหนังสือ   ทำกันเหมือนไฟไหม้ฟาง  คือหมดแล้วก็หมดกันเลย  จบแล้วก็จบกันไป

-ที่ผ่านมาจากการที่กรุงเทพมหานครได้เป็นเจ้าภาพในงานหนังสือโลก  เราก็ได้มาแค่ห้องสมุดเมือง (ห้องสมุดที่เปิดใหม่บนถนนราชดำเนิน ตรงสี่แยกคอกวัว) ที่ต้องขอบริจาคหนังสือจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ตลอด  ซึ่งจริงๆ แล้วการทำห้องสมุดควรจะต้องมีงบประมาณสำหรับจัดซื้อหนังสือด้วย

-สมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ทุกวันนี้ไม่ได้มีทั้งทางเลือกหรือทางรอด  แต่เราในฐานะของคนทำหนังสือเราต้องรอดจากสถานการณ์นี้ให้ได้

-จากการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันที่วงการดิจิทัลเข้ามานั้น  เชื่อว่าในอนาคตอาจจะมีคนประมาณ 5 แสนคนที่ต้องตกงานในทุกวงการ

-ปัจจุบันสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ มีสมาชิกประมาณ 600 ราย  ซึ่งเป็นสมาชิกที่เป็นร้านหนังสือประมาณ 100 กว่าร้าน  ส่วนสำนักพิมพ์ประมาณ 500 ราย  ซึ่งการวัดความเจริญขององค์ความรู้ในประเทศนั้นๆ เขาวัดจากจำนวนร้านหนังสือที่มีในประเทศนั้นๆ



คุณพิมลพร  ยุติศรี  ตัวแทนลิขสิทธิ์วรรณกรรมในประเทศและระหว่างประเทศ  บริษัท ทัทเทิล-มอริ ประเทศไทย จำกัด

-ที่ผ่านมามีช่วงหนึ่งที่เรารู้สึกว่าวงการหนังสือของเราเติบโตมาก  เราจึงพยายามขยายงานไปสู่ต่างประเทศ  แต่ปัจจุบันปรากฎว่าเหลือเอเย่นต์ต่างประเทศอยู่แค่ 2 รายเท่านั้น  คือที่เวียดนามกับอินโดนีเซีย จากเดิมที่เคยมีหลายประเทศมาก

-เหมือนว่าเรากำลังอยู่ในภาพลวงตา  ในวงการปัจจุบันคือภาพที่สมมุติขึ้นอย่างน่ากลัวที่สุด

-ปัจจุบันเราเหลือเอเย่นต์หนังสือแค่ 2 ประเทศ  ที่เราส่งออกหายไปประมาณ 70%  ปัจจุบันเหลือแค่ 30%   ถ้าไม่มีเวียดนามเราก็ต้องปิดบริษัทแน่ เพราะที่ประเทศเวียดนามเขาพยายามปลุกปั้นหนังสือที่ดีๆ ออกมาขายแข่งกับพวกหนังสือผี  เวียดนามพยายามทำอย่างจริงจังในเรื่องนี้  ดังนั้นทุกครั้งที่ไปเวียดนามแล้วเห็นคนกำลังอ่านหนังสือ  เราจะรู้สึกดีใจมาก





คุณสุชาดา สหัสกุล

-ปัจจุบันนี้ร้านหนังสือปิดตัวลง  มีผลสืบเนื่องมาจากการปิดตัวลงของนิตยสารต่างๆ รวมทั้งการปิดตัวลงของหนังสือพิมพ์ด้วย  คือที่ผ่านมาการขายหนังสือเล่มไม่ใช่รายได้หลักของเขา รายได้หลักมาจากการขายนิตยสารและหนังสือพิมพ์มากกว่า  ส่วนร้านค้าตามต่างจังหวัดนั้น  เดิมทีเขาอยู่ได้ด้วยงบประมาณการซื้อหนังสือของภาครัฐ  แต่ในปัจจุบันงบประมาณซื้อหนังสือของภาครัฐแทบไม่มีเหลือเลย

-ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่างบประมาณการซื้อหนังสือจากภาครัฐถูกตัดตอนออกไป อย่างปัจจุบันนี้หอสมุดแห่งชาติมีงบประมาณซื้อหนังสือปีละแค่ 5 ล้านบาทเอง

-ภาครัฐปัจจุบันนี้มีแต่ขอบริจาคหนังสือ ทางสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ บอกว่าขอให้หยุดขอบริจาคหนังสือเถอะ  เพราะหนังสือที่ได้รับบริจาคไปก็ไม่ตรงกับที่คนอยากจะอ่าน  เช่นบางครั้งศูนย์เด็กเล็กขอให้บริจาคหนังสือ  คนก็ส่งมติชนสุดสัปดาห์ , แพรวสุดสัปดาห์ ฯลฯ ไปให้  ซึ่งไม่ตรงกับความต้องการของคนอ่าน

-ดังนั้นเมื่อมีการส่งเสริมการอ่าน  แต่เด็กไม่มีหนังสือที่เขาจะอ่านได้  ระบบการบริจาคหนังสือมันก็จะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ถ้าเราอยากให้เด็กเขารักการอ่าน เราต้องหาหนังสือที่เขาต้องการอ่านไปให้



อาจารย์ กนกวลี  แสดงความเห็นว่าในกรณีนี้ว่า

-ประเด็นนี้ไปเข้าข่ายว่า หนังสือที่มีมูลค่ากับหนังสือที่มีคุณค่ามันไม่เหมือนกัน  เราจึงไปบอกกับนักเขียนไม่ได้ว่า  “ให้เขียนอย่างนั้นสิ  เขียนอย่างนี้สิ”   แต่สมาคมนักเขียนก็พยายามที่จะสนับสนุนและพัฒนางานของนักเขียนทุกกลุ่ม  เราพยายามเข้าไปหากลุ่มนักเขียนที่เน้นขายอย่างเดียว ให้เขาเติมเต็มอะไรเข้าไปในเรื่องอีกสักหน่อยจะได้ไหม



อ.มกุฏ ถามว่าทำไมนิยายออนไลน์ถึงมียอดวิวเยอะมาก? เมื่อลองเข้าไปอ่านดูก็พบว่า  ในเรื่องมีฉากร่วมเพศอยู่เกือบทุกบรรทัดเลย

อ.กนกวลี ตอบว่า  ในประเด็นนี้สมาคมนักเขียนฯ ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้เลย แต่เราพยายามจะพูดจากับนักเขียน  พยายามโน้มน้าวใจเขาให้ได้ ให้เขาเขียนให้ดีขึ้น  แต่ก็มีนักเขียนบางคนที่ทำงานทั้ง 2 ด้าน คือทำงานเขียนวรรรกรรมสร้างสรรค์ด้วย  และทำงานเขียนนิยายออนไลน์หรือนิยายวายด้วย  อยางเช่นนักเขียนรุ่นใหม่ คุณจิดานันท์ นักเขียนที่ได้รางวัลซีไรท์คนล่าสุด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่