กรณีพิพาทอินโดจีน(๔) ๗ มี.ค.๖๑

เรื่องเล่าจากอดีต

กรณีพิพาทอินโดจีน (๔)

พ.สมานคุรุกรรม

ทางด้านกองทัพอิสานซึ่งรับผิดชอบในการเข้าตี จากช่องจอมและช่องเสม็ด พุ่งเข้าสู่ดินแดนเขมรจากทางเหนือของกองทัพบูรพา ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๓ กองพันทหารราบที่ ๗ กองพันทหารราบที่ ๒๘ และกองพันทหารราบที่ ๒๙ ได้ออกจากช่องจอม เข้ายึดบ้านโกนกั๊วะ บ้านโกนเกรียน และบ้านกาบเชิง มุ่งหน้าผ่านบ้านกระตูมเพื่อเข้าตีบ้านสำโรง ซึ่งเป็นที่มั่นหลักทางด้านนี้

ที่บ้านสำโรงมีป้อมขนาดใหญ่ กว้างยาวประมาณด้านละ ๔๐ เมตร ด้านเหนือของป้อมมีบึงใหญ่มากน้ำลึกประมาณหัวเข่าถึงราวนม กำแพงป้อมใช้เสาไม้ปักเป็นแนวสองแถวห่างกันประมาณหนึ่งเมตร แล้วใส่ดินในช่องว่างตรงกลาง ทำเป็นที่กำบังยืนยิง สูงประมาณสองเมตรครึ่ง หัวมุมป้อมสามมุมก่ออิฐถือปูน มีช่องยิงตามแนวกำแพงป้อมได้รอบตัว ประตูป้อมมีประตูเดียว ทางหลังป้อมปิดด้วยเครื่องกีดขวางลวดหนาม และมีสนามบินขนาดเล็กกับโรงเก็บเครื่องบินสองหลัง

หน้ากำแพงป้อมปลูกต้นกระบองเพชรเป็นแถวหนาประมาณสามเมตร และมีลวดหนามสามแนว ห่างกันประมาณ ๕๐ ซ.ม.มูลดินของป้อมใช้เป็นที่ตั้งปืนกล ซึ่งวางแผนประสานการยิงไว้ล่วงหน้า ป้อมนี้เป็นที่มั่นแข็งแรงเพื่อควบคุมเส้นทาง ที่จะเข้าสู่เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณ

ครั้งแรกผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์ มีความมุ่งหมายจะล้อมป้อมสำโรง ให้ข้าศึกยอมจำนนเพื่อจับเป็นเชลย จึงให้กองพันทหารราบที่ ๗ เข้าตีจากบ้านกะตูม เดินทางไปประมาณ ๑๐ ก.ม. ถึงป้อมสำโรงในตอนเช้ามืด ขณะที่ผ่านบึงใหญ่ก็ถูกข้าศึกยิงขัดขวางจากตัวป้อมอย่างรุนแรง ฝ่ายเราได้ใช้อาวุธทั้งหนักเบายิงไปที่ตัวป้อม แต่เคลื่อนที่ไปไม่ได้เพราะข้าศึกอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า จนถึงเวลากลางคืนจึงได้ถอนตัวมาข้างหลังประมาณ ๒ ก.ม.ให้พ้นระยะยิง แล้วพักแรมคืนหนึ่ง

พอรุ่งเช้าก็มีเครื่องบินข้าศึกสองเครื่อง มาบินวนเวียนยิงกราดและทิ้งระเบิดทหารไทยในระยะต่ำ แม้ฝ่ายเราจะใช้ปืนกลยิงต่อสู้ก็ไม่เป็นผล ทหารเริ่มจะเสียขวัญ เพราะมีผู้ถูกยิงตายไป ๒-๓ คน ผู้บังคับกองพันจึงสั่งถอนตัวอย่างเป็นระเบียบ กลับไปปรับกำลังใหม่ที่บ้านปะอง และขอให้ทหารอากาศฝ่ายเราทำการช่วยเหลือ

อีกด้านหนึ่งกองพันทหารม้าที่๑ รักษาพระองค์ ได้ออกจากช่องเสม็ด เข้าตีป้อมสำโรงด้านหลังพร้อมกับ กองพันทหารราบที่ ๗ และถูกข้าศึกต่อต้านอย่างเหนียวแน่น กับถูกเครื่องบินโจมตีเช่นเดียวกัน ผู้บังคับกองร้อยและพลทหารอีกหนึ่งคนเสียชีวิตเพราะลูกระเบิดข้าศึก จนถึงเวลาค่ำจึงถอนตัวกลับไปทางช่องเสม็ด และพักรวมกำลังอยู่ที่บ้านแดงมุด

หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วันกองทัพอากาศไทยจึงส่งเครื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิด และยิงกราดป้อมสำโรงติดต่อกัน จนทหารข้าศึกต้องทิ้งป้อมถอยหนีไปหมด

เมื่อจัดกำลังใหม่แล้ว กองพลสุรินทร์ก็เคลื่อนขบวนเข้าตีป้อมสำโรงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๙ มกราคม คราวนี้ไม่มีเหตุการณ์อย่างใดมาขัดขวาง คงเคลื่อนที่ได้ตลอดทางจนประชิดป้อม ก็ไม่มีข้าศึกยิงมาแม้แต่นัดเดียว เพราะข้าศึกถอยไปแล้ว กองพลสุรินทร์จึงยึดป้อมสำโรงได้โดยง่าย และส่งกำลังออกไปยึดพื้นที่ต่อไปโดยไม่มีข้าศึกเข้าตีโต้ตอบแต่อย่างใด

ทางด้านกองพลอุบล ได้เคลื่อนกำลังผ่านช่องเม็ก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๔ ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. โดยให้กองพันทหารราบที่ ๒๑ เข้าตีบ้านดู่ แขวงเมืองโพนทอง ซึ่งมีป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงหนาประมาณหนึ่งเมตร กำแพงเป็นไม้ไผ้สับฟาก ตรงกลางอัดด้วยดินแน่น สันกำแพงทำเป็นเชิงเทินมีช่องยิง สามารถกันกระสุนปืนเล็กปืนกลได้ และมีกองพันทหารราบที่ ๒๐ เป็นกำลังหนุน สามารถยึดป้อมบ้านกู่ได้ในวันที่ ๑๕ มกราคม

ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม กองพลอุบลได้ให้ กองพันทหารราบที่ ๑๙ และกองพันที่ ๒๑ เข้ายึดนครจำปาศักดิ์ และกองพันที่ ๒๐ เป็นกองหนุน ปรากฏว่าสามารถยึดได้ โดยข้าศึกไม่ได้ทำการต้านทานเลย

นครจำปาศักดิ์นี้มี เมืองที่เทียบเท่าอำเภอของไทย ๑๐ เมือง อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงห้า เมืองคือ ดอนโขง โพนทอง จำปาศักดิ์ มูลป่าโมกข์ และเซลำเภา ฝั่งซ้ายสามเมือง คือ ปากเซ ปากสง และเพียะฝาย กับเกาะกลางแม่น้ำโขงสองเมืองคือ เมืองโขง และเมืองโขน ซึ่งเดิมชื่อเมืองศรีทันดอน หรือสี่พันดอน

สุดท้ายเมื่อ ๒๕ มกราคม กองพันทหารราบที่ ๒๑ ได้เคลื่อนที่ไปยึดบ้านมูลป่าโมกข์ ซึ่งเป็นแนวหน้าสุดของกองพลอุบล

ทางด้านกองพลอุดร ส่วนใหญ่ฝ่ายไทยยึดภูมิประเทศตรึงกำลังอยู่ตามลำแม่น้าโขง แต่ถูกข้าศึกทำการยิงด้วยอาวุธปืนใหญ่ และอาวุธยิงจากฝั่งด้านนครเวียงจันทน์ มายังบ้านพานพร้าว บ้านศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ และทางด้านจังหวัดนครพนม ฝ่ายข้าศึกได้ยิงปืนใหญ่ ปืนกล ข้ามแม่น้ำโขงมาที่บ้านหาดทรายมูล บ้านธาตุพนม อำเภอมุกดาหาร ตั้งแต่ ๖ มกราคม ฝ่ายเราได้ยิงตอบโต้ไปทุกแห่ง เป็นครั้งคราว จนถึงวันที่ ๑๒ มกราคม และวันที่ ๑๙ มกราคม กองทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งได้ยกกำลังทางเรือจากแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามเพื่อยกพลขึ้นบกที่อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม แต่ได้รับการต่อสู้จากฝ่ายเราไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้สำเร็จ ต้องล่าถอยกลับไปโดยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทางกองพลอุดรนี้ ได้มีตำรวจสนามและยุวชนทหารหน่วยที่ ๕๗ เข้าร่วมรักษาชายฝั่งแม่น้ำโขงอย่างได้ผลดียิ่ง

และเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม กองพันทหารราบที่ ๑๗ ซึ่งประจำอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าไปในดินแดนข้าศึกเพื่อเข้ายึดเมืองปากลาย ได้เข้ายึดบ้านบ่อแตน และบ้านแก่นท้าวไว้ได้ ส่วนกองพันทหารราบที่ ๒๒ ได้เข้าไปถึงบ้านปากลาย จนบรรจบกับกองพันทหารราบที่ ๒๘ ของกองพลพายัพ

ทางด้านกองพลพายัพ ได้ปฏิบัติการรบทางภาคเหนือ โดยส่งกำลังออกไปยึดดินแดนข้าศึก ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ กองพันทหารราบที่ ๓๐ ได้ยึดบ้านห้วยทราย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของไว้ได้ กองพันทหารราบที่ ๓๑ ได้ออกจากจังหวัดน่านเข้ายึดเมืองสมาบุรี ห่างจากชายแดนไทยประมาณ ๔๐ ก.ม. และเคลื่อนที่ไปยึดบ้านท่าเดื่อ ห่างจากชายแดนไป ๖๐ ก.ม. แต่เมื่อได้รับคำสั่งให้หยุดยิง จึงกลับมาอยู่ที่บ้านนาแคม เมืองสมาบุรี แคว้นหลวงพระบาง

กองพันทหารราบที่ ๒๘ ได้เคลื่อนที่จากอำเภอท่าเสา อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ข้ามเขตแดนไทย-ลาวทางช่องมะม่วงเจ็ดต้น ไปยึดเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี จนบรรจบกับกองพันทหารราบที่ ๒๒ ของกองพลอุดร

การปฏิบัติของกองพลพายัพ ถึงแม้จะไม่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง เพราะข้าศึกได้ต้านทานไม่เหนียวแน่น และส่วนมากได้ชิงถอนตัวเสียก่อน แต่ผลที่ได้รับของกองพลนี้คือ สามารถยึดพื้นที่ของข้าศึกได้มากกว่ากองพลอื่น ๆ ทั้งหมด

การปฏิบัติการของกองพลจันทบุรี ซึ่งประกอบกำลังด้วย กองพันทหารนาวิกโยธินที่ ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ ซึ่งเป็นทหารเรือ และ กองพันทหารม้าที่ ๔ ซึ่งเป็นทหารบก ได้เฝ้ารักษาเขตแดนด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ตามช่องทางต่าง ๆ คือ บ้านคลองใหญ่ บ้านคลี่ บ้านอุลำเจียก บ้านผักกาด โป่งสลา บ้านบึงชะนังล่าง บ้านบึงชะนังกลาง และกิ่งอำเภอโป่งน้ำร้อน ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๓

ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังเข้ามาลาดตระเวนเข้ามารบกวน ซึ่งได้รับการต่อต้านจากฝ่ายไทยจนต้องล่าถอยไปหลายครั้ง ตั้งแต่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๓ จนถึง ๕ มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสจึงเข้าตีครั้งใหญ่ โดยมีกำลังพลประมาณ ๖๐๐ คน บุกเข้ามาทางบ้านโป่งสลา จึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด เป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที ข้าศึกจึงถอยออกไป ผลปรากฏว่า ฝ่ายฝรั่งเศสมีนายทหารตาย ๑ นาย พลทหารญวนตาย ๘ นาย ถูกจับเป็นเชลย ๑ นาย ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๔ นาย

กองพลจันทบุรีจึงเคลื่อนที่เข้าตีข้าศึกเมื่อ วันที่ ๒๗ ต่อกับวันที่ ๒๘ มกราคม เวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นสองทาง คือ กองรบด้านเหนือ เคลื่อนที่ออกจากบ้านบึงชะนังกลางเข้าเขาตารางมุ่งไปสู่บ้านพุมเรียงล่าง และสามารถยึดได้ในเวลา ๑๘.๐๐ น.

กองรบด้านใต้ จัดขบวนรุกเข้าไปทางบ้านตาพรม บ้านบ่อตั้งสู้ และบ้านบ่อหญ้าคา บ้านสรอม เขตเมืองไพลิน จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ก็มีคำสั่งให้พักรบ

ส่วนทางด้านกองทัพเรือโชคไม่ดีที่ถูกจู่โจมด้วยกำลังทางเรือของฝรั่งเศส จำนวน ๕ ลำ คือ เรือลาดตระเวน ลามอตต์ปิเกต์ ระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน เรือปืนดูมองด์ดูรวิลล์ ระวางขับน้ำ ๒,๑๕๖ ตัน , อามิราลชาร์แนร์ ระวางขับน้ำ๒,๑๕๖ ตัน ,ตาร์ฮูร์ ระวางขับน้ำ ๖๔๔ ตัน และ มาร์น ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน เข้าตีกองทัพเรือไทยที่บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔

ฝ่ายไทยมีเรือรบรักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ๖ ลำ คือ ร.ล.ธนบุรี ระวางขับน้ำ ๒,๓๕๐ ตัน ร.ล.ชลบุรี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ระยอง ระวางขับน้ำลำละ ๔๖๐ ตัน ร.ล.หนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ ๔๒๐ ตัน และ ร.ล.เทียวอุทก ระวางขับน้ำ ๕๐ ตัน

แสดงว่าเรือรบของไทย มีเพียงลำเดียวที่สามารถจะต่อสู้กับเรือรบข้าศึกได้ โดยมีระวางขับน้ำต่ำกว่าข้าศึก หลายเท่า ผลของการรบ ปรากฏว่า ร.ล.ธนบุรี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี ถูกข้าศึกยิงจม หลังจากที่ได้ต่อสู้อย่างทรหดแล้ว ตั้งแต่ เวลา ๐๖.๑๐ น. จนถึงเวลาประมาณ ๐๗.๔๐ น.

ทางกองทัพเรือได้มีแผนที่จะใช้เรือรบไปทำการต่อตีตอบแทนข้าศึก ในน่านน้ำของข้าศึกเหมือนกัน แต่ได้รับคำสั่งให้ยุติการรบเสียก่อน เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔

เมื่อยุติการรบเพราะญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยแล้ว มีการเจรจาตกลงทำสัญญาสันติภาพ ผลของการเจรจาทำให้ฝรั่งเศสต้องคืนดินแดนที่เสียไป เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ บางส่วนคือ พระตะบอง จำปาศักดิ์ กำปงธม และล้านช้าง

จนถึง พ.ศ.๒๔๘๘ สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ไทยก็ต้องคืนดินแดนเหล่านี้ กลับไปอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ในที่สุด ดินแดนอินโดจีนทั้งสามคือญวน ลาว และเขมร ก็ได้รับอิสสระภาพ เป็นประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา อยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งได้นำมาเล่าอย่างย่นย่อนี้ ได้ข้อมูลจากเรื่อง กรมรถไฟกับกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีความยาวถึง ๓๔๔ หน้า ของ พันเอก แสง จุละจาริต อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย


#########
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่