ห้องเพลง**คนรากหญ้า** พักยกการเมือง มุมนี้ไม่มีสี ไม่มีกลุ่ม...มีแต่เสียง 18/1/2018 (ด่านเจดีย์สามองค์)

กระทู้คำถาม


ห้องเพลงคนรากหญ้าเปิดขึ้นมามีวัตถุประสงค์ เพื่อ

1. มีพื้นที่ให้เพื่อนๆ ได้มาพบปะ พูดคุยระหว่างกัน ในภาวะที่ต้องระมัดระวังการโพสการเมืองอย่างเคร่งครัด
2. เป็นพื้นที่ พักผ่อน ลดความเครียดทางการเมือง ให้เพื่อนๆ มีกิจกรรมสนุกๆ ร่วมกัน
3. สร้างมิตรภาพและความปรองดอง ซึ่งเราหวังให้สังคมไทยเป็นเช่นนี้ แม้นคิดต่างกัน แต่เมื่อคุยกันแล้วก็เป็นเพื่อนกันเหมือนเดิม

กระทู้ห้องเพลงเป็นกระทู้เปิด มิได้ปิดกั้นผู้หนึ่งผู้ใด "ขอให้มาดี เราคือเพื่อนกัน" ซึ่งก็เหมือนกับกระทู้ทั่วไป ที่เราไม่จำเป็นต้องทราบว่า User ท่านไหนเป็นใครมาจากไหน  ...ดังนั้น หากมีบุคคลใดที่มีการโพสสิ่งผิดกฎหมายและศีลธรรมอันดีของสังคมนั้น หรือสิ่งรบกวนใดๆ ในบอร์ด เป็นเรื่องส่วนบุคคล ทางห้องเพลงจึงขอแสดงความบริสุทธิ์ใจว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งสิ้น





สวัสดีค่ะเพื่อนๆ ห้องเพลงและเพื่อนสมาชิกทุกท่าน

  
ก่อนเข้าเรื่องตามหัวข้อกระทู้วันนี้ ขอเกริ่นนิดนึงค่ะว่าวันนี้เป็นวันสำคัญวันหนึ่งของไทย

วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันกองทัพไทย และถือเป็นวันยุทธหัตถี และวันสมเด็จพระนเรศวรมหาราช อีกด้วยค่ะ



แต่เดิมมีการระบุว่า วันที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะต่อพระมหาอุปราชา  
ตรงกับวันที่ 25 มกราคม ต่อมามีการคำนวณวันใหม่ จึงกำหนดให้วันที่ 18 มกราคมของทุกปีเป็นวันยุทธหัตถี
และเป็นวันรัฐพิธีแทนวันที่ 25 มกราคม โดยให้มีการวางพานพุ่มสักการะ แต่ไม่ถือเป็นวันหยุดราชการเช่นกัน




พูดถึงการรบระหว่างไทย กับพม่า ทำให้นึกถึง "ด่านเจดีย์สามองค์" ซึ่งได้ยินมาตั้งแต่เด็ก ไม่รู้หรอกค่ะว่าคืออะไร
รู้แค่ว่าคงเป็นชายแดนไทยกับพม่า ที่มีการเดินทัพผ่าน เวลาใครจะไปตีใคร ก็ยกทัพผ่านด่านเจดีย์สามองค์ตลอด


เคยคิดเล่นๆ ว่า ห้องเพลงคนรากหญ้า ก็ตั้งอยู่ในห้องราชดำเนิน บอร์ดพันทิป นี่นา
ทำไมใครไปใครมา ต้องใช้เป็นทางผ่านเข้าตีประจำ  อัศวินขี่ม้าขาว
เอ๊ะ เราก็ไม่ได้อยู่ที่เจดีย์สามองค์สักหน่อย  ฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่าฮ่า


เลยคิดว่าอยากรู้เรื่องของด่านเจดีย์สามองค์ วันนี้วันกองทัพไทย เลยได้โอกาสลองหาข้อมูลมาอ่านกันค่ะ


ด่านเจดีย์สามองค์

ด่านเจดีย์สามองค์ ในแผนที่ทางประวัติศาสตร์ ปรากฏชื่อเจดีย์สามองค์ อยู่ถึงสามแห่ง

1 ด่านพระเจดีย์สามองค์ ตำบลหนองลู อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี ถึงวันนี้ยังมีเจดีย์สามองค์ ตั้งเรียงรายให้เห็นกันอยู่
2 ตำบลพระเจดีย์สามองค์ เขตจังหวัดกาญจนบุรีเหมือนกัน แต่องค์เจดีย์พังทลายไปนานแล้ว ไม่มีชื่อเสียงปรากฏในพงศาวดาร
3 ตำบลเจดีย์สามองค์ เขตจังหวัดราชบุรี จุดที่ต่อแดนกับพม่า ณ เขาบรรทัดเคยมีพระเจดีย์ แต่พังทลายไปนาน

เวลาเราพูดถึงด่านเจดีย์สามองค์ จึงมักหมายถึงในข้อ 1 ค่ะ


ด่านเจดีย์สามองค์เป็นเขตสิ้นสุดชายแดนไทยด้านทิศตะวันตก ตั้งอยู่ที่ ต.หนองลู อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
ในอดีตเป็นช่องทางเดินทัพของไทยและพม่า
นักท่องเที่ยวสามารถข้ามชายแดนเข้าไปชมตลาดพญาตองซูในเขตพม่า
โดยติดต่อทำเอกสาร/หลักฐานได้ที่ด่านตรวจคนเข้าเมืองสังขละบุรี



พระเจดีย์สามองค์ เดิมเป็นเพียงก้อนหินวางซ้อนๆ กันสามกอง จึงเรียกที่แห่งนี้ว่าหินสามกอง
เป็นที่สักการะของคนไทยโดยทั่วไปก่อนที่จะเดินทางออกเขตแดนไทยเข้าสู่เขตแดนพม่าแต่ครั้งโบราณ



ต่อมาในปี พ.ศ.2432 พระศรีสุวรรณคีรี (ทะเจียงโปรย เสตะพันธ์) เจ้าเมืองสังขละบุรี ร่วมกับราษฎรในพื้นที่
ก่อสร้างองค์เจดีย์ขึ้นบนหินสามกอง เจดีย์แต่ละองค์สูงประมาณ 6 เมตร ตั้งห่างกันประมาณ 5-6 เมตร

ซึ่งในปี พ.ศ.2546 กรมศิลปกรได้ดำเนินการขุดแต่งและพบฐานเจดีย์รูปทรงสี่เหลี่ยมที่ก่ออิฐอยู่ด้านใต้
ซึ่งสันนิษฐานว่ามีการสร้างเจดีย์องค์เดิมมาแล้วในสมัยกรุงศรีอยุธยา
กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนพระเจดีย์สามองค์เป็นโบราณสถานของชาติในปี พ.ศ.2498

ลักษณะรูปทรงเจดีย์ที่เห็นในปัจจุบันเป็นศิลปะแบบมอญ-พม่า



“ด่านเจดีย์สามองค์” สถานที่นี้มีความสำคัญที่มีบันทึกกล่าวถึงมาตั้งแต่ ๒,๐๐๐ ปีก่อน
       
มีจดหมายเหตุของจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นบันทึกไว้ว่า ใน พ.ศ.๖๖๓ มีนักเดินทางจากกรีกและโรมันที่เดินทางมาจีน
เมื่อออกจากอินเดียแล้วแทนที่จะอ้อมแหลมมลายู กลับมาทางลัดโดยขึ้นบกที่ทางใต้ของพม่า
แล้วเดินทางผ่านช่องเขาที่ต่อมาเรียกกันว่าด่านเจดีย์สามองค์ มาลงเรือที่แม่น้ำแม่กลอง
ต่อสำเภาไปจีนที่ปากอ่าว อย่างที่เคยเล่าไว้ในเรื่องตะเกียงโรมันที่พงตึก
       
ด่านเจดีย์สามองค์จึงมีความสำคัญมาตั้งแต่ยุคนั้น
       
ต่อมาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ตั้งแต่ไทยกับพม่าเริ่มทำสงครามกัน
กองทัพทั้งสองประเทศก็เดินทางเข้าออกด่านเจดีย์สามองค์จนนับครั้งไม่ถ้วน
แม้จะมีทางเข้าออกกันหลายด่าน แต่ด่านเจดีย์สามองค์ก็ถูกใช้มากที่สุด

       


เซอร์โทมัส ยอร์ช น็อกซ์ กงสุลอังกฤษคนดังในสมัยรัชกาลที่ ๕ ตอนเป็นร้อยเอกตกงานในอินเดีย
ก็เดินเท้าเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์เพื่อหางานทำในเมืองไทย จนได้เป็นท่านเซอร์

ปัจจุบันด่านเจดีย์สามองค์เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีร้านขายสินค้าจากประเทศพม่า
เช่นเฟอร์นิเจอร์จากเครื่องไม้ เครื่องประดับ กล้วยไม้ ของที่ระลึก และอื่นๆ
มีสถานที่สักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์พระสยามเทวาธิราช หลวงปู่จ้อน
ศาลาสันติภาพไทย-ญี่ปุ่น และทางรถไฟสายมรณะที่เหลืออยู่



ทำไมต้องวางหินซ้อนๆ กัน 3 กอง (จำนงค์  ทองประเสริฐ ๑๒ กรกฎาคม ๒๕๓๖ )

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงกล่าวถึงเหตุที่สร้างพระเจดีย์นี้
ไว้ในหนังสือประชุมนิพนธ์เบ็ดเตล็ดเรื่อง "วินิจฉัยเรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์" ว่า

"คงเป็นเพราะความยินดีที่มีชัยชนะในสงครามอย่างหนึ่ง
มีความยินดีที่ได้กลับบ้านเมืองโดยปลอดภัยอย่างหนึ่ง
และอาจเป็นเพราะได้บนบานอธิษฐานไว้เป็นการใช้บนด้วยอีกอย่างหนึ่ง"

และทรงสรุปไว้ในตอนท้ายเรื่องว่า ทรงเห็นว่า พระเจดีย์สามองค์นั้น
๑. มิได้สร้างเป็นเครื่องหมายเขตแดน
๒. มิใช่ของหลวงสร้าง
๓. เป็นของแม่ทัพไทยที่ยกออกไปรบชนะพม่ากลับมาสร้างไว้
๔. ที่สร้างเป็นสามองค์ คงเป็นเพราะกองทัพยกตามกันมาสามกอง
     กองมาถึงก่อนสร้างไว้องค์หนึ่ง กองมาภายหลังก็สร้างกองละองค์เรียงกันต่อไป
๕. แต่จะสร้างเมื่อใด ไม่มีหลักที่จะลงความเห็น เพราะอาจจะมีพระเจดีย์สามองค์อยู่ก่อนรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร

โดยเฉพาะเหตุข้อ ๕ ทรงกล่าวโดยอ้างข้อความในพงศาวดารตอนที่เจ้าพระยาจักรี
เป็นแม่ทัพยกไปตีเมืองทะวาย พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพไปตีเมืองตะนาวศรี เมื่อ พ.ศ. ๒๑๓๖
ตีได้เมืองทั้งสองนั้นแล้ว กองทัพเจ้าพระยาจักรียกกลับมาจากเมืองทะวาย ทาง "ด่านขมองส่วย"
ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่า

"ถึงตำบลเขาสูง ช่องแคบ แดนพระนครศรีอยุธยากับเมืองทะวายต่อกัน หาที่สำคัญมิได้
จึงให้เอาปูนในเต้าไพร่พลทั้งปวงมาประสมกันเข้าเป็นใบสอก่อพระเจดีย์ ฐานสูง ๖ ศอก
พอหุงอาหารสุกก็สำเร็จ แล้วยกกองทัพมาถึงกรุงศรีอยุธยา"

ทั้งนี้ทรงอ้างว่า เจ้าพระยาจักรีอาจเอาอย่างพระเจดีย์สามองค์ที่มีอยู่ก่อนแล้ว ไปสร้างที่แดนเมืองทะวายก็ได้
แต่ความทั้งหมดที่ทรงกล่าวไว้นี้ ทรงอธิบายไว้ตอนท้ายที่สุดของเรื่องว่า
"ที่ว่านี้มิได้เคยเห็นพระเจดีย์สามองค์ด้วยตนเอง จึงได้แต่คาดคะเน"

ได้สอบสวนจากหลักฐานทางอื่น ๆ ได้ความว่า ธรรมเนียมของพวกเดินป่า
เมื่อผ่านที่สำคัญ เช่น สันเขา ต้นไม้ใหญ่ หรือปากดง ซึ่งมีความไข้ชุกชุม
ย่อมถือกันว่า มีเทพารักษ์ศักดิ์สิทธิ์สิงสู่อยู่ในที่นั้น ๆ จึงมีประเพณีต้องกระทำสักการบูชาด้วยดอกไม้ธูปเทียน

แต่ในการเดินทางในที่กันดารเช่นนั้น ย่อมจะไม่มีใครนำธูปเทียนไปด้วยนัก
จึงเกิดการใช้ก้อนหินหรือกิ่งไม้ดอกไม้เป็นเครื่องบูชาแทนธูปเทียน
ดังนั้นเมื่อกาลนานเข้า ก็มีผู้คนเดินผ่านสิ่งนั้นมากขึ้น สิ่งสักการะก็ยิ่งทวีขึ้นตาม
เพราะเป็นธรรมดาของผู้เดินทางเมื่อได้พบเห็นมีผู้ทำสักการะในสิ่งใดที่ใดไว้ก่อนหลัง ก็ถือกันว่าต้องทำตาม
มิฉะนั้นไม่มีความสบายใจจนจะพาให้เกิดไข้เจ็บหรืออันตรายอย่างใด ๆ ขึ้นได้



พระเจดีย์สามองค์ก็คงเป็นหลักไม้หรือหลักหินอยู่แต่เดิมก่อน
และโดยที่อยู่ในระยะทางคนเดินไปมาแต่กาลดึกดำบรรพ์ ก็ได้รับเครื่องสักการะด้วยก้อนหินทับถมมากมายขึ้น
จนกลายเป็นกองหินสามกอง และเลยเรียกชื่อตำบลนั้นว่า หินสามกอง ภายหลังก็มากลายเป็น พระเจดีย์สามองค์"




ขอบคุณที่มาข้อมูลและภาพประกอบ
http://www.annaontour.com/province/kanchanaburi/jd3.php
https://www.dailynews.co.th/article/621992
https://hilight.kapook.com/view/55367
http://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9600000016712
http://www.teeteawthai.com/%E0%B8%94%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%94%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%8C%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B9%8C
https://pantip.com/topic/32106674
http://topicstock.pantip.com/library/topicstock/2006/04/K4282454/K4282454.html

..................................................


ขอรำลึกถึงวีรชนผู้กล้า ผู้ปกป้องผืนแผ่นดินไทย ตลอดจนทหารหาญผู้ปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างเสียสละค่ะ


เพลงสมเด็จพระนเรศวรพระหาราช -  (คาราบาว)

...ปวงเทพเป็นพยาน พระเจ้าหงสาประพฤติพาลคิดทำร้ายเรา
สืบแต่วันนี้ไป อโยธยากับหงสามิได้เป็นปฐพีเดียวกัน
ห่างกันแต่บัดนี้… ชั่วกาลปาวสาน

ไม่เคยกลัวเป็นตัวจำนำ หมั่นเคี่ยวกลำฝึกศาสตราวุธ
หกพรรษาเพียงพอพิสูจน์ เชี่ยวชาญยุทธพิชัยสงคราม...

https://www.youtube.com/watch?v=RzChBi4QXgs
คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่