[SR] [Movie Review] Call Me By Your Name (9/10) ...รักแรกครั้งหนึ่ง ตราตรึงเปลี่ยนแปลงตลอดไป

กระทู้รีวิว
Call Me By Your Name (2017)
กำกับโดย Luca Guadagnino (I Am Love, A Bigger Splash)
9/10



“Don’t make yourself feel nothing so as not to feel anything. What a waste.”
“อย่าปิดตายความเจ็บปวดตัวเองจนไม่อาจรู้สึกอะไรได้อีกเลย เปลืองเสียเปล่า”



ตัวหนังเองก็เหมือนจะจำโคว้ตนั้นไว้ขึ้นใจ จนวาดภาพและถ่ายทอดความท้วมท้นของประสบการณ์รักแรกธรรมดาออกมา อย่างให้คนดูแทบได้ “รู้สึก” ทุกอย่างรอบกายสองตัวละคร  -- แดดเปรี้ยงฤดูร้อน, แมลงวันที่คอยเกาะตอมตามมื้ออาหาร, ลมเย็นยามขี่จักรยานรอบเมือง, ความเย็นเยือกของแม่น้ำเมื่อกระโดดลงไป – ทั้งหมดตั้งอยู่ในเมืองทางตอนเหนือของอิตาลีอันงดงามช่วงปี 1983  ที่เอลิโอ (ทิโมธี ชาลาเม็ต) เด็กหนุ่มลูกครึ่งวัยสิบเจ็ด พบกับ โอลิเวอร์ (อาร์มี่ แฮมเมอร์) นักเรียนมหาลัย ป.เอก ชาวอเมริกัน ที่มาอยู่บ้านตากอากาศของครอบครัวเอลิโอตลอดฤดูร้อน เพื่อช่วย พ่อของเอลิโอ (ไมเคิล สตูลบาร์ก) ผู้เป็นศาสตราจารย์ด้านโบราณคดี ทำงานวิจัย



ผู้กำกับ ลูกา กัวดาญิโน พร้อมผู้กำกับภาพชาวไทย สยมภู มุกดีพร้อม รายล้อมตัวละครสองคนนี้ด้วยภาพสวรรค์หน้าร้อน ทุกรายละเอียดงานภาพวิจิตรโดดเด่น, แต่ละช็อตมีความสำรวจไหลไม่เร่งรีบ, และจังหวะเดินเรื่องยังค่อยเป็นค่อยไปอย่างแทบไม่เข้าหาพล็อตเป็นรูปเป็นร่าง หรือสร้างดราม่าหนักเลย จนสภาพแวดล้อมเหล่านี้เด่นออกมาเหนืออื่นใด ราวให้ซึมซับอยู่ในความทรงจำเป็นปีๆ  ซึ่งสำหรับเอลิโอเอง  มันคงเป็นเช่นนั้น  ภาพรอบตัวอันตราตรึงที่หนังจับออกมา ช่วยยืนยันความหลงใหลในตัวโอลิเวอร์ของเขา  ว่าจะเป็นหมุดหลักสำคัญในความทรงจำที่เปลี่ยนตัวเขาตลอดไป  จากการที่เขาได้เปิดใจให้กับอีกคนเต็มๆ จนมันวนลูปกลับมาเป็นความเติบโตในตัวเองอย่างถาวร  ให้ความรู้ความสามารถที่เกินวัยไปมาก (ตามประสาลูกคนเดียวในครอบครัวนักวิชาการ) ได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับตัวตนมาสั่นสะเทือนจนเคลื่อนไปข้างหน้าบ้าง ยิ่งมีร่วมกับคนที่เหมือนเป็น equal ของเขาในหลายด้านด้วย ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นไปอีก ความเสมอภาคและเติมเต็มซึ่งกันและกันนี้ ทำให้มันกลายเป็นความรักที่ต่างฝ่ายต่างยืนยันว่าอีกคนเป็นคนดีกว่าตนมาก

นอกจากฝีมือกำกับที่ต้องแม่นยำระหว่างการให้คนดูซึมซับบรรยากาศแวดล้อม และรู้สึกถึงความหวั่นไหวแปรปรวนในอารมณ์ตัวละครแล้ว  สิ่งที่เรื่องแนวนี้ขาดไม่ได้เลยคือสองนักแสดงหลัก ที่ต้องเป๊ะพอกัน เพราะหนังหนีการมีพล๊อตเยอะๆ  มาเน้นความเปลี่ยนแปลงภายในตัวละครแทน ซึ่งสองคนทำได้ผ่านฉลุยมาก อาร์มี่ แฮมเมอร์ค่อยๆกระเทาะรูปภายนอกที่ราวเหมือนหนึ่งในงานปั้นที่พ่อเอลิโอขุดขึ้นมา (และหนังเองใช้ภาพเปรียบอยู่)  ให้เราได้เห็นความไม่มั่นใจลังเลภายใต้โอลิเวอร์ได้ดีเยี่ยม โดยเฉพาะยิ่งเมื่อได้อยู่กับเอลิโอ  แต่นักแสดงที่โดดเด่นแจ้งเกิดจากเรื่องนี้สุดๆคือ ทิโมธี ชาลาเม็ต ที่การแสดงต้องผสมผสานความมั่นใจทางสติปัญญา กับ ความหุนหันพลุ่งพล่าน awkward แบบวัยรุ่น รวมอยู่ในหนึ่งคนได้อย่างไม่ขัดเขิน เขาต้องมีการปิดบังซ่อนอารมณ์ แต่ก็ปิดแบบกระอักกระอ่วนเห็นชัดแจ้ง ตามประสาคนที่จิตใจยังไม่ฟอร์มเป็นผู้ใหญ่เต็มร้อยนัก และทุกจังหวะการแสดงของเขา “จริง” ไหลลื่นเป็นธรรมชาติ  ชวนจับตามากๆ ให้เชื่อในตัวละครเล่นยากคนนี้ได้ตลอดเรื่อง



ในองค์แรก เคมีระหว่างชาลาเม็ตกับแฮมเมอร์โอบอุ้มหนังไว้มาก เพราะส่วนนี้ต้องถ่ายทอดเรื่องคนสองคนที่ต่างค่อยๆหยั่งเชิงจับตาความรู้สึกอีกฝ่ายอย่างใกล้เข้าหากันเรื่อยๆ ผ่านภาษาท่าทางและการลอบมอง  ที่ค่อยๆสะสมในความเกิดน้อยสื่อมาก พร้อมทั้งมีดนตรี วรรณคดี และโบราณวัตถุเป็นสิ่งรอบกายช่วยเชื่อมระหว่างสองคน มาเป็นตัวแทนจุดหมายความสัมพันธ์ได้ดี  ทั้งดนตรีในตอนเต้นกลางคืน ที่เอลิโอได้เห็นมุมปล่อยตัวของโอลิเวอร์เต็มๆ (พร้อมความอิจฉาที่เขาเองอาจจะไม่รู้ตัว) หรือ ตอนเอลิโอเล่นเปียโนขัดกับคำขอโอลิเวอร์ ที่ทั้งสองต่างหยั่งเชิงอีกฝ่ายอยู่ลึกๆ,  วรรณคดีที่เมสเสจ “บอกไปหรือตายเสียดีกว่า” ของมันถูกเอลิโอใช้แทนความรู้สึกตัวเองก้าวถามแบบอ้อมๆ, ไปจนถึง  โบราณวัตถุ ที่ซากรูปปั้นถูกใช้เป็นสัญญาณสงบศึก และ ที่การเดินล้อมห่างกันรอบอนุสาวรีย์ ถือเป็นฤกษ์ให้เผยความในใจสำคัญ  รายละเอียดสิ่งละอันพันละน้อยทั้งในท่าทางและวัตถุ ทำให้ความดึงดูดเข้าหากันช้าๆของเอลิโอและโอลิเวอร์ มีความอ่อนโยนอ่อนไหว ชวนติดตามและซึมซับในรายละเอียดได้อย่างเป็นธรรมชาติ จนเมื่อถึงจุดเปลี่ยนเข้าองค์สอง ทุกอย่างจึงพร้อมให้ความรู้สึกเร่งรัดสว่างไสวของรักแรกได้อย่างเต็มที่ ยามสองฝ่ายจูนเข้าหากันติดแล้ว

แต่สิ่งที่ทำให้สององค์แรกในเรื่องราวระหว่างเอลิโอกับโอลิเวอร์ ก้าวข้ามเป็น “รักแรกครั้งหนึ่งตราตรึงตลอดไป” นั้น คือการขมวดปมท้ายเรื่อง เกี่ยวกับตัวตนที่เปลี่ยนไปจากรักแรกนี้  ซึ่งหนังเล่าได้อย่างอ่อนโยนแต่ชวนใจสลาย ในความเศร้าละมุนแต่หนักแน่นอย่างผู้ใหญ่มากๆของมัน  การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรนี้ ถูกจับอยู่ในบทพูดยาวๆบทหนึ่งถึงเอลิโอท้ายเรื่อง ที่นักแสดงมากฝีมืออย่างไมเคิล สตูลบาร์ก ถ่ายทอดออกมาได้อย่างลึกซึ้ง เปิดเผย และเปี่ยมความเข้าอกเข้าใจอย่างที่สุดจนชวนน้ำตาซึม  บทพูดของตัวละครเขาได้ช่วยวางกรอบแห่งความหมายรอบเรื่องราวของเอลิโอกับโอลิเวอร์ ในบริบทของชีวิตที่ยังต้องอีกยาวไกล และเปี่ยมไปด้วยความทรงจำกับประสบการณ์อีกมากมาย คำสอนของพ่อนี้ยังสะท้อนดังก้องอยู่ในคำพูดสั้นๆสำคัญประโยคหนึ่ง ยามใกล้จบเรื่อง --

“Remember everything” -- จงจำทุกอย่างที่งดงามเอาไว้



ติดตามรีวิวหนังและข่าวน่าสนใจในโลกภาพยนตร์อื่นๆของผมได้ที่  www.facebook.com/themoviemood ครับ
ชื่อสินค้า:   Call Me By Your Name
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่