แบ่งปันประสบการณ์ การพบจิตแพทย์ครั้งแรกในชีวิต

เนื่องจากเคยแนะนำเรื่องนี้กับเพื่อนหลาย ๆ คนไปแล้ว และเมื่อคืนได้ทราบข่าวการเสียชีวิตของ Chester Bennington ฟรอนท์แมนแห่งวง Linkin Park ที่ผมผูกพันธ์กับเพลงของ Linkin Park ตั้งแต่ ม.ต้น ที่ดังไปทั่วบ้านทั่วเมือง เลยอยากจะมาแชร์ประสบการณ์การไปหาจิตแพทย์สำหรับคนที่ยังตัดสินใจว่าจะไปพบจิตแพทย์ดีไหม หรือว่าจะไปหาจิตแพทย์อย่างไรดี

เริ่มเรื่อง

     ผมโตมาในครอบครัวที่ค่อนข้างอบอุ่นทั่วไปมีปัญหาประปรายบ้างเล็กน้อยทั้งจากภายในครอบครัว หรือกับผู้คนรอบข้าง แต่ก็ไม่เป็นปัญหาอะไรมากเพราะผมเป็นคนที่มองโลกในแง่ดี และพยายามไม่เก็บเอาเรื่องแย่ ๆ มาคิดเท่าไหร่ พอในช่วงเรียนใกล้จบเลยเริ่มมีความเครียดเข้ามาจากงานของเรามีปัญหาและทำให้อารมณ์ของตัวเองดาวน์ลงไปเลย ประกอบกับความเครียดจากรอบข้างทำให้มีความเครียดที่สูงมาก พฤติกรรมของชีวิตได้เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มเก็บตัวอยู่คนเดียว เบื่อทุก ๆ อย่าง ท้อในงานของตัวเองหาทางแก้ไขปัญหาไม่ได้เลย ไม่อยากอาหาร มีวูบความคิดที่อยากตาย เป็นความคิดที่เกิดขึ้นมาเองโดยที่เราไม่ได้ตั้งใจให้มันเกิดขึ้น ก็เลยได้เริ่มกลัวตัวเองขึ้นมาเลยพยายามหาสาเหตุว่าเป็นอะไร พอดีกับรุ่นน้องที่สนิทได้เป็นโรคซึมเศร้าและรักษาตัวนานแล้ว เลยคิดว่าตัวเองอาจจะเป็นโรคซึมเศร้าเลยหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตนี่แหละในการแก้ปัญหา

- อย่างแรกได้ทำแบบสอบถามของกรมสุขภาพจิต ปรากฏว่าคะแนนในการเป็นโรคซึมเศร้าสูงมาก แต่ก็เป็นเพียงแค่คะแนนจากการแบบสอบถามเท่านั้นเองไม่สามารถที่จะทำอะไรได้มากกว่านี้
- ต่อมาเลยได้โทรไปสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เพื่อจะปรึกษาว่าควรจัดการตัวเองอย่างไรแต่สุดท้ายก็ติดต่อไม่ได้ เพราะช่วงที่ผมโทรไปตรงกับช่วงที่สายไม่ว่างพอดี สุดท้ายเลยคิดว่าควรไปหาจิตแพทย์จริง ๆ จึงเริ่มหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตในการพบกับแพทย์ ผมเลือกคลินิกนอกเวลาเพราะผมเข้าใจว่าคนน่าจะน้อยกว่าในเวลาทำการปกติ เลยได้ข้อมูลโรงพยาบาลสองแห่งที่อยู่ใกล้ ๆ กับที่พักของผม คือ
  
  โรงพยาบาลรามาธิบดี http://med.mahidol.ac.th/psych/th/Health/service
  โรงพยาบาลศิริราช http://www.si.mahidol.ac.th/th/StepCure.asp

และผมเลือกพบแพทย์ที่โรงพยาบาลศิริราชเพราะความเข้าผิดว่าน้องที่สนิทกันรักษาที่นี่ แต่ที่จริงน้องเค้ารักษาตัวอยู่โรงพยาบาลรามาธิบดี เริ่มแรกผมลงทะเบียนผู้ป่วยออนไลน์ http://www.si.mahidol.ac.th/project/medrecord/index.asp ถ้าจำไม่ผิดระบบจะทำการออกเลขที่บัตรให้เราภายในสามวันหลังการลงทะเบียน ต่อมาก็โทรนัดเพื่อเข้าพบกับจิตแพทย์ตามเบอร์ที่แนบมาในลิงค์นะครับ ถ้าเข้าใจไม่ผิดน่าจะเป็นพยาบาลคุยกับเราเพื่อทราบถึงปัญหาคร่าว ๆ ผ่านทางโทรศัพท์และแนะนำคุณหมอที่เหมาะกับเคสเราและวันเวลาที่สะดวกในการเข้าพบ ของผมใช้เวลาเกือบ ๆ เดือนเป็นช่วงที่อารมณ์ผมเริ่มกลับมาปกติแล้ว เลยมีความคิดที่ไม่อยากไปพบแพทย์แล้วแต่สุดท้ายก็ตัดสินใจไปพบแพทย์

เข้าพบแพทย์

    หลังจากเดินหลงในโรงพยาบาลศิริราชซักพักก็เจอตึกเพื่อไปรับบัตรผู้ป่วยที่ลงทะเบียนออนไลน์ไว้ ก็จะได้บัตรอย่างนี้มา
ต่อมาก็ได้เดินต่อไปยังแผนกจิตเวช ซึ่งความรู้สึกที่เจอต่างจากในหัวโดยสิ้นเชิง เราติดภาพจำจากในหนังในละครที่คนที่จะมาหาจิตแพทย์ต้องเป็นคนที่มีอาการประมาณว่าควบคุมตัวเองไม่ได้ แต่บรรยากาศในนั้นเหมือนแผนกป่วยอื่น ๆ ถ้าหากเอาป้ายจิตเวชออกไปก็ไม่มีใครรู้เลยว่านี่คือแผนกจิตเวช คนป่วยก็มีทักทายกับพยาบาลกันเอง หลังจากได้เข้าไปวัดความดัน น้ำหนัก ส่วนสูงแล้ว ก็มานั่งรอหมอบรรยากาศผู้ป่วยที่นั่งรอรอบ ๆ ข้างก็ชิว ๆ มีคุยกันบ้างนั่งเล่นโทรศัพท์กันบ้างไม่มีอะไรแปลกนอกจากนี้ และในที่สุดก็ได้พบกับหมอซักทีตอนนี้ขอเป็นการรวบรัดเพราะคุยกับคุณหมอนานมากนอกจากปัญหาที่เกิดขึ้นกับตัวผมเองแล้ว ผมยังได้คุยกับคุณหมออีกหลายเรื่องในส่วนที่ผมสงสัยในเรื่องของจิตเวช สุดท้ายนะครับคุณหมอได้ข้อสรุปว่าผมไม่ได้เป็นโรคซึมเศร้า แต่ที่เป็นอย่างนั้นเพราะว่ามีภาวะความเครียดที่สูงมากและจัดการไม่ถูก และท้ายที่สุดแล้วที่คุณหมอได้ชมในตัวผมเพราะว่าผมได้มาพบจิตแพทย์ในช่วงต้น ๆ ของปัญหาเพื่อทราบอาการของตัวเอง ถ้าหากว่าผมเป็นโรคซึมเศร้าจริงก็จะได้รักษาอย่างทันท่วงที เพราะในปัจจุบันส่วนมากคนที่มาหาจิตแพทย์คือคนที่อาการเริ่มหนัก การรักษาก็จะมีค่าใช้จ่ายมากขึ้นและจะนานกว่ามาก อีกอย่างหนึ่งสังคมไทยถ้าหากบอกคนอื่นว่าไปหาจิตแพทย์ ก็จะถูกคนรอบข้างถามว่าคุณเป็นโรคจิตเหรอที่จะต้องไปหาจิตแพทย์ พอทนอีกไปพักหนึ่งกลับกลายเป็นว่าเป็นปัญหาหนักกว่าเดิมแล้ว

     สุดท้ายนี้จึงอยากแนะนำว่าใครที่เข้าข่ายว่าจะเป็นโรคซึมเศร้าควรไปพบแพทย์แต่เนิ่น ๆ นะครับ ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นก่อนถึงควรไปพบแพทย์ คุณหมอยินดีที่จะทำการพูดคุยและรักษากับเราอยู่แล้ว และไม่จำเป็นแค่สองโรงพยาบาลข้างต้นที่ผมแนะนำมาก็ได้นะครับยังมีโรงพยาบาลที่สามารถไปพูดคุยได้อีกเยอะนะครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่