เทวตานุสติ : เหรียญพ่อปู่ศรีสุทโธ คำชะโนด รุ่นแรก ปี 32 ท. แตกนิยม

กระทู้สนทนา
คำว่า “ เทวตานุสติ ” หมายความว่า ระลึกถึงธรรมอันทำบุคคลให้เป็นเทวดา คนเราทุกคนย่อมอยากเป็นคนดี หรืออยากเป็นเทวดา เป็นเอินทร์เป็นพรหม หรืออยากบริสุทธิ์ พ้นจากทุกข์จะต้องมีความปรารถนาด้วยกันทุกคน แต่เมื่อมาได้เพียงมนุษยสมบัติ ก็นับว่าดีอักโขแล้ว เพราะมันเป็นพื้นฐานที่จะตกแต่งให้มนุษย์ไปเป็นเทวดา อินทร์ พรหม ต่อไป มนุษย์ที่มีสมบัติ คือมีอวัยวะครบครันบริบูรณ์ ไม่บ้าใบ้เสียจริตผิดมนุษย์ นับว่าดีอยู่แล้ว ขอให้ตั้งหลักฐานมนุษย์ที่ได้แล้วนี่ให้มั่งคงเถิด
หลวงปู่เทสก์ เทสรํสี

ป่าคำชะโนด หรือ เมืองชะโนด หรือ วังนาคินทร์คำชะโนด ตั้งอยู่ในพื้นที่ 3 ตำบล คือ ตำบลวังทอง, ตำบลบ้านม่วง และตำบลบ้านจันทร์ ใน อำเภอบ้านดุง จังหวัดอุดรธานี เป็นป่าที่มีลักษณะเหมือนเกาะขึ้นอยู่กลางทุ่งนา เต็มไปด้วยต้นชะโนด ซึ่งเป็นพืชจำพวกปาล์ม ความยาวประมาณ 200 เมตร[1] ป่าคำชะโนดเป็นสถานที่ ๆ ปรากฏในตำนานพื้นบ้าน เป็นสถานที่ ๆ เชื่อว่า เป็นที่สิงสถิตของพญานาคและสิ่งลี้ลับต่าง ๆ บ่อยครั้งที่ชาวบ้านในละแวกนั้นจะพบเห็นชาวเมืองชะโนดไปเที่ยวงานบุญพระเวสสันดร รวมถึงหญิงสาวที่มายืมเครื่องมือทอผ้าอยู่เป็นประจำ และเมื่อเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในที่ราบลุ่มแม่น้ำโขง รวมถึงที่อำเภอบ้านดุง แต่น้ำก็ไม่ท่วมบริเวณคำชะโนด เมื่อระดับน้ำลดลง คำชะโนดก็ยังคงอยู่เช่นเดิม

ตามตำนานได้กล่าวไว้ว่า มีพญานาคอยู่สองตนได้ปกครองเมืองหนองกระแส โดยครึ่งหนึ่งเป็นของ สุทโธนาค (พญาศรีสุทโธ) ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นของ สุวรรณนาค ทั้งสองปกครองเมืองอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข แต่มีข้อตกลงกันอยู่ว่า ถ้าเมื่อฝ่ายใดออกไปล่าสัตว์หาอาหาร อีกฝ่ายหนึ่งจะต้องไม่ไป เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดการกระทบกระทั่งกัน และเมื่อฝ่ายที่ออกไปล่าสัตว์หาอาหารมาได้นั้น ให้นำมาแบ่งกันอย่างละครึ่ง

เมื่อถึงสุทโธนาคได้ออกไปล่าสัตว์หาอาหารได้เนื้อช้างมา จึงนำเนื้อช้างที่ได้แบ่งให้สุวรรณนาค พร้อมทั้งนำขนของช้างไปยืนยันว่าเป็นเนื้อช้างจริง อีกครั้งที่สุวรรณนาคออกไปล่าสัตว์หาอาหารอีก ครั้งนี้ได้เม่นมาเป็นอาหาร จึงได้นำเนื้อเม่น และขนของเม่นไปมอบให้แก่สุทโธนาคเหมือนเช่นเคย แต่สุทโธนาคกลับแสดงความไม่พอใจ เพราะเมื่อดูจากขนของเม่นที่มีขนาดใหญ่กว่าขนของช้าง ปริมาณเนื้อที่ได้ก็ควรมีมากกว่าเนื้อของช้าง แต่ปริมาณเนื้อนั้นกลับมีน้อยกว่ามากนัก จึงคิดว่าสุวรรณนาคไม่มีความซื่อสัตย์ ฝ่ายสุวรรณนาคพยายามอธิบายอย่างไรก็ไม่เป็นผล จึงเกิดสงครามระหว่างสุทโธนาค และสุวรรณนาค

พระอินทร์ได้ทราบเรื่อง จึงหาวิธีการที่จะทำให้พญานาคทั้งสองนั้นหยุดทำสงครามกัน โดยให้พญานาคทั้งสองสร้างแม่น้ำขึ้นคนละสาย ถ้าใครสร้างได้ถึงทะเลก่อนจะให้ปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำนั้น เมื่อได้ยินเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้สร้างแม่น้ำมุ่งไปทางทิศตะวันออกของหนองกระแส และด้วยความที่สุทโธนาคมีนิสัยใจร้อน เมื่อพบเจอภูเขากั้นทางแม่น้ำก็จะทำการหลบหลีก โค้งไปโค้งมา จึงเกิดเป็น แม่น้ำโขง (โค้ง) ส่วนทางฝ่ายสุวรรณนาคนั้น ได้ทำการสร้างแม่น้ำขึ้นทางทิศใต้ของหนองกระแส สุวรรณนาคมีความละเอียด และใจเย็น แม่น้ำที่สร้างขึ้นจึงมีความตรงกว่าแม่น้ำทุกสาย ได้แก่ แม่น้ำน่าน

สุทโธนาคเป็นผู้ที่สร้างแม่น้ำได้เสร็จก่อน จึงมีปลาบึกขึ้นอยู่ในแม่น้ำโขงเพียงแห่งเดียว และเมื่อเป็นเช่นนั้น สุทโธนาคก็ได้ขอทางขึ้น-ลง ระหว่างเมืองบาดาล กับเมืองมนุษย์ไว้อีก 3 แห่ง หนึ่งในนั้นก็คือ คำชะโนด ซึ่งมีต้นชะโนดขึ้นเป็นสัญลักษณ์ ให้สุทโธนาค พร้อมบริวารสามารถกลายร่างเป็นมนุษย์ (พญาศรีสุทโธ) และตั้งบ้านเมืองปกครองอยู่ที่คำชะโนดได้เมื่อข้างขึ้น 15 วัน อีก 15 วันข้างแรม ให้กลายเป็นนาค อาศัยอยู่เมืองบาดาล (พญานาคราชศรีสุทโธ)[2]

พระไตรปิฎก ฉบับหลวง (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๒
[๒๘๑]....
ดูกรมหานามะ อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมเจริญเทวตานุสสติ (ความระลึกถึงเทวดาเนืองๆ) ว่า

เทวดาเหล่าจาตุมหาราชมีอยู่ เทวดาเหล่าดาวดึงส์มีอยู่ เทวดาเหล่ายามามีอยู่
เทวดาเหล่าดุสิตมีอยู่ เทวดาเหล่านิมมานรดีมีอยู่เทวดาเหล่าปรนิมมิตวสวัสดีมีอยู่ เทวดาเหล่า
พรหมกายิกามีอยู่ เทวดาที่สูงกว่าเหล่าพรหมนั้นมีอยู่

เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศรัทธาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้วอุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศรัทธาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยศีลเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ศีลเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่  
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยสุตะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้นสุตะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยจาคะเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น จาคะเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
เทวดาเหล่านั้นประกอบด้วยปัญญาเช่นใด จุติจากโลกนี้แล้ว อุบัติในเทวดาชั้นนั้น ปัญญาเช่นนั้นแม้ของเราก็มีอยู่
ดูกรมหานามะ สมัยใด อริยสาวกย่อมระลึกถึงศรัทธา ศีลสุตะ จาคะ และปัญญา ของตนและของเทวดาเหล่านั้นเนืองๆ

สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ย่อมไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ย่อมไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม
ย่อมเป็นจิตดำเนินไปตรงทีเดียว ก็อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรงเพราะปรารภเทวดา ย่อมได้ความ
ทราบซึ้งอรรถ ย่อมได้ความทราบซึ้งธรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม เมื่อได้
ความปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติเมื่อมีใจประกอบด้วยปีติ กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว
ย่อมเสวยสุข เมื่อมีสุขจิตย่อมตั้งมั่น ดูกรมหานามะ นี้อาตมภาพกล่าวว่า อริยสาวกเป็นผู้ถึง
ความสงบเรียบร้อยอยู่ ในเมื่อหมู่สัตว์ไม่สงบเรียบร้อย เป็นผู้ไม่มีความพยาบาทอยู่ ในเมื่อหมู่
สัตว์ยังมีความพยาบาทกันอยู่ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยกระแสธรรม ย่อมเจริญเทวตานุสสติ ดูกร
มหานามะ อริยสาวกผู้ได้บรรลุผล ทราบชัดพระศาสนาแล้วย่อมอยู่ด้วยวิหารธรรมนี้เป็นส่วนมาก ฯ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่