ผู้เป็นใหญ่ในทักษิณ ๒๒ มี.ค.๖๐

ผู้ยิ่งใหญ่ในทักษิณ


สามก๊กภาคปลาย

..ผู้เป็นใหญ่ในทักษิณ

“เล่าเซี่ยงชุน”

ในยุคสมัยของสามก๊กนั้น ก๊กแรกและใหญ่ที่สุดคือ วุยก๊ก ซึ่งเริ่มต้นเมื่อ พระเจ้าโจผี แย่งราชสมบัติมาจาก พระเจ้าเหี้ยนเต้ เมื่อพ.ศ.๗๖๓ ก๊กที่สองคือ จ๊กก๊ก ซึ่งพระเจ้าเล่าปี่ ตั้งตนขึ้นเป็นฮ่องเต้ทางภาคตะวันตก อ้างว่าสืบเชื้อสายราชวงศ์ฮั่นเมื่อ พ.ศ.๗๖๔ ก๊กที่สามคือง่อก๊ก โดย พระเจ้าซุนกวน ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้อยู่ทางภาคใต้เมื่อ พ.ศ.๗๗๒

ซุนกวนนั้นเป็นบุตรนางงอฮูหยิน เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ.๗๒๔ เมื่ออยู่ในครรภ์มารดาฝันว่าดวงอาทิตย์เข้าไปอยู่ในท้อง บิดาคือซุนเกี๋ยน เป็นนักรบที่เข้มแข็งคนหนึ่ง ในสมัยพระเจ้าเลนเต้ พระราชบิดาของพระเจ้าเหี้ยนเต้ เดิมเป็นเจ้าเมืองเตียงสา ต่อมาย้ายไปเป็นเจ้าเมืองกังแฮ ในยุคที่ตั๋งโต๊ะมหาอุปราชของพระเจ้าเหี้ยนเต้ ทำการปกครองอย่างโหดร้ายทารุณต่อประชาชน จนโจโฉรวบรวมพลพรรค สิบหกสิบเจ็ดหัวเมือง ยกทัพไปปราบปรามนั้น ซุนเกี๋ยนก็ได้เป็นแม่ทัพหน้า ของกองทัพปลดแอก

แต่บังเอิญในระหว่างการศึกคราวนั้น ซุนเกี๋ยนเก็บตราหยกสำหรับฮ่องเต้ได้จากเมืองลกเอี๋ยง ซึ่งเป็นราชธานีเดิม ก็เกิดความโลภอยากจะตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ ยอมทวนสาบานว่าไม่ได้เก็บตราหยกไว้ จนสุดท้ายต้องตายตามสบถไปในการรบ ที่เมืองเกงจิ๋ว ด้วยฝีมือของหองจอ ทหารเอกของเล่าเปียว เมื่ออายุเพียงสามสิบปีเท่านั้น

แม้อายุยังไม่มากนัก แต่ซุนเกี๋ยนก็มีบุตรถึงหกคน จากภรรยาสองคนที่เป็นพี่น้องท้องเดียวกัน คือนางงอฮูหยินพี่สาวมีบุตรชื่อ ซุนเซ็ก ซุนกวน ซุนเสียง ซุนของ เป็นชายทั้งหมด นางงอก๊กไถ้ คนน้อง มีบุตรชายชื่อ ซุนลอง และบุตรหญิงชื่อ ซุนหยิน เมื่อซุนเกี๋ยนตาย ซุนเซ็กบุตรชายคนโตอายุสิบห้าปี ก็ได้อาศัยทำราชการอยู่กับอ้วนสุด น้องชายของอ้วนเสี้ยว ผู้เป็นใหญ่อยู่ในภาคเหนือ และได้เอาตราหยกซึ่งรับมรดกมาจากบิดา จำนำไว้กับอ้วนสุด ขอทหารเดินเท้าห้าพัน ทหารม้าห้าร้อย เพื่อไปแก้แค้นแทนบิดา พอชนะแล้วก็เที่ยวรบดะเรื่อยไป เป็นเวลาถึงสิบเอ็ดปี ได้เมืองตองง่อ เมืองห้อยเข เมืองอ้วยเสีย เมืองโลกั๋ง เมืองอิเจี๋ยง จนมีกำลังมากมายหลายสิบหมื่น ตั้งมั่นอยู่ที่เมืองกังตั๋ง ซึ่งมีหัวเมืองชั้นโทหกหัวเมือง ชั้นตรีจัตวาแปดสิบเอ็ดหัวเมือง ขึ้นอยู่ด้วย

แต่ลงท้ายก็เสทีถูกทหารเลวเมืองง่อกุ๋น ดักแก้แค้นแทนนายที่ถูกซุนเซ็กฆ่าตาย โดยการแอบรุมทำร้ายในป่าชายแดนเมืองกังตั๋ง และเอาเกาทัณฑ์ยิงถูกหน้าผาก แล้วรักษาไม่หายต้องถึงแกความตาย เมื่ออายุเพียงยี่สิบหกปีเท่านั้น ภรรยาของซุนเซ็กชื่อนางใต้เกี้ยว หรือเกียวฮูหยิน ยังไม่มีบุตรสืบสกุล ก่อนตายซุนเซ็กจึงได้มอบให้ซุนกวนเป็นเจ้าเมืองกังตั๋งสืบต่อไป และสั่งให้ซุนเสียงและซุนของคอยช่วยเหลือพี่ชาย กับตั้งให้เตียวเจียวเป็นที่ปรึกษาฝ่ายพลเรือน ให้จิวยี่เพื่อนรักเพื่อนเกลอเป็นที่ปรึกษาทางทหาร

ซุนกวนจึงได้ครอบครองเมืองกังตั๋งตั้งแต่ พ.ศ.๗๔๒ มีอายุประมาณสิบแปดปี ซุนกวนนั้นเป็นชายหนุ่มรูปงาม หน้าผากใหญ่ ปากกว้าง จักษุแดง เคยมีขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งได้ทำนายไว้ว่า จะเป็นคนมีบุญวาสนามากกว่าพี่น้องทั้งปวง และอายุยืน นานไปจะได้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เมื่อซุนกวนได้ครองเมืองกังตั๋งนั้น จิวยี่คุมทหารไปรักษาด่านอยู่ตำบลปากิ๋ว พอรู้ข่าวว่าซุนเซ็กตายก็กลับมาเมืองกังตั๋ง ซุนกวนก็แจ้งเรื่องที่ซุนเซ็กสั่งความไว้ทั้งหมด จิวยี่ก็รับปากว่าจะช่วยทำนุบำรุงซุนกวนโดยสุจริต แต่ถ่อมตัวว่าสติปัญญายังไม่ถึงขั้น จึงขอให้ไปชวน โลซก ชาวเมืองตังฉวนซึ่งเป็นคนมีทรัพย์บริบูรณ์ และกำลังมีคนมาชักชวนให้ไปทำราชการที่เมืองเจ่เอ๋อ แต่ยังไม่ตกลงใจ ซุนกวนก็ขอร้องให้จิวยี่ไปชักชวนให้มาทำราชการอยู่ด้วยกัน จากนั้นโลซกก็ไปชวนเพื่อนชื่อ จูกัดกิ๋น ซึ่งเป็นพี่ชายของ จูกัดเหลียง หรือขงเบ้ง บ้านเดิมอยู่เมืองเกงจิ๋ว เป็นผู้มีสติปัญญามาก มาทำราชการด้วย ซุนกวนก็ตั้งให้เป็นที่ปรึกษา

โจโฉก็คิดอ่านจะเอาใจซุนกวน จึงถือรับสั่งพระเจ้าเหี้ยนเต้ ตั้งให้เป็นเจ้าเมืองกังตั๋งโดยถูกต้อง และให้เตียวเหียนขุนนางเก่าของซุนเซ็กเป็นปลัดเมือง ซุนกวนจึงให้เตียวเหียนกับเตียวเจียว เป็นขุนนางผู้ใหญ่สำหรับจัดแจงบ้านเมือง อยู่มาเตียวเหียนก็พา โกะหยง ซึ่งเป็นผู้มีสติปัญญา และความซื่อสัตย์มั่นคง ไม่เสพสุรายาเมามาฝากอีก ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นขุนนาง สำหรับตัดสินคดีความของอาณาประชาราษฎร และเนื่องจากซุนกวนได้ปกครองบ้านเมือง ถูกต้องตามขนบธรรมเนียม บำรุงทหารและเลี้ยงดูไพร่บ้านพลเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข บรรดาราษฎรและเมืองขึ้นทั้งปวง ก็ชื่นชมยินดีกันทั่วหน้า

ซุนกวนครองเมืองกังตั๋งมาได้สามปี บ้านเมืองก็เจริญขึ้นเป็นอันมาก มีที่ปรึกษาเพิ่มขึ้นอีกเก้าคน มีนายทหารเอกห้าคน ขณะนั้นโจโฉไปรบกับอ้วนเสี้ยว จึงมีหนังสือมาถึงซุนกวน ให้ส่งบุตรไปรับราชการกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ตามประเพณี ซุนกวนปรึกษากับนางงอฮูหยินมารดา และเตียวเจียว กับจิวยี่แล้วก็ลงความเห็นว่า จะไม่ส่งบุตรไปให้เป็นตัวจำนำ แม้ว่าโจโฉจะโกรธ แล้วยกทัพมาทำอันตราย ก็จะสู้กันจนกว่าจะสิ้นความคิด แต่โจโฉยังติดพันเรื่องการศึกกับอ้วนเสี้ยวทางภาคเหนืออยู่ จึงยังไม่ได้ทำอะไร

ซุนกวนก็ปกครองบ้านเมือง เป็นสุขสืบมาอีกห้าปี พอถึงข้างขึ้นเดือนสิบสอง นางงอฮูหยินมารดาก็ป่วยหนักลง นางจึงเรียก ซุนกวน จิวยี่ เตียวเจียว เข้ามาสั่งเสียไว้อย่างละเอียดว่า

“....แม้สืบไปเมื่อหน้า เจ้าจะทำการสิ่งใด จงปรึกษาหารือจิวยี่และเตียวเจียวซึ่งเป็นผู้ใหญ่ ให้รู้จักผิดแลชอบ อย่าถือทิฐิมานะ จงคารวะนับถือท่านทั้งสองนี้ เป็นอาจารย์ใหญ่ อย่าได้ทำการแต่อำเภอน้ำใจ อนึ่งนางงอก๊กไถ้น้องเราผู้เป็นแม่น้าของเจ้านั้น ถ้าแม่ตายแล้วอย่าได้ละเมินเสีย จงตั้งใจอุปถัมภ์บำรุง ปฏิบัติรักษาดุจตัวของแม่ อนึ่งน้องหญิงอันร่วมบิดากับเจ้านั้น จงตั้งใจเลี้ยงรักษาไว้ให้ปกติด้วย แม้จะให้มีสามีเจ้าจงพิเคราะห์ดู ผู้ใดมีสติปัญญาจึงยกให้เป็นภรรยา.........”

ว่าแล้วก็สิ้นใจตายไปอย่างหมดห่วง

พอย่างเข้าปีใหม่ ข้างขึ้นเดือนสาม ซุนกวนก็ยกทัพไปตีเมืองกังแฮซึ่ง หองจอผู้ที่ฆ่าซุนเกี๋ยนบิดาของตนเป็นเจ้าเมืองอยู่ ก็ได้ชัยชนะ ตัดศีรษะหองจอเอาไปเซ่นศพบิดาสมใจนึก ต่อมาได้ข่าวว่า เล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋วป่วยตาย เล่าปี่ก็แตกหนีโจโฉไปอาศัย เลากี๋ บุตรของเล่าเปียว ซึ่งเป็นเจ้าเมืองกังแฮแทนหองจออยู่ ส่วนโจโฉก็ยกกองทัพบกกองทัพเรือ มาชุมนุมที่เมืองเกงจิ๋ว ฝั่งตรงข้ามทะเลสาบหน้าเมืองกังตั๋ง จำนวนนับร้อยหมื่น จึงใช้ให้โลซกไปสืบข่าวคราว โลซกกลับไปเชิญ ขงเบ้ง มาที่เมืองกังตั๋ง เพื่อพบกับจูกัดกิ๋นพี่ชาย แต่ขงเบ้งนั้นตั้งใจจะมาเกลี้ยกล่อมซุนกวน ให้ยอมร่วมมือกับเล่าปี่รบกับโจโฉ

ขุนนางของซุนกวนนั้นแบ่งออกเป็นสองพวก ฝ่ายพลเรือนแนะนำให้ยอมอ่อนน้อมเข้าเป็นพวกโจโฉ เพราะเกรงกลัวแสนยานุภาพของข้าศึก ส่วนฝ่ายทหารคิดจะต่อสู้กับโจโฉให้แพ้ชนะกันไป เมื่อขงเบ้งไปถึงก็เจรจาต่อปากต่อคำกับพวกพลเรือนให้อัปจนปัญญาไปถึงเจ็ดคน ครั้นเข้าไปพบซุนกวนก็หว่านล้อมด้วยสำนวนโวหาร คารมคมคายทั้งล่อทั้งชน เล่นเอาวุนกวนหัวหมุน ไม่รู้ที่จะตกลงใจอย่างไรดี จึงต้องขอคิดดูก่อน พอดีจิวยี่ซึ่งอยู่เมืองกวนหยง รู้ข่าวก็เข้ามาหา ขุนนางพลเรือนก็คอยดักพบขอให้เข้าพวกยอมแพ้ด้วย พอเจอนายทหารเอกสามนายคือ เทียเภา ฮันต๋ง และ อุยการ กับนายทหารรองอีกหลายคน ก็ชักชวนให้รบกับโจโฉให้รู้ดีรู้ชั่วไป จิวยี่ก็รับปากกับทั้งสองฝ่าย ว่าจะลองเจรจากับขงเบ้งดูก่อน

พอจิวยี่ได้พบกับขงเบ้ง ก็ตกหลุมของขงเบ้งในทันที ที่เอ่ยถึงปราสาทอันสวยงามของโจโฉริมแม่น้ำเจียงโห ว่าโจโฉตั้งใจที่จะสร้างไว้ให้บุตรหญิงทั้งสองคนของนางเกียวก๊กโล่ แห่งเมืองกังตั๋ง ถ้าต้องการให้โจโฉเลิกทัพกลับไป ก็จงส่งนางทั้งสองคนนั้นออกไปให้โจโฉเถิด จิวยีถามว่ามีหลักฐานอะไรที่ยืนยันในเรื่องนี้ ขงเบ้งก็ว่า โจโฉให้ลูกชายผูกเป็นโคลงไว้บนปราสาทนั้น มีใจความว่า

“.......ปรัศว์ซ้ายขวาซึ่งเราทำไว้ ชื่อหยกหลงกับกิมฮอง ข้าจะกอดนางสองเกี้ยวไว้ทั้งซ้ายขวา ให้มีความสุขทุกเวลา มิได้อาทรเลย............”

เท่านั้นเองจิวยี่ก็โกรธดังเอาเพลิงไปจุดเข้าในหัวใจ เพราะนางแซ่เกี้ยวทั้งสองนั้น นางไต้เกี้ยว ผู้พี่เป็นภรรยาของซุนเซ็ก และนางเสียวเกี้ยว ผู้น้อง ก็เป็นภรรยาจิวยี่อยู่ในขณะนั้น จึงลุกขึ้นประกาศสงครามกับโจโฉ โดยมิได้ลังเลอีกเลย

การศึกสงครามทางเรืออันยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ที่ตำบลเซ็กเพ็กในอ่าวหน้าเมืองกังตั๋งครั้งนั้น เป็นที่เลื่องลือกันมาถึงพันเจ็ดร้อยกว่าปี เพราะขงเบ้งใช้ลิ้นกว้างเพียงสองนิ้ว กับความรู้ความสามารถ รวมทั้งสติปัญญาของจิวยี่แม่ทัพใหญ่ ใช้กำลังทหารที่มีจำนวนน้อยกว่าหลายเท่า เอาชนะข้าศึกได้โดยเด็ดขาด จนโจโฉต้องเป็นฝ่ายพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ เสียทหารไปประมาณแปดสิบหมื่น กองทัพเรือถูกเผาทำลายไปหลายพันลำ ตัวโจโฉต้องหนีซอกซอนไป จนเหลือทหารติดตามไม่ถึงสามสิบคน เอาตัวรอดไปได้อย่างหวุดหวิดเต็มที

หลังจากนั้นซุนกวนและจิวยี่ ก็ถูกเล่าปี่กับขงเบ้งหักหลัง ยึดเอาเมืองลำกุ๋น เมืองซงหยง และเมืองเกงจิ๋วไปได้หมด โดยไม่ต้องลงแรงเท่าใดเลย จิวยี่ช้ำใจนัก จึงออกอุบายให้ซุนกวนเชิญเล่าปี่มาแต่งงานกับนางซุนหยินน้องสาว เพื่อจะได้จับตัวมาฆ่าเสีย แต่ขงเบ้งก็วางแผนซ้อนกล ให้เล่าปี่ได้แต่งงานสำเร็จ และนางซุนฮูหยินก็รักใคร่เล่าปี่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ จึงพากันหนีซุนกวนมาอยู่ที่เมืองเกงจิ๋วเสียอีก

ต่อมาเมื่อจิวยี่ช้ำใจหลายครั้ง จนเจ็บป่วยตายไปแล้ว และเล่าปี่ยกทัพไปตีเมืองเสฉวนเพื่อขยายอาณาเขต ซุนกวนจึงหลอกเอาตัวนางซุนฮูหยินกลับคืนไปอยู่ที่เมืองกังตั๋งดังเดิม แต่นางก็ยังคงจงรักภักดีต่อเล่าปี่ตลอดมา เมื่อซุนกวนไม่มีห่วงแล้วก็ยกทัพไปตีเมืองเกงจิ๋ว ซึ่งกวนอูน้องร่วมสาบานของเล่าปี่รักษาอยู่ จนแตกพ่ายและได้ตัวกวนอูมาประหารชีวิต ทำให้เล่าปี่แค้นมาก ถึงกับตัดญาติขาดมิตรกับซุนกวนตั้งแต่บัดนั้น

เมื่อเล่าปี่ตั้งตัวเป็นฮ่องเต้ของจ๊กก๊กแล้ว ก็ยกกองทัพมาคิดบัญชีแค้นกับซุนกวน และรบชนะมาตลอด ซุนกวนหาหนทางที่จะเอาตัวรอดจากเงื้อมมือของพระเจ้าเล่าปี่ จึงให้เตียวจี๋เป็นทูตถือหนังสือไปอ่อนน้อมต่อพระเจ้าโจผีแห่งวุยก๊ก ขอความช่วยเหลือ พระเจ้าโจผีจึงแต่งตั้งให้เป็น เจ้าเงาอ๋อง มีเครื่องยศเก้าสิ่งตามอย่างแต่โบราณ แล้วซุนกวนก็จัดทัพไปสู้รบกับพระเจ้าเล่าปี่ โดยให้ ลกซุน เป็นแม่ทัพใหญ่ จนได้รับชัยชนะ ตีกองทัพของพระเจ้าเล่าปี่แตกพ่ายยับเยินไป พระเจ้าเล่าปี่ก็ช้ำใจนัก ถึงกับประชวรและสิ้นพระชนม์ลงที่เมืองเป๊กเต้ นางซุนฮูหยินรู้ข่าวก็โจนลงแม่น้ำฆ่าตัวตายตาม

แต่ปรากฏว่าพระเจ้าโจผีกลับยกกองทัพ มาตีเมืองกังตั๋งของซุนกวนถึงสามทาง แต่ก็พ่ายแพ้ลกซุนไปอีกทั้งสามทาง ซุนกวนจึงตั้งตัวเป็นอิสระไม่ยอมขึ้นกับพระเจ้าโจผีอีกต่อไป ครั้นพระเจ้าโจผีสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจยอยได้สืบราชสมบัติต่อ จ๊กก๊กกับง่อก๊กก็ร่วมมือกันรบวุยกีกอีกหลายครั้ง แต่ไม่มีฝ่ายใดเพลี้ยงพล้ำแก่กัน

จนถึง พ.ศ.๗๗๒ ขึ้นเดือนสี่ ขุนนางเมืองกังตั๋งก็แต่งการราชาภิเษกพระเจ้าซุนกวน เป็นฮ่องเต้แห่งแคว้นง่อก๊ก ทรงพระนามว่า พระเจ้าไต้ฮ่องเต้ เสร็จแล้วจึงมีพระราชสาส์นไปทำพระราชไมตรีกับ พระเจ้าเล่าเสี้ยนแห่งจ๊กก๊ก อย่างเป็นทางการ ขงเบ้งจึงยกทัพไปรบกับพระเจ้าโจยอยซึ่งมีสุมาอี้เป็นมหาอุปราชอีกสี่ครั้งโดยไม่ต้องกังวลกับฝ่ายใต้ จนขงเบ้งถึงแก่ความตายเมื่อ พ.ศ.๗๗๗ พระเจ้าวุนกวนก็ยังให้ขุนนางนุ่งขาวห่มขาวไว้ทุกข์แก่ขงเบ้ง และให้ทหารคุมสิ่งของมาเซ่นไหว้ศพขงเบ้ง พร้อมกับให้สัตย์สาบานว่า จะไม่คิดร้ายต่อจ๊กก๊กเป็นอันขาด

จากนั้นก๊กทั้งสามก็ว่างเว้นการทำสงครามต่อกันไปหลายปี จนกระทั่งพระเจ้าโจยอยสิ้นพระชนม์ พระเจ้าโจฮองขึ้นเสวยราชย์เป็นฮ่องเต้ของของวุยก๊กแล้ว ในบ้านเมืองก็ยังยุ่งเหยิง แย่งกันเป็นใหญ่อีกหลายปี จนถึง พ.ศ.๗๙๔ พระเจ้าซุนกวนได้เสวยราชย์มาประมาณยี่สิบสามปี ก็ตั้งให้ ซุนเต๋ง บุตรนางซีฮูหยิน มเหสีเอกเป็นรัชทายาทแต่เสียชีวิตไปก่อน จึงตั้งให้ ซุนโฮ น้องนางกิมกงจู๋ บุตรนางฮองฮูหยินมเหสีรองขึ้นเป็นรัชทายาทแทน ต่อมาเกิดวิวาทกับพี่สาว นางกิมกงจู๋ ไปฟ้องพระเจ้าซุนกวนให้ถอดออกเสียจากตำแหน่ง ก็เลยตรอมใจเป็นไข้ตายไปอีกคน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่