ซื้อทรัพย์จากบังคับคดีต้องระวังจำนองติดไป แถมเจอ ธ.กรุงไทย บังคับทำประกัน

ซื้อทรัพย์จากบังคับคดีต้องระวังจำนองติดไป  แถมเจอ ธ.กรุงไทย บังคับทำประกัน
        ตามที่  ผมได้ซื้อทรัพย์จากสำนักงานบังคับคดี เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2559 นั้น   ซึ่งในวันที่ขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ไม่มีผู้แทนโจทก์หรือผู้แทนของธนาคารมาดูแลการขายและแถลงยอดจำนองติดไปเลย  (ซึ่งการขายทรัพย์ของสำนักงานบังคับคดี ในครั้งนี้ เป็นการขายแบบมีจำนองติดไป)  ซึ่งก่อนหน้านี้ ผมได้ทำการบ้านมาก่อนแล้ว โดยก่อนซื้อทรัพย์ในครั้งนี้ ผมได้สอบถามทางธนาคารกรุงไทย ว่ามียอดหนี้จำนองเท่าไหร่   ซึ่งได้รับทราบว่ามีภาระหนี้ อยู่ประมาณ 2.1 ล้านเศษ ซึ่งผมก็ได้พิจารณาแล้วว่า ถ้าเป็นหนี้ในจำนวนนี้ ผมรับได้   จึงได้ทำการเข้าประมูลทรัพย์ และได้ชำระเงินค่าส่วนต่าง จำนวน 20,000 บาทครบถ้วน ในวันที่ซื้อทรัพย์ดังกล่าว  
        ต่อมา  ผมได้นำหนังสือจากสำนักงานบังคับคดี ไปยื่นต่อ ธ.กรุงไทย สาขาสงขลา 1 เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2559 (ซึ่งเป็นสาขาที่จำเลย ได้ยื่นกู้ไว้ก่อนหน้านี้ และที่ตั้งของสำนักงานเขต) เพื่อหวังว่า จะได้สะดวกในการทำนิติกรรมและประเมินราคาทรัพย์ดังกล่าว เพราะทางสาขามีข้อมูลเดิมของทรัพย์ดังกล่าวอยู่แล้ว  เมื่อยื่นเรื่องกับเจ้าหน้าที่สินเชื่อก็ได้รับทราบถึงเงื่อนไขการทำประกันชีวิต  ซึ่งผมได้สอบถามจากทางเจ้าหน้าที่ และได้ทราบว่า เป็นนโยบายของทางธนาคารที่ให้ลูกค้าทุกรายต้องทำประกัน ผมจึงได้ถามกลับไปว่า ทางธนาคารเขาบังคับหรือ? ได้คำตอบว่า ทางธนาคารบังคับให้ทำ ผมจึงขอแบบประกันไปพิจารณาดูก่อน   และผมก็ได้เดินขึ้นไปพบท่านผู้จัดการเขต ที่ชั้นบน ซึ่งเป็นที่ตั้งของทางสำนักงานเขต  เพื่อต้องการพบกับทางท่านผู้จัดการเขต แต่ท่านผู้จัดการเขตกำลังเป็นประธานในการประชุมอยู่  โดยมีผู้จัดการสาขาหลายๆแห่งเข้าร่วมด้วย รวมทั้งผู้จัดการสาขาสงขลา 1 ที่ผมมาติดต่อและยื่นกู้ด้วย   ทางฝ่ายเลขาของ ผจก.เขต จึงบอกให้ผมไปพบกับฝ่ายกฎหมายแทน  ซึ่งฝ่ายกฎหมายก็ยังไม่ทราบเรื่องเลยว่า ทรัพย์ดังกล่าวนี้ ถูกขายไปแล้ว และผมเป็นผู้ซื้อได้ (ผู้เสนอราคาประมูลสูงสุด)   และผมก็ได้สอบถามถึงยอดจำนองที่ติดไปว่า มีจำนวนเท่าไหร่?  ซึ่งทางกฎหมายได้แจ้งตัวเลข ที่ทำให้ผมแทบช๊อค คือ ยอดหนี้สูงถึง 2.6 ล้านบาทเศษ  ผมจึงบอกให้เขาลองเช็คยอดดูใหม่ว่ามีความถูกต้องมากน้อยเพียงใด ซึ่งต่างกับทางสาขาแจ้งไว้มาก (ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเพิ่งได้สอบถามทางสาขา ที่อยู่ชั้นล่าง ขณะที่ผมยื่นขอกู้เมื่อสักครู่ ก่อนที่ผมจะเดินขึ้นบันไดมาชั้น 2 ว่ามียอดหนี้อยู่ เพียง 2.2 ล้านบาทเอง ซึ่งเป็นยอดที่ใกล้เคียงกับยอดแรกที่ผมถามตอนก่อนเข้าซื้อทรัพย์) แต่นี่ ทำไมยอดถึงได้กระโดดขึ้นมากว่า 4-5 แสนบาทเลยทีเดียว เพียงแค่ช่วงก้าวขาขึ้นบันไดเปลี่ยนชั้นเลยหรือ?)        
        หลังจากนั้น ผมจึงได้ประสานกับทางเขตอีกครั้ง ในวันถัดมา  เพื่อขอเช็คยอดดังกล่าว  ซึ่งทางฝ่ายกฎหมายได้แจ้งยืนยัน ว่ามียอดที่เป็นหนี้ อยู่ประมาณ 2.6 ล้านบาทเศษ  ผมจึงได้ถามกลับ สวนไปว่า  “ถึงผมจะไม่ได้จบทางด้านบัญชีหรือการเงิน แต่อย่างใด อาจจะคิดตัวเลขด้านการเงินไม่เก่งเหมือนพวกท่าน หรือคิดไม่ไวเหมือนระบบคอมพิวเตอร์ของท่าน  แต่ผมฟังดูตัวเลขที่กระโดดได้มากถึงขนาดนี้  จากวันที่ผมซื้อทรัพย์ซึ่งมีเพียง 2.1 ล้าน  และถัดมาเพียง 1 เดือนเศษ ที่ผมมารับเอกสารจากสำนักงานบังคับคดี และมายื่นขอกู้จากทางธนาคารของท่าน  ทำไมยอดหนี้ที่ติดจำนองของจำเลย ถึงได้พุ่งพรวด ถึง 2.6 ล้านบาทเลยทีเดียว  ซึ่งเท่ากับ 1 ใน 4 ของยอดเงินทั้งหมดเลยทีเดียว  เท่ากับร้อยละ 25 ต่อเดือน หรือ ร้อยละ 300 ต่อปีเลยหรือ?  ซึ่งแพงพอๆ หรือแพงมากว่า เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยเถื่อนเลยก็ว่าได้  ดอกเบี้ยเถื่อนยังคิดเพียง ร้อยละ 3 ต่อเดือน ร้อยละ 60 ต่อปีเท่านั้น  ซึ่งถูกกว่าทางธนาคารมาก  นี่หรือที่เป็นธนาคารของรัฐ ทำไมถึงได้ซ้ำเติมประชาชนได้ถึงขนาดนี้?   จึงอยากทราบว่าทางธนาคารมีวิธีคิดดอกเบี้ยอย่างไร? ยอดหนี้ที่ถูกต้องแท้จริงมีอยู่เท่าไหร่กันแน่  หากทางธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ยปรับมากขนาดนี้ ต่อให้จำเลยมีความสามารถมากแค่ไหน ก็หามาใช้หนี้ได้ไม่ทันหรอกครับ ผมจึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบ้านของจำเลยถึงถูกยึด เพราะต่อให้เป็นผมก็หามาจ่ายให้ไม่ทันเช่นกัน  นอกจากมีเงินสดเป็นก้อนพอที่จะปิดบัญชีได้อยู่ในมือเท่านั้น ”  พอผมพูดจบ ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของธนาคารถึงกับออกอาการ กะอักกะอ่วม ตอบไม่ถูก อย่างเห็นได้ชัดเจน  และขอกลับไปเช็คยอดดูใหม่อีกครั้ง  
        ต่อมาทางธนาคาร โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายคนเดิม ได้ติดต่อกลับมาหาผม  โดยแจ้งยืนยันยอดหนี้ดังกล่าว ว่ามีมากถึง 2.6 ล้านเศษจริง  ผมจึงได้สอบถามไปว่า ทางธนาคารใช้วิธีคิดอย่างไร?  ได้รับคำตอบว่า ทางธนาคารคิดจากดอกเบี้ยผิดนัดชำระ ในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี  และบวกกับดอกเบี้ยปรับอีก ร้อยละ 23 ต่อปี  (รวมๆกันแล้ว ประมาณร้อยละ 30 ต่อปีเลยทีเดียว  ถ้าผมจำตัวเลขที่ได้คุยกันไว้ไม่ผิดนะครับ)  ซึ่งผมถึงขั้นแทบช็อคอีกครั้ง  และตกใจจนแทบตกเก้าอี้ในขณะนั้น  และขอให้ทางธนาคาร ช่วยลดอัตราดอกเบี้ยมหาโหดนี้ลงหน่อย โดยให้คิดเฉพาะเงินต้นที่จำเลยเป็นหนี้ในครั้งสุดท้ายที่ส่งฟ้องศาลได้ไหม?  (เพราะผมได้พบกับจำเลย ได้ไปเยี่ยมบ้านที่ถูกยึด และทราบว่าจำเลยยังอาศัยอยู่ในบ้านหลังดังกล่าวแล้ว ดูสภาพความเป็นอยู่ของจำเลยแล้ว น่าสงสารมาก จนผมแทบจะยอมทิ้งเงินวางมัดจำเลยก็ว่าได้)   ผมจึงอยากช่วยต่อรองให้จำเลย เพื่อที่ทางจำเลยจะได้หาเงินมาชำระได้  และอยากให้ทางธนาคารช่วยลดดอกเบี้ย เอาแต่เงินต้นก็พอ เพราะที่ผ่านมาจำเลยก็ได้ผ่อนไปมากแล้ว เป็นดอกเบี้ยให้กับทางธนาคารก็มากเช่นกัน (ยอดหนี้ ที่จำเลยจดจำนอง เพียง 2.38 ล้านบาท  และมียอดเงินต้นคงเหลือ 1.87 ล้านบาทเศษ ณ วันที่ 4/11/2558 )  
        ต่อมา ในวันนี้ (25/02/2560) ผมได้รับหมายเรียกให้ไปขึ้นศาล และให้ไปไกล่เกลี่ย  โดยเพิ่งมาทราบว่า ผมถูกฟ้องเป็นจำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยเดิม   ซึ่งผมก็งงเป็นอันมาก ว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น  ทั้งๆที่ผมก็ได้ยื่นเรื่องกู้เงินเพื่อซื้อทรัพย์ดังกล่าว จากทางธนาคารไว้แล้ว  และยังไม่ได้รับคำตอบรับหรือปฏิเสธแต่อย่างใด และทางธนาคาร ก็ยังไม่ได้  นัดเพื่อทำการประเมินบ้านหลังดังกล่าว แต่อย่างใด  อีกทั้งผมก็ไม่ใช่ ผู้มีส่วนได้เสีย หรือพรรคพวก ของจำเลยแต่อย่างใด   หรือเป็นเพราะผมไม่ยอมทำประกันตามที่ทางธนาคาบังคับ จึงไม่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อ  หรือเป็นเพราะผมได้ยอมรับยอดหนี้ ที่ทางธนาคาร พยายามยัดเยียดให้ผมรับแทนจำเลย ในจำนวนที่สูงมากมายมหาศาล  (โดยทางธนาคารมองผมประหนึ่งว่า ต้องมาเป็นผู้รับผิดชอบยอดหนี้ดังกล่าว แทนจำเลย  ยังไงก็ต้องจ่ายแทนจำเลย โดยไม่ต้องมีข้อแม้หรือเงื่อนไข แต่ย่างไร?)     (เพราะเท่าที่เคยทราบๆมา ธนาคารอื่นๆ พอขึ้นศาล  เขาจะตัดเหลือเพียงยอดเงินต้นที่จำเลยคงค้างอยู่ แล้วให้หาเงินมาเคลียร์ให้หมด เหมือนเมื่อหลายปีก่อน  ผมก็เคยช่วยเขามาแล้ว ซึ่งเป็นกรณีของลูกค้า ธ.กสิกร แถมทางธนาคารยังให้ต่อรองและตัดยอดหนี้ลงมาให้อีก )
        ในการนี้  จึงอยากให้ทางธนาคาร  และทางท่านผู้รู้มาช่วยไขข้องข้องใจ  ให้เกิดความกระจ่างว่า   ผมควรดำเนินการต่อไปอย่างไรดี  ผมสามารถขอถอนตัว จากการซื้อทรัพย์ดังกล่าวได้หรือไม่?   หรือ ต้องยอมถูกบังคับให้ทำประกันก่อน เพื่อจะได้รับวงเงินกู้ เพื่อไปชำระยอดหนี้จำนวนมหาศาล  หรือควรทำอย่างไรดี?      ขอให้ท่านผู้รู้ทั้งหลายโปรด ช่วยเมตตา กรุณา  ชี้แนะให้แนวทางแก้ไขปัญหาให้ผมด้วย  จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง และผมจะไม่ลืมพระคุณของท่านทั้งหลายในวันนี้เลย  หากมีโอกาสผมจะได้ตอบแทนคุณท่านในโอกาสต่อไป       อีกทั้ง  อยากให้ท่านที่มีญาติพี่น้อง และได้รับผลกระทบ เหมือนอย่างผม  มาช่วยแชร์ประสบการณ์ และวิธีการแก้ไขให้ด้วย   หากท่านเผชิญปัญหากับทางธนาคารกรุงไทย ยิ่งดีเลย  จะได้เป็น case study ที่เจอปัญหาเหมือนกัน มาแชร์กัน เพื่อหาทางออกร่วมกัน  (ซึ่งผมเป็นเพียงผู้ซื้อทรัพย์และต้องมารับกรรมเป็นจำเลยร่วมรายใหม่ ที่ต้องมารับภาระหนี้หนี้จำนองแบบไม่รู้อีโหน่อีเหน่ และไม่เป็นธรรมเช่นนี้)   ขอให้ทุกท่านร่วมแสดงความรู้สึกและความเห็นต่อทางธนาคาร เพื่อความเป็นธรรมของพวกท่าน  
หวังว่า เสียงของทุกท่าน  จะเป็นเสียงสะท้อนกลับให้ทางธนาคารได้พิจารณาทบทวน ในครั้งต่อๆไป ด้วยนะครับขอขอบคุณมาล่วงหน้า ณ โอกาสนี้ด้วยนะครับ

ขอแสดงความนับถือ และขอบคุณเป็นอย่างยิ่งครับ
K. TEERASAK
T. 0896537680

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่