ถ่ายรูป ทำผิดกฎจราจร ส่งใบสั่งถึงบ้าน เริ่ม 1ก.พ.60 นี้ / อนาคตขยายผล เปิดให้ชาวบ้านช่วยถ่ายภาพ ส่งเข้ามาด้วย

ถ่ายรูป ทำผิดกฎจราจร ส่งใบสั่งถึงบ้านเริ่ม 1ก.พ.60นี้

1 ก.พ.นี้ นครบาลดีเดย์ใช้กล้องถ่ายรูปจับฝ่าฝืนกฎจราจรพร้อมกันทั่วกรุง แชะภาพส่งใบสั่งถึงบ้าน เน้นความผิดชัดเจน อาทิ เบียดคอสะพาน ไม่สวมหมวกนิรภัย ขับย้อนศร ฯลฯ ลดปัญหาตำรวจทะเลาะชาวบ้าน ปิดช่องทางทุจริต อนาคตขยายผลเปิดให้ชาวบ้านช่วยถ่ายภาพส่งเข้ามาด้วย พร้อมสั่งตั้งด่านวันเว้นวัน เน้นภาพทะเบียนและพฤติกรรมการขับขี่ผิดกฎ ไม่ได้เน้นถ่ายภาพหน้าตาคนทำผิด



พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร  รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (รองผบช.น.)ดูแลงานจราจร กล่าวว่า กองบัญชาการตำวจนครบาล(บช.น.)ได้มีนโยบายให้เจ้าหน้าที่ตำรวจราจรทั้ง 88 สน.และกองบังคับการตำรวจจราจร(บก.จร.) ดำเนินการจับผู้กระทำผิดและฝ่าฝืนกฎหมายจราจรโดยใช้กล้องถ่ายรูป รวมทั้งได้มีนโยบายให้ลดการตั้งด่านกวดขันวินัยการจราจรวันเว้นวัน และในเส้นทางเดียวกันห้ามตั้งด่านซ้อนกันเพื่อลดกระทบด้านการจราจรที่จะเกิดขึ้นแก่ประชาชนโดยจะดำเนินการพร้อมกันทั่วพื้นที่กรุงเทพมหานครในวันที่ 1 ก.พ. 60   ขณะนี้ตนได้สั่งการให้ทุกสน.เตรียมความพร้อมในเรื่องของอุปกรณ์ถ่ายภาพโดยเจ้าหน้าที่สามารถใช้กล้องถ่ายรูปที่มีอยู่ดำเนินการได้โดยไม่ต้องใช้กล้องของรัฐ พร้อมทั้งให้ไปสำรวจจุดที่ในการฝ่าฝืนกฎหมายจราจรเป็นประจำซึ่งหากพบเห็นเจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการได้ทันที โดยระหว่างนี้ได้กำชับให้ทำการประชาสัมพันธ์ถึงแนวทางให้แก่ประชาชนทราบเพื่อป้องกันการเกิดความเข้าใจผิด  เบื้องต้นจะตรวจจับในข้อหาที่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าและพบว่าการกระทำผิดมีความชัดเจนในข้อหา เช่น ขับรถย้อนศร ขับรถบนทางเท้า ไม่สวมหมวกกันน้อค แซงรถในที่ขับขัน ปาดเบียดคอสะพาน และข้อหาที่ส่งผลกระทบต่อการจรจรไม่ว่าจะเป็นจอดรถที่ห้าม จอดซ้อนค้น เป็นต้น ทั้งนี้เมื่อได้หลักฐานการกระทำความผิดมาแล้วทางสน.จะดำเนินการออกใบสั่งและส่งใบสั่งให้ผู้กระทำความผิดทางไปรษณีย์เพื่อให้มาชำระค่าปรับ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับการแก้กฎหมายใบสั่งค้างจ่ายซึ่งจะใช้มาตรา 44 ในการแก้ไข คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆนี้ ทั้งนี้ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น ส่วนการส่งภาพถ่ายการทำผิดจากประชาชนจะเป็นมาตรการที่จะพิจารณาต่อไปในอนาคต
พล.ต.ต.จิรพัฒน์ กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามการใช้กล้องถ่ายรูปจับผู้กระทำผิดกฎหมายจราจรนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจมีอำนาจในการดำเนินการซึ่งพ.ร.บ.จราจรทางบก มาตรา140 กำหนดว่าเมื่อเจ้าพนักงานจราจรหรือเจ้าพนักงานพบเห็นผู้กระความผิดด้วยตนเองหรือโดยการใช้อุปกรณ์ใดๆโดยเห็นว่าผู้ขับขี่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายจราจรให้ว่ากล่าวตักเตือนหรืออกใบสั่งให้ผู้ขับขี่มาชำระค่าปรับตามที่เปรียบเทียบได้ ในกรณีที่ไม่พบตัวผู้กระทำความผิดให้ส่งใบสั่งพร้อมพยานหลักฐานทางไปรษณีย์ได้   การดำเนินการดังกล่าวยืนยันว่าตำรวจราจรต้องการที่จะลดปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ ปัญหาการจราจรติดขัดจากการตั้งด่าน ซึ่งตำรวจไม่ได้มีเจตนาจะจ้องจับผิดประชาชนหรือต้องการทำยอดใบสั่ง ส่วนกรณีจับรถที่วิ่งเร็วเกินกฎหมายกำหนดนั้นปกติในถนนวิภาวดีรังสิตหรือทางหลวงจะมีกล้องอัตโนมัติเพื่อตรวจสอบอยู่ซึ่งจะเป็นการทำงานคนละส่วนกับการใช้กล้องถ่ายรูปของเจ้าหน้าที่ตำวจราจรโดยนโยบายดังกล่าวบช.น.ต้องการให้การปฏิบัติหน้าที่เป็นไปอย่างทั่วถึงทุกสน.  สำหรับกรณีที่จะให้ประชาชนถ่ายรูปผู้กระทำผิดและส่งมานั้นทางบช.น.ยังไม่มีนโยบายในเรื่องดังกล่าว เพราะจะต้องศึกษารายละเอียดข้อกฎหมายให้รอบคอบ


พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ยังกล่าวอีกว่า สำหรับการตรวจจับนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะต้องอยู่ในจุดสามารถมองเห็นการกระทำความผิดชัดเจน เช่น สะพานลอย ทางเท้า จุดที่ฝ่าฝืนเป็นประจำ  ส่วนกรณีที่เกรงว่าอาจจะเกิดการฟ้องร้องละเมิดความเป็นส่วนตัวนั้นในกฎหมายได้ให้อำนาจในการตรวจจับผู้กระทำความผิดอยู่แล้ว โดยการถ่ายรูปนั้นไม่ได้เน้นถ่ายที่หน้าตาผู้กระทำความผิด แต่เน้นถ่ายให้เห็นทะเบียนรถที่ชัดเจนสามารถนำไปออกไปสั่งใด้ ส่วนกรณีต่างประเทศที่มีการฟ้องเจ้าหน้าที่นั้นเพราะอุปกรณ์สามารถยิงแฟลตได้ในระยะไกล และรถยนต์ไม่ติดฟิล์มดำเหมือนเช่นในประเทศไทยดังนั้นการดำเนินการใช้กล้องถ่ายรูปจับผู้กระทำความผิดเจ้าหน้าที่จะพิจารณาส่งหลักฐานและใบสั่งไปให้ผู้กระทำความผิดเฉพาะทะเบียนรถและภาพระยะไกลเพื่อให้ทราบบริเวณกระทำผิดเท่านั้นไม่ได้มีการถ่ายซูมหน้าตาผู้กระทำความผิด

นางสาวธันย์ชนก กุลมา อายุ 27 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัวกล่าวว่า ตนเห็นด้วนกับมาตรการของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่จะใช้กล้องถ่ายรูปกับคนฝ่าฝืนกฎหมายจราจร เพราะตนใช้ถนนเป็นประจำเห็นคนฝ่าฝืนกฎจราจรบ่อยครั้ง อีกทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพดีขึ้น สามารถควบคุมคนทำผิดได้ทั่วถึงเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถไล่จับคนกระทำความผิดได้ทั้งหมดเพราะมีเยอะบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ทั่วถึง และการทำเช่นนี่ยังจะทำให้ประชาชเคารพกฎจราจรแม้ว่าจะไม่มีตำรวจยืนควบคุม...


นายสุรินทร์ กนกศรีสุวรรณ อาชีพ ค้าชาย กล่าวว่า เห็นด้วยกับการที่ตำรวจจะเอาเทคโนโลยีมาช่วยจับคนทำผิด โดยเฉพาะขับรถย้อนศรและขับรถบนทางเท้าซึ่งตนเห็นบ่อยครั้งว่าคนมักจะฝ่าฝืน โดยการกระทำดังกล่าวมีความสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้โดยง่ายด้วย ทั้งนี้การใช้กล้องจับจะช่วยให้คนเคารพกฎมากยิ่งขึ้นเพราะทุกวันนี้คนมักจะฝ่าฝืนถ้าไม่เจอเจ้าหน้าตำรวจยืนบังคับใช้กฎหมาย ต่อไปประชาชนก็จะชินไม่ทำผิดกฎจราจร.
... อ่านต่อที่ : http://www.dailynews.co.th/bangkok/549954

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่