ใบกำกับภาษีที่จะเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีในมาตรการช็อปช่วยชาติ จำเป็นต้องระบุเลขบัตรประจำตัวประชาชนหรือไม่

คำตอบ คือ ไม่ต้องครับ ให้ระบุเพียงแต่ชื่อและที่อยู่ของลูกค้าที่เป็นบุคคลธรรมดาก็พอ ถ้าจะเอาไปลดหย่อนภาษี

ในทางกฎหมาย เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ของบุคคลธรรมดา จะถือเป็นเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรด้วย

ซึ่งในการออกใบกำกำกับภาษีแบบเต็มรูป (คือการออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความครบถ้วนตามมาตรา 86/4 (1) - (8))

ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ มีหน้าที่ระบุชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ  ซึ่ง 2 รายการนี้ต้องระบุ เพราะเป็นรายการบังคับสำหรับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป  แต่สำหรับเลขประจำตัวผู้เสียภาษี (ก็คือเลขบัตร ปชช. นั่นแหละ)  ผู้ขายจะต้องระบุก็ต่อเมื่อ ลูกค้าได้จดทะเบียนเข้าสู่ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม  

ดังนั้น ถ้าลูกค้าไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ก็คือไม่ได้มีฐานะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน)  ผู้ขายก็ไม่จำเป็นต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษี หรือเลขบัตรประชาชนลงไปครับ  และยังคงถือว่าใบกำกับภาษีนี้เป็นใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปอยู่นั่นเอง แม้จะไม่มีเลขบัตรประชาชน ดังนั้น ท่านจึงสามารถเอาไปใช้ลดหย่อนภาษีได้เช่นกัน


อันนี้ คือหนังสือตอบข้อหารือที่กรมสรรพากรเคยตอบไว้กรณีผู้ถามปัญหาเข้าไป

เลขที่หนังสือ    : กค 0702/8755
วันที่    : 29 กันยายน 2558
เรื่อง    : ภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
ข้อกฎหมาย    : มาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร

ข้อหารือ    :           บริษัท A หารือข้อกฎหมายเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีการระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม สรุปข้อเท็จจริงได้ว่า ตามที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษี ตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนไว้ในใบกำกับภาษี โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้ ทั้งนี้ สำหรับการจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้จัดทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป นั้น บริษัทฯ ขอทราบว่า หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นบุคคลธรรมดาหรือมิใช่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการดังกล่าวหรือไม่ อย่างไร

แนววินิจฉัย    :           ตามข้อ 7 ของประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39) เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 199)ฯ ลงวันที่ 26 ธันวาคม พ.ศ. 2556 ประกอบกับข้อ 1 ของคำชี้แจงกรมสรรพากร เรื่อง การระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ลงวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2558 กำหนดให้ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ดังนั้น หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม บริษัทฯ ซึ่งเป็นผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการไม่จำต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแต่อย่างใด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่