แชร์ประสบการณ์ลูกถูกแกล้ง (แม่ก็เคยโดน) ที่โรงเรียน และวิธีรับมือ

กระทู้สนทนา

    อาทิตย์ก่อน อ่านกระทู้หนึ่งเล่าเรื่องที่ลูกโดนเพื่อนแกล้งที่โรงเรียนแล้วนึกถึงเรื่องของตัวเองและลูก ๆ
จริง ๆ ก็ไปแสดงความคิดเห็นที่กระทู้นั้นบ้างแล้วนะคะ  แต่ก็อยากมาแชร์เรื่องของตัวเองยาว ๆ ด้วย  
เลยมาตั้งกระทู้ใหม่แชร์ประสบการณ์และแลกเปลี่ยนมุมมองกับเพื่อน ๆ ในนี้ด้วยก็แล้วกันนะคะ

    การแกล้งกันหรือรังแกกันในโรงเรียนหรือที่ฝรั่งเรียกว่า bully นั้นถือว่าไม่ใช่เป็นเรื่องเล่น ๆ อาจทำให้เด็ก ๆ ไม่อยากไปโรงเรียนหรือถึงขั้นฝากรอยแผลไว้ในใจเด็ก ๆ ไปชั่วชีวิตทีเดียว บางคน อาจเป็นคนไม่กล้าไว้ใจใคร  ตั้งกำแพง เย่อหยิ่ง หมดศรัทธาในความดีงามของเพื่อนมนุษย์ หรือ อับอายในตัวเอง ไม่กล้าแสดงออกในที่ชุมชน ส่วนเจ้าคนที่เป็นหัวโจกแกล้งเพื่อนก็ใช่ว่าจะมีความสุข บางคนก็ทนอยู่กับความรู้สึกผิดไปตลอดชีวิตและอาจจะคอยระแวงว่าเมื่อไรกรรมจะสนองมาถึงตัวเอง หรือลูกของตัวเอง

    ตอนเด็ก ๆ (ประมาณ ป. 1 หรือ ป.2)  เราเป็นเด็กที่เพื่อนไม่ชอบค่ะ จริง ๆ มีคนไม่ชอบเราแค่คนสองคน  แต่บังเอิญคนไม่ชอบเราเป็นหัวโจกหรือมาเฟียในห้อง ก็เลยไปออกคำสั่งให้คนอื่นไม่ให้มาพูดหรือมาเล่นกับเรา  เราเข้าโรงเรียนเร็วกว่าเพื่อนชั้นเดียวกัน   ไม่ใช่ด้วยเหตุผลของความปราดเปรื่องหรือแม่อยากให้เรียนหนังสือเร็ว จะได้รีบจบออกมากู้โลกหรอกนะคะ

    เหตุผลง่าย ๆ เพราะตอนนั้น ที่บ้านไม่ค่อยมีเงิน จะเอาไปเข้าอนุบาลหรือเอกชนโรงเรียนฝรั่งก็จนปัญญา

    หม่าม้าหรือแม่เราเลยเอาเราไปฝากที่โรงเรียนจีนที่มีชั้นเตรียมประถม 1 ปี  ที่นั่นเรียกว่า ป.1 เล็ก  จบ 1 ปีแล้วก็ขึ้นชั้นประถม 1 ปกติ หรือที่นั่นจะเรียกว่า ป.1 ใหญ่
    จำได้ว่า ตอนเราอยู่ ป. 1 ป. 2 มีหัวโจกที่เป็นหัวหน้าห้องกับพวก 2-3 คน ไปสั่งไม่ให้คนอื่นเล่นกับเรา ที่เรารู้เพราะเคยถามแล้วเพื่อนคนหนึ่งเล่าให้ฟัง    เรายังจำความรู้สึกตอนที่เพื่อนคนนั้นมาสารภาพให้ฟังได้ว่า โดนหัวโจกสั่ง  จำได้ว่า ตอนนั้น (เราน่าจะสัก 5-6 ขวบ) รู้สึกว่าโลกมืดมาก  เราไม่มีคนเล่นด้วย ตอนพักเที่ยง  เราก็ไปหาพี่เราที่เรียน ป. 2 ที่อยู่ชั้น 2   เด็กหัวโจกกลุ่มนั้นก็พาแก๊งค์เพื่อน ๆ ประมาณ 5-6 คน มาล้อเลียน ยักคิ้วหลิ่วตา แลบลิ้นปลิ้นตาใส่เราถึงห้องพี่เรา  พี่เราก็จะคอยไล่พวกนั้นไป (แม้ตอนเด็ก ๆ พี่เราก็ชอบแกล้งเรา แต่ก็ปกป้องเราจากคนอื่นด้วย)  แต่เราก็รู้สึกเจ็บจนถึงวันนี้ เมื่อนึกถึงเหตุการณ์นั้น

    จากวันนั้น สามสิบกว่าปีผ่านไป ลูกเราคนเล็กก็โดนเพื่อน ๆ แกล้งเหมือนกัน คือ โดนมารุมว่าจนทำให้เครียด กดดัน ทุกข์ใจจนไม่อยากมาโรงเรียน

        ตัวอย่างข้างล่างนี้เป็นสิ่งที่เราประมวลมาจากปัญหาลูกเรา ตัวเราเองตอนเด็ก ๆ และสิ่งที่เราเคยได้ยินได้ฟังมานะคะ

รูปแบบของการแกล้ง
   1.    การทำร้ายจิตใจกัน --- อันนี้ เจอบ่อยที่สุดค่ะ
       -    คือ การว่ากันด้วยคำพูด แรงบ้าง เบาบ้าง หยาบคายหรือสุภาพบ้าง ขึ้นอยู่กับพื้นฐานครอบครัวที่เด็กคนนั้น ๆ โตมา
       -    คือ การแสดงกริยารังเกียจเดียดฉันท์ หัวเราะเยาะ ทำให้ผู้ที่ถูกแกล้งรู้สึกแย่

   2.    การแสดงอำนาจเหนือกว่า – ใช้อำนาจของตัวเอง (เช่น การเป็นคนมีเสน่ห์ เรียนเก่ง หน้าตาดี ที่เพื่อน ๆ ชื่นชม) กับเพื่อน อาทิ เช่น ใช้ให้ไปซื้อน้ำให้ ถือกระเป๋าให้ หรือ ใช้ให้ไปว่าเพื่อน ๆ คนอื่นที่ตัวเองไม่ชอบ

   3.    การข่มขู่ --- การขู่ด้วยกริยาท่าทาง วางอำนาจ หรือ อวดเบ่งว่า ตัวเองมีคุณสมบัติบางอย่างที่อาจจะทำร้ายเพื่อนได้  เช่น พี่สาวเราตอนเด็ก ๆ โดนเพื่อนไถเงินทุกวัน โดยขู่ว่า ยายเลี้ยงผี ถ้าไม่ให้เงินเค้า  จะให้ยายปล่อยผีมาฆ่าให้ตาย  (ฟังมาถึงตอนนี้ ทุกคนอาจหัวเราะ  แต่สำหรับเด็กเล็ก ๆ ที่เปิดทีวีไทย เจอแต่เรื่องผี ๆ ที่หลอกหลอนกันแบบเป็นจริงเป็นจังมาก  นี่ทำให้ถึงกับต้องคิดมากเลยนะคะ)

   4.    การทำร้ายร่างกาย --- อันนี้ เลวร้ายที่สุด และผู้ใหญ่จะต้องคอยระมัดระวังอย่างมากด้วย เพราะบางครั้ง อาจเลยเถิดไปจนทำให้พิการได้

   5.    การใช้อำนาจที่มีคว่ำบาตรเพื่อนที่ถูกแกล้ง --- อันนี้ ไม่เจ็บกายแต่เจ็บหัวใจนะคะ   ถ้าคุณเคยโดนมาเฟียน้อยในห้องสั่งทุกคนให้ทำท่ารังเกียจคุณ หรือ ไม่พูดกับคุณ  ในวัย 5-6 ขวบ หรือ กระทั่งในวัยรุ่นก็เถอะ  คุณอาจจะรู้สึกเครียดจัดไปจนถึงตั้งป้อมไม่สามารถรักใครได้อีกเลย หากคุณไม่รู้เท่าทันอารมณ์พอ

ทำไมถึงโดนรังแก
    เด็ก ๆ แกล้งกันด้วยหลายเหตุผลค่ะ  ที่น่าเศร้าคือ บางครั้งเป็นบาปบริสุทธิ์  รู้เท่าไม่ถึงการณ์ คิดว่าทำเล่น ๆ เพราะสนุก (โดยลืมไปว่า คนโดนแกล้ง ไม่ได้สนุกไปด้วยหรอกนะคะ) ที่เราเห็นและได้ยินมาบ่อย ๆ คือ
  1.    หมั่นไส้ อิจฉา --- ยอมรับเถอะค่ะ  มนุษย์เรามีด้านดาร์คทั้งนั้น  เพียงแต่เด็กน้อยอาจยังจัดการกับความรู้สึกดิบเถื่อนด้านนี้ของตัวเองได้ไม่ดี  ก็เลยแสดงออกมาในรูปแบบของการแกล้ง  ทีนี้ level ของความเป็นอันธพาลจะเป็นระดับไหน ก็ขึ้นอยู่กับพื้นฐานจิตใจเด็ก และการอบรมเลี้ยงดู การถูกบ่มเพาะ จากพ่อแม่และครูอาจารย์นะคะ  

          การแกล้งกันเพราะหมั่นไส้นี้ เจอบ่อยที่สุด  เด็ก ๆ หมั่นไส้กันเพียงเพราะยังไม่สามารถยอมรับความแตกต่างระหว่างกันและกันได้ และหลายครั้ง ความรู้สึกแบบนี้ยึดโยงกับความรู้สึกอิจฉาอย่างเหนียวแน่นค่ะ

       เช่น “ทำไมเพื่อนคนนี้  มี Sanrio ครบชุดเลย   ?“
             “อี๋ ทำเป็นเป็นคุณหนู ต้องมีคนมาส่งถึงห้อง”
             “ทำไมคุณครูถึงรักคนนี้เป็นพิเศษ  ทีเราล่ะตีซะแรงเชียว”
             “ม้วนกระโปรงขึ้นมาซะเต่อเชียว ปากก็แดงแจ๋  หน้าเทามวากกกกก  สก๊อยนี่หว่า”
             “เชอะ ... นังเด็กแว่น  นึกว่าเรียนเก่ง แล้วจะมองคนอื่นแบบนี้ได้เหรอ ?”

       บางครั้ง ความหมั่นไส้ เกิดจากการอยากได้ อยากมี อยากเป็นแบบเพื่อน แต่ตัวเองไม่กล้ายอมรับ ไม่กล้าทำ  พอมันต่างกันมากนักก็เลยเกิดอาการหมั่นไส้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเริ่มแกล้งกันค่ะ

      2. อยากแสดงอำนาจ --- อันนี้ ก็ธรรมดาอีกค่ะ สำหรับมนุษย์เราเป็นกันตั้งแต่เด็กยันผู้ใหญ่  บางคนจบมาตั้งหลายปีแล้ว ยังเก็บงำการแสดงอาจแบบเถื่อน ๆ ไม่ได้ ก็มีให้เห็นทั่วไปนะคะ  ตัวใหญ่ แข็งแรง ก็อยากจะลองเตะ ต่อยพวกตัวเล็ก ๆ แล้วเอามาเข้าพวกเป็นลูกกระจ๊อกอวดความยิ่งใหญ่เสียหน่อย

      3. มีเรื่องบาดหมางกันเรื่องอื่นที่จบไม่ลง --- บางที เด็กมีเรื่องทะเลาะหรือขัดแย้งกันบางอย่างมาก่อน สะสมไว้ไม่เคลียร์ให้หมด  เจอดอกหนึ่ง ดอกสอง ดอกสาม ไปเรื่อย ๆ เข้า  ก็ผูกขาดจองเวรกันไปตลอด  

ใครมีแนวโน้มที่จะเป็นเหยื่อ และใครมีแนวโน้มจะแกล้งบ้าง
      1. เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะโดนแกล้ง คือ เด็กที่พิเศษจากเพื่อน  อาจเป็น ความพิเศษได้ทั้งในทางลบและทางบวก เช่น ตัวเล็ก ดูท่าทางแหย ๆ เชื่องช้า แต่งตัวใช้ของดีเกินหน้าเพื่อน หรือซอมซ่อกว่าเพื่อน ๆ ในชั้นเดียวกัน  เก่งหรือได้รับความสนใจจากครูมากกว่าเพื่อนในระดับเดียวกันอย่างมาก
      2. เด็กที่มีแนวโน้มว่าจะแกล้งคือ เด็กที่มั่นใจในตัวเอง ได้รับการตามใจ รู้สึกว่ามีคนปกป้อง (รู้ไหม กรูลูกใคร ?) ตลอดจนถึงเด็กที่มีปมด้อยลึก ๆ ที่ตัวเองพยายามฝังกลบแต่มันกลับสำแดงตัวเองออกมาในรูปแบบของการแสดงอำนาจ

ทำไมเด็กถึงไม่กล้าต่อสู้

ตอบได้ง่าย ๆ คำตอบเดียวเลยค่ะว่า “ไม่มั่นใจ กลัว”  พอถามต่อว่ากลัวอะไร  คำตอบหลากหลายนะคะ
      1. กลัวมีเรื่องแล้วพ่อแม่ดุ  พ่อแม่บางคนตีซ้ำนะคะ ถ้าลูกมีเรื่องกับคนอื่น เพราะขี้เกียจมาโรงเรียนเวลาโดนเชิญขึ้นห้องปกครอง
      2. กลัวการใช้กำลัง   มีเพื่อนผู้ชายคนหนึ่งเคยเล่าให้เราฟังว่า ตอน ม.ปลาย เคยมีเรื่องกับเพื่อนกลุ่มหนึ่งแล้วตัวเองไม่ลงมือ  ไม่ใช่เพราะไม่กล้า  แต่เพราะกลัวอีกฝ่ายเจ็บ (อันนี้ หลายคนอาจจะบอกว่า ตรรกะแปลก)  แต่จริง ๆ ค่ะ  บางคนไม่กล้าใช้กำลัง เพราะไม่รู้ว่าใช้แล้ว ถ้าอีกฝ่ายปางตายจะเป็นอย่างไร  ผลคือ ตัวเองถูกเพื่อนในห้องเดียวกันรุมเรียกว่า “ไอ้ลูกหมา”  อ้อ ... ห้องนี้ เรียนภาษา เค้าเรียกเป็นภาษาฝรั่งเศสด้วยนะว่า le chien ยิ่งเจ็บเข้าไปอีก
     3.     กลัวสู้ไม่ได้ อันนี้ ธรรมดาค่ะ ทุกคนมีสัญชาตญาณนี้อยู่ในตัวทั้งนั้น เราไม่ควรตำหนิ
     4.     กลัว --- กลัวเพราะกลัว หาสาเหตุไม่ได้  ครอบครัวไทย ๆ จีน ๆ แบบเรา เน้นการสอนเรื่องเชื่อฟัง เด็กว่าง่ายเด็กหัวอ่อน คือ เด็กน่ารัก  เพราะงั้น เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ที่ไม่แก่นกล้าพอที่จะเถียงหรือโต้แย้งในบ้าน ก็มักจะหัวอ่อนพอที่จะยอมรับการโดนรังแกไปด้วยค่ะ

วิธีสังเกตอาการของเด็กที่ถูกรังแก
     1. ซึมเศร้า หมกมุ่น  ไม่อยากตื่นไปโรงเรียน ไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวา  บางครั้งเด็กจะหนีจากโลกความเป็นจริงด้วยการหันไปอ่านหนังสือ อยู่ในโลกส่วนตัว จมอยู่กับเกมส์ หรือ หากโตหน่อย ก็อาจจะเพ้อสร้างตัวตนปลอม ๆ ในโซเชียลเพื่อให้ได้รับการยอมรับ
     2. ผลการเรียนแย่ลง  --- ข้อนี้ เข้าใจได้ไม่ยากค่ะ  ในเมื่อไม่มีชีวิตชีวา และความกระตือรือร้น จะให้เรียนดี คงเป็นไปไม่ได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่