ปัญหาการลักลอกวรรณกรรม (Plagiarism) และจริยธรรม จรรยาบรรณ ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก

เรื่องการลักลอกวรรณกรรม (Plagiarism) รวมถึงจริยธรรม จรรยาบรรณในการวิจัย เป็นข้อตระหนักรู้ที่นักวิชาการ และอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยต้องพึงระลึกอยู่เสมอเป็นอันดับแรก ในวงวิชาการถือว่าการลักลอกวรรณกรรมเป็นเรื่องที่ร้ายแรงอย่างยิ่งไม่ว่ากรณีใด ๆ และเมื่อการลักลอกนั้น เป็นการลักลอกที่จงใจบิดเบือนความหมายและข้อมูลจากต้นฉบับ ทำให้ผู้อ่านหรือผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจที่ผิดพลาด ส่งผลต่อแวดวงวิชาการในสาขาวิชานั้น ๆ ได้รับผลกระทบ ขาดความเชื่อมั่นในองค์ความรู้ที่ปรากฏขึ้น และเป็นผลเสียในระยะยาวได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลักลอกวรรณกรรมที่เกิดขึ้นกับการศึกษาระดับปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ก็ยิ่งต้องพิจารณา ไตร่ตรอง และต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมาและยุติธรรม ดังจะเห็นได้จากข่าวสารเมื่อไม่นานมานี้เกี่ยวกับการถอดถอนปริญญาบัตรของนักศึกษาระดับปริญญาเอกในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง

จากที่เกริ่นมาข้างต้น จึงมีเรื่องที่อยากจะขอความคิดเห็นจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิป เป็นเรื่องจากเหตุการณ์จริง และปัจจุบันเรื่องนี้ก็ยังคงไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งใช้ระยะเวลาในการตรวจสอบยาวนานเกือบหนึ่งปีแล้ว นับตั้งแต่ที่มีการส่งเอกสารทักท้วงไปเมื่อช่วงปลายปี พ.ศ. 2558 โดยขออนุญาตใช้นามสมมติทั้งหมด ได้แก่ สถาบันการศึกษา ภาควิชา บุคคลที่เกี่ยวข้อง ฯลฯ มีรายละเอียดดังนี้

“อาจารย์ทุเรียน” และ “อาจารย์มังคุด” ทั้งคู่ทำงานเป็นอาจารย์ประจำอยู่ที่ภาควิชาอาหารรสเลิศ ณ มหาวิทยาลัยเอ ต่อมาอาจารย์มังคุดได้ไปศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยบี (สำเร็จการศึกษาเรียบร้อยแล้ว เมื่อปี พ.ศ. 2556) โดยมีการพบภายหลังว่า วิทยานิพนธ์ของอาจารย์มังคุด ที่ยื่นเสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัยของมหาวิทยาลัยบี มีข้อผิดพลาดที่อาจเป็นการเข้าข่ายการลักลอกวรรณกรรม และจริยธรรม จรรยาบรรณอื่น ๆ ในการวิจัย ดังจะขออธิบายเป็นข้อ ๆ คือ


1. ในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ของอาจารย์มังคุด มีการนำชื่อของอาจารย์ทุเรียนไปจัดอยู่ในกลุ่มตัวอย่างของการวิจัย โดยผลการวิจัย (ในส่วนที่เป็นรายละเอียดของอาจารย์ทุเรียน) มีการวิเคราะห์ที่ไม่เป็นความจริงและคลาดเคลื่อนอย่างมาก อีกทั้งอาจารย์มังคุดไม่เคยมาติดต่อขอสัมภาษณ์หรือทาบทามอาจารย์ทุเรียน เพื่อขออนุญาตนำชื่อ ข้อมูลส่วนตัว และผลงานต่าง ๆ ในอดีต มาใช้ประกอบในการทำวิทยานิพนธ์แม้แต่ครั้งเดียว ไม่มีการติดต่อทั้งทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษร ถึงแม้ว่าในวิทยานิพนธ์จะไม่ได้ระบุในระเบียบวิธีดำเนินการวิจัยว่ามีการสัมภาษณ์อาจารย์ทุเรียนแบบตัวต่อตัว แต่เป็นการรวบรวมเอาบทสัมภาษณ์หรือข้อมูลต่าง ๆ ที่อาจารย์ทุเรียนเคยกล่าวไว้ ซึ่งปรากฏในลักษณะวิทยานิพนธ์อื่น หรือนิตยสาร บทความ ฯลฯ มาใช้ประกอบการวิเคราะห์และสังเคราะห์

ข้อสงสัย: จากข้อที่ (1) อาจารย์มังคุดในฐานะผู้วิจัย มีความผิดหรือบกพร่องในแง่ของจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยหรือไม่ อย่างไร บทลงโทษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอยู่ในระดับใด (ถ้ามี)

(ตามความเข้าใจส่วนตัวของเจ้าของกระทู้ คือ การดำเนินการวิจัยโดยมีบุคคลหรือกลุ่มบุคคล เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งข้อมูลนั้น แม้ว่าจะเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ปรากฏในผลการวิจัยก็ตาม ย่อมจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องขออนุญาตเจ้าของข้อมูล [ในที่นี้คืออาจารย์ทุเรียน] เพื่อนำข้อมูลเหล่านั้นไปใช้ประกอบการศึกษา ซึ่งเจ้าของข้อมูลจะอนุญาตหรือไม่อนุญาต ถือเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)


2. เมื่อปี พ.ศ. 2554 มีนักศึกษาระดับปริญญามหาบัณฑิต ภาควิชาอาหารรสเลิศ มหาวิทยาลัยเอ คือ นายมะละกอ ได้ทำวิทยานิพนธ์เสนอต่อบัณฑิตวิทยาลัย โดยมีอาจารย์ทุเรียนเป็นกลุ่มตัวอย่างด้วยเช่นกัน แต่ปรากฏว่าอาจารย์มังคุดได้ทำการลักลอกวรรณกรรม ประมาณ 7 หน้ากระดาษ จากวิทยานิพนธ์ของนายมะละกอ ทำให้เข้าใจว่าเป็นงานเขียนของตนเอง ไม่มีการอ้างอิงทั้งในรูปแบบเชิงอรรถหรือแบบนาม-ปี และโดยเฉพาะพบว่า มีการสลับข้อมูลบางส่วน ตัดทอนข้อมูลบางส่วน ทำให้ข้อมูลนั้นเกิดความผิดพลาดและสับสน ซึ่งข้อความที่หายไปนั้นเป็นการแสดงถึงคุณค่า ความรู้ ความสามารถ และศักดิ์ศรีทางวิชาการของอาจารย์ทุเรียน

ข้อสงสัย: จากข้อที่ (2) อาจารย์มังคุดใช้วิธีการนำเนื้อหาจากวิทยานิพนธ์อื่นมาใช้ประกอบการวิเคราะห์ การตัดเนื้อหาที่สำคัญบางส่วนออกไป มีความผิดในลักษณะใดได้บ้าง และโดยเฉพาะการลักลอกวรรณกรรมกว่า 7 หน้ากระดาษ ถือว่ามีความผิดทางจริยธรรมและจรรยาบรรณการวิจัยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ใช่หรือไม่ อย่างไร

(เจ้าของกระทู้ค่อนข้างมั่นใจว่า ข้อ [2] เรื่องการลักลอกวรรณกรรม กว่า 7 หน้ากระดาษของอาจารย์มังคุด มีความผิดทางจริยธรรมและจรรยาบรรณในการวิจัยแน่นอน แต่อยากหาความเชื่อมั่นจากสมาชิกหรือผู้รู้เพิ่มเติม)


3. อาจารย์มังคุดนำภาพถ่ายผลงาน ซึ่งปรากฏในหนังสือ (เป็นหนังสือที่มีการตีพิมพ์เพยแพร่โดยทั่วไป โดยสำนักพิมพ์ที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งในประเทศไทย) ของอาจารย์ทุเรียน มีจำนวนภาพประมาณ 15-20 ภาพ นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการอธิบายข้อมูลในวิทยานิพนธ์ โดยไม่มีการอ้างอิง ทั้งแบบเชิงอรรถหรือแบบนาม-ปี

ข้อสงสัย: จากข้อ (3) การนำภาพถ่ายผลงาน หรือภาพถ่ายในลักษณะอื่น ที่ไปปรากฏอยู่ในรูปแบบสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ หรือในสื่อสังคม-เครือข่ายสังคม ฯลฯ ที่เป็นผลงานซึ่งมีการระบุเจ้าของผลงานอย่างชัดเจน ตามหลักเกณฑ์ในการทำวิทยานิพนธ์ ก็จำเป็นต้องอ้างอิงที่มาของภาพถ่ายผลงานนั้นด้วยเสมอ กรณีนี้อาจารย์มังคุดจะมีความผิดในแง่จรรยาบรรณการจัยหรือไม่ อย่างไร บทลงโทษที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตอยู่ในระดับใด (ถ้ามี)

##

จากที่เจ้าของกระทู้ตั้งประเด็นมา 3 ข้อข้างต้น ซึ่งในความเป็นจริงมีประเด็นย่อยอีกหลายประการ แต่เห็นความไม่ค่อยมีความสำคัญมากเท่ากับประเด็นที่ยกมา โดยผลการวิจัยก็เป็นอิทธิพลมาจากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เป็นส่วนหนึ่งของผลงานจากอาจารย์ทุเรียน หากมีการคัดอาจารย์ทุเรียนออกจากกลุ่มตัวอย่าง ผลการวิจัยย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก

ดังนั้นแล้ว อาจารย์ทุเรียนจึงได้ทำหนังสือเพื่อทักท้วงไปยังมหาวิทยาลัยบี ร้องขอให้ตรวจสอบอย่างยุติธรรม ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยบีไม่มีการแจ้งกลับใด ๆ ต่ออาจารย์ทุเรียนแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งภายหลังก็ได้มีการส่งหนังสือเพื่อติดตามทวงถามผลการตรวจสอบจากมหาวิทยาลัยบีอยู่เป็นระยะ แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบซึ่งเป็นที่น่าพอใจ

ต่อมาอาจารย์ทุเรียนจึงได้ทำเรื่องไปยังสภามหาวิทยาลัยเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของทั้งอาจารย์ทุเรียนและอาจารย์มังคุด แต่ทางมหาวิทยาลัยเอแจ้งว่า จะต้องให้ทางมหาวิทยาลัยบี เป็นผู้ดำเนินการ เพราะวิทยานิพนธ์ฉบับที่มีปัญหานั้น เป็นลิขสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยบี

##

สิ่งที่เจ้าของกระทู้อยากทราบความคิดเห็นจากสมาชิกเว็บไซต์พันทิป มี 4 ส่วนใหญ่ ๆ ได้แก่

ส่วนที่ 1 : จากข้อคำถามทั้ง 3 ข้อข้างต้น ทุกท่านมีความคิดเห็นเป็นเช่นไร ทั้งในด้านของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณในการวิจัย บทลงโทษ ช่องทางในการร้องทุกข์ แนวทางดำเนินการต่อไป หรือข้อแนะนำประการใดอันเป็นประโยชน์เพิ่มเติมอื่น ๆ

ส่วนที่ 2 : ในกรณีที่มีการส่งหนังสือเพื่อทักท้วงมหาวิทยาลัยบีไปแล้วนั้น แต่ยังไม่มีการตอบกลับไม่ว่ากรณีใด ๆ โดยภายหลัง (เป็นเรื่องอนาคต ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หรือไม่ได้) หากพบว่า อาจารย์มังคุดได้ทำหนังสือชี้แจงกลับไปยังมหาวิทยาลัยบี และดำเนินการแก้ไขเนื้อหาหรือประเด็นในวิทยานิพนธ์ที่มีการทักท้วงไป สามารถทำได้หรือไม่ (วิทยานิพนธ์ได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยไปแล้ว)

(ตามความเห็นเจ้าของกระทู้คิดว่า การแก้ไขเนื้อหาวิทยานิพนธ์ภายหลังจากสภามหาวิทยาลัยอนุมัติสำเร็จการศึกษาแล้ว ไม่สามารถกระทำได้ ไม่ว่ากรณีใด ๆ และหากเกิดมีการแก้ไขขึ้นจริง ทางมหาวิทยาลัยบี และอาจารย์มังคุด จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไร)  

ส่วนที่ 3 : มหาวิทยาลัยเอ ซึ่งเป็นหน่วยงานต้นสังกัดของอาจารย์ทุเรียนและอาจารย์มังคุด สามารถดำเนินการตรวจสอบ หรือตั้งความผิดจากกรณีปัญหาดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไร หากมีบทลงโทษควรเป็นลักษณะเช่นไร ร้ายแรงระดับใด (อาจารย์มังคุดเป็นข้าราชการ ไม่ใช่พนักงานมหาวิทยาลัย)

ส่วนที่ 4 : อาจารย์ทุเรียนสามารถดำเนินการอะไรเพิ่มเติมกับมหาวิทยาลัยบีได้บ้างหรือไม่ เพราะปัจจุบันเป็นฝ่ายรอผลการตรวจสอบจากมหาวิทยาลัยบีแต่เพียงฝ่ายเดียว ไม่เคยได้รับการติดต่อใด ๆ กลับมา และมีการส่งหนังสือติดตามทวงถามผลการตรวจสอบไปแล้ว รวมถึงโทรศัพท์ติดตามผล แต่ก็ไม่ได้รับคำตอบเป็นที่น่าพอใจ หรือเป็นคำตอบที่แสดงความกระตือรือร้นต่อความรับผิดชอบในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ในฐานะเป็นมหาวิทยาลัยต้นสังกัดของวิทยานิพนธ์ที่มีปัญหาอยู่

##

เจ้าของกระทู้ขอน้อมรับความคิดเห็นหรือข้อแนะนำจากสมาชิกทุกท่าน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการต่อไปในอนาคต และขอขอบคุณล่วงหน้ามา ณ ที่นี้


ป.ล. ขออนุญาตแท็กห้องต่าง ๆ ที่คิดว่าเกี่ยวข้องข้อง หากแท็กผิดพลาดหรือรบกวนบรรยากาศในการสนทนา เจ้าของกระทู้ต้องขออภัยมา ณ โอกาสนี้ด้วย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่