เทคโนโลยี xDSL, DOCSIS และ FTTx รวมถึงปัญหาสำหรับผู้ใช้งานทั่วไปอ่านไว้เป็นข้อมูล...ภาคที่ 1 xDSL

สวัสดีครับ หลังจากลองเขียนเกี่ยวกับรายละเอียดของแบนด์วิดธ์ไปแล้ว คราวนี้จะเขียนเรื่องเทคโนโลยีของ xDSL, DOCSIS และ FTTx ที่ผู้ใช้งานควรทราบไว้เบื้องต้น เพื่อเป็นข้อมูลไว้ให้ได้รู้เท่าทันผู้ให้บริการนะครับ

ก่อนอื่นเลย ผมจะไม่เอ่ยถึงค่าบริการรายเดือนนะครับ เพราะทุกท่านสามารถตรวจสอบได้อยู่แล้วจากผู้ให้บริการ รวมถึงไม่ระบุว่าค่ายไหนดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่จะเขียนไว้เป็นกลางๆ เพื่อทุกท่านอ่านแล้วไปประกอบการตัดสินใจเอานะครับ

เทคโนโลยี xDSL

ความหมายของคำศัพท์:

x คือค่าตัวแปร ซึ่งทั่วไปจะรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า ADSL และ VDSL เป็นส่วนใหญ่ครับ

A คือ Asymmetric ครับ หรือค่าผันแปร กล่าวคืออัตราค่าดาวน์โหลดและอัพโหลดจะไม่เท่ากัน (ศัพท์ทางเทคนิคคือ Downstream และ Upstream) ซึ่งจะมีอีกเทคโนโลยีหนึ่งที่เราไม่ค่อยคุ้นกันคือ SDSL (Symmetric Digital Subscriber Line) และ SHDSL (Symmetric-Pair High-Speed Digital Subscriber Line) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ค่าดาวน์โหลดและอัพโหลดเท่ากัน แต่ไม่นิยมนำมาให้บริการทั่วไป เนื่องจากอุปกรณ์มีราคาสูง แต่ความเร็วสูงสุดต่ำกว่า Fiber Optic หลายเท่า

V คือ Very-High-Bitrate ครับ โดยความเร็วสูงสุดของเทคโนโลยี VDSL จะได้สูงกว่า ADSL หลายเท่า โดยสองชนิดนี้ใช้สายประเภทเดียวกันคือสายทองแดง หรือสายโทรศัพท์ทั่วไปนั่นเอง แต่ VDSL จะสามารถใช้บนสาย Coaxial ได้ หรือสายเคเบิลทองแดงประเภทเดียวที่เราใช้ต่อกับทีวีครับ

DSL คือ Digital Subscriber Line คือเทคโนโลยีในการส่งข้อมูลดิจิทัลผ่านสายทองแดงหรือสายโทรศัพท์ทั่วไป รวมถึงสาย coaxial ที่ได้กล่าวไปแล้วครับ

สำหรับความเร็วของทั้งสองแบบ ปัจจุบันเทคโนโลยีทั้งสองตัวนี้ได้ถูกพัฒนาเป็น ADSL2+ และ VDSL2 แล้วครับ เพื่อให้ได้ความเร็วเพิ่ม และมีความเสถียรมากขึ้น โดยความเร็วสูงสุดของ ADSL2+ อยู่ที่ 24.0/3.3Mbps (ITU G.992.5 annex M) และ VDSL2 อยู่ที่ 300/100 Mbps (ITU G.993.2 amendment 1 (11/15))
ป.ล. ในวงเล็บคือมาตรฐานของการเชื่อมต่อนะครับ ใส่ไว้สำหรับผู้สนใจด้านเทคนิคครับ มีไว้อ้างอิงหากใครต้องการหาข้อมูลเพิ่มเติมครับ

(ภาพประกอบ: การเชื่อมต่อ xDSL จากผู้ให้บริการจนถึงผู้ใช้บริการ)





ทั้งนี้ความเร็วหรือแบนด์วิดธ์จริงในการใช้งานขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะครับ ไม่ใช่ทุกคนที่ใช้บริการจะได้ความเร็วนี้เท่ากันทุกคน โดยมีตัวแปรดังนี้ครับ

-    คุณภาพและประเภทของสายทองแดง
-    ระยะทางจากชุมสายถึงผู้ใช้บริการ
-    อุปกรณ์แปลงสัญญาณ (DSLAM) ของผู้ให้บริการ
-    อุปกรณ์แปลงสัญญาณ (Modem/Router) ของผู้ใช้บริการ
-    อัตราการแชร์ในชุมสายของผู้ให้บริการ
-    แบนด์วิดธ์หลัก (Backbone) ของผู้ให้บริการในชุมสายหรือพื้นที่ให้บริการ

ผมจะไม่ขอลงรายละเอียดลึกมากไปกว่านี้นะครับ เดี๋ยวจะยาวเกินไป แต่สรุปคร่าวๆ คือสายทองแดงไม่ควรมีระยะทางเดินสายมากกว่า 1 กิโลเมตรจากชุมสายจนถึงบ้านเรานะครับ หากเกินกว่านั้นความเร็วจะลดลงตามระยะทางครับ ภาพข้างล่างแสดงให้เห็นถึงความเร็วที่ผู้ใช้บริการได้รับตามระยะการเดินสายจาก DSLAM จนถึง Modem/Router นะครับ



ในส่วนของเทคโนโลยีการเชื่อมต่อโครงข่ายด้วยสายทองแดงทุกประเภทนั้นถูกพัฒนาได้จนแทบจะเรียกว่าถึงขีดสูงสุดตามข้อจำกัดของประเภทและขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางของสายทองแดงแล้วนะครับ ซึ่งในยุคต่อไปคาดว่าจะค่อยๆ หมดไปเรื่อยๆ ตามปริมาณข้อมูลที่ผู้ใช้งานมีการรับ-ส่งข้อมูลกันมากขึ้นครับ

ประเภทสายทองแดงแบบต่างๆ ทำสำหรับให้บริการ xDSL

Single Pair Telephone Cable หรือสายโทรศัพท์รุ่นแรก ให้บริการได้เฉพาะ ADSL



Twisted Pair Telephone Cable หรือสายโทรศัพท์แบบตีเกลียว ให้บริการ ADSL และ VDSL ได้



Coaxial Cable หรือสายโคแอกซ์ สามารถให้บริการได้ทุกประเภทของ xDSL



ปัญหาทั่วไปที่พบเห็นบ่อย:

เนื่องจากสายทองแดงที่ใช้งานทั่วไปสำหรับ xDSL มีเส้นผ่านศูนย์กลางระหว่าง 0.65 ม.ม. ถึง 0.8 ม.ม. ทำให้ไม่สามารถลากสายได้ไกลมากนัก จึงทำให้ผู้ให้บริการต้องมีชุมสายเป็นจำนวนมากและติดตั้งถี่กว่า Fiber หรือ FTTx และความเร็วสูงสุดเริ่มไม่เพียงพอต่อผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการส่วนใหญ่จึงพยายามให้ผู้ใช้บริการเปลี่ยนเป็น FTTx แทน

อีกทั้งสายทองแดง เมื่อใช้งานไประยะหนึ่งจะมีสนิมทองแดง (Oxide) เกิดขึ้นภายในสาย ทำให้อัตราการรับ-ส่งข้อมูลลดลงตามเวลาด้วยเช่นกัน
พื้นที่ลากสายก็เป็นปัญหาในบ้านเราเช่นกัน เนื่องจากกฎหมายหรือ พ.ร.บ. เกี่ยวกับด้านนี้ไม่ได้มีการจัดระเบียบหรือออกแบบในการลากสายในระยะยาว จึงทำให้เราพบเห็นสายเคเบิลที่ยุ่งเหยิงตามเสาไฟฟ้าต่างๆ และปัจจุบันการไฟฟ้ามีนโยบายนำสายไฟและสายเคเบิลลงใต้ดิน และไม่อนุญาตให้ผู้ให้บริการลากสายใหม่ได้ในบางพื้นที่ ทำให้ผู้ต้องการใช้บริการในบางพื้นที่ประสบปัญหาในการขอรับบริการ ซึ่งคาดว่ากว่าจะทำสำเร็จคงอีกเป็น 10 ปี ทำให้ในปัจจุบันผู้ให้บริการต้องแบ่งสาย Fiber ที่เป็น Backbone มาส่วนหนึ่งเพื่อนำมาเฉลี่ยให้บริการ หรืออาจต้องเปลี่ยนสาย Fiber ให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อรองรับผู้ใช้บริการ เพราะผู้ให้บริการบางรายมีบริการทั้งอินเทอร์เน็ตบ้าน อินเทอร์เน็ตองค์กร โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทีวี ฯลฯ แต่สาย Fiber มีปริมาณจำกัดจึงต้องนำมาเฉลี่ยกัน

ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือสายทองแดงมีอัตราการเสี่ยงถูกขโมยหรือตัดสายเพื่อนำทองแดงไปขาย เนื่องจากราคาทองแดงค่อนข้างสูง แต่หากใช้สาย Fiber อัตราการขโมยจะลดลงมาก เนื่องจากไม่สามารถนำไปขายต่อหรือใช้ประโยชน์อื่นได้

การบำรุง ดูแลรักษาอุปกรณ์ตามชุมสายของผู้ให้บริการ ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ผู้ให้บริการพยายามให้ผู้ใช้งานเปลี่ยนเป็น FTTx แทน เนื่องจากเทคโนโลยี DSL ต้องติดตั้งชุมสายถี่กว่า Fiber ดังนั้นค่าใช้จ่ายของผู้ให้บริการในการบำรุง ดูแลรักษา รวมไปถึงค่าเช่าพื้นที่ติดตั้งอุปกรณ์สูงตามไปด้วย และราคาอุปกรณ์ที่ติดตั้งตามชุมสายในปัจจุบัน xDSL และ FTTx มีราคาพอๆ กัน จึงทำให้ผู้บริการเริ่มเปลี่ยนมาใช้ FTTx กันมากขึ้น

อีกหนึ่งปัญหาที่ผู้ใช้บริการในที่พักอาศัยแบบคอนโดมิเนียมหรืออาคารทรงสูงมักพบเจอก็คือ อาคารรุ่นเก่าไม่ได้มีการออกแบบพื้นที่ช่อง Communication Shaft ให้เพียงพอสำหรับการเดินสาย Fiber Optic เพิ่มเติมเข้าถึงทุกห้องพักอาศัยได้ โดยอาคารเก่าส่วนใหญ่จะมีเพียงตู้ MDF หรือตู้ชุมสายภายในอาคารเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณโทรศัพท์กับ Operator เท่านั้น (ส่วนใหญ่ก็มีแค่จุดเดียว) ดังนั้นจะเห็นว่าหลายๆ อาคารจะไม่สามารถให้บริการ FTTx ได้ บางอาคารได้เต็มที่ก็คือ DOCSIS ซึ่งจะใช้สาย Coaxial ที่มีอยู่แล้วให้บริการแทน หรือต้องติด Wi-Fi ภายในอาคารเพื่อทดแทนการลากสาย เพราะเมื่อออกแบบและสร้างอาคารเสร็จแล้ว การจะลากสายใหม่ได้ ต้องแทบจะเรียกว่ารื้อระบบเก่าออก และต้องมีการเจาะ การลาก ฯลฯ ซึ่งอาจไม่สะดวกในหลายๆ ด้าน รวมถึงระยะเวลาดำเนินการก็จะช้ากว่าอาคารที่สร้างใหม่มาก และมีค่าใช้จ่ายสูงในการดำเนินการ

ครั้งหน้าจะมาว่ากันถึงเทคโนโลยี DOCSIS นะครับ ถ้ายังไม่เบื่อกันก่อน และหวังว่าคงเป็นประโยชน์สำหรับผู้สนใจบ้างนะครับ
ส่วนใครมีข้อเสนอ หรือแนะนำติชมรบกวนด้วยนะครับ ยินดีรับฟังทุกท่านครับ

Summersoltice (มือใหม่หัดเขียน)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่