"สคบ" กล่อม "ซีทีเอช" ยอมจ่ายค่าเสียหายย้ำเดินหน้าธุรกิจต่อ


"สคบ" กล่อม "ซีทีเอช" ยอมจ่ายค่าเสียหายย้ำเดินหน้าธุรกิจต่อ
ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559

          สคบ. ยันซีทีเอชยอมจ่ายค่าเสียหาย เดินหน้าไกล่เกลี่ยต่อ ส่วนกสทช.รับลูกไปแก้ปัญหาด้านเทคนิคที่สัญญาณไม่ดี ด้านบริษัทแจงเหตุยกเลิกสัญญาไทยคมเพราะต้นทุนสูงเกินจำเป็น ล่าสุดลดขนาดองค์กรพร้อมเดินหน้าธุรกิจเพย์ทีวีต่อ

          ร.ต.ไพโรจน์ คนึงทรัพย์ เลขานุการกรม สำนักงานเลขานุการกรม สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ขณะนี้ได้มีผู้บริโภคประมาณ 20-30 รายที่ได้รับความเสียหายจากกรณีบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) หรือซีทีเอช (บมจ.) ปิดสัญญาณการรับชมของ Z Pay TV (GMMz), PSI และ RS Sunbox ทำให้ไม่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ของเคเบิลทีวีได้ จึงเข้ามาร้องเรียนกับทางสคบ. ซึ่งผู้เสียหายมีหลายกรณีและมีมูลค่าความเสียหายแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับอายุการสมัครใช้บริการ รูปแบบแพ็กเกจ ซึ่งมีระดับราคาตั้งแต่ 900-8,000 บาท

          ส่วนแนวทางการให้ความช่วยเหลือของทางสคบ.นั้น ได้เชิญตัวแทนของซีทีเอชเข้ามาไกล่เกลี่ย และชดเชยค่าเสียหาย ซึ่งซีทีเอชได้ยินยอมชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้บริโภคไปแล้วหลายราย ตามสัดส่วนของมูลค่าแพ็กเกจที่เหลืออยู่จากการใช้งานปัจจุบัน ซึ่งหากทางกสทช.สามารถแก้ไขปัญหาให้มีการรับชมสัญญาณเคเบิลทีวีได้ เชื่อว่าปัญหาน่าจะยุติลงและไม่มีผู้บริโภคเข้ามาร้องเรียนกับทางสคบ. โดยก่อนหน้านี้นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เข้าหารือพร้อมกับชี้แจงปัญหาทางเทคนิคที่เกิดขึ้น และทางกสทช.ได้หามาตรการแก้ไขปัญหา ซึ่งหากเกิดมีกรณีผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากกรณีดังกล่าว ทางสคบ.จะเป็นผู้ดำเนินการ

          ด้านพ.อ. ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีซีทีเอชยกเลิกการให้บริการกับลูกค้า หลังขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษ "ทิศทางทีวีดิจิตอลไทย" ในงานครบรอบ 61 ปีโทรทัศน์ไทย ณ กรมประชาสัมพันธ์ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า กสทช. อยู่ระหว่างพิจารณาว่าซีทีเอชเป็นบริษัทที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิ้ลทีวีหรือไม่ โดยเบื้องต้นซีทีเอชต้องส่งแผนเยียวยาผู้บริโภคเข้ามาก่อน หากยังเพิกเฉยต้องลงโทษด้วยการปรับ และหากยังไม่กระทำการใดๆ ก็จะมีบทลงโทษต่อเนื่องตามลำดับ โดยโทษสูงสุดคือการเพิกถอนใบอนุญาตและหลังจากนั้นจะส่งเรื่องต่อไปยังสคบ. แต่หากซีทีเอชไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการเคเบิลทีวี เรื่องนี้จะถูกส่งให้กับสคบ.ดำเนินการโดยตรง ภายหลังจากนั้นสคบ.จะดำเนินการอย่างไรขึ้นอยู่กับสคบ.

          "กสทช. ร่วมประชุมกับสคบ. เพื่อหาแนวทางรับมือ โดยต่างฝ่ายจะแบ่งกันทำหน้าที่แต่จะมีการประสานงานกัน เช่น กสทช. จะดูมาตรการบังคับทางปกครอง ส่วน สคบ. จะช่วยเจรจาเยียวยาหรือฟ้องศาลแพ่ง ถ้าผู้บริโภคร้องเรียนมาที่ กสทช.แล้วไม่พอใจมาตรการเยียวยาของซีทีเอช อย่างไรก็ดีการกำกับการประกอบกิจการของเอกชน โทษทางปกครองสูงสุดคือการพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต อันจะทำให้เกิดจอดำ แต่จะมีผลกระทบต่อผู้บริโภคทำให้ไม่สามารถรับชมได้ ในกรณีนี้ผู้บริโภคควรได้รับการชดเชยที่เป็นธรรมเพียงพอ จึงเป็นที่มาของการหารือร่วมกับสคบ. เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคต่อไป ซึ่งหากมีการดำเนินการเจรจาไกล่เกลี่ยของผู้ร้องเรียนแล้ว แต่ยังไม่สามารถตกลงกันได้ ทาง สคบ.ยินดีจะช่วยผู้บริโภคดำเนินการฟ้องร้องทางแพ่งต่อไป"

          สำหรับช่วงที่ผ่านมา กสทช.ได้ให้ใบอนุญาตทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีแล้วกว่า 600 ราย ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการจำนวนกว่า 200 ราย ขอยกเลิกการประกอบกิจการ เนื่องจากไม่สามารถประกอบกิจการต่อได้ และยังคงยื่นขอยกเลิกกิจการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กสทช.ไม่มีมาตรการลงโทษแต่อย่างใดเนื่องจากเป็นความสมัครใจของผู้ประกอบการ

          ล่าสุด "ฐานเศรษฐกิจ" ได้สอบถาม นายอมฤต ศุขะวณิช รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซีทีเอช กล่าวว่า การประกาศยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคมตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไปนั้น สาเหตุเกิดจากบริษัทต้องการลดต้นทุนหรือค่าใช้จ่ายในปัจจุบัน ที่มีความทับซ้อนหลายด้าน โดยมีการเช่าทรานสปอนเดอร์ 2 แห่ง คือ ไทยคม(Thaicom)และวีนาแซท( Vinasat) ทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก จึงจำเป็นต้องขอยกเลิกไทยคม เพื่อลดต้นทุนให้ต่ำลง

          "การเช่าทรานสปอนเดอร์ 2 แห่ง ส่งผลให้เกิดค่าใช้จ่ายที่ซ้ำซ้อนกัน ดังนั้นบริษัทจำเป็นต้องลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโดยการยกเลิกการเช่าทรานสปอนเดอร์จากไทยคม เพราะฐานสมาชิกของกลุ่มลูกค้าซีทีเอชที่ใช้บริการจากไทยคม ปัจจุบันมียอดผู้ใช้เหลือเพียงหลักหมื่นราย ขณะที่มีผู้ใช้บริการจากวีนาแซทกว่าแสนราย จากสมาชิกซีทีเอชที่ปัจจุบันใช้บริการเพย์ทีวีเหลือเพียง 2 แสนรายเท่านั้น" นายอมฤต กล่าวพร้อมยืนยันว่า

          ซีทีเอชจะไม่ปิดกิจการ จะดำเนินธุรกิจต่อไปในรูปแบบธุรกิจเพย์ทีวี โดยจะเน้นคอนเทนต์ด้านเอนเตอร์เทนเมนต์เป็นตัวผลักดันและรักษาฐานลูกค้าที่มีอยู่ให้ยังคงใช้บริการต่อไป ขณะเดียวกันจะเยียวยาผู้ใช้บริการ ด้วยการปรับย้ายผู้ใช้บริการเดิมที่เคยใช้ไทยคม มาอยู่กับวีนาแซท พร้อมกับดำเนินการแผนธุรกิจใหม่ ด้วยโครงสร้างธุรกิจใหม่ทั้งลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และปรับรูปแบบธุรกิจให้เล็กลงตามความเหมาะสม

          อนึ่ง จากข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ปัจจุบันนายวิชัย ทองแตงยังมีชื่อเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุด โดยมีทุนจดทะเบียน 5,555 ล้านบาท (ชำระเงินแล้ว 3,302 ล้านบาท) โดยช่วงที่ผ่านมาซีทีเอช มียอดสมาชิกราว 3 ล้านรายก่อนที่จะลดลงเหลือ 2 แสนรายในปัจจุบัน ภายหลังจากที่ซีทีเอช ประกาศปิดสัญญาณการให้บริการรับชมของ Z Pay TV บนกล่อง GMM Z, PSI และกล่อง RS SUNBOX และล่าสุดประกาศยกเลิกการออกอากาศผ่านดาวเทียมไทยคม KU-BAND ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2559 เป็นต้นไป ส่งผลให้ผู้บริการหรือสมาชิกที่รับชมผ่านจานดาวเทียม KUBAND ได้รับผลกระทบจำนวนมาก และเป็นที่มาของการไปยื่นร้องเรียนต่อสคบ. และกสทช. ในฐานะผู้กำกับดูแล


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (หน้า 15)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่