สงสัยเรื่องเมืองพระยาประเทศราชของอาณาจักรอยุธยา

ผมได้อ่านงานเขียนฉบับหนึ่งพยายามค้นตามอ้างอิงแล้วไม่พบ
ความว่า ปริมณฑลทางอำนาจของรัฐอยุธยานั้นครอบคลุมเมืองพระยาประเทศราช ๑๖ หัวเมือง คือ "มะละกา เมืองชวา เมืองตะนาวศรี เมืองนครศรีธรรมราช เมืองทวาย เมืองเมาะตะมะ เมืองเมาะลำเลิง เมืองสงขลา เมืองจันทบูร เมืองพิษณุโลก เมืองสุโขทัย เมืองพิชัย เมืองสวรรคโลก เมืองพิจิตร เมืองกำแพงเพชร เมืองนครสวรรค์"

ผมมีข้อสงสัยดังนี้
๑ เมืองชวา ปัจจุบันคือที่ใด ใช่เกาะชวาประเทศอินโดนิเซียหรือไม่
๒ เมืองพระยาประเทศราช(ประเทศราช) เช่น มะละกา ชวา ตะนาวศรี ทวาย เมาะตะมะ เมาะลำเลิง อันนี้เข้าใจว่าเป็นเมืองขึ้นที่ต้องส่งบรรณาการ แต่เมืองอื่นๆเป็นต้นว่า เป็นพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช ไม่ใช่หัวเมืองที่ถือว่าเป็นเมืองในขอบขัณฑสีมาของอาณาจักรอยุธยาหรือครับ หรือผมเข้าใจผิดแต่แรกว่าเมืองพระยาประเทศราชมีความหมายเหมือนกับเมืองประเทศราช
๓ เมืองเสียมเรียบ(กัมพุชา) เมืองนครราชสีมา ถือว่าอยู่ในปริมณฑลทางอำนาจของอาณาจักรอยุธยาหรือไม่ แต่ทำไมในพงศาวดารไม่กล่าวถึง
๔ พงสาวดารสยามนี่คือฉบับไหนครับ ผมจะอ่านย้อนทวนอ้างอิงแต่ผมหาไม่เจอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 2
๑. ชวาในเอกสารของแถบนี้มักหมายถึงหลวงพระบางอย่าง คห.๑ ครับ แต่ในกรณีนี้น่าเป็นดินแดนแถบอินโดนีเซียตาม คห.๔ มากกว่า เพราะดูจากลำดับเมืองที่อยู่ทางใต้ ซึ่งอยุทธยาอาจจะไม่ได้ไปรุกรานถึงเกาะชวาจริงๆ เพียงแต่ได้รับบรรณาการพอเป็นพิธีเท่านั้น


๒. ๑๖ เมืองที่ยกมาเป็นขอบเขตของกรุงศรีอยุทธยาในสมัยพระเจ้ารามาธิบดีเมื่อแรกสถาปนากรุง ซึ่งระบุอยู่ในพระราชพงศาวดารครับ ไม่ใช่ปริมณฑลของทุกสมัย จริงๆน่าจะเป็นการสรุปเมืองประเทศราชในรัชสมัยพระเจ้ารามาธิบดีมากกว่าเพราะบางเมืองก็ปรากฏว่าเพิ่งตีได้ในสมัยนั้น น่าจะเป็นการแต่งแทรกสมัยหลังเพราะเรียกชื่อเมืองด้วยภาษายุคหลังๆ อาจจะมีการคลาดเคลื่อนได้ครับ
http://pantip.com/topic/34561288/comment4


ราชชื่อ ๑๖ หัวเมืองประเทศราชในสมัยพระเจ้ารามาธิบดี
จากพระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม


สำหรับหัวเมืองที่สงสัย สันนิษฐานว่าในสมัยยุคต้นอยุทธยาเมืองเหล่านั้นน่าจะเป็นหัวเมืองที่มีเจ้านาย(พระญา)ปกครอง ไม่ได้เป็นเพียงหัวเมืองที่ปกครองโดยขุนนางธรรมดาเท่านั้น ซึ่งเดิมหลายๆเมืองก็เป็นเมืองอิสระก่อนที่จะถูกอยุทธยาผนวกเป็นส่วนหนึ่ง อย่างหัวเมืองของสุโขทัยเช่นสองแคว ศรีสัชนาลัย กำแพงเพชรก็ปรากฏว่าเจ้าปกครองกันทั้งนั้น จึงอาจจะนับว่าเป็นประเทศราชที่ปกครองโดย 'พระญา' ไปทั้งหมด ไม่ได้นับเพียงเมืองสุโขทัยซึ่งอาจจะเหมือนเป็นราชธานี แต่ก็ไม่ได้มีอำนาจปกครองหัวเมืองของตนอย่างเด็ดขาด

สำหรับจันทบูร เข้าใจว่าในสมัยอยุทธยาตอนต้นก็น่าจะเป็นเมืองสำคัญเสมอกับเพชรบุรี นครศรีธรรมราช เพราะปรากฏในกฎมณเฑียรบาลว่าทั้ง ๓ เมืองถูกใช้เป็นเมืองเนรเทศพระเจ้าลูกเธอที่ทำความผิด พิจารณาจากสถานะของนครศรีธรรมราชและเพชรบุรีซึ่งเป็นนครรัฐและเคยมีเจ้าปกครอง เป็นไปได้ว่าจันทบูรน่าจะมีศักดิ์เสมอกันครับ

เข้าใจว่าภายหลังเมื่อเมืองเหล่านี้ถูกผนวกเข้ากับอยุทธยาอย่างสมบูรณ์จึงถูกเปลี่ยนฐานะจากเมือง 'พระยาประเทศราช' ที่ถวายดอกไม้เงินดอกไม้ทอง เป็นเมือง 'พระยามหานคร' ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลสมัยพระบรมไตรโลกนาถ ปรากฏว่าหัวเมืองฝ่ายเหนือ นครศรีธรรมราช คงถูกจะกลืนเป็นหัวเมืองของอยุทธยาไปแล้ว มีขุนนางจากส่วนกลางไปปกครอง(แต่ในสมัยแรกๆคงยังน่าจะเป็นเจ้าหรือเชื้อสายเดิมปกครอง)


๓. ปกติแล้วถ้าอยุทธยาจะนับว่ากัมพูชาเป็นประเทศราชก็คงจะเรียกว่า 'นครหลวง' ไปเลย ดังที่ปรากฏในกฏมณเฑียรบาลในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แทนที่จะมาเอาแต่เมืองน้อยอย่างเสียมเรียบ และในสมัยพระเจ้ารามาธิบดียังไม่น่าจะมีเมืองเสียมเรียบ เพราะสันนิษฐานกันว่าเสียมเรียบน่าจะมีที่มาจากการที่ไทยแพ้สงครามกับเขมรในสมัยเจ้าพญาจันทราชาซึ่งเป็นเขมรยุคหลังพระนครครับ

ส่วนนครราชสีมาก็สันนิษฐานว่าในสมัยพระเจ้ารามาธิบดีก็ยังไม่เกิดเช่นเดียวกันครับ นครราชสีมาปรากฏครั้งแรกจากหลักฐานสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเช่นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปได้มาว่าจะเป็นเมืองที่กำเนิดจากการที่อยุทธยาได้แผ่ขยายอำนาจไปปกครองพิมายและพนมรุ้งในสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราช(เจ้าสามพระญา)อีกทีหนึ่งครับ


๔. ดูจากชื่อเข้าใจว่าจะเป็น พระราชพงศาวดารกรุงสยามฉบับบริติชมิวเซียม

พงศาวดารฉบับนี้ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเมื่อครั้งทรงเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล นำขึ้นทูลเกล้าฯถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเมื่อ พ.ศ.๒๓๕๐


บานแพนกของพงศาวดารฉบับบริติชมิวเซียม


พงศาวดารฉบับนี้ถูกค้นพบในบริติชมิวเซียมกรุงลอนดอน ก็เลยเรียกชื่อตามนั้น เข้าใจว่าคงชำระโดยรัชกาลที่ ๒ เองครับ เพราะในพงศาวดารฉบับนี้มีข้อความระบุว่าเป็น 'พระราชนิพลพงษาวะดาน' ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่