(ดูแล้วมาเล่า) วิเคราะห์เนื้อหา "CAROL" ความรัก คืองานศิลปะที่ออกแบบไม่ได้



..... กลางปี 2015 คือช่วงเวลาแห่งการ “เฉลิมฉลองความรัก” ที่ยิ่งใหญ่อีกปีในหน้าประวัติศาสตร์
..... หลังจากที่ศาลสหรัฐฯ ประกาศให้ “คู่รักเพศเดียวกัน” ครองคู่กันได้ตามกฎหมาย
เราก็ได้เห็นความรักนับล้านคู่ จูงมือกันโบยบินราวกับนกที่ได้รับอิสรภาพ หลังจากถูกกักขังมาเนิ่นนาน
..... ได้เห็นถึงพลังแห่งความยินดี ที่เป็นประจักษ์พยานและช่วยตอกย้ำแนวความคิดที่ว่า
“ความรัก” ที่ถูกกำแพงและข้อจำกัดขวางกั้น คือ “อาชญากรรม” อันเลวร้ายที่สุดประการหนึ่งของมวลมนุษย์

..... ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาบอกกับเราว่า “ความรักไม่จำกัดเพศ แต่เพศต่างหากที่จำกัดความรัก”
..... การปรากฏกายของ “Carol” ในช่วงเวลาที่เหมาะเจาะพอดิบพอดี นอกจากจะเป็นหนังแห่งปี
ที่ร่วมเฉลิมฉลองให้กับอิสรภาพของความรัก ซึ่งเป็นห้วงความรู้สึกที่ “งดงาม” และ “ล้ำค่า” ที่สุดที่มนุษย์พึงมีแล้ว
..... หนังยังพาเราย้อนเวลากลับไปสำรวจตรวจสอบ “ประวัติศาสตร์ของความรัก” ในยุค 50
ยุคที่ความรักของเพศเดียวกัน ยังเป็นความสัมพันธ์แบบ “ต้องห้าม”

..... ทั้งหมดนี้เต็มเปี่ยมไปด้วยพลัง ที่พร้อมจะทำให้ผู้ชมติดบ่วงไปกับ “ห้วงอารมณ์” อย่างที่ตัวละครได้สัมผัส
..... ถึงแม้ประเด็นหญิงรักหญิงระหว่าง “แครอล” และ “เทเรซ” อาจไม่ได้สร้างมิติอัน “แปลกใหม่” เท่าใดนัก
แต่สิ่งที่โดดเด่นและสามารถชดเชยความธรรมดาสามัญของเนื้อเรื่องได้อยู่หมัด ก็คือการถ่ายทอดความรัก
ออกมาได้อย่าง “งดงาม” หมดจด ไม่ต่างจากการทัศนา “งานศิลปะ” ที่ลุ่มลึกและนุ่มนวล



..... งานภาพที่ถูกถ่ายทอดอย่างละเมียดละไมตลอดทั้งเรื่อง นอกจากมันจะมอบคุณค่าในเชิง Cinematography แล้ว
ความหมายของมันยังสอดคล้องต้องกันไปกับเนื้อเรื่องอีกด้วย
..... หนังเปิดฉาก ด้วยการกลับมาพบกันอีกครั้งของแครอลและเทเรซ หลังจากที่ทิ้งระยะห่างความสัมพันธ์
เนื่องจาก “กรอบของสังคม” ทำให้ความรักของทั้งคู่ถูกจำกัดความเป็นไปได้
..... แครอลกลับมาพบเทเรซตามที่หัวใจเรียกร้อง รอเพียงการตอบรับและตัดสินใจจากหญิงฝ่ายตรงข้าม
..... เมื่อขั้วบวก-ขั้วลบเข้ามาใกล้กันอีกครั้ง “ภาพแห่งความทรงจำ” ในอดีตก็ถูกเทเรซหยิบขึ้นมาทบทวน
ไปพร้อมๆ กับความสัมพันธ์ของเธอกับแครอลที่ค่อยๆ ถูกเปิดเผยแก่สายตาผู้ชม
..... ฉากต่อฉาก ซีนต่อซีน มันงดงามราวกับ “สมุดภาพ” ที่ร้อยเรียงความรักของคนสองคนเอาไว้อย่างละมุนละไม

..... ถึงแม้ความรักของคนเพศเดียวกัน จะเป็นเรื่องต้องห้ามในยุคนั้น แต่หนังก็ไม่ได้ถ่ายทอดให้เห็น “บาดแผล”
และ “ความเจ็บปวด” จากท่าทีอันรังเกียจเดียดฉันท์ และการคาดโทษจากสังคมอย่างชัดเจน
เหมือนอย่างที่หนังคนรักเพศเดียวกันเรื่องอื่นๆ มักจะชอบนำเสนอในแง่มุมนี้
..... ตรงกันข้ามมันกลับเต็มไปด้วยความงดงาม ซึ่งสื่อให้เห็นว่าในห้วงคำนึงของเทเรซ หรือกระทั่งตัวแครอลเอง
ถึงแม้ความรักของเพศเดียวกันจะมีอุปสรรคมากแค่ไหน แต่อย่างไรก็ตาม ในสายตาของเธอความรักก็ยังคงเป็น “ศิลปะ” ที่งดงามของชีวิต
..... การที่หนังมอบหมายให้ตัวละครเป็นช่างภาพ จึงช่วยตอกย้ำว่า ความรักในมโนภาพของเทเรซเป็นสิ่งสวยงามอยู่เสมอ
และสำหรับเธอมันถูกบันทึกเอาไว้และเก็บอยู่ในลิ้นชักแห่งความจำตลอดมา



..... หากเปรียบ “รัก” ที่งดงามว่าเป็น “งานศิลปะ” สักชิ้น หนังเรื่องนี้ก็คือภาพตัวอย่างที่ทำให้เราเห็นว่า
รักคืองานศิลปะที่ “ออกแบบไม่ได้” และ “ไม่มีสูตรตายตัว”

“รักไม่ต้องการเวลา”
..... ชีวิตคนเราอาจจะผ่านสายตาผู้คนมาแล้วนับล้านคู่ แต่ก็มักจะมีสายตาสักคู่จากใครสักคน ที่สะกดให้เราอยากจ้องมอง
"รัก" จึงไม่ต่างจาก "งานศิลปะ" ที่ผ่านตาผู้คนมามากมาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกสายตาจะรู้สึกชื่นชอบ
และมองเห็นความหมายที่แท้จริงของมัน
..... เช่นเดียวกัน ภาพของแครอลที่ปรากฏขึ้นในสายตาของเทเรซ สะกดให้เธอตกหลุมรักตั้งแต่แรกเห็นอย่างไร้ที่มาที่ไป
..... นี่แหละความรัก “รักก็คือรัก” ไม่เรียกร้องและต้องการเหตุผลใดๆ
..... และในขณะที่เทเรซตกหลุมรักแครอลเพียงเสี้ยววินาที ชีวิตรักของแครอลกับสามีกลับพร้อมจะจบสิ้นลง
แม้จะครองคู่กันมาหลายปี แต่ “เวลา” ก็ไม่การันตีว่าความรักจะเจริญงอกงามตามกาลเวลา



“รักไม่จำกัดเพศ” (แต่เพศจำกัดความรัก)
..... พระเจ้าและธรรมชาติ อาจกำหนดให้หญิงต้องครองคู่กับชาย ด้วยเหตุผลในเรื่องการดำรงอยู่ซึ่งเผ่าพันธุ์
แต่ขณะเดียวกัน “ใจของคน” กลับไม่ได้กำหนดว่าหญิงต้องรักกับชายเท่านั้น
..... จะเพศไหน ใจของคนก็รักได้หมด!
..... Carol จึงสะท้อนภาพความรักผ่านเพศสภาพอันหลากหลาย และมีโอกาสเป็นไปได้หมด ทั้งหญิงที่รักกัน
ผ่านความรักของแครอลกับเทเรซ ชายรักหญิงผ่านริชาร์ดที่หลงรักเทเรซ
..... หรือรักกันทั้งชายและหญิง ผ่านชีวิตคู่ของแครอลและฮาร์จ ซึ่งตีความได้ว่าทั้งคู่น่าจะรักกันมาก่อน
แต่สั่นคลอนด้วยรสนิยมทางเพศของแครอล รวมไปถึงการถูกละเลยความเอาใส่ใจ และการยอมรับจากครอบครัวของสามี



“รักไม่มีขอบเขต”
..... ความรักเริ่มได้ก็จบได้ แต่ในขณะเดียวกันรักเก่าที่จบลง รักใหม่ก็พร้อมจะเกิดขึ้นใหม่ได้เช่นกัน ตัวละครเทเรซและแครอล
จึงเป็นภาพสะท้อนภาวะการ “Coming of Age” หรือการก้าวผ่านพ้นวัยของเพศหญิง ในประเด็นความสำเร็จของการมีชีวิตคู่
ผ่านตัวละครที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
..... แครอลคือหญิงชนชั้นกลางฐานะดี ในขณะที่เทเรซคือพนักงานทั่วไปที่กำลังไต่เต้าเพื่อชีวิตที่ดีกว่า
..... แครอลมีความเป็นผู้นำและเป็นผู้ใหญ่วัยวุฒิสูง ในขณะที่เทเรซคือผู้ตามและเป็นเด็กสาวที่ดูอ่อนต่อโลก
..... แครอลสวยสง่าและมั่นใจในตัวเอง ในขณะที่เทเรซอ่อนโยนและสับสนกับทางเดินชีวิต

..... เทเรซ คือตัวละครที่กำลัง “ค้นหา” ความหมายของชีวิตการแต่งงาน ผ่านท่าทีที่สับสนและอ่อนต่อโลก
เธอไม่มั่นใจในรักแรกพบที่มีต่อแครอลว่าคืออะไร และไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า ควรรู้สึกหรือตัดสินใจอย่างไรดี กับชายหนุ่มที่มาหลงรัก
..... ในขณะที่แครอล เป็นตัวละครที่ผ่านประสบการณ์อัน “ล้มเหลว” ในการใช้ชีวิตคู่ บนหนทางที่เต็มไปด้วยความไม่เป็นตัวของตัวเอง
และบริบทแวดล้อมที่ขีดกรอบเธอเอาไว้ ถึงแม้จะต้องยุติความสัมพันธ์กับคู่สาวก่อนหน้านี้ และตามมาด้วยการหย่าร้างกับสามี
..... แต่ความรักของแครอล ก็ก่อร่างสร้างตัวใหม่อีกครั้ง กับสาวน้อยธรรมดาๆ อย่างเทเรซ



“รักไม่จำกัดบทบาทและสถานะ”
..... บทบาทของความรัก ไม่ได้จำกัดเฉพาะคู่รักหรือสามีภรรยาเท่านั้น แต่มันยังมีมิติครอบคลุมไปยังบุคคลแวดล้อมที่เกี่ยวข้อง
โดยเฉพาะกับลูกและครอบครัวที่หนังได้หยิบยกมานำเสนอ
..... ถึงแม้ชีวิตคุ่ของแครอลและฮาร์จจะจบลง แต่บทบาทของความเป็นพ่อ-แม่ ไม่ได้สิ้นสุดตามไปด้วย
..... ฮาร์จ คือตัวละครที่สับสนเรื่องสถานะกับความรัก ถ้าเขาไม่ได้ครอบครองหัวใจของแครอล แครอลเองก็ต้องไม่ได้ครอบครองหัวใจ
ของลูกเช่นกัน จนนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อแย่งสิทธิ์ในการเลี้ยงดูลูกสาว ซึ่งมองอีกแง่หนึ่งก็เพื่อเอาชนะ และพยายามรักษาเกียรติ
ของตัวเองและครอบครัว ในบริบทของสังคมที่ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าเพศหญิง

..... ในขณะที่แครอล สามารถแยกแยะความรักของแต่ละสถานะออกจากกันได้ เธอไม่ปฎิเสธตัวเองว่าต้องการความรัก
แบบคู่รักกับเทเรซ และเสียใจกับความผิดพลาดในฐานะของภรรยา ที่ไม่สามารถมอบความสุขสามีได้อย่างเต็มที่
..... แต่ลูกสาวถือเป็นของขวัญที่ล้ำค่า ที่เธอกับสามีต้องรับผิดชอบร่วมกัน เหตุใดจึงต้องมาเสียเวลาแย่งชิงลูกไว้กับตัวเอง
แล้วทำให้ “ชีวิตลูก” ต้องยุ่งเหยิงไปพร้อม “ชีวิตคู่” ของคนเป็นพ่อแม่
..... การตัดสินใจของแครอล จึงเป็นการหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อแสดงความรักที่มีต่อลูกสาวของตัวเอง

..... นี่คือหนังรักที่เต็มไปด้วย “ความละเมียดละไม” มากที่สุดเรื่องหนึ่งในรอบหลายปี
..... อุทาหรณ์จาก Carol บอกกับเราว่า รักเต็มไปด้วยความหลากหลาย รักออกแบบไม่ได้ และไม่มีสูตรตายตัว
ในเมื่อเป็นเช่นนี้ ความรักก็จะควรได้รับการเบ่งบานอย่างงดงาม และไม่ควรจะถูกขีดกรอบด้วยวิถีใดๆ
..... ขอให้ทุกความรักบนโลกจงโชคดี และโบยบินอย่างงดงามเหมือนกับหนังเรื่องนี้



ติดตามพูดคุยเรื่องหนังเพิ่มเติมกันได้ที่เพจ "เบิกโรงซินีม่า"  
https://www.facebook.com/BergRongCinema/
ยินดีต้อนรับคนรักหนังทุกคนนะครับ ^ ^
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่