[CR] "เด็กอ้วน" ตะลอน "พระที่นั่งวิมานเมฆ"

กระทู้รีวิว
คราวนี้ "เด็กอ้วน"  ขอพามาตะลอน "พระที่นั่งวิมานเมฆ" กันค๊าาาา
ก่อนอื่นขอแนะนำกระทู้รีวิวครั้งก่อน ๆ ดีกว่า อิอิ
สุดยอดที่พักหัวหิน :  http://pantip.com/topic/34015029
ชิค ๆ กับ "Black Mountain Water Park" : http://pantip.com/topic/34040873
รีวิวร้านอาหารสไตล์อังกฤษ "Jones & Mowlem" : http://pantip.com/topic/34424356
ติดตามกันได้ที่แฟนเพจ : https://www.facebook.com/dekaounz


"พระที่นั่งวิมานเมฆ"

“เด็กอ้วน” ขอพาทุกท่าน ไปพบกับความอลังการของพระที่นั่งไม้สักทองที่ใหญ่ที่สุดในโลก  นั่นก็คือ “พระที่นั่งวิมานเมฆ” ที่เราชาวไทยต่างรู้จักกันดี ว้าว! อลังการงานสร้าง  ทั้งยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของชาวต่างชาติอีกด้วยแหละจ้า แหม่! จะว่าไปก็เป็นชาวต่างชาติที่เจอซะส่วนใหญ่  ทั้งฝรั่ง  คนจีน มากันเยอะมากจริง ๆ กว่าจะได้แช๊ะแต่ละภาพต้องรอให้กรุ๊ปต่างชาติเข้าไปข้างในจนหมด  ไม่อย่างนั้นคนบังทัศนียภาพหมดเลยขอบอก  

เอาล่ะ! ว่าแล้วก็บรรเลงถ่ายภาพกันเลย    เชื่อว่าผู้ที่ได้เข้ามาเยี่ยมชมพระที่นั่งแห่งนี้ต้องประทับใจในความงดงามของสถาปัตยกรรมองค์พระที่นั่งอย่างแน่นอน   ขนาด “เด็กอ้วน” เพิ่งเคยเข้าไปเยี่ยมชมครั้งแรก  ยังต้องร้อง อู้ฮู้! ว้าว!  >.<
ไหน ๆ มาถึงที่แล้ว  ก็ขอเล่าเป็นประวัติย่อ ๆ สักนิด  ให้พอรู้ที่มาที่ไปกันสักหน่อย  หากมองด้านสถาปัตยกรรมก็สามารถสังเกตได้เลยว่า  พระที่นั่งแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นโดยได้รับอิทธิพลการสร้างแบบวิกตอเรียนผสมกับสถาปัตยกรรมไทยประยุกต์  ไม่ไทยจ๋าหรือยุโรปจ๋าไปซะทีเดียว  แต่กลับมีความงามที่ผสมผสานได้อย่างลงตัว   ถือเป็นพระที่นั่งถาวรองค์แรกที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเมื่อพุทธศักราช  ๒๔๔๓ ในพระราชวังดุสิต  โดยมีพระบรมราชโองการให้รื้อย้ายพระที่นั่งมันธาตุรัตนโรจน์ ณ เกาะสีชัง จ.ชลบุรี  มาปลูกสร้างขึ้นใหม่ในสวนดุสิต และพระราชทานนามว่า “พระที่นั่งวิมานเมฆ”

เหตุที่ต้องย้ายจากเกาะสีชังเป็นเพราะว่าในช่วง ร.ศ.112 เกิดเหตุการณ์ไทยพิพาทกับฝรั่งเศส  และฝรั่งเศสต้องการที่จะยึดครองเกาะสีชัง  หากปล่อยไว้เช่นนั้นคงไม่ปลอดภัยอย่างแน่นอน  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงให้รื้อไม้มาสร้างภายในพระราชวังสวนดุสิตเพื่อความปลอดภัย  พระองค์ท่านจึงได้เสด็จฯ แปรพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวังมาประทับเป็นถาวร  ณ  พระที่นั่งวิมานเมฆเป็นเวลานานถึง ๕ ปี  จนกระทั่งพระองค์ท่านเสด็จสวรรคต  หลังจากที่ได้มีการซ่อมแซมอยู่บ่อยครั้ง  ก็ถูกปิดมานานถึง ๕๐ ปี  ซึ่งเป็นเพียงสถานที่เก็บราชพัสดุของสำนักพระราชวังตลอดมา  แต่ก็ยังมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลรักษาความเรียบร้อยอยู่ตลอด

ในปี พ.ศ. ๒๕๒๕ มหามงคลสมัยสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี  สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์  พระบรมราชินีนาถ จึงทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  บูรณะซ่อมแซมเพื่อจัดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  เนื่องจากทรงเห็นว่าพระที่นั่งวิมานเมฆยังคงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์  ซึ่งมีลักษณะของสถาปัตยกรรมที่ประณีตงดงาม  ทั้งยังมีภาพถ่ายฝีพระหัตถ์  รวมถึงศิลปวัตถุส่วนพระองค์เป็นจำนวนมาก  
    น่าเสียดายที่บางส่วนไม่สามารถนำภาพมาเผยแพร่ได้ >.<  เนื่องจากทางพิพิธภัณฑ์มีกฎข้อห้ามคือห้ามถ่ายภาพและบันทึกวีดีโอภายในพระที่นั่ง  พอได้เข้ามาดูในพระที่นั่งด้วยตาตัวเองจึงได้เข้าใจว่า  อื้อหืม!  ของแต่ละชิ้นมีคุณค่าแก่การหวงแหนจริง ๆ   ภาพภายในพระที่นั่งที่ได้นำมาเผยแพร่ในครั้งนี้  “เด็กอ้วน” ได้ทำหนังสือติดต่อเข้าไป  จึงได้รับความกรุณาจากทางพิพิธภัณฑ์ให้ภาพบางส่วนนำมาเผยแพร่  เยี่ยมไปเลย ^o^  ถ้าอยากดูแบบเต็ม ๆ ต้องมาให้ถึงที่กันเลยนะ  เพราะไม่ใช่แค่ความงดงามที่เห็นด้วยตา  แต่ยังมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่เป็นร่องรอยทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจให้ได้ศึกษา  หากจะเล่าให้ถึงอรรถรสอย่างไรก็คงไม่ลึกซึ้งเท่าการได้มาสัมผัสด้วยตัวเอง  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญยังหลงเหลือให้ชนรุ่นหลังได้เรียนรู้อยู่  เนื่องจากพระที่นั่งวิมานเมฆแห่งนี้เคยถูกสะเก็ดระเบิดซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ ๒  นับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันและน่าอัศจรรย์อย่างมาก  เนื่องจากสะเก็ดระเบิดมีขนาดใหญ่ซึ่งสามารถทำให้ไฟลุกไหม้ได้ทั้งหลัง  แต่ไฟกลับมอดดับไปเองในที่สุด  ทำให้เกิดความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น  น่าทึ่งมาก ๆ เลยละค่ะ
    ขอตัดภาพมาที่ลักษณะขององค์พระที่นั่งกันบ้าง  ซึ่งจะเป็นลักษณะรูปอักษร ตัวแอล (L) ในภาษาอังกฤษ  เป็นอาคาร 3 ชั้น  เฉพาะส่วนที่ประทับเรียกว่า “แปดเหลี่ยม” มี ๔ ชั้น   โดยชั้นล่างสุดก่ออิฐถือปูน  ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมด  บางห้องก็ยังเป็นลักษณะของบรรยากาศที่คงความเป็นอดีตไว้  ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสถึงกลิ่นไอของยุคสมัยนั้นได้มากทีเดียว  

เมื่อเดินเข้ามาด้านใน  เหนือบันไดใหญ่ก็จะพบกับกระจกบานใหญ่ร้อยกว่าปี  ซึ่งขนส่งจากประเทศเบลเยี่ยม  กระจกบานนี้ใช้เพื่อให้เหล่าเสนาบดีสำรวจเครื่องแต่งกาย  ก่อนที่จะเข้าเฝ้าพระองค์ท่าน  นอกจากจะเพื่อสำรวจเครื่องแต่งกายแล้ว  ยังมีไว้เพื่อเป็นกระจกส่องดูศัตรูที่ลักลอบเข้ามาอีกด้วย



ภายในพระที่นั่งถูกแบ่งเป็นห้องชุดต่างๆ ๕ หมู่สีด้วยกัน คือสีฟ้า เขียว ชมพู งาช้าง และสีลูกพีช  แต่ละห้องจะจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ส่วนพระองค์ของรัชกาลที่ ๕ รวมถึงเจ้านายชั้นสูง  ความขลังของที่นี่ก็มีอยู่ไม่น้อย  แค่เดินชมแต่ละห้องยังรู้สึกขนลุกเลยค่ะ  ไม่ใช่เพราะน่ากลัวหรืออะไร  แต่ขนลุกเพราะเห็นวัตถุโบราณต่าง ๆ แล้วรู้สึกภูมิใจที่มีโอกาสได้เข้ามาเห็นของล้ำค่าด้วยตาของตัวเอง ซึ่งวัตถุแต่ละชิ้นประเมินค่าไม่ได้จริง ๆ  



หากได้เข้ามาเห็นด้วยตา  เราจะสังเกตได้ว่าพระที่นั่งวิมานเมฆได้แบ่งเป็นสัดส่วนชัดเจน  เริ่มจากการใช้บันไดเพื่อไปถวายงานด้านบน  ซึ่งเหล่าเสนาบดีจะใช้เป็นบันไดใหญ่  แต่เหล่ามหาดเล็กจะใช้เป็นบันไดวนเดินขึ้นไปเพื่อถวายงาน
ปัจจุบันนี้ห้องท้องพระโรงและห้องพระบรรทมไม่ได้เปิดให้เข้าชม  เนื่องจากยังมีการใช้งานอยู่  ซึ่งทั้งสองห้องนี้ถือเป็นไฮไลท์ของที่นี่เลยก็ว่าได้  หากมีโอกาสได้เข้าไปเห็นสักครั้งคงดีสินะ >.<  
มาถึง “พระตำหนักเรือนต้น”  พระองค์ท่านใช้เพื่อให้เพื่อนต้นประทับเวลามาเยือน  เรือนต้นนี้เป็นเสมือนสถานที่ผ่อนคลายพระอิริยาบถของพระองค์ท่าน  เนื่องจากพระองค์ท่านจะให้ความเป็นกันเองกับเพื่อนต้นอย่างมาก  พระบรมฉายาลักษณ์ที่พระองค์ท่านได้ทรงทอดปลาทูในกระทะที่คนไทยคุ้นเคยกันดี  ก็ได้ถูกถ่ายขึ้น ณ เรือนต้นนี้เช่นกัน  
บริเวณรอบเรือนต้นจะเป็นน้ำคลองอยู่โดยรอบ  โดยเพื่อนต้นจะสัญจรทางเรือเมื่อมาเยือน  ซึ่งสมัยก่อนก็ใช้น้ำคลองนี้เพื่ออาบด้วย
พระที่นั่งไม้สักทองนอกจากจะมีความงดงามด้านสถาปัตยกรรมอันประณีตแล้ว  ยังเป็นมรดกของชาติที่เราชาวไทยควรให้ความสำคัญและช่วยกันทำนุบำรุงรักษา  การเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรตินั้นถือเป็นการอนุรักษ์และเผยแพร่วัฒนธรรมของไทยอีกทางหนึ่งให้ชาวต่างชาติได้รู้จัก  ซึ่งหากเรารู้จักและเห็นเพียงภายนอกพระที่นั่ง  อาจจะเห็นเพียงความงามด้านเดียว  แต่หากได้ลองเข้าไปชมความงามด้านใน  เราจะรู้ว่าคุ้มค่าจริง ๆ กับการสละเวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเพื่อเข้ามาเห็นความอลังการภายในพิพิธภัณฑ์  อย่างไรก็ตาม  หากจะให้ต่างชาติรู้จักและชื่นชมในความเป็นไทยมากสักเท่าไร  ก็คงไม่สู้เราซึ่งเป็นคนไทยนั้นจะหวงแหนและเห็นคุณค่าในความเป็นไทยของเราเอง
ไกด์บรรยายที่นี่ให้ความรู้เชิงประวัติศาสตร์ดีมาก ๆ ค่ะ  ในการเข้าชมแต่ละวันนั้นจะมีการบรรยายทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษเป็นรอบ ๆ  โดยภาษาไทยมีรอบบรรยายเวลา 10.00 น.  และเวลา 13.00 น.  ส่วนภาษาอังกฤษมีรอบบรรยายเวลา 11.00 น. และเวลา 14.00 น.


เมื่อเดินชมความงามของสถาปัตยกรรมภายในพระที่นั่งเรียบร้อยแล้ว  ยังสามารถเก็บหางบัตรเข้าชมตำหนักต่าง ๆ ได้อีกด้วย  เลิศเลอจ้า  ตามมาดูกันเลย!

มาที่ตำหนักแรกคือ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าพวงสร้อยสอางค์  ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของพระที่นั่ง  ปัจจุบันตำหนักหลังนี้จัดแสดงนาฬิกาโบราณในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  ซึ่งถือว่าเป็นยุคทองของนาฬิกา


ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอพระองค์เจ้าอรุณวดี  ให้สร้างพระราชทานพระขนิษฐา  ปัจจุบันเป็นตำหนักหนึ่งที่จัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าบุษบันบัวผัน  ปัจจุบันจัดแสดงภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบัน


ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมหลวงวรเสรฐสุดา  สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานศิลปวัตถุสมัยก่อนประวัติศาสตร์วัฒนธรรมบ้านเชียงมาเพื่อจัดแสดงถาวร

ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  พระองศ์เจ้าอรไทยเทพกัญญา  ปัจจุบันแสดงพระภูษาโบราณ  และผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ


ตำหนักหอ  ปัจจุบันใช้เป็นอาคารจัดแสดงของใช้ส่วนพระองค์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี  พระบรมราชินี  ในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  รัชกาลที่ ๗


ตำหนักสวนฝรั่งกังไส  ปัจจุบันเปิดเป็นอาคารจัดแสดงศิลปวัตถุสำคัญ  แบ่งเป็น ๓ ประเภท คือ
1.เครื่องใช้ในพระราชพิธี  และเครื่องประกอบพระอิสริยยศ
2.ภาพเขียนสีน้ำมัน
3.เครื่องกระเบื้อง
ต้องขออภัยจริง ๆ จ้าที่ “เด็กอ้วน” ไม่สามารถเก็บภาพภายในแต่ละพระตำหนักมาให้
ชมได้  อย่างที่รู้ ๆ กันว่าของแต่ละชิ้นนับค่าไม่ได้จริง ๆ >.<  เราปล่อยให้ของที่มีค่าอยู่ในที่ที่ควรอยู่จะดีกว่าเนอะ ^o^
ชื่อสินค้า:   พระที่นั่งวิมานเมฆ
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่