'ดีแทค-รักบ้านเกิด-กรมส่งเสริมการเกษตร' ประกาศผลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 7 เดินหน้าสร้าง Smart Farmer เต็มรูปแบบ


'ดีแทค-รักบ้านเกิด-กรมส่งเสริมการเกษตร' ประกาศผลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปี 7 เดินหน้าสร้าง Smart Farmer เต็มรูปแบบ
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558

          เป็นปีที่ 7 แล้วของการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด เพื่อยกย่องประกาศเกียรติคุณเกษตรกรต้นแบบให้เป็นที่รู้จักและเป็นแบบอย่างที่ดีต่อวงการเกษตรกรรม และสาธารณชน จากที่ผ่านมาในแต่ละปีมีแนวคิดการคัดเลือกที่แตกต่างกันไป เพื่อให้ตอบโจทย์ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของสังคมเกษตรกรรมแต่ละยุคสมัย

          แต่ทั้งหมดมุ่งสู่จุดหมายปลายทางเดียวกันคือ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีศักยภาพ สามารถพึ่งพาในวิชาชีพของตนเอง และก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างมั่นคงยั่งยืน

          สำหรับแนวคิดการคัดสรรเกษตรกรสำนึก รักบ้านเกิด หรือ Smart Farmer ปี 2558 เป็น การเฟ้นหาเกษตรกรที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีและสารสนเทศที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์หรือผลเชิงบวกแก่การทำเกษตรกรรม ทั้งกระบวนการผลิต เพาะปลูก เพาะเลี้ยง เก็บเกี่ยว บรรจุหีบห่อ ขนส่ง จำหน่าย และเก็บถนอมพืชผลการเกษตร เป็นต้น

          โครงการผ่านขั้นตอนการคัดเลือกต่างๆ จนเข้าสู่ รอบ 10 คนสุดท้าย คณะกรรมการพิจารณาตัดสินจากรูปแบบแนวคิดการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนา การเกษตร ศูนย์เรียนรู้ สถานประกอบการ แหล่งผลิต วัตถุดิบ กระบวนการผลิต ฯลฯ ก่อนได้เวลาประกาศผลพร้อมมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดประจำปี 2558 จัดขึ้น ณ ดีแทคเฮ้าส์ อาคารจามจุรีสแควร์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคมที่ผ่านมา


          ผู้ที่คว้ารางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดปีนี้ คือ อธิศพัฒน์ วรรณสุทธิ์ ปราชญ์ชาวบ้านแห่ง จังหวัดเลย และอาสาสมัครของมูลนิธิชัยพัฒนา จากการประสบปัญหาการไม่มีน้ำ และไฟฟ้าใช้ เป็นจุดเริ่มต้นของการคิดค้นประยุกต์ใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วยผลิตก๊าซชีวภาพแล้วต่อยอดมาเป็น NGV นำไปใช้เป็นพลังงานทดแทนใน การปั่นไฟฟ้าแล้วสูบน้ำขึ้นไปไว้ใช้

          ประโยชน์ที่ได้รับอย่างเป็นรูปธรรมคือ ช่วยให้ เกษตรกรสามารถพึ่งพาตัวเองได้ มีความมั่นคงทางด้านพลังงาน ไม่ต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอก และสามารถลดต้นทุนการผลิตลงได้ตามทฤษฎี การพึ่งพาตัวเอง นอกจากนี้ จุลินทรีย์ยังช่วยทำให้ดินอุดมสมบูรณ์มากขึ้น ช่วยพัฒนาป่าเสื่อมโทรมให้สามารถปลูกพืชผสมผสาน และมีรายได้ตลอดทั้งปี

          ตามมาด้วยรองชนะเลิศอันดับ 1  ปฏิวัติ อินทร์แปลง เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และผลิตภัณฑ์นมแปรรูป ที่นำนวัตกรรมเทคโนโลยี CLOUD COMPUTING มาใช้ในฟาร์มโคนม เพื่อช่วยจัดเก็บข้อมูล ประมวลผล วางแผน จัดตาราง เตือนความจำ และ สุวิชัย วงค์ษา ซึ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ด้วยการดัดแปลงเครื่องผลิตก้อนเชื้อเห็ด SUPER TEC ตอบโจทย์ความต้องการใช้งาน สามารถผลิตก้อนเชื้อเห็ดได้เพิ่มมากขึ้นขณะที่ใช้แรงงานน้อยลง และยังผลิตดอกเห็ดได้เพียงพอกับความต้องการของตลาดอีกด้วย

          และอีก 7 เจ้าของรางวัลชมเชย ได้แก่ ธำรงศักดิ์ ชุมนุมมณี กับการเพิ่มมูลค่าผลผลิตกับชีวิตออนไลน์ มีการประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านเฟซบุ๊ค และตรวจสอบความพึงพอใจของ ผู้บริโภค ว่าที่ร้อยโทบัญชา หนูเล็ก กับชิ้นส่วน ขุดดินของเครื่องจักรกลเพื่อการเกษตร ประยุกต์บุ้งกี๋ รถแบ็คโฮ และดัดแปลงระบบไฮโดรลิกส์ของรถ ต่อพ่วงกับปั๊มฉีดยา เกรียงไกร การุณ กับเครื่อง ให้น้ำเห็ดระบบอัตโนมัติ ใช้ระบบหยดน้ำโดยดัดแปลงจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น สมเกียรติ กันธิพันธ์ กับอุปกรณ์เกี่ยวข้าวด้วยเครื่องตัดหญ้า ดัดแปลงจากวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น ศิริ คำอ้าย กับนวัตกรรมการจัดการแปลงแตงกวาญี่ปุ่น ใช้ Timer ควบคุมระบบน้ำ ประดิษฐ์รถพ่นน้ำเอง ดัดแปลงเบาะนั่งรถยนต์สำหรับนั่งแต่งกิ่ง รณวริทธิ์ ปริยฉัตรตระกูล กับเครื่องสกัดน้ำมันรำข้าวบริสุทธิ์ แบบสกัดเย็น นำน้ำมันรำข้าวมาบรรจุในแคปซูล โดยเครื่องมืออแบบSemi Auto และ ศักดิ์ดา ขันติพะโล กับระบบตรวจสอบย้อนกลับผลไม้ QR Code


          บุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า เกษตรกรต้นแบบ หรือ Smart Farmer จะเป็นตัวอย่างที่ดีของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ และมีคุณประโยชน์ต่อการพัฒนางานด้านการเกษตร ของไทยให้เจริญก้าวหน้า สามารถแข่งขันทางการค้า ในตลาดออนไลน์หรือตลาดเกษตรระดับโลกได้ โดยเริ่มจากการเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูก เพิ่มจำนวนและคุณภาพของผลผลิต ลดต้นทุน ลดเวลา ลดการสูญเสียทรัพยากร สามารถเพิ่ม รายได้ให้กับครอบครัวจนถึงชุมชนเครือข่าย อันเป็นวิถีเกษตรแบบพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัว

          นอกจากการประกาศและมอบรางวัลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิดแล้ว ในงานนี้ ดีแทคยังได้จับมือ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้าน การส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการสื่อสารเพื่อ  การพัฒนาการเกษตร เพื่อนำความเชี่ยวชาญด้านโมบายเทคโนโลยี และเครือข่ายบริการที่เข้าถึงทุกพื้นที่ในประเทศของดีแทค มาส่งต่อองค์ความรู้ด้านต่างๆ อาทิ การผลิต การบรรจุภัณฑ์ โลจิสติกส์ และการตลาดออนไลน์ ภายใต้โครงการ 'ศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ (Mobile Learning Center)'สร้างให้เกษตรกรไทยเป็น Smart Farmer อย่างเต็มรูปแบบ

          โอฬาร พิทักษ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามนโยบาย 5 Smart เพื่อพัฒนาการเกษตรในองค์รวม ได้แก่ Smart Officer, Smart Office, Smart Farmer, Smart Group และ Smart Product นั้น ในส่วนของ Smart Farmer เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยเหลือ สร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร และองค์กรด้านการเกษตร โดยมุ่งหวังให้การพัฒนาเกษตรกรเกิดผลเป็นรูปธรรม มีการบูรณาการ การทำงานของส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคีเครือข่าย

          "ในปีที่ผ่านมา กรมได้ร่วมกับดีแทคและมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด ลงพื้นที่ พบปะเกษตรกร เพื่อแนะนำการใช้เทคโนโลยีให้เข้าถึงข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ทั้งการวางแผน การบริหารจัดการผลผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ (Young Smart Farmer) และเกษตรกรที่ต้องการพัฒนาศักยภาพให้มีทักษะการใช้ Smart Device และร่วมจัดทำหลักสูตรเพื่อพัฒนาเกษตรกรสู่ความเป็น SMART FARMER ที่มีศักยภาพการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย และก้าวไกลยิ่งขึ้น"

          ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทค  กล่าวอย่างภูมิใจว่า การนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาให้เกษตรกรไทยก้าวไปสู่ความเป็น Smart Farmer คือหนึ่งในเป้าหมายหลัก โดย ดีแทคจะนำโมบายเทคโนโลยีมาเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับเกษตรกรภายใต้โครงการศูนย์เรียนรู้เคลื่อนที่ทั่วประเทศ โดยจะเริ่มเฟสแรกในไตรมาสที่ 2 ของปี 2559 วางแผนลงพื้นที่ จำนวน 20 จังหวัดพร้อมกับเชิญเกษตรกร เข้าร่วมแห่งละ 50 คน เพื่อสนับสนุนเป็น Local Hero ขยายฐานความรู้ส่งต่อให้ชุมชน เน้นการอบรมเรื่องอีคอมเมิร์ซ บริการธุรกรรมด้านการเงินผ่านมือถือ และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ โดยตั้งเป้าที่จะเพิ่ม Smart Farmer ให้ได้จำนวน 20,000 คน ภายในสิ้นปี 2559

          "ดีแทคเชื่อมั่นว่า อินเทอร์เน็ตคือกลไกหลักของความสำเร็จในทุกอุตสาหกรรม เราเป็น ฟันเฟืองสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อน และยังจะช่วย พัฒนาช่องทางการสื่อสารระหว่างเกษตรกรและผู้ซื้อ ประชาสัมพันธ์ข้อมูลสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผ่านโซเชียลมีเดีย รวมถึงการพัฒนา แอพพลิเคชั่น FARMER INFO ที่ดีแทคกับรักบ้านเกิดร่วมกัน สร้างสรรค์ ซึ่งนอกจากจะเป็น การสร้างความเข้มแข็ง ให้แก่วงการเกษตรกรรมไทยแล้ว ยังจะช่วย ส่งเสริมให้ประเทศไทยยืนหยัดการเป็นฐาน การผลิตสำคัญของผลิตผลการเกษตรกรของโลกต่อไป"

          "Smart Farmer จะเป็นตัวอย่างที่ดี ของเกษตรกรไทยทั่วประเทศ มีศักยภาพความสามารถแข่งขันทางการค้า ในตลาดเกษตรระดับโลกได้"

ข้อมูลแหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2558 (หน้า 40)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่