สะใภ้จ้าว ❀ ความสัมพันธ์ของความรัก ความเหมาะสม พรหมลิขิตและความเข้าใจ ❀

มาคราวนี้ก็คงยาวได้อีกแน่ ๆ ถ้ามันยาวไปเลือกอ่านในประเด็นที่ชอบแล้วกันนะครับ ...

กระทู้นี้จะต่อยอดจากกระทู้ที่แล้วมาพูดเรื่อง
บทบาทของตัวละครหลักกับนักแสดงโดยรวม ๆ

" รักที่จัดให้  รักที่ใฝ่หา รักที่กามเทพชักพา รักใดจะคือรักที่แท้จริง"
อันนี้เป็นคำนิยามละครเรื่องนี้ตามแบบ จขกท. คิดนะ
จุดสำคัญของสะใภ้จ้าวอีกอย่างคือ การคลุมถุงชนที่ไป ๆ มา ๆ เป็นผิดฝาผิดตัว
ซึ่งเป็นความย้อนแย้งโดยมีความรักเข้ามาจัดสรรผ่านตัวละครหลัก

ศรีจิตรา เริ่มที่ตัวละครยอดนิยมทุกเวอร์ชั่น
เธอมักจะเป็นที่น่าสงสารสำหรับคนดูเพราะตัวละครที่อยู่ในสถานะถูกเลือก โดยมีคนต้องมาเลือกเธอ
หลายคนมองว่าเธอเป็นตัวละครแทนผลผลิตของการคลุมถุงชน เพราะเธอต้องยอมรับตอบแทนบุญคุณคนที่เลี้ยงดูเธอ
และที่สำคัญเธอยังไม่เข้าใจความรัก เธอเลยน่าสงสารกว่าใคร
แต่เมื่อเธอเริ่มมีความพึงใจชายหนุ่ม แต่เขากลับเป็นน้องชายของว่าที่คู่หมั้นของเธอ
ยิ่งสร้างความอึดอัดใจเข้าไปอีก แต่เมื่อเธอเริ่มเข้าใจในหลาย ๆ อย่าง เธอเลือกที่จะทำเพื่อความรักของเธอ
กลายเป็นคนที่ถูกเลือก กลับมารับบทผู้เลือกบ้าง และเธอก็ทำได้สำเร็จ
- หลายคนบอกว่าใครเล่นบทนี้เกิดทุกคน แต่จะไปอยู่ในใจเป็นเรื่องยาก
แต่ต้องยอมรับว่า ณิชาเป็นศรีจิตราที่เข้าไปนั่งอยู่ในหัวใจของใครหลายคน

ชายเล็ก หรือเราจะเรียกกันว่า ตี๋มึน
ชายหนุ่มผู้อิสระในวิถีทางของตัวเองตามนิสัย เขาไม่ได้สนใจการคลุมถุงชนมากกว่าใคร
แต่เขาเลือกที่จะทำในแบบของตัวเองคือการศึกษาดูใจ กับว่าที่คู่หมั้นของเขาอย่างเนียน ๆ
โดยผ่านตัวละครชื่อ นายพล ซึ่งเป็นตัวตนของเขาเมื่อเขาไม่ได้อยู่ที่วุฒิเวศร์ การศึกษาดูใจก็ดูท่าจะไปได้ดี
แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเขากลับมาตำหนัก เขาก็คือ ม.ร.ว. บดินทราชทรงพล ชายเล็กของบ้าน
ที่มีความอ่อนโยนเพราะถูกเลี้ยงดูมาอย่างอ่อนโยนจากแม่นม เมื่อเขาได้พบศรีจิตราว่าที่พี่สะใภ้
เขาก็วางตัว รับรู้และเข้าใจตัวศรีจิตราดี อาจเพราะเขาและเธอมีตัวเชื่อมคือนิทาน ที่เขาชอบฟังตั้งแต่เขายังเด็ก
ความสัมพันธ์คู่ขนานดำเนินไปเรื่อย ๆ กลายเป็นการศึกษาดูใจทั้งว่าที่คู่หมั้นและว่าที่พี่สะใภ้ในคราวเดียว
แต่นานวันความสัมพันธ์ของทั้งสองเริ่มแตกต่าง เมื่อคนนึงที่เหมือนจะรักแต่มันไม่ใช่ กลับกันคนนึงที่ถลำลีกไปทั้ง ๆ ที่รักไม่ได้
และตัวละครนายพล กลายเป็นอุปสรรคกับตัวเขามากขึ้น ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นกับตัวเขามากขึ้น
เพราะเขารู้สีกว่าเข้าเหมือนจะชอบทั้งพี่ทั้งน้องแล้ว
แต่อะไรหลาย ๆ อย่าง ก็ทำให้เขาเข้าใจ ยอมรับและมีความสุขกับคนที่เขารักจริง ๆ
- อาเล็ก บทนี้อาจจะมีคนคาดหวังเพราะดูจะเป็นตัวละครที่เข้ากับความคิดคนดูมากที่สุด
แม้จะแสดงไปตามพื้นฐานตัวละคร คือมีตัวตนของชายเล็กแต่ก็เป็นคนอ่อนของบ้านที่ดูน่าเอ็นดูได้จริง ๆ

ชายรอง ตัวละครที่หลายคนไม่ปลื้มเขาทั้ง ๆ ที่รักนักแสดงสุดหัวใจ
ตัวละครที่มีสิทธิ์เลือก แต่ไม่เลือกเพราะทำตามหัวใจตนเองแต่ก็ไม่กล้าขัดความต้องการของผู้มีพระคุณ
ชอบตัวละครตัวนี้ที่สุดในเรื่อง เพราะเขาคือตัวละครที่สะท้อนความเป็นไปของเรื่องและเหมือนสัญลักษณ์ของสังคมไทยในสมัยนั้น
อุปนิสัยของตัวละครตัวนี้คือ ความลังเลคือจะต้องเลือกสิ่งใดสิ่งหนึ่งแต่เขาเลือกไม่ได้ จนบางครั้งเขาก็ดูโลเล
ซึ่งเป็นไปตามความนิยมของคนดูสมัยนี้ที่ไม่ชอบตัวละครแบบนี้ จนพาลเบื่อกันไป
แต่หากมองลึกลงไปจริง ๆ จะเห็นว่าความลังเลเกิดมาจาก ความรักต่อผู้เลี้ยงดูมีความสำคัญเหนือสิ่งอื่นใด
เขาถูกบังคับให้แต่งกับคนที่เขาไม่รู้สึกยินดี เขาก็ชัดเจนว่าเขาไม่ยินดี เพราะเขามีคนที่เขาพึงใจ
แต่เขาก็รู้ว่าคนที่เขาพึงใจ เป็นคนที่เขาเคารพไม่พอใจ เขาก็พร้อมถอย
ตัวละครชายรอง ในความลังเลแต่สิ่งที่ชัดเจนเขารักและเคารพผู้มีพระคุณมากกว่าสิ่งใด
แต่เมื่อวันหนึ่งมีคนที่ทำให้เขาพึงใจ และมากกว่าความรักและเคารพที่มีต่อผู้มีพระคุณ
เขาก็เลือกจะพูดอย่างตรงไปตรงมา และสิ่งในที่สุดเขาก็ได้ทั้งความรักที่ใฝ่หาและยังมีความรักเคารพที่ไม่เปลี่ยนแปลง
- เป็นอีกบทของโป๊ปที่ชอบมาก เพราะตอนแรกคิดว่าชายรองก็คงเป็นเหมือนบทเหมือนทั่วไป
ส่วนตัวชอบเพราะอยากเห็นเล่นบทคนรวย มีสิทธิ์รักมีสิทธิ์เลือก ไม่ต้องอบอุ่นหรือดูน่าสงสารแบบที่เคยเห็น และมันก็มีมากกว่านั้น
ไม่เคยเห็น ตัวละครที่หน้าชาโดนด่าจนเสียสุนัข อาละวาด เกรี้ยวกราด ตลกจนเหมือนคนบ้าและบทรักพาฟินได้ ในคนเดียวกัน
และมีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการตัวละครอย่างชัดเจน แม้ว่าเล่นเรื่องนี้คนจะชอบตัวละครนี้น้อยเพราะตัวละครมันให้รักลงยากก็จริง
ขอบคุณที่ไม่ได้ให้โป๊ป มาเล่นบทชายรอง แต่ให้เขาเป็นชายรองที่ได้สร้างตัวละครเป็นที่จดจำกับคนดู
เพราะกำแพงตัวละครตัวนี้ และกำแพงในตัวละครที่เขาเคยเล่นมันหนามาก ความคาดหวังมีหลากหลาย
ไม่ต้องทำให้ชายรองใช้มาดอบอุ่นกลบตัวตนของตัวละครนี้เหมือนหลายเรื่อง แต่พาตัวละครนี้ไปให้สุดทุกอย่างแล้วคนดูจะเข้าใจเอง
และเราก็ได้เห็นบทบาทใหม่ ๆ ที่ไม่รู้ว่าได้เล่นแบบนี้อีกในเรื่องอื่นอีกไหม

สาลิน หญิงสาวที่มาของคำว่า สะใภ้จ้าว ?
ตัวละครที่ย้อนแย้งมากที่สุดก็คงเป็นเธอ สาลิน
เด็กสาวที่เติบโตอย่างอิสระในพื้นที่ของตัวเอง แต่เมื่อเธอออกไปโลกกว้างเธออาจจะยังไม่เข้าใจอะไรง่าย ๆ
เด็กสาวที่มีความกล้าในหลายเรื่อง แต่เธอไม่กล้าเรื่องความรัก
เธอไม่เคยคิดว่าเธอจะต้องเป็นสะใภ้จ้าวแต่เธอก็ได้เป็น
เธอเป็นคนไม่สนใจความรัก แต่ความรักกลับทำให้เธอมีความสุข
- สาลินในแบบน้ำตาล คงมีอิทธิพลมาจากดาริกาในดาวเคียงเดือน หรือมุตตาในแรงเงาผสมกันไป
ทั้งความมั่นใจแบบผิด ๆ ที่คิดว่าเขาต้องเป็นแบบนี้ ความเข้าใจผิดของดาริกากับคุณจันทร์ ความเข้าใจของสาลินทั้งชายรองและชายเล็ก
และมีความเพ้อฝันเหมือนมุตตาเวลามองชายในฝันเหมือนพระเอกในนิยาย
พอมีองค์ประกอบสองอันมารวมกันก็ยิ่งย้อนแย้งไปอีก หลายคนจึงมองสาลินในหลายความรู้สึก
แต่สิ่งหนึ่ง น้ำตาลก็เป็นสาลินที่สามารถรวบรวมสิ่งนี้ไว้ได้อย่างดี
ตามความหมายเพลงท่อนนี้
" เพิ่งจะรู้ว่ารัก แต่กลัวว่ามันสายไป ที่จะเผยความในใจ หากเธอมีใคร ใจคงสลาย
เพิ่งเข้าใจวันนี้ ว่ารักนั้นคืออะไร เมื่อฉันโดนความคิดถึงแกล้งกันอย่างนี้ จนแทบขาดใจ รู้ไหมฉันรักเธอ"

เสด็จพระองค์หญิงฯ
ตัวละครหลักที่สำคัญในเรื่องอีกคน เพราะเป็นตัวแทน จ้าว ในละครเรื่องนี้
บุคลิกงามสง่า แต่แฝงอารมณ์ขัน มีความเป็นกันเอง แต่ทุกคนให้ความเคารพ
ผู้ที่เฝ้ามองเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของทุกคน
บุคลิกที่ทันสมัยรวมไปถึงสถานที่แสดงถึงตัวตนการรับรู้และเข้าใจการเปลี่ยนไปของยุคสมัย
ไม่ว่าจะเป็นเพราะความเหมาะสม หรือ ความรัก รวมพรหมลิขิตที่เล่นตลก
เธอก็ยินดีให้มันเกิดขึ้นเพราะมันเกิดจากความปรารถนาดีของเธอและพวกเขา


"สะใภ้จ้าว"

ละครที่เห็นถึงไอเดียจากนิยายพัฒนาเป็นบทละครโทรทัศน์ที่นำสำนวนภาษา วรรณคดี วรรณกรรมมาร้อยเรียงกัน
ตัวละครทุกตัวเชื่อมกันด้วยสัญลักษณ์ความรู้จากหนังสือ ห้องสมุด หนังสือพิมพ์ ทำให้เห็นถึงความใฝ่รู้ของคนสมัยนั้น
ทั้งการสร้างความแตกต่างจากสมัยเดิมอย่างชัดเจน ออกแบบการแสดงตัวละครที่ชัดเจน
สร้างตัวละครเป็นที่จดจำได้ทุกคน หรือแม้กระทั้งตัวร้ายเขาเลือกจะสร้างมุมตลกเพื่อคนดูผ่อนอารมณ์ความเกลียดชังเป็นความขำขันได้
สร้างหญิงก้อยที่เธอจะร้ายขนาดไหนเธอก็ตลกจนคนดูรักเธอ
หรือสร้างบทอัศนีย์ให้เกือบพิการหรือเกือบถูกข่มขืนเพื่อผ่อนอารมณ์ความเกลียดชังตัวละครตัวนี้
ความรู้สึกตัวละครที่ย้อนแย้ง ตัวตนที่ถูกซ่อนของนายพล กับ การเรียกชื่อแสนยาวของกิตติราชนรินทร์ หรือ คิตตี้ของใครบางคน
เป็นความชัดเจนของตัวละครที่เข้าใจง่ายดี
ละครที่ทำให้เราเข้าใจว่า คนธรรมดากับจ้าว ไม่ได้ต่างกันและอารมณ์ที่หลากหลายปนเปไป
และทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดกับตัวละครล้วนแต่เป็นเรื่องของ ปัจเจกบุคคล
โดยที่เราไม่ต้องถูกตีกรอบจากความเชื่อหรือจากหนังละครที่เราเคยรับรู้มา
เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ ความเหมาะสม ความรัก พรหมลิขิต ที่ทำงานร่วมกัน
จนทำให้เกิดความเข้าใจจนไปในทิศทางที่ดี

ปล. ประทับใจกับการสร้างสะใภ้จ้าวในครั้งนี้ เพราะการรีเมคที่โครงเรื่องและการดำเนินเรื่องที่เหมือนกันก็คงสนุกเท่ากับ แรงเงา
แต่การรีเมคครั้งนี้ ดำเนินเรื่องในแบบตัวของตัวเอง และสมบูรณ์แบบด้วยตัวเอง


แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่