โพชฌังคปริตร......ความเป็นมา

โพชฌังคปริตร คือ ปริตรกล่าวถึงโพชฌงค์ซึ่งเป็นองค์แห่งการรู้แจ้งแล้วอ้างสัจวาจานั้นมาพิทักษ์คุ้มครองให้มีความสวัสดี มีประวัติว่า สมัยหนึ่งพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวัน กรุงราชคฤห์ พระมหากัสสปเถระได้อาพาธหนักที่ถ้ำปิปผลิคุหา พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปเยี่ยมและแสดงโพชฌงค์เจ็ด เมื่อพระเถระสดับโพชฌงค์เหล่านี้ก็เกิดความปีติว่า โพชฌงค์เจ็ดเคยปรากฏแก่เราในขณะรู้แจ้งสัจธรรมหลังออกบวชแล้วเจ็ดวัน คำสอนของพระพุทธองค์เป็นทางพ้นทุกข์โดยแท้ ครั้นดำริเช่นนี้พระเถระได้เกิดปีติอิ่มเอิบใจ ทำให้เลือดในกายและรูปธรรมอื่นผ่องใส โรคของพระเถระจึงอันตรธานไปเหมือนหยาดน้ำกลิ้งลงจากใบบัว นอกจากนั้น พระพุทธเจ้ายังตรัสโพชฌงค์เจ็ดแก่พระมหาโมคคัลลานเถระผู้อาพาธที่ภูเขาคิชฌกูฏอีกด้วย ครั้นพระเถระสดับโพชฌงค์นี้แล้วก็หายจากอาพาธนั้นทันที อนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่วัดเวฬุวันนั้นได้ประชวรหนัก จึงรับสั่งให้พระจุนทเถระสาธยายโพชฌงค์เจ็ด ครั้นสดับแล้วพระองค์ทรงหายจากพระประชวรนั้น
    โพชฌังคปริตรที่พระพุทธองค์ตรัสไว้เป็นร้อยแก้ว พบในมหาวรรคสังยุตต์ปฐมคิลานสูตร ทุติยคิบานสูตร และตติยคิลานสูตร ส่วนโพชฌังคปริตรในปัจจุบัน เป็นร้อยกรองที่พระเถระชาวสิงหลประพันธ์ขึ้น โดยนำข้อความจากพระสูตรมาประพันธ์เป็นร้อยกรอง
    โพชฌงค์เจ็ดมีดังต่อไปนี้ คือ
๑.สติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ สติ
๒.ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ การหยั่งเห็นธรรม
๓.วิริยสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความเพียร
๔.ปีติสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความอิ่มใจ
๕.ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความสงบ
๖.สมาธิสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความตั้งมั่น
๗.อุเบกขาสัมโพชฌงค์ องค์แห่งการรู้แจ้ง คือ ความวางเฉย


เท่าที่อ่านดูจากหนังสือ แปล พระปริตรธรรม ของ พระคันธสาราภิวงศ์      เข้าใจว่าโพชฌังปริตรที่สวดในปัจจุบันนี้ไม่ใช่บทสวดเดียวกับที่พระพุทธเจ้าสวดให้กับพระเถระหรอกเหรอครับ    แล้วเราจะนำส่วน "พบในมหาวรรคสังยุตต์ปฐมคิลานสูตร ทุติยคิบานสูตร และตติยคิลานสูตร" มาสวดได้จากที่ไหนครับ

ขอบคุณครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่