ไวรัสตับอักเสบบี VS การดูแลตับ

ประเทศไทยนับเป็นประเทศหนึ่งซึ่งเป็นถิ่นที่ไวรัสตับอักเสบบีระบาดมาก โรคติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจึงนับว่ามีความสำคัญมาก เนื่องจากไวรัสตับอักเสบบีทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ตับและทำให้เซลล์ตับตาย หากเป็นเรื้อรังจะเกิดพังผืด ตับแข็ง และมะเร็งตับได้ จากหลักฐานการศึกษาในปัจจุบันบ่งชี้ว่าการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการเกิดมะเร็งตับ ซึ่งเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในคนไทย

การติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
ไวรัสตับอักเสบบี คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดบี สามารถติดต่อทางเลือด น้ำเชื้อ และน้ำหลั่งอย่างอื่น เช่น น้ำเหลือง โดยสามารถรับเชื้อได้โดยวิธีดังต่อไปนี้
•    การมีเพศสัมพันธ์กับคนที่มีเชื้อโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัย
•    การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
•    การใช้เข็มสักตามตัวหรือสีที่ใช้สักตามตัวร่วมกัน และการเจาะหู
•    การใช้แปรงสีฟัน มีดโกน ที่ตัดเล็บร่วมกัน
•    การติดเชื้อขณะคลอดจากแม่ที่มีเชื้อ (ถ้าแม่มีเชื้อลูกมีโอกาสได้รับเชื้อ 90%)
•    การถูกเข็มตำจากการทำงาน
•    การสัมผัสกับเลือด น้ำเลือด น้ำคัดหลั่ง โดยผ่านเข้าทางบาดแผล

อย่างไรก็ดี เชื้อนี้จะไม่ติดต่อกันทางลมหายใจ อาหารหรือน้ำดื่ม การให้นม และการจูบกัน (ถ้าปากไม่มีแผล)

อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี
อาการของโรคไวรัสตับอักเสบบี แบ่งได้เป็น 2 ระยะ คือ
1.    ระยะเฉียบพลัน
•    ผู้ป่วยจะเริ่มมีอาการภายใน 1-4 เดือนหลังติดเชื้อ ดังนี้
o    อาการไข้ ตัวเหลืองตาเหลือง ปวดท้องใต้ชายโครงขวา
o    อาการอื่นๆ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ผื่น ปวดข้อ
•    ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เกิดจากการที่เซลล์ตับถูกทำลายเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้อาจทำให้เกิดภาวะตับวายได้
•    อาการตับอักเสบระยะเฉียบพลันจะดีขึ้นใน 1-4 สัปดาห์ และจะหายเป็นปกติเมื่อร่างกายสามารถกำจัดและควบคุมเชื้อไวรัสตับอักเสบได้ ซึ่งมักใช้เวลาไม่เกิน 3 เดือน แต่ผู้ป่วยส่วนน้อย (5-10%) ไม่สามารถกำจัดเชื้อออกจากร่างกายได้หมด ทำให้ผู้ป่วยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
2.    ระยะเรื้อรัง
•    ระยะเรื้อรังแบ่งผู้ป่วยได้เป็น 2 กลุ่มคือ
o    พาหะ คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย ผู้ป่วยจะไม่มีอาการแต่สามารถแพร่เชื้อสู่ผู้อื่นได้ ผลการตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับอยู่ในเกณฑ์ปกติ ดังนั้นก่อนแต่งงานหรือมีเพศสัมพันธ์ควรตรวจหาไวรัสตับอักเสบบีก่อน
o    ตับอักเสบเรื้อรัง คือ ผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัสตับอักเสบบีในร่างกาย และตรวจเลือดพบค่าการทำงานของตับผิดปกติ
•    ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่มีอาการ บางรายอาจมีอาการอ่อนเพลียหรือเบื่ออาหารได้
•    การติดเชื้อแบบเรื้อรังพบบ่อยในเด็กที่ติดเชื้อตั้งแต่แรกเกิด

การวินิจฉัยโรคไวรัสตับอักเสบบี
•    เจาะเลือดตรวจค่าการทำงานของตับ (liver function test)
•    เจาะเลือดตรวจเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
o    HBsAg (แอนติเจนไวรัสตับอักเสบบี): ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยกำลังมีเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
o    Anti-HBS (ภูมิคุ้มกันต่อ HBsAg): ให้ผลบวก แปลว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสตับอักเสบบี ภูมิคุ้มกันจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผู้ป่วยได้รับการฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบและหายจากโรคแล้ว ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันจึงไม่แพร่เชื้อให้ผู้อื่น และไม่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีอีก
o    การวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง ต้องเจาะเลือดตรวจซ้ำอีกครั้งที่ 6 เดือนหลังจากวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน หากพบว่าร่างกายไม่สามารถกำจัดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี และไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ จึงจะวินิจฉัยว่าเป็น “โรคไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
•    การตัดชิ้นเนื้อจากตับไปตรวจ แพทย์จะใช้เข็มแทงผ่านผิวหนังเพื่อเก็บชิ้นเนื้อจากตับ การตรวจนี้ไม่ได้ทำในผู้ป่วยทุกราย ทำเฉพาะในผู้ป่วยตับอักเสบเรื้อรังที่ต้องการติดตามการดำเนินไปของโรค เช่น ต้องการทราบภาวะพังผืดในตับและการอักเสบของเซลล์ตับ ซึ่งจะมีผลในการเริ่มต้นการรักษา หรือสงสัยมะเร็งตับ เป็นต้น

การประเมินผู้ป่วยที่ตรวจพบว่ามี HBsAg เป็นบวก
•    ตรวจเลือดประเมินดู HBeAg และ HBeAb ซึ่งเป็นตัวที่บ่งบอกว่าโรคอยู่ในระยะที่ไวรัสกำลังแบ่งตัวหรือผ่านระยะที่ไวรัสแบ่งตัวไปแล้ว
•    ตรวจ ALT (alanine aminotransferase) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่อยู่ในเซลล์ตับ ถ้าค่าอยู่ในระดับปกติให้ติดตาม ALT ทุก 3-6 เดือน
•    ในกรณีที่ HBeAg เป็นลบแต่ผู้ป่วยมี ALT ผิดปกติ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ เช่น ผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปี มีภาวะตับแข็งและมะเร็งตับในครอบครัว ตรวจร่างกายพบลักษณะของการมีโรคตับเรื้อรัง ALT อยู่ในเกณฑ์มากกว่าครึ่งหนึ่งของค่าปกติ อัลตราซาวนด์มีลักษณะผิดปกติของตับ ควรตรวจดูปริมาณไวรัสตับอักเสบบีร่วมด้วย

การรักษาผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรัง
ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีที่สมควรได้รับการรักษา ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีลักษณะดังนี้
•    HBsAg ให้ผลบวกเป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือน
•    มีหลักฐานที่บ่งชี้ว่าไวรัสกำลังมีการแบ่งตัวอย่างมาก คือ
o    HBeAg เป็นบวก ปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 20,000 IU/ml
o    HBeAg เป็นลบ ปริมาณไวรัสมากกว่าหรือเท่ากับ 2,000 IU/ml
•    ระดับ ALT มากกว่าหรือเท่ากับ 1.5 เท่าของค่าปกติอย่างน้อย 2 ครั้ง ห่างกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน (ยกเว้นในกรณีที่ผู้ป่วยมีหลักฐานว่ามีตับแข็งหรือภาวะตับวาย พิจารณาให้การรักษาถึงแม้จะมี ALT ปกติ ไม่จำเป็นต้องรอห่างกันเกิน 3 เดือน)
•    ต้องไม่มีโรคอื่นที่เป็นสาเหตุหลักของตับอักเสบ

ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่มี HBeAg เป็นบวกหรือเป็นลบ สามารถเลือกใช้ยาได้ทุกขนาน ขึ้นอยู่กับปัจจัยของไวรัสบี ปัจจัยทางผู้ป่วย และระยะของโรค แพทย์จะเป็นผู้อธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงประโยชน์และข้อจำกัดของยาแต่ละชนิดเพื่อให้ผู้ป่วยมีโอกาสร่วมในการตัดสินใจเลือกชนิดการรักษา โดยยาที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังในปัจจุบันมีทั้งชนิดฉีดและชนิดรับประทาน

สำหรับผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังที่ยังไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา หรืออยู่ในช่วงที่ไวรัสไม่มีการแบ่งตัว ยังไม่จำเป็นต้องได้รับยาต้านไวรัส แต่ควรได้รับการติดตาม ALT เป็นระยะๆ ทุกๆ 3-6 เดือน ก่อนที่ผู้ป่วยไวรัสตับอักเสบบีเรื้อรังจะได้รับการรักษา ควรได้รับการประเมินและแนะนำอย่างละเอียด ซึ่งรวมถึงภาวะของโรค โรคร่วม ข้อจำกัด หรือข้อห้ามในการใช้ยา การปฏิบัติตัว ค่าใช้จ่ายในการรักษา และการติดตามระยะยาว

การติดตามผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา
ขณะรักษาผู้ป่วยควรได้รับการตรวจระดับ ALT อย่างน้อยทุก 3 เดือน และ HBeAg อย่างน้อยทุก 6 เดือน ในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาฉีดควรได้รับการตรวจทุก 2 สัปดาห์ในช่วง 1-2 เดือนแรก หลังจากนั้นทุก 4-6 สัปดาห์ จนสิ้นสุดการรักษาเพื่อดูอาการข้างเคียงที่เกิดจากการใช้ยา ซึ่งรวมถึงการตรวจนับเม็ดเลือด การตรวจการทำงานของไทรอยด์ และอาการข้างเคียงอื่นๆ ในผู้ป่วยที่ได้รับยารับประทานควรตรวจการทำงานของไตและระดับฟอสฟอรัสในเลือดร่วมด้วย

ภายหลังสิ้นสุดการรักษา ผู้ป่วยควรได้รับการติดตามเช่นเดียวกับขณะให้การรักษา ซึ่งรวมถึงการตรวจ ALT ทุก 3 เดือนและ HBeAg/HBeAb (ในกรณีที่ผู้ป่วย HBeAg เป็นบวก) ปริมาณไวรัส อย่างน้อยทุก 6 เดือน ในผู้ป่วยที่การรักษาได้ผลดี คือ หลังหยุดการรักษาแล้วอย่างน้อย 6 เดือนยังมีระดับ ALT ปกติ และมีระดับปริมาณไวรัสต่ำกว่า 2,000 IU/ml และควรติดตามต่อทุก 6 เดือน

ในผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีกลับซ้ำหรือไม่ได้ผลจากการรักษา ควรติดตามทุก 3-6 เดือน

การป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
•    ฉีดวัคซีนป้องกัน โดยผู้ที่ควรฉีดวัคซีนมากที่สุดคือ เด็กแรกเกิด สำหรับเด็กโตและผู้ใหญ่โดยทั่วไปมีความจำเป็นน้อยในการฉีดวัคซีน เนื่องจากส่วนใหญ่มีภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อแล้ว หากต้องการฉีดวัคซีนควรได้รับการตรวจเลือด ผู้ที่เคยติดเชื้อมาแล้วหรือมีภูมิต้านทานแล้วไม่ต้องฉีดวัคซีน
•    ผู้ที่อยู่ในครอบครัวที่เป็นพาหะ ควรตรวจเลือดเพื่อทราบถึงภาวะของการติดเชื้อก่อนการฉีดวัคซีน การฉีดวัคซีนต้องฉีดให้ครบชุดจำนวน 3 เข็ม หลังจากนั้นวัคซีนจะกระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานขึ้นในร่างกาย

การปฏิบัติตัวเมื่อติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี
หากมีการตรวจพบเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเฉียบพลัน ควรขอรับคำแนะนำจากแพทย์เกี่ยวกับการดูแลตัวเอง และระมัดระวังการแพร่เชื้อไปสู่คนใกล้ชิด โดยวิธีการปฏิบัติตัวหากมีเชื้ออยู่ในร่างกายทำได้ดังนี้
•    ไม่ต้องกังวล หากเป็นตับอักเสบเฉียบพลันชนิดบี เพราะส่วนใหญ่จะหายได้เองและมีภูมิคุ้มกันตามมา
•    รับประทานยาและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
•    ไม่ใช้ยาโดยไม่ปรึกษาแพทย์
•    รับการตรวจเลือดอย่างสม่ำเสมอ เพราะการตรวจเลือดจะทำให้ทราบว่าตับมีการอักเสบมากหรือน้อย
•    บอกให้คนใกล้ชิดทราบ เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี หากคนใกล้ชิดนั้นไม่มีภูมิและเชื้อ
•    มีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยโดยการสวมถุงยางอนามัย
•    งดบริจาคเลือด
•    ไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด
•    พักผ่อนให้เพียงพอทั้งร่างกายและจิตใจ
•    ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
•    รับประทานทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผักและผลไม้ ในปริมาณที่พอเหมาะทุกวัน
•    รับประทานอาหารสุกและสะอาด ลดการรับประทานอาหารไขมันสูง เนื้อสัตว์รมควัน และเนื้อสัตว์ที่ไหม้จนเกรียม หรืออาหารที่เก็บถนอมไว้นานๆ ไม่รับประทานอาหารหรือส่วนประกอบของอาหารที่มีเชื้อราขึ้น เช่น ถั่วลิสงป่นที่เก็บไว้นานๆ อาหารที่ใส่ดินประสิว อาหารหมักดอง เช่น ปลาเค็ม เนื้อเค็ม แหนม ปลาร้า ผักดอง ไส้กรอก เบคอน แฮม ฯลฯ และเครื่องกระป๋องต่างๆ ทั้งนี้อาหารประเภทแหนม ปลาร้า เมื่อจะรับประทานต้องทำให้สุกเสียก่อน เนื่องจากอาหารเหล่านี้อาจส่งเสริมทำให้ตับทำหน้าที่บกพร่องมากขึ้น
•    ควรตรวจร่างกายและตรวจเลือดหาระดับสารบ่งบอกมะเร็งตับ AFP (alpha-fetoprotein) และทำอัลตราซาวนด์ช่องท้องสม่ำเสมอทุกปีในกลุ่มเสี่ยง เช่น มีภาวะตับแข็ง เพศชายอายุมากกว่า 45 ปี เพศหญิงอายุมากกว่า 50 ปี และมีประวัติมะเร็งตับในครอบครัว เพื่อหามะเร็งตับในระยะเริ่มแรก อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
•    เมื่อต้องรับการผ่าตัดหรือทำฟันควรแจ้งให้แพทย์หรือทันตแพทย์ทราบ
•    หญิงตั้งครรภ์และคลอดบุตร ควรฉีดวัคซีนให้บุตรภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด
•    ลดความเครียดและความกังวลให้น้อยลง
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รพ.บำรุงราษฎร์

Report : LIV Capsule
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่