มีบางอย่างข้องใจเมื่อ "ผู้กองยอดรัก" จบครับ

จากที่ดูละครเรื่อง "ผู้กองยอดรัก" มาทั้งเรื่องและสองสามเวอร์ชั่น ละครเรื่องนี้มีจุดขัดแย้งของเรื่องคือ การที่พลทหารพันชอบผู้กองฉวีผ่อง ซึ่งเป็นความรักที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นและเป็นจริงได้ โดยเฉพาะในสังคมที่เรื่องฐานะและหน้าตาทางสังคมและเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่กำหนดคุณค่าของคน สิ่งที่ข้องใจคือ เนื้อเรื่องของละครไทยหลาย ๆ เรื่องจะมีปรากฎการณ์ที่เรียกว่า "ปมขัดแย้ง" เกิดขึ้นเสมอ (เช่น การที่พลทหารคิดอาจเอื้อมจีบนายทหารยศร้อยเอก) แต่ทำไมวิธีการสลายปมขัดแย้งมักจะซ้ำ ๆ กัน ด้วยวิธีการที่ให้พระเอกอยู่ในสถานะที่เสียเปรียบ แล้วตอนหลังก็เสกสรรค์ปั้นแต่งให้พระเอกมีหน้ามีตาทัดเทียมกับนางเอก (เช่นในกรณีที่เมื่อปลดประจำการแล้ว เขียนให้พลทหารพันสอบเป็นผู้พิพากษาได้) จนนำไปสู่สภาวะ "Happy ending" ในที่สุด

จริง ๆ ฐานะทางบ้านและตัวของพลทหารพันก็ไม่ได้แย่นะครับ บ้านก็ร่ำรวยมาก มีที่นา มีทรัพยืสินเงินทองมากมาย (เห็นแม่ของของพัน (ท็อป ดาราณีนุช) ใส่อวดเป็นประจำ) แถมตัวเองยังเป็นถึงเนติบัณฑิต ดีกรีนักเรียนนอกด้วย ผมก็เลยคิดย้อนแย้งว่าถ้าทุกอย่างตรงกันข้ามหมด พลทหารพันเป็นเพียงหนุ่มบ้านนอกฐานะยากจน แถมไม่มีความรู้อีก ละครเรื่องนี้จะจบยังไง ต้องหาวิธีการสลายปมขัดแย้งแบบไหนถึงจะให้เรื่องจบในสภาวะ "Happy ending" ได้ ต้องให้ผู้กองฉวีผ่องลาออกมาทำไร่ไถนากับพลทหารพันมั้ย? กัดก้อนเกลือกินด้วยเลยหรือ?? หรืออะไรยังงั้น

สรุปคือ วิธีการสลายปมขัดแย้งของเรื่องจำเป็นต้องให้พระเอกหรือนางเอกถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งให้มีหน้ามีตาในสังคม ทั้งฐานะและวัตถุหรือครับ กลายเป็นว่าละครกำลังปลูกฝังค่านิยมนับถือคนจากฐานะ หน้าตาในสังคมใช่หรือไม่?? ครับ จริงอยู่ที่สังคมสมัยนี้นับถือคนที่ฐานะทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม (บลาๆ) เพราะเป็นปัจจัยที่สำคัญในการดำเนินชีวิต แต่เหตุใดละครไทยจึงไม่เลือกวิธีการสลายปมขัดแย้งในแบบที่ต่างกันออกไปบ้าง หรือทั้งในโลกละครและโลกความจริงก็ทำแบบนั้นไม่ได้ ผมก็ไม่รู้หรอกนะครับว่าวิธีการนั้นมันมีจริงหรือเปล่า แต่อย่างน้อยผมก็แค่อยากเห็นมุมมองอีกด้านที่แตกต่างบ้าง

ขอบคุณที่อ่านจนจบครับ และขอบคุณล่วงหน้าสำหรับทุกคำตอบ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่