จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณกรรมยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กรุงเทพฯ

กระทู้สนทนา
จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณกรรมยุคกรุงรัตนโกสินทร์ ที่กรุงเทพฯ

http://webcache.googleusercontent.com/search?q=cache:uGahIkssvI0J:www.matichon.co.th/news_detail.php%3Fnewsid%3D1437616237+&cd=1&hl=th&ct=clnk&gl=th
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437616237

มติชนรายวัน
วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2558 เวลา 10:48:02 น.
คอลัมน์ สุวรรณภูมิในอาเซียน /ผู้สื่อข่าวพิเศษ รายงาน


(ซ้าย) จารึกวัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพฯ ทำจากหินอ่อน (ขวา) ศิลาจารึกหลักที่ 1 จัดแสดงในพระที่นั่งศิวโมกขพิมาน พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร (ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2547)

"มีผู้มาถามว่าไม่กลัวหรือถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม"

"ข้าพเจ้าไม่กลัว เพราะคิดว่าถ้ามีคนที่สงสัยอะไรก็น่าที่จะให้โอกาสเขาอธิบายความเห็นของเขาด้วยเหตุด้วยผลของเขา ซึ่งเราก็สามารถมาพิจารณาได้ภายหลัง

ถึงอย่างไรก็ดี เราไม่ควรยึดถืออะไรนัก ทุกอย่างในโลกนี้ก็ไม่เที่ยง

ถ้าหลักที่ 1 นี้เป็นของปลอม อะไรก็จะมาลบการที่เรามีภาษาของเรา ซึ่งมีตัวเขียนของเราที่ใครสร้างขึ้นก็ตาม มีสถาปัตยกรรมของเรา และอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นของเราไม่ได้"

พระดำรัส สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เรื่อง ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 ของ พ่อขุนรามคำแหง

ในวาระที่เสด็จเป็นองค์ประธานอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกหลักที่ 1" ณ ห้องประชุมใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม กรุงเทพฯ เมื่อบ่ายวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532

[ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2532) หน้า 20-25]


"ผมจึงใคร่เสนอต่อท่านผู้มีเกียรติว่า ศิลาจารึกหลักที่ 1 นี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชนิพนธ์ขึ้น----"

รองศาสตราจารย์ ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ เสนอต่อที่ประชุม ซึ่งสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา เสด็จเป็นองค์ประธานในการอภิปรายเรื่อง "ศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1" เมื่อวันเสาร์ที่ 4 มีนาคม 2532 ณ ห้องประชุมธนาคารกรุงเทพ จำกัด

[ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 10 ฉบับที่ 6 (เมษายน 2532) หน้า 26]


จารึกพ่อขุนฯ ทำในสมัยกรุงเทพฯ



พยัญชนะและสระของอักษรอริยกะ เพื่อใช้เขียนภาษาบาลี ที่ ร.4 ทรงประดิษฐ์ขึ้น ครั้งเป็นพระวชิรญาณมหาเถระเมื่อ พ.ศ. 2390


ร.4 ทรงทำจารึกพ่อขุนรามคำแหง ที่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลทางการเมืองทั้งภายในและระหว่างประเทศ ในสมัยของพระองค์
นักปราชญ์ฝรั่งเศส กำหนดตายตัวว่าจารึกพ่อขุนรามคำแหงเขียนขึ้นทั้งหมดเมื่อ พ.ศ. 1835 สมัยสุโขทัย
แต่นักปราชญ์ไทยหลายท่าน มีข้อขัดแย้งนักปราชญ์ฝรั่งเศสหลายอย่าง เช่น พ่อขุนรามคำแหงไม่ได้ทำ หรือทำตอนต้นเท่านั้น ฯลฯ
บางท่านว่าทั้งหมดทำโดย ร.4 (เรื่องนี้มีก่อนงานวิจัย ดร. พิริยะ ไกรฤกษ์ หลายสิบปี)

อักขรวิธีฝรั่ง

จารึกพ่อขุนฯ มีข้อพิรุธชัดเจนมากที่นักปราชญ์และนักวิชาการอ้างถึง คืออักขรวิธีแบบฝรั่ง ซึ่งยังไม่มีคำอธิบายจนทุกวันนี้จากฝ่ายสนับสนุนพ่อขุนรามคำแหงทรงประดิษฐ์ขึ้นจริง ว่าประดิษฐ์จากฐานความรู้และประสบการณ์อะไร ถ้าไม่ใช่เพราะได้จากฝรั่งสมัยกรุงเทพฯ

อักขรวิธีแบบฝรั่ง จากหนังสือ จารึกพ่อขุนรามคำแหง วรรณคดีประวัติศาสตร์การเมืองแห่งกรุงสยาม ของ พิริยะ ไกรฤกษ์ [พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2532 สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งที่สอง พ.ศ. 2547 (ปรับปรุงใหม่)] สรุปไว้ดังนี้

จารึกพ่อขุนรามคำแหง วางรูปอักขรวิธีโดยเรียงพยัญชนะและสระบนบรรทัดเดียวกัน เช่นเดียวกับอักขรวิธีของฝรั่ง

แสดงให้เห็นว่าผู้แต่งต้องมีความรู้เกี่ยวกับการอ่านการเขียนภาษาตะวันตกเป็นอย่างดี และศิลาจารึกหลักนี้ต้องเป็นผลงานทางประวัติศาสตร์นิพนธ์ที่สำคัญที่สุดของสยามในช่วงหลัง พ.ศ. 2300

และอาจสรุปได้ว่าศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหง น่าจะจารขึ้นโดย ร.4 ช่วง พ.ศ. 2376-2398

เพราะว่า พ.ศ. 2376 เป็นปีที่ ร.4 ทรงนำกระดานหินและศิลาจารึกภาษาเขมรของพญาลิไทย จากสุโขทัยมายังกรุงเทพฯ

และ พ.ศ. 2398 (ค.ศ. 1855) เป็นปีที่ ร.4 มีพระราชสาส์นไปยังเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง พร้อมสำเนาของจารึกพ่อขุนรามคำแหง 2 ฉบับ



(สองแถวบน) อักษรอริยกะ (สองแถวล่าง) อักษรโรมัน ในจารึกวัดราชประดิษฐฯ


ด้วยเหตุนี้ จึงวิเคราะห์ได้ว่าศิลาจารึกหลักที่ 1 เป็นพระราชนิพนธ์เชิงประวัติศาสตร์ ของ ร.4

และเป็นพระราชนิพนธ์ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่ง แสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพทางภาษาและความเป็นปราชญ์ของพระองค์ท่าน


สระ พยัญชนะ วางบรรทัดเดียวกัน

"วิธีการเรียงตัวอักษรของพ่อขุนรามคำแหงคล้ายๆ กับวิธีเรียงตัวอักษรของฝรั่ง" ยอร์ช เซเดส์ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนนานแล้ว
เหตุไฉนพ่อขุนรามคำแหงจึงทรงทราบระบบวิธีการเขียนของฝรั่งได้ เพราะใน รัชสมัยของพระองค์นั้นยังไม่มีฝรั่งเดินทางมาที่สุโขทัยเลย
ส่วนตัวสระที่มีขนาดเท่ากับพยัญชนะ ไมเคิล วิกเกอรี่ (นักวิชาการที่ได้รับยกย่องอย่างสูง) กล่าวไว้ว่า

"ระบบการเขียนแบบนี้ไม่พบในจารึกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใดเลย และไม่พบแม้แต่ในระบบอักษรแบบอินเดียที่ใดเลยด้วย...
นอกจากเขียนไว้บรรทัดเดียวกันแล้ว สระเหล่านี้ล้วนแต่เขียนไว้ทางซ้ายมือของพยัญชนะที่มันกำกับ ด้วยขนาดเท่ากันกับพยัญชนะเสียด้วย
เรื่องนี้ควรใส่ใจให้มากที่ทำไมจึงเกิดความผิดปกติขึ้นใน ′ระบบการเขียนชิ้นแรกของไทย′ อย่างนั้น ตลอดจนควรใส่ใจว่าทำไมจารึกรุ่นหลังจึงไม่ทำตาม"


อักษรอริยะของ ร.4 เหมือนจารึกพ่อขุนฯ

ระบบการเขียนอย่างในศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงนี้ ได้ปรากฏขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อ ร.4 ทรงประดิษฐ์ "อักษรอริยกะ" ขึ้นเพื่อใช้เขียนภาษาบาลีของพระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุติกนิกาย

[ขณะที่ทรงเป็นพระวชิรญาณมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร (พ.ศ. 2379- 2394) ตามที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงพระนิพนธ์ไว้ในตำนานวัดบวรนิเวศวิหาร]

หมอบรัดเลย์ (Dan Beach Bradley) ยังได้บันทึกไว้ว่า

"เจ้าฟ้ามงกุฎทรงสนพระทัยอย่างยิ่งยวดในเรื่องการพิมพ์----จึงทรงตั้งโรงพิมพ์ขึ้นในวัดของพระองค์----"

"ได้ทรงมีพระราชดำริที่จะดัดแปลงอักษรไทย และวิธีการเขียนหนังสือไทยใหม่ เพื่อให้สะดวกแก่การใช้เขียนใช้พิมพ์ในอนาคต

ทรงคิดที่จะเอาตัวอักษรพยัญชนะและสระให้มาอยู่บนบรรทัดในระดับเดียวกันและเรียงสระอยู่หลังพยัญชนะเช่นอักษรยุโรป ทรงเรียกอักษรที่ทรงประดิษฐ์ขึ้นมาว่า อักษรอริยกะ"

อักษรอริยกะที่พระองค์ทรงไว้ มีหลักฐานอยู่ในศิลาจารึกวัดราชประดิษฐฯ กรุงเทพฯ

นอกจากนั้นแล้วพระองค์ยังทรงใช้อักษรโรมันเขียนภาษาไทยในการติดต่อกับมิชชันนารี อันมีตัวอย่างคือพระราชหัตถเลขาถึงบาทหลวงหลุยส์ ลาโนดี ลงวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2410 (ค.ศ. 1867)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่