สุรชาติ บำรุงสุข การปฏิรูปกองทัพ : ปัญหาการจัดหายุทโธปกรณ์

การปฏิรูปกองทัพ : ปัญหาการจัดหายุทโธปกรณ์
ยุทธบทความ   สุรชาติ บำรุงสุข  มติชนสุดสัปดาห์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1437283112

"ยุทธศาสตร์เป็นเรื่องเกี่ยวกับความเป็นไปได้
ไม่ใช่เรื่องของความหวังและความฝันใดๆ ทั้งสิ้น"

Franklin C. Spinney

นักการทหารชาวอเมริกัน



การปฏิรูปทหารเป็นหัวข้อหนึ่งที่สำคัญในกิจการด้านความมั่นคงของทุกประเทศแต่เส้นทางของการปฏิรูปนี้ก็แตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ และดูจะเป็นเรื่องที่ถูกกำหนดจากเงื่อนไขภายในและภายนอกที่แตกต่างกันออกไป

    โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกกำหนดจากเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์ของกองทัพและการเมืองในแต่ละประเทศนั่นเอง

    แต่สำหรับนักการทหารในบางประเทศที่ถูกครอบงำด้วยความคิดเชิงปริมาณแล้วการปฏิรูปถูกทำให้มีความหมายเพียงการมีอาวุธมากขึ้น เพราะการมีอาวุธเช่นนี้ถูกตีความว่าเป็นการสร้างศักยภาพกำลังรบ หรืออีกมุมหนึ่งในทัศนะของนักต่อสู้เพื่องบประมาณทหาร

    การปฏิรูปหมายถึงกองทัพมีงบประมาณในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์อย่างที่ต้องการได้มากขึ้น

    ชุดความคิดการปฏิรูปกองทัพในทัศนะเช่นนี้ทำให้นักการทหารถูกความต้องการด้านงบประมาณบดบังปัญหาทางยุทธศาสตร์ของประเทศ

    หรือในอีกด้านหนึ่งของปัญหาก็คือการเอาความต้องการมียุทโธปกรณ์เป็นปัจจัยหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติและยุทธศาสตร์ทหาร

    อันทำให้พลังอำนาจทางยุทธศาสตร์ของรัฐถูกตีความอยู่ในกรอบของการมียุทโธปกรณ์แบบใหม่ๆที่มีสมรรถนะสูงประจำการอยู่ในกองทัพ และเชื่ออย่างง่ายๆ ด้วยการละเลยปัจจัยอื่นๆ ในการพัฒนาศักยภาพกำลังรบของกองทัพ และวางน้ำหนักไว้กับเพียงการมียุทโธปกรณ์

    หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ อาวุธที่เหนือกว่าจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินชัยชนะในการรบ ซึ่งก็คือความเชื่อแบบสุดโต่งว่า อาวุธคือ "ปัจจัยชี้ขาด" ในการสงคราม

นักคิดในสำนักความเชื่อเช่นนี้น่าจะถูกเรียกว่า "สำนักอาวุธนิยม" และวิธีคิดดังกล่าวถูกฝังรากลึกอยู่ในหลายๆ กองทัพ เพราะอาวุธเป็นปัจจัยที่เป็นรูปธรรมที่บ่งบอกถึงความเหนือกว่าของคู่กรณี แต่หากเราคิดด้วยความมีสติเมื่อใด ก็จะตอบได้ทันทีว่าอาวุธเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการสงคราม และในหลายชัยชนะในสงครามก็มิได้ถูกตัดสินด้วยความเหนือกว่า และ/หรือสมรรถนะสูงกว่าของยุทโธปกรณ์

    ดังเช่นครั้งหนึ่ง พลเอกนอร์แมน ชวาร์ตซคอปฟ์ (Gen. Norman Schwartzkopf) ผู้บังคับบัญชากองกำลังของฝ่ายพันธมิตร (Coalition Forces) ในสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 ได้กล่าวด้วยความมั่นใจว่า แม้ทหารภายใต้บังคับบัญชาของเขาจำต้องแลกอาวุธกับฝ่ายอิรักแล้ว เขาก็ยังเชื่อว่าฝ่ายเขาจะยังคงเป็นผู้กำชัยชนะในสงครามครั้งนี้ไม่เปลี่ยนแปลง

    หรืออาจกล่าวได้ว่าหากกองทัพพันธมิตรจะใช้อาวุธของกองทัพอิรักที่เห็นได้ชัดว่ามีสมรรถนะด้อยกว่า ก็จะไม่ทำให้ผลของการสงครามในปี 1991 เปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด

    คำกล่าวเช่นนี้บ่งบอกอย่างชัดเจนว่า ชัยชนะในสงครามอ่าวเปอร์เซียครั้งนั้นหาได้เกิดจากปัจจัยความเหนือกว่าของยุทโธปกรณ์ในกองทัพของสหรัฐแต่อย่างใดไม่

    หากแต่การเน้นให้เห็นอำนาจของยุทโธปกรณ์สมรรถนะสูงเป็นคำอธิบายที่ง่ายกว่าจนทำให้เราลืมนึกถึงองค์ประกอบอื่นที่สำคัญ โดยเฉพาะปัจจัยด้านคุณภาพของกำลังพล...

นักคิดในสำนักอาวุธนิยมมองเห็นแต่ "อำนาจการยิง" ที่เหนือกว่าเป็นด้านหลัก และเชื่อว่าอำนาจทำลายของอาวุธสมรรถนะสูงเป็นเงื่อนไขหลักของการพ่ายแพ้ของกองทัพอิรัก สภาพเช่นนี้ดูจะละเลยประเด็นสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ การวางแผนทางยุทธศาสตร์ทหารที่มีส่วนอย่างสำคัญต่อชัยชนะที่เกิดขึ้น

    คำอธิบายไม่แตกต่างกันเมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐสภาอเมริกันได้สนทนากับหัวหน้าเสนาธิการของกองทัพอากาศอิสราเอล(หรืออีกนัยหนึ่งก็คือผู้บัญชาการทหารอากาศ) ในปี 1983 ว่า ถ้าแม้นนักบินอิสราเอลจะต้องบินทำการรบด้วยเครื่องบินมิกของซีเรียแล้ว เขาก็เชื่ออย่างมั่นใจว่า แม้นักบินซีเรียจะบินด้วยเครื่องบินแบบเอฟ-15 และเอฟ-16 ของอเมริกัน ผลของสงครามด้วยอัตราการสูญเสียของซีเรียต่ออิสราเอลที่ 83 : 0 ก็จะไม่เปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด

(สงครามทางอากาศครั้งนี้เกิดขึ้นเมื่อกองทัพอิสราเอลบุกเลบานอนในปี 1982)

ถ้าจะว่ากันตามจริงด้วยหลักฐานจากประวัติศาสตร์สงครามแล้ว เราอาจจะพบว่ามีหลายการรบที่ฝ่ายที่มีอาวุธเหนือกว่าเป็นฝ่ายแพ้ ดังเช่นการรบในช่วงต้นของปี 1940 ในยุโรป กองทัพบกอังกฤษและฝรั่งเศสมีรถถังที่เหนือกว่ากองทัพบกเยอรมนี ไม่ว่าจะพิจารณาจากเกราะของรถถังหรืออำนาจการยิงก็ตาม

    แต่ด้วยความเหนือกว่าทางความคิด (หรืออาจจะเรียกว่าแผนการยุทธ์) ของเยอรมนีภายใต้แนวคิด "สงครามสายฟ้าแลบ" ที่เปิดการรุกและเจาะแนวตั้งรับของกองทัพบกฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างรวดเร็วนั้น ทำให้เยอรมนีเป็นฝ่ายกุมอำนาจความริเริ่มในการสงครามไว้ในมือ

    และด้วยการรุกอย่างรวดเร็วเช่นนี้ กองทัพบกเยอรมนีใช้ระยะเวลาไม่นานนัก ปารีสก็แตก... กำลังพลของอังกฤษและฝรั่งเศสต้องถอยร่นไปรอการอพยพครั้งใหญ่ที่ชายหาดของเมืองดังเคิร์ก

    การสงครามทางอากาศในสงครามโลกครั้งที่2 ก็มีบทเรียนให้ต้องคิดในประเด็นเช่นนี้ ในช่วงปลายสงครามประมาณปี 1944-1945 กองทัพอากาศเยอรมนีมีเครื่องบินรบที่เหนือกว่าเครื่องบินของฝ่ายสัมพันธมิตรมาก โดยเฉพาะเครื่องบินเจ็ตแบบ เอ็มอี-262 (Me-262)

แต่เครื่องบินเจ็ตก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของสงครามได้

    กองทัพอากาศของฝ่ายสัมพันธมิตรเป็น"ผู้ครองอากาศ" และทำลายศักยภาพในการทำสงครามของเยอรมนี

    จนสุดท้าย ศักย์สงครามที่ถูกทำลายลงเช่นนี้ทำให้พลังอำนาจทางทหารของกองทัพเยอรมนีหมดลงจนไม่อาจดำรงสภาพในการทำสงครามต่อไปได้อีก

    และในอีกมุมหนึ่งของปัญหาเช่นนี้กลับพบว่าเครื่องบินรบที่มีส่วนทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะสงครามทางอากาศในยุโรปกลับเป็นเครื่องบินที่ใช้เครื่องยนต์ใบพัดแบบพี-51(P-51 Mustang) และเป็นเครื่องบินราคาต่ำเมื่อเทียบกับราคาของเอ็มอี-262

เครื่องนี้ทำหน้าที่เป็นทั้งเครื่องคุ้มกันเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินขับไล่ในขณะเดียวกันด้วยสภาพเช่นนี้ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นผู้ "ครองอากาศ" ในสงครามยุโรปจนกระทั่งสิ้นสุดสงคราม เครื่องบินรบสมรรถนะสูงที่เป็นเครื่องบินเจ็ตกลับไม่สามารถเปลี่ยนเส้นทางสงครามได้แต่อย่างใด

    ด้วยสภาพเช่นนี้ทำให้มีคนยกย่องว่าเครื่องพี-51เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชนะการสงครามทางอากาศในยุโรปได้

การกล่าวเช่นในข้างต้นมิได้ต้องการจะบอกว่ารัฐสามารถเข้าสู่สงครามได้โดยไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านอาวุธ และเราไม่ควรจะต้องคำนึงถึงปัจจัยด้านนี้ หากแต่สิ่งที่นักการทหารจะต้องคิดเสมอก็คือ อาวุธไม่ว่าจะดีเพียงใดก็ตาม แต่ผู้ใช้คือมนุษย์

    ดังนั้น การจะทำให้อาวุธมีประสิทธิภาพได้จึงต้องการผู้ใช้ที่มีความมุ่งมั่นที่จะทำการรบ

    และขณะเดียวกันก็เป็นผู้ที่ได้รับการฝึกมาเป็นอย่างดีเพื่อทำให้การใช้อาวุธนั้นเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

    ตัวอย่างของกองทัพอิรักในการรบที่โมซุลกับกลุ่มรัฐอิสลาม(IS) ในช่วงกลางปี 2014 เป็นคำตอบที่ดีในกรณีนี้

    กองทัพอิรักมีอาวุธที่เหนือกว่านักรบกองโจร และมีปริมาณกำลังพลมากกว่ากลุ่มรัฐอิสลามอย่างมาก

    แต่อาวุธที่เหนือกว่าและกำลังพลที่มากกว่ากลับกลายเป็นปัจจัยที่ไม่ส่งผลต่อการชี้ขาดชัยชนะในสงครามครั้งนี้แต่อย่างใด...

ทหารในกองทัพตัดสินใจหันหลังให้แก่กองทหารข้าศึกพวกเขาไม่มีกำลังใจที่จะรบ

    ว่าที่จริงก็อาจไม่แตกต่างจากสงครามอ่าวเปอร์เซียในปี 1991 เท่าใดนัก แม้พวกเขาจะมียุทโธปกรณ์อย่างดีหลายชนิดของโซเวียต แต่พวกเขากลับใช้อาวุธเหล่านี้อย่างไร้ประสิทธิภาพ

    และที่สำคัญอีกส่วนหนึ่งก็คือ พวกเขาดูจะไม่มีกำลังใจที่สู้รบเท่าใดนัก เมื่อต้องเผชิญกับการรุกของกองกำลังของฝ่ายพันธมิตร

    ซึ่งก็อาจจะไม่แตกต่างกับความพ่ายแพ้ของกองทัพสหรัฐในสงครามเวียดนาม


ถ้าอาวุธเป็นปัจจัยชี้ขาดแล้วเราจะอธิบายการต้องถอนตัวของสหรัฐออกจากสงครามเวียดนามไม่ได้เลย แต่เมื่ออาวุธไม่ใช่ปัจจัยหลักที่จะตัดสินผลของสงครามแล้ว นักคิดในสำนัก "อาวุธนิยม" จะต้องไม่ยึดติดกับการแสวงหายุทโธปกรณ์ที่ไม่ชัดเจนว่าอาวุธดังกล่าวจะตอบโจทย์ทางยุทธศาสตร์ของประเทศอย่างไร

    สมมติถ้าเราจะทดลองคิดถึงการตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ใหม่แทนที่จะตอบด้วยการมียุทโธปกรณ์เป็นประเด็นหลักแล้ว

    เราก็น่าจะเห็นแง่มุมทางยุทธศาสตร์ที่แตกต่างออกไปเช่น


1)เป็นไปได้ไหมที่เราจะปรับยุทธศาสตร์ใหม่ เพราะโดยปกติของความเป็นทหาร นักคิดในกองทัพจึงมักชอบที่จะคิดถึง "ยุทธศาสตร์เชิงรุก" (Offensive Strategy) และในยุทธศาสตร์ที่ถูกคิดเช่นนี้ก็มักจะหนีไม่พ้นการมียุทโธปกรณ์ใหม่ๆ และยิ่งเป็นอาวุธเชิงรุก (Offensive Weapons) แล้ว ก็น่าจะสอดรับกับยุทธศาสตร์เช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง

    และเรือดำน้ำเป็นหนึ่งในตัวแบบที่ชัดเจนของวิธีคิดเช่นนี้อีกทั้งเชื่อว่าสงครามทางทะเลสมัยใหม่สามารถเอาชนะกองเรือข้าศึกได้ด้วยการมีเรือดำน้ำ

    หรือนักคิดบางคนยังยึดอยู่กับโลกยุคอาณานิคมที่มีประเด็นของการ"ปิดปากอ่าว" เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของรัฐมหาอำนาจในการกดดันรัฐบาลของชนพื้นเมือง และเรือดำน้ำจะใช้เป็นอาวุธในการทำลายการปิดปากอ่าว

    ทั้งที่ในโลกที่เป็นจริง การปิดปากอ่าวแบบยุคอาณานิคมแทบจะเป็นไปไม่ได้อีกต่อไป แต่อิทธิพลทางประวัติศาสตร์ยังเป็นปัจจัยของการสร้างความกลัวอยู่มาก

    แต่หากคิดว่ายุทธศาสตร์ที่สำคัญในอนาคตน่าจะเป็น"ยุทธศาสตร์เชิงรับ" (Defensive Strategy) ที่ยึดมั่นว่า รัฐจะหลีกเลี่ยงการทำสงคราม การสร้างความเข้มแข็งของรัฐ อาจจะเป็นไปในแบบของการเน้นถึงการสร้างความร่วมมือระหว่างรัฐ และยึดมั่นว่า "เราจะไม่เข้าสงครามตราบเท่าที่เราไม่ถูกโจมตี"

การยึดหลักการเช่นนี้ก็ด้วยตระหนักว่า สงครามอาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่มีราคาแพงเกินไป

    และขณะเดียวกันการใช้เครื่องมือนี้ก็อาจจะให้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่าซึ่งแตกต่างจากการคิดถึงสงครามของโลกในอดีต

    ขณะเดียวกัน การใช้ยุทธศาสตร์เช่นนี้อาจจะมีส่วนต่อการช่วยลดค่าใช้จ่ายทางทหารของประเทศลงได้ในอนาคตด้วย แม้แนวคิดนี้อาจจะไม่ถูกใจต่อนักคิดในสำนักอาวุธนิยม หรือนักการทหารสายเหยี่ยว ซึ่งมักต้องการผลักดันแนวคิดในแบบ "ทหารนิยม" ในยุทธศาสตร์ของประเทศ มากกว่าการเน้นยุทธศาสตร์ทางการเมือง


2)จะทำอย่างไรที่ความต้องการยุทโธปกรณ์ของกองทัพจะสอดรับกับยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำถามที่จะต้องตอบให้ได้ก็คือ เราจะซื้ออาวุธเพื่อรบกับใคร

    หรือในทำนองเดียวกัน ใครคือข้าศึกที่เราจะต้องเตรียมกำลังเพื่อทำสงครามด้วยในอนาคต

    โจทย์ยุทธศาสตร์เช่นนี้ต้องการคำตอบอย่างเป็นจริงและไม่ต้องการคำตอบประเภทที่ว่าถ้าไม่ซื้อวันนี้แล้ว ถ้าเกิดปัญหาขึ้น จะซื้อไม่ทันการ

    หรือถ้ามีแล้ว จะช่วยให้เกิดอำนาจในการป้องปราม ซึ่งก็จะนำกลับมาสู่คำถามว่า ถ้าจะป้องปรามแล้ว อาวุธนี้จะใช้เพื่อป้องปรามใคร

    อย่างไรก็ตาม การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายถึงว่ารัฐไม่จำเป็นต้องลงทุนในการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์ให้แก่กองทัพ

    แต่ปัญหาที่ต้องการคำตอบที่ชัดเจนก็คือจะซื้ออะไรที่รองรับต่อความต้องการทางยุทธศาสตร์ของประเทศในอนาคตเพราะระบบอาวุธที่ปราศจากความต้องการทางยุทธศาสตร์รองรับแล้ว ระบบอาวุธนั้นก็ดำรงอยู่อย่างไม่มีคุณค่าทางยุทธศาสตร์

    สิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นก็เพื่อจะแสดงให้เห็นว่าการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นประเด็นสำคัญทางยุทธศาสตร์ของประเทศเสมอไม่ว่าประเทศนั้นจะอยู่ในสถานะใดก็ไม่แตกต่างกัน แต่ขณะเดียวกันทุกประเทศก็มีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างกัน อันอาจกล่าวได้ว่าไม่มีกองทัพของประเทศใดที่จะได้อาวุธทุกอย่างที่ต้องการ

    ในท้ายที่สุดแล้ว ปัญหาทั้งหมดนี้ก็คือหนึ่งในโจทย์ของการปฏิรูปทหาร... ทำอย่างไรที่จะปฏิรูปกระบวนการจัดซื้อจัดหายุทโธปกรณ์โดยมียุทธศาสตร์ที่แท้จริงรองรับ และขณะเดียวกัน การซื้อก็เกิดจากความต้องการทางยุทธศาสตร์เพื่อตอบสนองต่อโจทย์ความมั่นคงของประเทศในอนาคต ไม่ใช่สนองกระเป๋าของใครในปัจจุบัน!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่