พลิกพงศาวดาร ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง ๙ ก.ค.๕๘

กระทู้สนทนา
พลิกพงศาวดาร

ตอน ราชทูตไทยไปเมืองฝรั่ง

พ.สมานคุรุกรรม

ครั้นถึงปีระกา มีฝรั่งนายกำปั่นผู้หนึ่งบรรทุกสินค้าเข้ามาค้าขาย ณ กรุงเทพมหานคร ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินโปรดให้ต่อกำปั่นใหญ่ลำหนึ่ง เมื่อเสร็จแล้วจะเอาออกจากอู่ จึงให้ล่ามถามพ่อค้าฝรั่งเศสนั้นว่าจะกระทำอย่างไร จึงจะเอาออกได้ง่าย ฝรั่งผู้นั้นมีปัญญามากชำนาญในการรอกกว้าน จึงให้ล่ามกราบทูลพระกรุณา รับอาสาจะเอากำปั่นออกจากอู่ให้ โดยแต่งการผูกรอกกว้านแลจักร ชักลากกำปั่นออกจากอู่ลงสู่ท่าน้ำได้โดยสะดวก

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโสมนัสพระราชทานรางวัลเป็นอันมาก แล้วโปรดตั้งให้เป็น หลวงวิชาเยนทร์ พระราชทานที่บ้านเรือนแลเครื่องยศให้อยู่ทำราชการในกรุงนี้ แลหลวงวิชาเยนทร์นั้นก็มีความสวามิภักดิ์อุตสาหะในราชกิจต่าง ๆ มีความชอบมาก จึ่งโปรดให้เลื่อนเป็นพระวิชาเยนทร์ ครั้นนานมากระทำการงานว่ากล่าวได้ราชการมากขึ้น จึงโปรดให้เลื่อนเป็นพระยา วิชาเยนทร์

อยู่มาวันหนึ่งจึงมีพระราชโองการตรัสถามว่า ในเมืองฝรั่งเศสโน้นมีของวิเศษประหลาดประการใดบ้าง พระยาวิชาเยนทร์ก็กราบทูลสรรเสริญสรรพสิ่ง เช่น นาฬิกา ปืนลม ปืนไฟ กล้องส่องทางไกลให้เห็นใกล้ เป็นต้น ทั้งเงินทองก็มีมาก ในพระราชวังของพระเจ้าฝรั่งเศสนั้น หลอมเงินเป็นท่อนแปดเหลี่ยม ใหญ่ประมาณสามกำ ยาวเจ็ดศอกแปดศอก ประดุจท่อนเสากองอยู่ตามริมถนนเป็นอันมาก กำลังคนแต่สามสิบสี่สิบคนจะยกท่อนเงินขึ้นมิได้ไหว

ภายในท้องพระโรงนั้นดาษพื้นด้วยศิลามีสีต่าง ๆ จำหลักลาย ฝังด้วยเงินแลทอง แลแก้วต่างสีเป็นลดาวัลย์ แลต้นไม้ดอกไม้ภูเขาแลรูปสัตว์ต่าง ๆ พื้นผนังนั้นก็ประดับด้วยกระจกภาพ กระจกเงาอันวิจิตรพิศวง เบื้องบนเพดานนั้นให้แผ่แผ่นทองบางดุจแผ่นทองอังกฤษ ตัดเป็นเส้นน้อย ๆ แล้วผูกเป็นพู่พวงห้อยย้อย แลแขวนโคมแก้วมีสัณฐานต่าง ๆ สีแก้วแลสีทองก็รุ่งเรืองโอภาสงามยิ่งนัก

สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงฟังพระยาวิชาเยนทร์ กราบทูลพรรณนาสมบัติ ณ เมืองฝรั่งเศสวิเศษต่าง ๆ แล้วก็มิได้ทรงเชื่อ มีพระราชดำริใคร่จะเห็นความจริง จึ่งมีพระราชดำรัสแก่เจ้าพระยาโกษาธิบดี เดิมคือขุนเหล็กว่า

“ เราจะแต่งกำปั่นให้ไปถึงเมืองฝรั่งเศส จะได้ผู้ใดเป็นนายกำปั่นออกไปสืบดูของวิเศษ ยังจะมีจริงสมเหมือนคำพระยาวิชาเยนทร์หรือประการใด “

เจ้าพระยาโกษาธิบดีจึงกราบทูลว่า

“ ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นผู้อื่น ซึ่งจะเป็นนายกำปั่นไปถึงเมืองฝรั่งเศสได้ เห็นแต่นายปานผู้น้องข้าพระพุทธเจ้าผู้เดียว อาจไปสืบข้อราชการ ณ เมืองฝรั่งเศส ดุจกระแสพระราชดำริได้ “

จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งให้หา นายปาน เข้ามาเฝ้าแล้วตรัสว่า

“ ไอ้ปาน มีสติปัญญาอยู่ กูจะใช้ให้เป็นนายกำปั่นไป ณ เมืองฝรั่งเศส สืบดูสมบัติพระเจ้าฝรั่งเศส ยังจะมีสมดั่งคำพระยาวิชเยนทร์กล่าว หรือจะมิสมประการใด “

นายปานกราบทูลพระกรุณารับอาสาจะไปเมืองฝรั่งเศส สืบให้ได้ราชการตามรับสั่ง แล้วก็กราบถวายบังคมลาออกไปจัดแจงการทั้งปวง

นายปานจึงจัดหาพวกฝรั่งเศส เข้ามาเป็นล้าต้าต้นหนคนท้ายและลูกเรือพร้อมเสร็จแล้ว ก็ให้เที่ยวสืบหาคนดีมีวิชา จนได้อาจารย์คนหนึ่ง ได้เรียนในพระกรรมฐาน ชำนาญญาณกสิน แลรู้วิชาการต่าง ๆ แต่เป็นนักเลงสุรา ยินดีจะไปด้วย

นายปานยินดีนักจึงให้เจ้าพระยา โกษาธิบดี ผู้พี่ชาย พาเข้าเฝ้ากราบถวายบังคมลา

พระพุทธเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาตรัสสั่งให้แต่งพระราชสาส์น และแต่งตั้งให้นายปานเป็นราชทูต กับข้าหลวงอื่นเป็นอุปทูตและตรีทูต ให้นำพระราชสาส์นคุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ ออกไปจำเริญทางพระราชไมตรี ณ เมืองฝรั่งเศส ตามพระราชประเพณี แล้วพระราชทานรางวัลแลเครื่องยศ แก่
ทูตานุทูตโดยควรแก่ฐานานุศักดิ์

ครั้นได้ฤกษ์ นายปานราชทูตกับอุปทูตแลตรีทูต ก็กราบถวายบังคมลาพาพรรคพวกบ่าวไพร่ ลงกำปั่นใหญ่ใช้ใบออกจากพระนครไปในท้องทะเล ประมาณสี่เดือนก็บรรลุถึงวังวนใหญ่ใกล้ปากน้ำเมืองฝรั่งเศส บังเกิดเหตุเป็นลมพายุใหญ่พัดพากำปั่นไปในกลางวนเวียนอยู่ถึงสามวัน บรรดาคนในกำปั่นร่ำร้องไห้รักชีวิตอื้ออึงไป

แต่นายปานราชทูตยังมีสติอยู่ จึงปรึกษาอาจารย์ว่า

“ กำปั่นของเราลงเวียนอยู่ในวนถึงสองสามวันแล้ว ท่านจะคิดอ่านประการใด กำปั่นจึงจะพ้นวนได้ เราทั้งหลายจึงจะรอดพ้นจากความตาย “

อาจารย์จึงเล้าโลมเอาใจราชทูตว่า ท่านอย่าตกใจ เราจะแก้ไขให้พ้นภัยจนได้ แล้วให้แต่งเครื่องสักการบูชาจุดธูปเทียน แล้วอาจารย์จึ่งนุ่งขาวห่มขาวเข้านั่งสมาธิ จำเริญพระกรรมฐานทางวาโยกสิณ ชั่วครู่หนึ่งจึงบันดาลเกิดมหาวาตะพายุใหญ่ หวนหอบเอากำปั่นนั้นขึ้นพ้นจากวนได้ คนทั้งหลายก็มีความยินดียิ่งนัก

กำปั่นนั้นแล่นต่อไปจนถึงปากน้ำเมืองฝรั่งเศส แจ้งแก่นายด่านแลผู้รักษาเมืองกรมการว่า เป็นกำปั่นมาแต่พระมหานครศรีอยุธยา โปรดให้ทูตานุทูตจำทูลพระราชสาส์น คุมเครื่องมงคลราชบรรณาการ มาจำเริญทางพระราชไมตรีต่อพระเจ้ากรุงฝรั่งเศส เจ้าเมืองกรมการก็บอกข้อราชการขึ้นไปกราบบังคลทูลให้ทราบ

พระเจ้าฝรั่งเศสจึงโปรดให้เสนาบดีจัดแจงเรือแห่ ลงมารับพระราชสาส์น กับทั้งทูตานุทูตขึ้นไปยังพระนคร ให้พำนักอยู่ ณ ตึกสำหรับรับแขกเมือง แล้วโปรดให้ทูตานุทูตเข้าที่เสด็จออก ถวายพระราชสาส์นแลเครื่องมงคลราชบรรณาการ

พระเจ้าฝรั่งเศสดำรัสพระราชปฏิสันถาร และให้เลี้ยงทูตานุทูตตามธรรมเนียม กับสั่งให้ล่ามถามทูตถึงทางอันมาในทะเลนั้นสะดวกดี หรือมีเหตุการณ์ประการใดบ้าง

ครั้นได้ทรงทราบว่ากำปั่นตกวนเวียนอยู่ในวนใหญ่ถึงสามวัน จึงขึ้นพ้นมาได้ ก็ให้สงสัยพระทัยนัก ด้วยว่าแต่ก่อนแม้ว่ากำปั่นลำใดตกลงในวนนั้นแล้ว วนก็จะดูดจมลงไปสิ้น มิอาจรอดขึ้นได้แต่สักลำหนึ่ง จึงให้ล่ามซักถามทูตอีก ทูตให้การยืนคำอยู่ก็มิได้ทรงเชื่อ จึงให้สืบถามบรรดาฝรั่งเศสลูกเรือ ต่างก็ให้การสมคำราชทูตทั้งสิ้น ทรงเห็นเป็นมหัศจรรย์นัก จึงให้ซักถามราชทูตว่าคิดอ่านแก้ไขประการใด กำปั่นจึงรอดพ้นจากวนได้

นายปานราชทูตได้กราบทูลว่า

“ ข้าพเจ้าคิดกระทำสัตยาธิฐาน ขอเอาพระกฤษฎานุภาพแห่งสมเด็จพระพุทธ เจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ซึ่งเริ่มแรกจะผูกพระราชสัมพันธ์มีแก่กัน ขอจงอย่าได้เสียสูญขาดทางพระราชไมตรีจากกันเลย เอาความสัจจาข้อนี้เป็นที่พำนัก ด้วยพระเดชพระคุณพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองฝ่าย ก็บันดาลเกิดเป็นมหาวาตะพายุใหญ่ พัดหวนหอบเอากำปั่นพ้นจากวนได้ “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสได้ทรงฟังคำราชทูตก็เห็นจริงด้วย พระราชดำริว่าพระเจ้ากรุงศรีอยุธยามีบุญญามากเสมอด้วยพระองค์ ก็ทรงพระมหากรุณาแก่ราชทูต พระราชทานรางวัลเป็นอันมาก

อยู่มาวันหนึ่งจึ่งให้หาทูตานุทูตเข้ามาเฝ้าหน้าพระลาน แล้วให้หาพลทหารฝรั่งแม่นปืนห้าร้อย เข้ามายิงให้แขกเมืองดู ให้แบ่งกันออกเป็นสองพวก พวกละสองร้อยห้าสิบ ยืนเป็นสองแถว ยิงปืนให้กระสุนกรอกเข้าไปในลำกล้องปืนแห่งกันและกันทั้งสองฝ่าย มิได้พลาดผิดแต่สักครั้ง แล้วให้ล่ามถามราชทูตว่า ทหารแม่นปืนดังนี้พระนครศรีอยุธยามีหรือไม่

นายปานราชทูตให้ล่ามกราบทูลว่า ทหารแม่นปืนอย่างนี้พระเจ้ากรุงศรีอยุธยามิได้นับถือใช้สอย พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังก็เคืองพระทัย จึงให้ซักถามทูตว่าพระเจ้ากรุงไทยนับถือทหารฝีมือประการใดเล่า ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระเจ้ากรุงไทยทรงนับถือใช้สอยทหารคนดีมีวิชา อันทหารแม่นปืนเหมือนดังนี้ จะยิงใกล้แลไกลก็มิได้ถูกต้องกายทหาร บางจำพวกเข้าไปในระหว่างข้าศึกมิได้เห็นตัว ลอบตัดเอาศรีษะนายทัพนายกองพวกข้าศึกมาถวายได้ ทหารบางพวกคงทนอาวุธต่าง ๆ จะยิงฟันแทงประการใดมิเข้า แลทหารมีวิชาอย่างนี้ จึงทรงพระกรุณาชุบเลี้ยงใช้สอยสำหรับพระนคร “

พระเจ้ากรุงฝรั่งเศสมิได้ทรงเชื่อ ตรัสว่าราชทูตไทยเจรจาอ้างอวดเกินหนัก จึ่งสั่งให้ซักถามว่า

“ ทหารไทยซึ่งมีวิชาเหมือนว่านั้น มีมาในกำปั่นบ้างหรือไม่ จักสำแดงถวายจะได้หรือมิได้ “

ราชทูตได้เห็นวิชาของอาจารย์มาแล้ว จึงให้ทูลว่าทหารที่เกณฑ์มาสำหรับกำปั่นนี้ เป็นทหารกองนอกมีวิชาแต่อย่างกลาง จะสำแดงถวายให้ปรากฎก็ได้ จึงสั่งให้ถามว่าจะสำแดงได้อย่างไร ราชทูตให้ทูลว่า

“ ขอรับพระราชทานให้ทหารที่แม่นปืนทั้งห้าร้อยนี้ จงระดมยิงเอาทหารของข้าพระพุทธเจ้าโดยไกลและใกล้ ทหารข้าพระพุทธเจ้าจะห้ามกระสุนเสียทั้งสิ้น มิให้ตกต้องกาย “

พระเจ้าฝรั่งเศสได้ทรงฟังเกรงพลทหารฝรั่งจะยิงทหารไทยตาย จะเสียทางพระราชไมตรีไป จึงสั่งห้ามการนั้นเสีย ราชทูตให้กราบทูลว่า

“ พระองค์อย่าทรงพระวิตกเลย ทหารข้าพระพุทธเจ้ามีวิชาอาจจะห้ามได้ ซึ่งกระสุนปืนมิให้ต้องกายได้เป็นแท้ จะเป็นอันตรายนั้นหามิได้ เวลาพรุ่งนี้ขอได้ตั้งเบญจาสามชั้น ในหน้าพระลาน ให้ดาดเพดานผ้าขาว แลปักราชวัตรฉัตรธงล้อมรอบ แล้วให้ตั้งเครื่องโภชนาหาร มัจฉะมังสาสุราบานไว้ให้พร้อม ให้ป่าวร้องชาวพระนครมาคอยดูทหารข้าพระพุทธเจ้า จะสำแดงวิชาให้ปรากฎเฉพาะหน้าพระที่นั่ง “

แล้วนายปานราชทูตกรุงศรีอยุธยา ก็ถวายบังคมลาออกมาสู่ที่พำนัก พระเจ้าฝรั่งเศสก็รับสั่งให้จัดแจงการทั้งปวงพร้อม ตามคำราชทูตทุกประการ

รอเวลาที่ทหารไทยจักได้สำแดงวิชา ในวันรุ่งขึ้น.

############
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่