จากแพะภูเขาถึงล่องแก่งน้ำว้ากับความเข้าใจในการแก้ปัญหาสังคม

ครั้งหนึ่งเจ้าสัวธนินท์เคยเล่านิทานให้ฟังว่า มีคนเอาพันธุ์แพะภูเขาที่เลี้ยงง่ายและให้ลูกดกไปให้ชาวบ้านในหมู่บ้านลองเลี้ยง และบอกกับชาวบ้านว่า
ต่อไปแพะจะเพิ่มจากไม่กี่สิบตัวเป็นร้อยเป็นพันตัว ทำให้ชาวบ้านร่ำรวย แต่พอถึงสิ้นปี แพะกลับเหลือไม่กี่ตัว เพราะที่เหลือถูกชาวบ้านกินหมดแล้ว คนที่เอาแพะไปให้ก็สงสัยว่า ทำไมชาวบ้านพูดไม่รู้เรื่อง ก็บอกอยู่ว่า แพะพวกนี้จะทำให้พวกเขารวย
จริงๆ แล้ว ชาวบ้านก็พอจะเข้าใจสิ่งที่เขาพยายามบอก แต่ชาวบ้านยากจน ต้องเอาแพะมากินเพื่อให้ชีวิตรอดก่อน

นิทานที่เจ้าสัวเล่ามาพยายามจะบอกอะไร?

ไม่นานมานี้ผู้เขียนได้มีโอกาสไปเมืองน่าน เมืองน่านและหลายจังหวัดในภาคเหนือกำลังประสบปัญหาการเผาทำลายป่า แม้ว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะออกมาทั้งปราบปราม ทั้งรณรงค์ให้ความรู้ถึงผลเสียของการบุกรุกทำลายป่า เผาป่าสักแค่ไหน ก็ไม่เป็นผล

ทำอย่างไรได้ล่ะ เหตุผลร้อยแปดที่ว่ามา ไม่ใช่ชาวบ้านเขาไม่เข้าใจ แต่ท้องมันร้อง ลูกเต้ายังต้องกินต้องใช้ เขาก็จำเป็นต้องทำ
ชาวบ้านที่นี่ก็คงอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ต่างกับชาวบ้านในนิทานที่เจ้าสัวเล่าให้ฟัง...

จังหวัดน่านภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาถึง 85%  (ความลาดชันเกินกว่า 30 องศา) ของเนื้อที่ทั้งจังหวัด พื้นที่ราบลุ่มมีน้อย ขณะที่ประชากรส่วนใหญ่ถึง 85% อยู่ในภาคการเกษตร ปัญหาการขาดพื้นที่ทำกินจึงเป็นปัญหาสำคัญของจังหวัดน่านที่ส่งผลให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาเป็นลูกโซ่ โดยเฉพาะปัญหาการรุกป่า และปัญหาหมอกควัน

แทนที่จะมองว่า ชาวบ้านไม่เข้าใจที่เราพยายามจะบอก ที่พยายามจะให้ความรู้ว่า การรุกป่ามันไม่ดี พวกเราคนเมืองทั้งหลายเองหรือเปล่าที่ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง?

...ไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านเขาก็ต้องมีรายได้
...ไม่เข้าใจว่า ชาวบ้านก็มีลูกเต้าต้องเลี้ยง
...ถ้าไม่ให้เขาขึ้นไปเพาะปลูกบนภูเขา แล้วเขาจะเอาเงินที่ไหนกิน?

เมื่อไม่เข้าใจ ก็แก้ไขปัญหากันไม่ตรงจุด ตีความไปว่า ชาวบ้านไม่มีความรู้ ก็เลยส่งคนไปพูดให้ฟัง ทำเอกสาร แผ่นป้ายรณรงค์มากมาย หรือถ้าใครตีความในมิติทางกฎหมาย ก็อาจจะไปแก้โดยการปราบปราม ส่งเจ้าหน้าที่ไปจับเสียให้หมด

ผู้เขียนได้มีโอกาสไปคุยกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติในพื้นที่ พบความจริงที่ว่า การไล่จับชาวบ้านไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แถมเจ้าหน้าที่อาจจะเจอปัญหาเข้าเสียเองอีกต่างหาก

ทำไมน่ะหรือ? ก็เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ไปจับกุมชาวบ้าน เจ้าหน้าที่จะถูกชาวบ้านทั้งชุมชนเกลียดชัง อย่าหวังเลยว่า ไปตลาดแล้วจะมีคนขายของให้ ครอบครัวของเจ้าหน้าที่เองจะถูกรังเกียจ ความปลอดภัยก็จะไม่มีอีกต่อไป อยู่ได้ไม่เป็นสุข เจ้าหน้าที่ที่ทนรับสภาพไม่ไหว ลาออกไปก็มีให้เห็นอยู่บ่อยๆ

ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐ ถูกมองว่า เป็นศัตรูกับชาวบ้านเสียแล้ว ก็ยากที่จะได้รับความร่วมมือ ปัญหาก็ไม่มีทางได้รับการแก้ไข
เมื่อไม่เข้าใจ ก็ตีความผิด ตีความผิดก็แก้ปัญหาผิด ไม่จบไม่สิ้น

ผู้เขียนได้ติดตามทีมงานโครงการธรรมชาติปลอดภัย (กลุ่มคนเล็กๆ ที่ผู้เขียนต้องยกนิ้วให้ในความอึด ถึก ลุย และมีความเพียรขั้นสูงจากกลุ่มธุรกิจครบวงจร :ข้าวโพด) ขึ้นไปที่อำเภอสันติสุข จังหวัดน่าน ดูสภาพพื้นที่ พบว่า มีการรุกป่า เผาป่าอยู่จริง และข้าวโพด ก็คือ พืชที่มักถูกกล่าวอ้างถึงว่า เป็นหนึ่งในสาเหตุของรุกป่าที่ว่านี้

อันที่จริงแล้ว การปลูกข้าวโพดบนภูเขานั้นได้ผลผลิตต่ำและเสี่ยงอันตราย (ปลูกๆ อยู่ ตกเขา เสียชีวิต ก็มีบ่อยๆ) แต่เราจะไปห้ามเกษตรกรเขาปลูกแบบตรงๆ ก็คงไม่ได้ ชาวบ้านไม่ฟังเราแน่ๆ แถมจะไล่ตะเพิดกลับมาอีก เพราะไปขัดขวางทางหารายได้เลี้ยงครอบครัว

หัวหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ที่ 2 จังหวัดน่าน ซึ่งอยู่ในพื้นที่เมืองน่านนี้มานาน มองเห็นปัญหา และรู้ว่า รากเหง้าของปัญหานั้นคือ เรื่องของปากท้อง การแก้ไขปัญหาด้วยการปราบปรามนั้นทำได้เพียงชั่วคราว แต่เมื่อท้องหิว ชาวบ้านก็ขึ้นมารุกป่าอีกอยู่ดี

แล้วจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านสมัครใจเลิกรุกป่า ลงมาจากภูเขาเอง?

กิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่ชื่อว่า “ล่องแก่งน้ำว้าแม่สะนาน” จึงเกิดขึ้นภายใต้การนำของหัวหน้าโครงการพัฒนาเพื่อความมั่นคงพื้นที่ลุ่มน้ำน่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ที่ 2 จังหวัดน่าน และการมีส่วนร่วมเล็กๆ จากโครงการธรรมชาติปลอดภัยในการจัดหาอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการดำเนินกิจการ เพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนคนต้นน้ำ เป็นอาชีพทางเลือกให้กับชาวบ้านทดแทนการขึ้นไปรุกป่าทำการเกษตรบนภูเขา

“ล่องแก่งน้ำว้าแม่สะนาน” จึงไม่ใช่แค่ธุรกิจท่องเที่ยว แต่เป็นความพยายามในการแก้ปัญหาให้กับชุมชนและสังคม
ที่นี่นอกจากจะให้ความสนุกตื่นเต้นในแบบที่ใกล้ชิดธรรมชาติแล้ว ใครที่ได้ไปยังได้มีส่วนช่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้ชาวบ้านเลิกรุกป่าและหันมาร่วมกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย




จุดเริ่มต้นของการแก้ไขปัญหา ต้องมาจากความเข้าใจ จริงๆ...

ปล. 1 ขอขอบคุณภาพประกอบจาก https://th-th.facebook.com/MaesananRafting ค่ะ
ปล. 2. เนื้อหาในบทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์และแนวคิดของเจ้าสัวให้กับผู้ที่สนใจ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงาน ดังนั้น ผู้เขียนของดพูดถึงประเด็นขัดแย้งทางสังคมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าสัว และ CP ในกระทู้นี้ค่ะ ^^

The Side Story
FB: https://www.facebook.com/Dhaninsidestory
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่