พลิกพงศาวดาร สิ้นวีรกษัตริย์ ๒ ม.ค.๕๘

กระทู้สนทนา
พลิกพงศาวดาร ตอนที่ ๒๒

                  สิ้นวีรกษัตริย์
                                    
                      พ. สมานคุรุกรรม

                    สมเด็จพระนเรศวรบพิตรเป็นเจ้า แลสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถ เมื่อเหยียบกรุงหงสาวดีแล้ว  ทั้งสองพระองค์จึ่งเสด็จเข้าไปนมัสการ   พระพุทธเจ้าพระเมาะตาว     ในเมืองหงสาวดี แล้วก็มีพระราชโองการตรัสแก่ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีมุขทั้งหลายว่า พระยาตองอูแต่งทูตานุทูตถือพระราชสาส์นไปถึงพระนคร ขอเป็นพระราชไมตรีด้วยเรา แลให้สัญญาอาณัติว่าจะยกทัพหลวงมา  แลจะช่วยกันรบเอาเมืองหงสาวดี     แล้วพระยาตองอูก็มิได้อยู่ท่าทัพหลวง แลยกมาปล้นเอาเมืองหงสาวดีเอง  อนึ่งครั้นรู้ว่าเรายกมายังเมืองหงสาวดี พระยาตองอูก็มิได้แต่งทูตานุทูต มาสำหรับการพระราชไมตรี  แลหนีไปเมืองตองอูนั้น เห็นว่าพระยาตองอูมิได้ครองโดยสัตยานุสัตย์  ควรเราจะยกทัพหลวงไปหาพระยาตองอูให้ถึงเมืองตองอู ให้รู้การซึ่งพระยาตองอู  จะเป็นซึ่งไมตรีด้วยเราหรือไม่

                    ส่วนพระยาละเคิ่งซึ่งใช้ทูตานุทูต  ถือพระราชสาส์นมาถวายบังคม ขอเป็นพระราชไมตรี แลว่าจะยกช้างม้ารี้พลมาช่วยงานพระราชสงคราม  แต่เมื่อทัพหลวงเสด็จมาถึงเมือง  หงสาวดีครั้งนั้น พระยาละเคิ่งก็มิได้ยกทัพมาเอง ดุจมีพระราชสาส์นมานั้น ใช้แต่ท้าวพระยาให้ยกทัพเรือพลห้าพันมาถึงตำบลตาว แลสั่งท้าวพระยาผู้นั้นให้ยกพลขึ้นเข้าทัพหลวงเสด็จงานพระราชสงคราม  เมื่อพระยาพระรามนำมากราบทูลพระกรุณา    พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์  ก็มีพระราชโองการตรัสแก่  ท้าวพระยาเสนาบดีมนตรีทั้งหลายว่า  พระยาละเคิ่งให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะยกมาเองช่วยการพระราชสงคราม แลซึ่งพระยาละเคิ่งมิได้ยกทัพมาเองให้แต่ท้าวพระยาถือพลมาเข้าทัพเราครานี้ เราจะเอาชาวละเคิ่งไปโดยเสด็จนั้นดูมิควร จึ่งมีพระราชโองการตรัสสั่งแก่พระยาพระราม ให้ห้ามชาวละเคิ่งมิให้โดยเสด็จ แลให้แต่งพระราชทานรางวัลไปแก่ชาวละเคิ่งผู้นั้นโดยบรรดาศักดิ์  แล้วก็ให้คืนไปยังทัพเรือ  แลพระบาทสมเด็จบรมบพิตร   พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์  จึงตรัสให้พระจันทบุรี แลขุนเพชรภักดี กับขุนหมื่นทั้งหลายอยู่รั้งเมืองหงสาวดี แล้วยกทัพหลวงเสด็จจากเมืองหงสาวดีไปทางเมืองตองอู

                    ส่วนพระยาตองอูครั้นไปถึงเมืองตองอู ก็แต่งขุนนางพม่าชื่อมางรัดออง   แลคนประมาณสองร้อย ให้ถือหนังสือกับพระธำรงค์เพชรสามยอดสำหรับพระเจ้าหงสาวดีทรง มาถวายเป็นทางพระราชไมตรี แต่บังเอิญมาเจอกับพระมหาเทพซึ่งเป็นทัพหน้าล่วงมาก่อนทัพหลวง มิทันได้พิจารณาว่าเป็นทูต จึงจับตัวมางรัดอองจำขังส่งมาถวายทัพหลวง   พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ จึงทรงพระบัญชาว่าพระมหาเทพทำมิชอบ  ให้ลงพระอาญาแก่พระมหาเทพ  แล้วก็ปล่อยมางรัดอองคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอู ซึ่งพระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ยกทัพหลวงเสด็จมาครานี้ ใช่จะเอาเมืองหงสาวดี  แลซึ่งพระยาตองอูให้ราชทูตเอาสาส์นไปเชิญเสด็จมาเมืองหงสาวดี แลพระยาตองอูจะเอาพลมาช่วยแล้วไซร้กลับมิได้อยู่คอยท่าทัพหลวง แลชิงปล้นเอาเมืองหงสาวดีนั้น  ได้ช้างดีม้าดีเท่าใด ให้แต่งไปถวายโดยคลองพระราชไมตรี แลทรงพระกรุณาจะเสด็จคืนไปยังพระนคร

                    พระยาตองอูก็ใช้มางรัดอองให้ออกมากราบทูลพระกรุณาว่า  ขอให้ทัพหลวงตั้งอยู่ในที่เสด็จถึงนั้นขออย่าเพ่อยกเข้าไป พระยาตองอูจะแต่งราชสาส์นแลเครื่องราชบรรณาการช้างม้า ซึ่งได้มาแต่เมืองหงสาวดีนั้นส่งออกมาถวาย จึ่งพระยารามกราบทูลพระกรุณาว่า  ซึ่งพระยาตองอูกราบทูลเชิญทัพหลวงงดอยู่นั้น  เหตุว่าพระยาตองอูจะแต่งการป้องกันเมืองยังมิพร้อมสรรพ จึ่งอุบายให้ออกมาห้าม  ประสงค์จะแต่งการซึ่งจะรบพุ่งนั้นให้เสร็จสรรพ ขออัญเชิญเสด็จทัพหลวงเข้าไปอย่าให้ทันพระยาตองอูตกแต่งบ้านเมืองให้มั่น

                    พระบาทสมเด็จพระบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ก็มีพระราชโองการ ตรัสให้ส่งมางรัดอองคืนเข้าไปยังเมืองตองอู ให้ว่าแก่พระยาตองอูว่าถ้ามิได้เสียสัจจะเป็นการพระราชไมตรีไซร้ ให้แต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่ออกมา แต่พระยาตองอูจะได้แต่งท้าวพระยาผู้ใดออกมาหามิได้ ก็ยกทัพหลวงเสด็จเข้าไปถึงเมืองตองอู เมื่อวันจันทร์ ขึ้นแปดค่ำ เดือนสี่ ปีกุนนั้น พระยาตองอูก็มิได้แต่งให้ออกมาเจรจาความเมืองในทางพระราชไมตรี  รุ่งขึ้นวันอังคาร   สมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จไปยืนพระคชาธาร ให้พลทหารเข้าล้อมเมืองตองอู แลตั้งค่ายล้อม  รอบทั้งสี่ด้าน หน้าค่ายในด้านทักษิณซึ่งทัพหลวงเสด็จอยู่นั้น เป็นพนักงานพระยาศรีสุพรรณ แลขุนหมื่นนายกองอีกหกนาย ด้านบูรพาเป็นพนักงานพระยาเพชรบูรณ์ หลวงมหาอำมาตย์ธิบดี เป็นนายกอง ด้านอุดรเป็นพนักงานเจ้าพระยาพระพิษณุโลก พระยากำแพงเพชร แลหมื่นภักดีศวรเป็นนายกอง  ด้านปราจีนเป็นพนักงานพระยานครราชสีมา ขุนอินทรบาลแสนภูมิโลกาเพชรศวรเป็นนายกอง

                       ขณะเมื่อพระยาตองอู ยินข่าวว่าทัพหลวงเสด็จไป ก็ให้ย้ายช้างใหญ่ทั้งปวงไปนอกเมืองถึงตำบลแม่ช้างใกล้แดนเมืองอังวะ  พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ได้ตรัสใช้ให้   พระมหาเทพเป็นนายกอง แลข้าหลวงทั้งปวงก็ยกไปถึงตำบลแม่ช้าง ได้ช้างพลายพังซึ่งพระยาตองอูให้เอาไปซ่อนไว้นั้นห้าสิบเศษ

                    ถึงวันเสาร์แรมสิบสามค่ำ พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ตรัสให้พลทหารยกเข้าปีนกำแพงปล้นเอาเมืองตองอู  ชาวเมืองก็ป้องกันเมืองเป็นสามารถ แลพลทหารเจ็บป่วยมาก  ก็ให้คลายพลคืนออกมาเข้าค่าย  แล้วจึ่งตรัสให้แต่งพลไปลาดทุกตำบลทั่วเมืองตองอูจนถึงแดนเมืองอังวะ แลได้เสบียงเป็นอันน้อยนัก  ไพร่พลทั้งหลายมิได้อยู่เป็นมั่วมูลในทัพหลวง แลหน้าค่ายล้อมเมืองทั้งปวงนั้น ก็จ่ายยกออกไปลาดหากินทุกตำบล แลไพร่หลวงทั้งหลายขัดเสบียงล้มตายก็มากนัก

                    ขณะนั้นพระเจ้าเชียงใหม่ให้พระทูลองอันเป็นราชบุตร ยกทัพช้างม้ารี้พลขึ้นไปตามทัพหลวงถึงเมืองตองอู แต่พระเจ้าเชียงใหม่ติดขัดด้วยพระรามเดโชเจ้าเมืองเชียงรายเชียงแสน พระยาน่าน พระยาฝาง แลท้าวพระยาใหญ่น้อยทั้งปวงอันขึ้นแก่พระเจ้าเชียงใหม่นั้น ชวนกันคิดร้ายจะรบเอาเมืองเชียงใหม่ จึงมิได้โดยเสด็จ

                    ฝ่ายเจ้าเมืองแสนหวีถึงแก่กาลพิราลัย  หาผู้ที่จะครองเมืองมิได้  จึ่งเสนาบดีแต่งเครื่องราชบรรณาการ มาทูลเกล้าทูลกระม่อมถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ณ เมืองตองอู กราบทูลขอเจ้าฟ้าแสนหวีซึ่งได้มาเป็นข้าเฝ้า คืนไปเป็นเจ้าเมืองแสนหวี

                    ทัพหลวงตั้งอยู่ ณ เมืองตองอูสามเดือนแล้ว ขาดเสบียงอันจะเลี้ยงไพร่พลทั้งปวง อนึ่งก็จวนเทศกาลฟ้าฝน พระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็ยกทัพหลวงจากเมืองตองอู มาโดยทางตรอกหม้อ  ครั้นถึงตำบลคับแค จึงมีพระราชโองการ อัญเชิญสมเด็จพระเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว เสด็จไปเชียงใหม่ เพื่อระงับเหตุทั้งปวง

                    แล้วสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จมาทางสะโตง มายังเมาะลำเลิ่ง  ข้าหลวงอันแต่งไว้ให้ซ่องสุมมอญอันกระจัดพลัดพรายทั้งปวง ก็เข้าที่อยู่ภูมิลำเนาในเมืองเมาะลำเลิ่งแลเมาะตะมะได้เป็นอันมาก จึงตรัสให้พระยาทละ อยู่รั้งเมืองเมาะลำเลิ่ง  แลเมืองเมาะตะมะนั้น แล้วยกทัพหลวงเสด็จยังพระมหานคร

                    แลพระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จไประงับเหตุทางเมืองเชียงใหม่ได้เรียบร้อย  ให้พระยาลาวทั้งหลายปวง กระทำสัตย์ปฏิญาณถือน้ำพระพิพัฒน์ต่อพระเจ้าเชียงใหม่ ในพระอารามพระมหาธาตุ เมืองลำพูน    พระเจ้าเชียงใหม่ก็ถวายสัตย์ต่อสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัว เฉพาะพระพักตร์พระพุทธเจ้า  พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ซึ่งมิได้อาฆาตจองเวร แก่ท้าวพระยาลาวทั้งหลายอันสุจริต  แลให้อยู่รักษาเมืองดั่งเก่า  บำรุงประชาราษฎรขอบขันฑเสมา โดยยุติธรรมประเพณีให้ถาวรวัฒนาสืบไป

                    ลุปีมะโรงจัตวาศก เดือนสิบสอง พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็มีพระราชโองการตรัสให้บำรุงช้างม้ารี้พลทั้งปวงได้สรรพ จะยกทัพหลวงเสด็จไปเอาเมืองตองอู ซึ่งมีข่าวมาว่าพระยาอังวะยกมาเอาเมืองนาย แลเมืองแสนหวีอันเป็นข้าขอบขันฑเสมา   ครั้นถึงมาฆมาส พระบาทสมเด็จบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์  ก็เสด็จด้วยพระชลวิมานโดยทางชลมารคเสด็จเข้าพักพล  แล้วยกพยุหยาตราจากตำบลป่าโมก เสด็จโดยชลมารคขึ้นเหยียบชัยภูมิตำบลเอกราช ให้ขุนแผนสท้านฟันไม้ข่มนาม โดยการพระราชพิธีพิชัยสงครามเสร็จ ก็เสด็จออกทัพชัยในตำบลพระล่อ แล้วเสด็จโดยพยุหยาตราโดยสถลมารคแห่โดยขนักซ้ายขวาหน้าหลังแลพลช้างเครื่อง แปดร้อย พลม้าพันห้าร้อย พลโยธาทหารสิบหมื่น

                    พระบาทสมเด็จบรมบพิตรพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ ก็เสด็จพยุหยาตราโดยสถลมารค ไปทางเมืองกำแพงเพชรขึ้นไปยังเมืองเชียงใหม่    พระเจ้าเชียงใหม่ก็เสด็จมาเคารพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์แล้วถวายช้างม้าแลเครื่องบรรณาการเสร็จ  ก็อัญเชิญพระพุทธเจ้าอยู่หัวทั้งสองพระองค์ เสด็จเข้าไปนมัสการพระพุทธสิหิงค์ในเมืองเชียงใหม่ แลทัพหลวงตั้งอยู่ในเมืองเชียงใหม่นั้นเดือนหนึ่ง  จึ่งยกทัพเสด็จจากเมืองเชียงใหม่ ไปโดยทางเมืองอังวะ  พระเจ้าเชียงใหม่แลลูกทั้งสามคนไปโดยเสด็จทัพหลวง

                    สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็ยกพยุหโยธาทัพ เสด็จไปโดยทางเมืองห้างหลวง        พระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว  ก็ยกทัพเสด็จไปโดยทางเมืองฝาง แลเสด็จถึงเมืองฝางในวันพฤหัสบดี แรมสิบเอ็จค่ำ เดือนห้า ฝ่ายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง เสด็จถึงเมืองห้างหลวง แลตั้งทัพหลวงอยู่ตำบลทุ่งแก้ แรมทัพในตำบลนั้น ส่วนพระยากำแพงเพชร แลพระหัวเมืองขุนหมื่นทั้งหลายผู้ทัพหน้าก็ยกช้างม้ารี้พลไปถึงแม่น้ำโขง

                    ในขณะนั้นสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงทรงพระประชวรหนัก  ก็ตรัสใช้ข้าหลวงให้ไปกราบทูลพระกรุณาถึงเมืองฝาง พระบาทสมเด็จเอกาทศรถอิศวรบรมนาถบรมบพิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จจากเมืองฝางมาเฝ้าสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ณ เมืองห้างหลวง ณ วันเสาร์ ขึ้นหกค่ำ เดือนหก ปีมะเส็ง เบญจศก อีกสองวันถัดมา  สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงจึงเสด็จสวรรคต

                    สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าเสด็จสวรรคต  เมื่อวันจันทร์  ขึ้นแปดค่ำ  เดือนหกเพลาชายแล้วสองบาท พระชนมายุได้ห้าสิบพรรษา ศักราช ๙๕๕ ตรงกับ พ.ศ. ๒๑๓๖ ตามความในพระราชพงศาวดารฉบับ สมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน ฯ ส่วนประชุมพงศาวดาร ภาคที่ ๖ ของ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บันทึกว่า สมเด็จพระนเรศวรประชวรเป็นระลอกขึ้นที่พระพักตร์ แล้วกลายเปนบาดพิษ สวรรคตเมื่อ พ.ศ.๒๑๔๘ ต่างกัน ๑๒ ปีพอดี และได้ขยายความต่อไปอีกว่า

                    สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทำสงครามกับพม่ามาแต่พระชันษาได้ ๒๐ ปี  การสงครามในชั้นต้น เป็นการกู้สยามประเทศให้พ้นจากอำนาจพม่า พยายามรบพุ่งมา ๙ ปี เมืองไทยจึงได้เป็นอิสระภาพสมดังพระราชประสงค์ เมื่อคราวชนช้างชนะพระมหาอุปราชา การสงครามต่อมาใน  ตอนกลาง เป็นการรวบรวมเขตแดนของสยามประเทศ ที่ได้เสียไป  กลับมาเป็นของไทยหมดภายในระยะเวลา ๒ ปี  การสงครามข้างตอนหลังในระยะเวลา ๔ ปี เป็นการแผ่พระราชอาณาจักรให้กว้างขวางออกไป
  
                 รวมเวลาซึ่งสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามมา ๑๖ ปี ด้วยสามารถ  พระปรีชากล้าหาญ อันพึงเห็นได้ในเรื่องสงครามทุกคราวมา  สยามราชอาณาจักรจึงรุ่งเรืองเดชานุภาพ  มีอาณาเขตแผ่ไพศาลเป็นอย่างยิ่งในกาลครั้ง ๑  เพราะเหตุนี้คนทั้งหลายจึงยกย่องพระเกียรติยศ สมเด็จพระนเรศวรว่าวิเศษทั้งที่เป็นนักรบ และที่เป็นพระเจ้าแผ่นดิน นับเป็นมหาราชพระองค์ ๑ ซึ่งเคยปรากฎมาในโลกนี้  การที่ยกย่องนี้จะได้เป็นแต่ในหมู่ไทยเท่านั้นหามิได้ถึงในหนังสือพงศาวดารของชาติอื่นเช่น พม่า มอญ เขมร  ลานช้างและเชียงใหม่ แม้ที่สุดจนในจดหมายเหตุของจีนและฝรั่ง บรรดาที่กล่าวถึงเรื่องพงศาวดารประเทศทางตะวันออกในสมัยนั้น ก็ย่อมยกย่องสมเด็จพระนเรศวร ว่าเป็น  วีรมหาราช อย่างเดียวกัน พระเกียรติยศจึงยังปรากฎอยู่ จนทุกวันนี้.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่