โชคดีเล็กๆของเด็กไทยที่อายุ 17-18 ตอนนี้

ไม่นานมานี้ผมได้อ่านหนังสือ “Outliers” ของนักเขียนชื่อดัง Malcolm Gladwell  มีอยู่บทนึง Malcom ได้พูดถึงผลของ The Great Depression หรือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ที่เริ่มต้นจากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 1929 และครอบคลุมเวลายาวนานเกือบสิบปี  ยุติการเจริญรุ่งเรืองของเศรษฐกิจอย่างชัดเจน  The Great Depression ถือว่าเป็นหนึ่งในวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงที่สุดในโลกเลยก็ว่าได้

อย่างไรก็ตาม ในวิกฤติย่อมมีโอกาส ในขณะที่ผู้คนส่วนใหญ่ต่างสิ้นเนื้อประดาตัว และตกงาน ยังมีผู้โชคดีจำนวนหนึ่งที่แอบยิ้มเล็กๆให้กับวิกฤติครั้งนี้ กลุ่มคนพวกนี้ไม่รู้ร้อนรู้หนาวจากความเศร้าหมองของวิกฤติเลย กลุ่มคนพวกนี้คือใครน่ะหรือ? พวกเขาก็คือทารกทั้งหลายที่เพิ่งลืมตามาดูโลกในช่วงที่เกิดวิกฤตินั่นเอง

เด็กพวกนี้โชคดีอย่างไรน่ะหรือ? คุณ Malcolm อธิบายว่า เด็กพวกนี้เกิดมาในช่วง “Demographic Trough” (อาจแปละเป็นไทยได้ว่า “หลุมในกราฟจำนวนประชากร” ใครรู้ชื่อเรียกจริงๆบอกด้วยเน้อ) ซึ่งเป็นช่วงที่จำนวนเด็กเกิดใหม่ลดลงอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้คนวัยทำงานนั้นไม่อยากมีลูก เพราะการมีลูกมีแต่จะเพิ่มภาระทางการเงินที่หนักอึ้งอยู่แล้ว

เพราะฉะนั้น เด็กที่เกิดมาในช่วง “Demographic Trough” จะพบว่าชีวิตของพวกเขานั้นง่ายกว่าเด็กในยุคที่เศรษฐกิจรุ่งเรือง เพราะพวกเขามี”คู่แข่ง”ในวัยเดียวกันนั้นน้อยกว่านั่นเอง


Demographic Trough ที่สหารัฐอเมริกาในช่วงปี 1930 – 1935


เพื่อให้เห็นภาพ ผมขออ้างอิงคำพูดของนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อว่า Scott Gordon เกี่ยวกับเด็กใน Demographic Trough ที่คุณ Malcom ได้อ้างอิงมาอีกทีครับ

“When he opens his eyes for the first time, it is in a spacious hospital, well- appointed to serve the wave that preceded him. The staff is generous with their time, since they have little to do while they ride out the brief period of calm until the next wave hits. When he comes to school age, the magnificent buildings are already there to receive him; the ample staff of teachers welcomes him with open arms. In high school, the basketball team is not as good as it was but there is no problem getting time on the gymnasium floor. The university is a delightful place; lots of room in the classes and residences, no crowding in the cafeteria, and the professors are solicitous. Then he hits the job market. The supply of new entrants is low, and the demand is high, because there is a large wave coming behind him providing a strong demand for the goods and services of his potential employers.”

ถ้าแปลสั้นๆคือ ตั้งแต่เกิดมา เด็กกลุ่มนี้ก็ได้อยู่ในโรงพยาบาลไม่แออัด มีคุณหมอและพยาบาลแต่ละคนมีเวลาดูแลอย่างดี เพราะเด็กเกิดใหม่น้อยลง  พอเข้าโรงเรียน ก็มีตึกใหม่ๆที่สร้างมาเพื่อรองรับนักเรียนในคลื่นก่อนหน้า  พอชั้นเรียนเล็กลง คุณครูก็มีเวลาให้ความสนใจนักเรียนแต่ละคนมากขึ้น มหาลัยก็เช่นกัน อยากใช้คอม ยืมหนังสือก็ยืมได้เลย  พอถึงเวลาออกไปทำงาน ใครๆก็อยากจะรับ เพราะแรงงานออกมาใหม่มีน้อย แต่ความต้องการแรงงานนั้นเยอะ โอกาสเต็มไปหมด

พออ่านถึงจุดนี้ปุ๊บ ผมก็กลับมาคิดว่า แล้วเรานี่อยู่ใน Demographic trough บ้างปะน้อ?  พอดูไปดูปีเกิดตัวเอง (2534) ไม่ใช่เลย มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็นล้าน 555

แล้วเด็กที่เกิดในช่วงวิกฤติล่ะ? วิกฤติต้มยำกุ้งไง! ประเทศไทยจะมี Demographic trough เหมือนอเมริกามั๊ย?

พอผมลองไปหาข้อมูล และจัดเรียงออกมาให้เป็นกราฟด้านล่าง ก็สรุปได้ว่า ไทยเราก็มี Demographic trough เหมือนกันในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งครับ


ไทยก็มี Demographic Trough ตั้งแต่ปี 40 ถึงปี 4ุ6 เหมือนกัน


ถ้าเทียบกับรูปของอเมริกาด้านบน ตาม % แล้ว ของเราก็ดูรุนแรงไม่แพ้กันครับ แต่มีข้อสังเกตุอย่างนึงคือ ประชากรของเรานั้นไม่เด้งกลับขึ้นไปที่เดิม แต่ขึ้นไปนิดเดียวและคงที่อยู่ที่ระดับประมาณ 800,000 คนต่อปีจนถึงปัจจุบัน  สาเหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าประเทศของเราในตอนนั้นเป็นช่วงที่อัตราการเกิดลดลงอยู่แล้ว ซึ่งเป็นแนวโน้มที่เกิดขึ้นตามปกติ เมื่อประเทศพัฒนาขึ้นครับ

อย่างไรก็ตาม ถ้าดูจากกราฟ (ด้วยตาเปล่านี่แหละ) และเชื่อในผลของ Demographic Trough ตามที่คุณ Scott Gordon ได้พูดไว้ เด็กที่เกิดในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งนั้น โดยรวมแล้วโชคดีกว่าเด็กที่เกิดก่อนหน้าวิกฤติครับผม

อย่างไรก็ตาม สำหรับของเรานั้น ผลกระทบของการหดตัวของประชากรคงน้อย (ถึงน้อยสุดๆ) เพราะสมัยนี้ การที่เทคโนโลยีที่ทำให้ใครไปไหนมาไหนและสื่อสารได้ง่ายขึ้น ทำให้การแข่งขันนั้นกว้างขึ้น  เราไม่ได้แข่งกับคนในกรุงเทพ หรือแม้กระทั่งในประเทศอย่างเดียว

ในส่วนของการศึกษา การแข่งขันเข้าโรงเรียนรัฐหรือมหาลัยที่ดีๆ มีชื่อนั้น มีแต่จะยากขึ้นๆ  ยิ่งถ้าจะไปเรียนต่อต่างประเทศก็ยิ่งไม่ต้องพูดถึง เราต้องแข่งกับคนแทบจะทั้งโลก  ตลาดแรงงานก็เช่นกัน เราต้องแข่งกับเพื่อนบ้าน อาเซียน และเพื่อนร่วมโลกที่กำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว ทั้ง ฝรั่ง คนจีน เต็มไปหมด โลกสมัยนี้ยากที่จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันยิ่งนัก

แต่อย่างไรก็ดี เกิดมาในช่วง Demographic Trough ก็ยังดีกว่าเกิดในช่วงที่คู่แข่งเยอะๆ หัวเราะ

สุดท้ายนี้ ผมขอฝากสิ่งที่ผมได้จากการอ่านหนังสือบทนี้ นั่นก็คือ…

เราเลือกเวลาเกิดไม่ได้ แต่เราเลือกเวลาเกิดลูกของเราได้ (เย้ย!)



ติดตามบล็อกผมได้ที่ www.metapon.wordpress.com หรือ www.facebook.com/metaponblog คร้าบ  ขอบคุณคร้าบ ><

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่