[CR] บันทึก 37 วันของนักเรียนไทยในอินโดนีเซีย (Jakarta, Yogyakarta and Bali)

สวัสดีค่ะ นี่เป็นรีวิวครั้งแรกของเราค่ะ
และเป็นครั้งแรกที่ได้ไปอยู่ต่างประเทศนานเกิน 1 เดือน จึงอยากจะแชร์ประสบการณ์และส่วนหนึ่งอาจจะใช้เป็นข้อมูล สำหรับคนที่ต้องการจะเที่ยวที่ประเทศนี้ หวังว่ากระทู้นี้อาจจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยนะคะ

เราได้ไปโครงการแลกเปลี่ยนระหว่างสถาบันโภชนาการ (Institute of nutrition) ในสังกัดมหาวิทยาลัยมหิดลกับสถาบัน SEAMEO–RECFON
ของมหาวิทยาลัยอินโดนีเซีย (University of Indonesia) ในสาขาวิชา Food micronutrient intervention กับ Food safety ซึ่งทาง SEAMEO-RECFON จะเป็นผู้สอนในวิชาดังกล่าว


หลังจากผ่านการสอบคัดเลือก สรุปว่าจำนวนนักเรียนไทยที่จะเดินทางไปอินโดนีเซียทั้งหมด 9 คน
แม้จะเคยได้ยินมาบ้างว่ามหาวิทยาลัยอินโดนีเซียเรียนหนักมาก แต่พวกเราก็อดตื่นเต้นไม่ไหว และนับวันเดินทางที่ใกล้เข้ามาทุกที
สำหรับการเดินทางไปประเทศอินโดนีเซียไม่ต้องขอวีซ่านะคะ ถ้าอยู่ไม่เกิน 30 วัน แต่ว่าพวกเราจะต้องอยู่ที่อินโดนีเซีย 37 วัน
เลยต้องไปขอวีซ่าที่สถานทูตอินโดนีเซีย ซึ่งอยู่ใกล้ๆ พันทิพ พลาซ่า ถนนเพชรบุรี ค่าทำวีซ่าคนละ 50 USD ค่ะ



และแล้ววันเสาร์ ที่ 28 มีนาคม 2558 ก็ถึงวันเดินทาง
พวกเราเดินทางโดยสายการบิน Air Asia Indonesia ตั๋วไปกลับ รวมน้ำหนักกระเป๋าขาไปคนละ 20 kg ขากลับ 25 kg และอาหารบนเครื่อง 1 มื้อ
รวมราคาทั้งหมดแล้ว อยู่ที่ 6,945 บาท (จองตอนช่วงโปรลดราคา)  


การเดินทางจากกรุงเทพ (ดอนเมือง, DMK) ถึง จาการ์ต้า (สนามบินซูการ์โน ฮัตตา, CGK) ใช้เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง
โดยเวลาที่จาการ์ต้านั้นจะเวลาตรงกับไทยค่ะ เราจึงไม่ต้องปรับนาฬิกา แต่ถ้าหากเราบินไปบาหลี เวลาจะเดินเร็วกว่าไทย 1 ชั่วโมง
หรือถ้าบินไปยังเกาะปาปัวเวลาก็จะเร็วกว่าไทย 2 ชั่วโมง ประเทศอินโดนีเซียนั้นแบ่งเขตเวลาออกเป็น 3 โซนค่ะ ที่เป็นอย่างนี้
เนื่องจากว่าพื้นที่ของประเทศนั้นกว้างมาก
เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ รูปนี้อธิบายได้ดีมากๆ (รูปนี้เรา save มาจากอินเตอร์เน็ต แล้วจำแหล่งที่มาไม่ได้
ขออนุญาตินำมาใช้ ประกอบการอธิบายนะคะ)



.
..
...
....

ราวๆเวลา 14 นาฬิกา พวกเราก็เดินทางถึงสนามบินซูการ์โน ฮัตตา ณ. กรุงจาการ์ต้า
สนามบินที่นี่กว้างมาก และดูเหมือนกำลังก่อสร้างเพิ่มเติมอยู่ ถ้าสร้างเสร็จคงจะอลังการมากแน่ๆ



ด้านหน้าสนามบินดูไปก็คล้ายๆ ดอนเมือง
แต่ที่นี่ดีกว่า ตรงที่มี free wifi มาถึงปุ๊บ Check in ให้คนที่เมืองไทยทราบได้ทันทีเลยน๊า



ผู้คนกำลังรอแท็กซี่




ส่วนเรื่องเงินในอินโดนีเซีย จะใช้สกุลเงินคือ รูเปี๊ยะ (Rupiah) อย่างสับสันกับสกุลเงินรูเปีย ของประเทศอินเดียนะ อัตราแลกเปลี่ยนในเดือนมีนาคม 2558 ที่พวกเราแลกมาคือ 1,000 รูเปี๊ยะ เท่ากับ 2.77 บาท (ร้านซุปเปอร์ริช) พกเงินสดไป 15,000 บาท แลกตังค์ได้หลายล้านรูเปี๊ยะเลย 5555

ถ้าอยากรู้ว่าสินค้าในอินโดนีเซียคิดเป็นเงินไทยเท่าไร อย่างเช่น เสื้อราคา 150,000 รูเปี๊ยะ ก็เอา 1,000 หาร แล้วคูณด้วย 2.77
(หรือจะตีเป็น 3 บาทก็ได้ คำนวณได้ง่ายดี) ก็จะรู้ราคาเสื้อในหน่วยเงินบาทค่ะ (150,000/1,000) x 2.77 = 415.5 บาท
อินโดนีเซียนั้นจะมีแบงค์หลายชนิดดังรูป มีตั้งแต่แบงค์ 1,000 2,000 5,000 10,000 20,000 50,000 และ 100,000 ดังรูป
ส่วนเหรียญก็มีนะคะ เท่าที่เราเห็น ก็จะมีเหรียญ 100, 200, 500 และ 1,000  




เกริ่นนำเพียงเท่านี้นะคะ ต่อไปจะเล่าถึงการเรียนการสอนที่มหาวิทยาลัย  


Part 2# การเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย

SEAMEO RECFON เป็นสถาบันที่เกี่ยวกับด้านโภชนาการ และมีอยู่ในหลายๆประเทศโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จุดประสงค์ในการก่อตั้งส่วนหนึ่งคือ  พัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในแถบอาเซียน ในด้านสุขภาพ
สำหรับสาขาที่พวกเราไปเรียนแลกเปลี่ยนนั้นเป็นสาขาด้าน Nutrition Communication ค่ะ โดยทาง SEAMEO RECFON จะเป็นผู้สอนร่วมกับนักเรียนในระดับปริญญาโทของเขา ร่วมกับนักศึกษาหรืออาจารย์จากประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น มาเลเซีย, ฟิลิปินส์, เวียดนาม, ลาว และพม่า ที่สนใจลงคอร์สมาเรียน เป็นระยะเวลาสั้นๆ โดยระบบการเรียนการสอนของที่นี่จะต่างจากที่ไทย คือเขาจะเรียนทีละวิชา 1 วิชาต่อ 2 สัปดาห์ เรียนเสร็จแล้วสอบ  

ข้อดีคือโฟกัสไปทีละวิชา สอบไปทีละวิชา แต่ข้อเสียนั้นวิชาแต่ละวิชาจะต้องมีงานใช่ไหมคะ? เนื่องจากว่ามีเวลาเพียงแค่ 2 สัปดาห์ งานหรือการบ้านที่อาจารย์สั่งนั้น จำนวนวันที่ให้ทำจะมีไม่มากค่ะ เช่นสั่งวันนี้ ส่งพรุ่งนี้ หรือให้เวลาทำงานแค่ 2 -3 วัน เท่านั้น ถือเป็นอะไรที่หนักพอสมควรเลย เพราะระหว่างที่เราทำงานนั้น เราไม่ได้หยุด เรายังเรียนปกติ และมีเวลาทำงานหลังเลิกเรียนเท่านั้น

ที่ SEAMEO จะเรียนหนักมาก คือเริ่มเรียนตั้งแต่ 08.00 น. และเลิกคลาสตามเวลาในตารางเรียนคือ 16.00 น แต่เอาจริงๆ แล้ว เลิกเรียนไม่ค่อยตรงเวลาหรอกค่ะ อาจารย์สอนเลทบ้าง และนักศึกษาชอบซักถามหรือ discuss กับอาจารย์ อาจารย์เค้าก็จะให้ถามไปเรื่อยๆ แล้วแต่นักศึกษา ถามเท่าไรก็ได้ ไม่ค่อยจำกัดเวลา ทำให้บางวันกว่าจะเลิกเรียนก็ 18.00 น. บางวันมีการงานกลุ่ม ก็ช่วยกันทำกับเพื่อนๆ จนถึง 21.00 น. แล้วขนงานมาทำที่หอต่อ  ช่วงสัปดาห์แรก พวกเราเด็กไทยเหนื่อยกันไปเลยค่ะ เราต้องอาศัยเวลาปรับตัวสักนิด


การเรียนการสอนที่นี่จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เลยไม่แปลกที่เด็กนักเรียนของที่นั่นจะเก่งภาษาอังกฤษกันมาก อีกทั้งยังช่างซักถาม ตรงนี้เราชื่มชมพวกเขานะ  เราจะชินกับบรรยากาศห้องเรียนที่ไทยที่ส่วนมากจะไม่ค่อยกล้าถามกัน เนื่องด้วยอาจจะกลัวเพื่อนหมั่นไส้บ้าง กลัวว่าจะถูกเพื่อนหรืออาจารย์คิดว่าโง่บ้าง แต่ที่ SEAMEO RECFON เขาจะสร้างบรรยากาศที่กระตุ้นทำให้นักเรียนตั้งคำถาม อยากถามคำถาม โดยเพื่อนๆในห้องจะไม่คิดว่าเพื่อนถามนั้นเป็นเรื่องแปลก อาจารย์ก็ไม่คิดว่าเป็นคำถามงี่เง่า ตรงข้ามซะอีก คือคนที่ไม่ค่อยซักถามนี่กลายเป็นคนแปลกในห้องไปเลย


นอกจากจะเรียนเลคเชอร์แล้ว งานกลุ่มของที่นี่ก็มีเยอะ และก็จะแบ่งกลุ่มกันโดยคละเชื้อชาติต่างๆกัน เป็นหนึ่งกลุ่ม การทำแบบนี้ก็มีข้อดีที่ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ แต่กว่าจะถึงจุดนั้น ก็เหนื่อยกันพอสมควร ในเรื่องความแตกต่างในมุมมองของวิชานั้นๆ คือแต่ละประเทศจะเน้นไม่เหมือนกัน
ตอนเรียนก็เถียงกันบ้างไปตามประสา ตอนพรีเซนส์งาน แต่ละกลุ่มก็จะวิจารณ์งานของกลุ่มอื่นเต็มที่ ส่วนกลุ่มเราเองก็ป้องกันงานตัวเอง แต่ก็พูดกันด้วยเหตุผลนะคะ ตอนเรียนจะดุเดือดมาก แต่หลังเรียนเสร็จ ก็เป็นเพื่อนกันตามปกติค่ะ  และก็เพราะคลาสนี้เองเลยทำให้ได้เพื่อนดีๆ มาเยอะ
ตรงนี้จะต่างกับตอนอยู่ไทยค่ะ ตรงที่ไม่ค่อยกล้าวิจารณ์งานของเพื่อน เพราะกลัวว่าเพื่อนจะเสียใจหรือเฟล แต่มาเรียนที่นี่จะสอนให้รู้จักติเพื่อให้เพื่อนแก้ไขจุดบกพร่อง ไม่ใช่ติเพื่อหาเรื่องนะคะ

และนี่คือบรรยากาศการเรียนในห้อง



ส่วนนี้คือรูปเพื่อนๆในห้อง มีชาวอินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม มาเลเซีย และลาว แยกออกกันมั๊ย
เราว่าคนอาเซียนหน้าเหมือนกันนะ





Part3# ด้านอาหารการกิน
เนื่องจากว่าเป็นประเทศมุสลิม ดังนั้นแน่นอนว่าอาหารไม่มีหมูแน่ค่ะ แต่ก็คิดว่าอาหารจำพวกเนื้อหรืออาหารทะเลน่าจะหากินได้ง่าย แต่เอาเข้าจริงๆ ก็เป็นของแพง และอาหารที่จะหารับประทานได้ตามร้านทั่วๆไป นั้นคือไก่กับปลาค่ะ โดยส่วนตัวเราไม่ค่อยชอบไก่เท่าไร การกินไก่เป็นเดือนๆ เนี่ยเล่นเอาเบื่อเหมือนกัน แต่ยังดีที่มีปลามาบ้าง และในวันหยุด เราจะไปจัดอาหารมื้อหนักๆที่ห้างและกินเนื้อให้ชื่นใจหน่อย



เมนูที่อยู่ตรงกลางด้านหน้าคือ
:: ต้มซุปเนื้อวัว::
เป็นซี่โครงวัวต้มกับน้ำซุปรสหวาน เพิ่มรสชาติเปรี้ยวนิดๆด้วยมะเขือเทศฝานดิบ พอทานแล้วรู้สึกได้ถึงรสหวานอมเปรี้ยว น้ำซุปกลมกล่อม
และถ้าใครอยากได้รสเผ็ดนิดๆ ก็ตักชิ้นพริกปาปริก้าที่ผสมอยู่ทานได้จ้า

2. สะเต๊ะเนื้อวัว
สะเต๊ะเนื้อวัวราดด้วยซอสรสหวาน ผสมความเปรี้ยวด้วย orange juice เข้ากันอย่างพอดี ด้านบนโรยด้วยหัวหอม แครอท และพริกปาปริก้า
วิธีการทานคือ หมุนไม้สะเต๊ะคลุกกับซอสให้เข้ากัน แล้วเสียบชิ้นเครื่องโรยตามใจชอบ ชอบเผ็ดก็กินกับพริก ไม่ชอบเผ็ดก็กินกับแครอทกับหัวหอม
ขอเตือนว่าพริกในเมนูนี้เผ็ดมากๆ ขนาดตัวเองเป็นคนชอบทานเผ็ดแบบฮาร์ดคอร์ ยังรู้สึกได้

3. ผัดผักบุ้ง
รสชาติเหมือนที่ไทย ก็เป็นผัดผักบุ้งกับน้ำมันหอยปกติ

ส่วนคุณลักษณะอาหารของอินโดนีเซียนั้นจะค่อนข้างมัน (ประเทศนี้เขาจะใช้น้ำมันปาล์มเป็นน้ำมันหลักในการประกอบอาหาร ไม่หลากหลายเหมือนบ้านเรา ที่ใช้ทั้งน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์ม) และมีรสชาติหวานมากๆ เวลาเราจะใส่พวกชา กาแฟ ที่อินโดนีเซีย ควรจะกำชับว่าหวานน้อยนะคะ รสชาติหวานน้อยของเขานี่คือหวานปกติของบ้านเราเลย ส่วนราคาอาหารนั้นไม่แพงมาก ถ้าอาหารตามร้านค้าทั่วไปก็จะพอๆ กับบ้านเราเลยค่ะ จานละ 30-40 บาท
มาที่อินโดนีเซีย อย่าลืมลองชิม เทมเป้ (Tempe) นะคะ เทมเป้เป็นอาหารพื้นเมืองของอินโดนีเซีย ทำจากถั่ว เช่น ถั่งเหลืองหรือถั่วลิสง เป็นเม็ดๆ เเช่น้ำ จากนั้นนำไปนึ่งให้สุกแล้วใส่หัวเชื้อเพื่อทำการหมัก เชื้อที่ใช้คือ Rhizopus oligosporus  แล้วในระหว่างการหมักเชื้อรามันก็จะแผ่ใยสีขาวคลุมถั่วจนกลายเป็นก้อน ก็จะกลายเป็นเหมือนรูปด้านบนจ๊ะ



(รูปด้านบนนั้นเสิร์ชจากเน็ต เว็บ foodnetworksolution เพราะเวลาซื้อ ร้านก็จะเอาเทมเป้สุกมาเสิร์ฟ เลยไม่เห็นภาพของดิบ)
เทมเป้ เป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง สามารถรับประทานแทนเนื้อสัตว์ได้ นอกจากนี้ยังมีกลิ่นและรสที่เฉพาะตัวเนื่องจากการหมัก เทมเป้ที่นิยมรับประทาน
เท่าที่เราเห็น ไม่เอามาทอดก็มานึ่ง อย่างรูป เป็นเทมเป้ทอด ส่วนรสชาติมันก็คือถั่วเหลือง แต่เปรี้ยวนิดๆ ตามสไตล์การหมัก มีกลิ่นหอมอ่อนๆ กลมกล่อมเหมือนมีผงชูรส ( แต่คิดว่าเขาไม่ใส่ผงชูรสหรอกนะ กลิ่นและรสน่าจะเป็นกลิ่นรสของกรดกลูตามิคตามธรรมชาติที่ได้จากการหมัก )
พอนำไปทอด รสชาติที่ได้จากการหมักเข้ากับกลิ่นของน้ำมันปาล์ม เลยทำให้เพิ่ม mouthfeel ที่ดี
ส่วนราคานั้น ไม่แพงเลยชิ้นละ 2.5 บาทเอง (ขนาดตามรูป และเป็นราคาตามร้านอาหารริมถนน) ก็ถือว่าเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกค่ะ
ส่วนเมนูอาหารอื่นๆก็มี


เมนูนี้ชื่อว่า Bakso (บักโซ) คล้ายๆก๋วยเตี๊ยวบ้านเรา




ปลาทอดราดน้ำพริกแดง



และต่อไปเป็นสะเต๊ะเนื้อแพะ หาซื้อได้ตามร้านข้างทางเลย



เมนูอาหารอินโดนีเซีย เอาไว้แค่นี้ก่อนนะคะ



ส่วนต่อไปก็จะพูดถึงจาการ์ต้า เมืองหลวง ของอินโดนีเซีย รออีกนิดนึงนะคะ
ชื่อสินค้า:   อินโดนีเซีย
คะแนน:     
**CR - Consumer Review : ผู้เขียนรีวิวนี้เป็นผู้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง ไม่มีผู้สนับสนุนให้สินค้าหรือบริการฟรี และผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่