เตือน… มนุษย์เงินเดือนอายุจะ30 ออมเงินเกษียณ เริ่มเมื่อไหร่ถึงไม่สาย!!

ออมเงินเกษียณ เริ่มเมื่อไหร่ถึงไม่สาย เป็นคำถามที่ง่ายแต่คำตอบนี่สิจะตอบในแต่ละมุมมองนั้นแสนยาก อย่างเช่นมีกระทู้ของเพื่อนสมาชิกใน Pantip ได้โพสถามไว้  อายุจะ 30 แล้วใครยังตั้งตัวไม่ได้บ้างครับ เพราะอะไรครับ? http://pantip.com/topic/33471759  จริงๆแล้วถ้าตัวเราเองมีวินัยและรักษาหน้าที่ของตนเองเป็นพื้นฐานก็ไม่มีอะไรที่จะสาย....

แต่หลายคนรู้ดีว่าการวางแผนเกษียณก่อนอายุ 60 ปี สำหรับมนุษย์เงินเดือน ออมเงินเกษียณ ย่อมเป็นสิ่งที่ดี แต่ทั้งๆที่รู้ ได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน มามากมายแล้วก็ตาม สุดท้ายก็ยังไม่เริ่มต้นสักที ฉบับนี้พบกับคน 2 วัย บอกเล่าประสบการณ์จริงกับการเริ่มต้นวางแผนเกษียณ

นพ.คณิน ไตรพิพิธสิริวัฒน์ วัย 38 ปี ทำงานในสายอาชีพนายแพทย์ร่วม 16 ปี เล่าให้ฟังก่อนที่จะให้ความสำคัญเริ่มต้นวางแผนออมเงินเพื่อใช้หลังเกษียณอายุ 60 ปี ว่าครอบครัวตัวเองไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง พ่อแม่ต้องทำงานหนัก แต่โชคดีที่เป็นคนเรียนเก่ง สามารถสอบเรียนแพทย์ได้ แต่ยังต้องหยิบยืมเงินญาติพี่น้องและมหาวิทยาลัยเพื่อใช้เป็นทุนการศึกษา

หลังจากจบมหาวิทยาลัย ด้วยหน้าที่การงานที่ดี ทำให้บริษัทบัตรเครดิตวิ่งเข้าหา แม้ว่าจะยังมีเงินเดือนเริ่มต้นเพียงหมื่นกว่าบาทก็ตาม แต่ด้วยความที่สมัครง่ายจึงมีบัตรเครดิตมากกว่า 5 ใบ เขาจึงใช้บัตรแทนเงินสดซื่อสิ่งของที่ปรารถนาในวัยเด็กที่ขาดหายไป เช่น ทีวี เกมส์ ท่องเที่ยว ทำให้ใช้เงินเต็มวงเงินทุกใบ

แต่ด้วยพฤติกรรมที่เลือกชำระหนี้ขั้นต่ำ ทำให้ดอกเบี้ยทบต้น ทบดอกกลายเป็นหนี้สินหลายแสนบาท จึงต้องทำงานหนักเพื่อหาเงินจ่ายหนี้ ทั้งกลางวันและกลางคืนจนไม่มีเวลาพักผ่อนเป็นอยู่อย่างนี้ 2-3 ปี กระทั่งได้รับความช่วยเหลือจากคนที่รู้จักให้นำเงินไปปลดหนี้

“เป็นบทเรียนและย้ำเตือนตัวเองจะไม่เข้าไปอยู่ในวังวนแบบเดิมอีก แม้จะไม่มีหนี้บัตรเครดิตมารุมเร้า แต่ผมก็ยังสร้างหนี้ขึ้นใหม่ คือ ซื้อบ้าน 2 หลัง และคอนโดมิเนียม จึงมีหนี้สินร่วม 12 ล้านบาท เพราะต้องการสร้างครอบครัว แต่หนี้สินก้อนโตทำให้รายได้ที่มีค่อนข้างตึงตัว” นพ.คณิน เล่า

เมื่อเวลาผ่านไป รายได้ต่อเดือนเริ่มมากขึ้น แต่ นพ.คณินก็ไม่สามารถปลดหนี้ได้มากนัก ประกอบกับภรรยาเริ่มตั้งครรภ์ จึงเริ่มหาหนังสือวางแผนการเงินมาอ่าน ทดลองทำบันทึกรายรับ รายจ่าย แต่ไม่นานก็เลิกทำ

นพ.คณิน บอกว่าจุดอ่อนการเงินของเขาที่ทำให้ตัดสินใจไม่ได้ คือระหว่างจ่ายหนี้ หรือเก็บเงินไว้สำหรับฉุกเฉิน ตามทฤษฎีบอกว่าต้องเก็บ 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย รวมทั้งด้วยนิสัยส่วนตัวไลฟ์สไตล์การใช้เงินยังไม่เปลี่ยน ทำให้เงินมีอยู่ในบัญชีเท่าไหร่ จะต้องใช้ให้หมด แถมมีหนี้สินติดตัว

“รายได้ตัวเลข 7 หลักต่อปี แต่ก็มีหนี้สิน 7 หลักต่อปีเช่นกัน”นพ.คณิน บอก “ผมนึกถึงตัวเองที่รักษาคนไข้ คนไข้ทุกคนรู้ว่าจะดูแลตัวเองอย่างไรให้หายจากการเจ็บป่วยแต่ส่วนใหญ่ไม่ทำหรือทำไม่ได้ แต่เมื่อมาเจอหมอก็จะทำตามคำแนะนำหมอ ซึ่งตอนนี้ผมก็เหมือนคนไข้ที่ต้องการนักวางแผนการเงิน ช่วยแนะนำการวางแผนการเงิน”

มองหาที่ปรึกษา

หลังจากค้นหาข้อมูล ออมเงินเกษียณ อย่างจริงจัง จึงพบว่ามีสมาคมนักวางแผนการเงินไทย และมีนักวางแผนการเงินให้คำปรึกษา สุดท้ายได้พบกับณัฐพงษ์ อภินันท์กูล,CFP นักวางแผนการเงินอิสระ โดยเข้ามาขอคำแนะนำเกี่ยวกับการชำระหนี้บ้านให้หมดเร็วที่สุด

“ที่ผ่านมาได้พูดคุยกัน 2 ครั้ง ผมต้องเขียนรายละเอียด รายได้ ค่าใช้จ่ายทรัพย์สิน และหนี้สิน สิ่งสำคัญ คือ เป้าหมายต้องชัดเจน นอกจากนี้ยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับการวางแผนออมเงินหลังเกษียณซึ่งก่อนหน้านี้ผมไม่ได้คิดจริงจังมากนัก” นพ.คณิน บอก

หลังจากพูดคุยรายละเอียดของแผน นพ.คณินตั้งใจจะออมเงินสำหรับเพื่อเกษียณได้ประมาณ 40 ล้านบาทจากการออมเงินในกองทุนรวม LTF และ RMF แต่นักวางแผนแนะนำว่าถ้าลงทุนทั้ง 2 ส่วนรวมกัน 30% ของรายได้ต่อเดือนน่าจะมีเงินหลังเกษียณ 60 ล้านบาทใช้จ่ายไปอีก 20 ปี ทั้งสามีและภรรยา เพราะมีเป้าหมายใช้เงินเดือนคนละ 50,000 บาท แต่ นพ.คณิน บอกว่าต้องการมีอายุ 90 ปี ซึ่งหมายถึง อาจจะต้องออมเงินเพิ่ม เพื่อให้มีเงินเพียงพอ

สำหรับข้อดีของการซื้อกองทุน LTF และ RMF ทำให้ได้รับการยกเว้นภาษี ซึ่งก่อนหน้านี้ ไม่เห็นด้วยที่ต้องนำเงินไปฝากไว้ 5-6 แสนบาท แต่ลดภาษีได้เพียงแสนกว่าบาทเท่านั้น โดยเฉพาะกองทุนรวม RMF  คิดว่าช่างไกลเหลือเกิน เมื่อเทียบกับอายุที่ยังไม่มากนัก เพราะว่าจะขายกองทุนคืนได้ต้องอายุ 55 ปี แต่ภายหลังได้เห็นถึงประโยชน์ของการฝากออมในรูปแบบดังกล่าวสำหรับอนาคต

“นักวางแผนการเงิน ได้วางแผนให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของผม และไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายอะไร และให้ทดลองทำตามแผนไปก่อน 3 เดือน หลังจากนั้นจะมีการทบทวนแผนว่าทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่”

สิ่งที่ นพ.คณิน ต้องทำคือการผ่อนบ้านเพิ่มเพื่อปลดหนี้ภายใน 7 ปี เก็บเงินสดไว้ในบัญชีแบงก์ที่ถอนยากขึ้น ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น รวมถึงบันทึกค่าใช้จ่ายก้อนใหญ่ เช่น ค่าประกันชีวิต หรือค่าซ่อมบ้าน เป็นต้น

นอกจากนี้ นพ.คณิน ได้วางแผนออมเงินให้กับลูก โดยแบ่งเงินซื้อกองทุนรวมทุกๆเดือนในรูปแบบ Dollar Cost Average(DCA) เมื่อลูกอายุ 18 ปี จะมีเงินประมาณ 5 ล้านบาท สำหรับช่วยเหลือด้านการศึกษาบางส่วน “ได้ประโยชน์ 2 ต่อทั้งลดภาษีและออมเงินให้ลูก”

นพ.คณิน กล่าวว่าแม้อาชีพแพทย์จะดูมีฐานะมั่นคงในสายตาของคนภายนอก แต่ความจริงรายได้ก็มีความเสี่ยงเช่นเดียวกัน โดยมีรายได้มาจาก 2 ส่วน คือเงินเดือนและจากผลงานที่ทำ ดังนั้นรายได้ค่อนข้างจะไม่คงที่ จากรายได้ 6 หลัก อาจจะเหลือ 5 หลักได้ ห่างกันถึง 10 เท่า จึงมีโอกาสได้รับผลกระทบ “ผมจะวางแผนการเงินให้ดีที่สุด และไม่ลืมปรับแผนตามสถานการณ์”

หลังผ่านวิกฤตการเงินมาหลายรอบ นพ.คณิน รู้ดีว่าชีวิตพอเพียงเป็นสิ่งน่าปรารถนาที่สุดแล้ว เพราะการดิ้นรนหาสิ่งของให้ได้ตามความต้องการไม่สามารถเติมเต็ม เพราะยังต้องการสิ่งใหม่ๆ เพิ่มเข้ามาตลอดเวลา ไม่จบสิ้น ยิ่งทำงานเหนื่อยมากขึ้น แต่เชื่อว่าออมเงินวางแผนก่อนเกษียณจะทำให้ชีวิตได้รับความสุขอย่างแท้จริง

อายุ 52 ปี เริ่มต้นวางแผนการเงิน

การเริ่มต้นออมเงิน หากเริ่มได้เร็วชีวิตก็หยืดหยุ่นได้สูง แต่หากเริ่มต้นที่วัย 52 ปี เป้าหมายจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ ประเด็นนี้ณัฐพงษ์ กล่าวถึงลฃูกค้าวัย 52 ปี ที่เข้ามาปรึกษาทางด้านการเงินว่า เป็นผู้บริหารทำงานในธนาคารพาณิชย์แห่งหนึ่ง มีรายได้ประมาณ 4 แสนบาทต่อเดือน และต้องการรู้ว่าหลังจากเกษียณไปแล้ว จะมีเงินเท่าไหร่จึงจะเพียงพอเพื่อใช้ยามหลังเกษียณ

ปัจจุบันลูกค้ามีเงินออมอยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จำนวน 5% และบริษัทจ่ายเพิ่มให้อีก 5%เมื่ออายุครบ 60 ปี จะมีเงินออมประมาณ 18 ล้านบาท จากปัจจุบันมีอยู่ 3 ล้านบาท แต่เงินออมจำนวน 18 ล้านบาท จะต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข ไม่ออกจากงาน ไม่ถูกลดเงินเดือนและไม่มีปัญหาในเรื่องการทำงานซึ่งเงินจำนวนดังกล่าวสามารถอยู่ได้หลังเกษียณถึง 20 ปี

นอกจากนั้น จะได้เงินชดเชยจากกฏหมายแรงงาน กรณีทำงานครบอายุ 60 ปี ประมาณ 10 เดือน หรือประมาณ 4 ล้านบาท และได้รับเงินประกันสังคมรายเดือน

ณัฐพงษ์ กล่าวว่าลูกค้าคนดังกล่าวมีเป้าหมายปลดหนี้ทั้งหมดเมื่ออายุครบ 60 แต่ได้แนะนำว่าอายุการทำงานที่เหลืออีก 8 ปี ถ้าผ่อนบ้านให้จบเร็วขึ้นจะช่วยลดเงินต้น และดอกเบี้ย หลังจากนั้นให้เพิ่มเงินออมเท่ากันทุกๆเดือน ในรูปแบบ DCA โดยวิธีการออมควรลงในกองทุนรวม LTF และ RMF เพิ่มเติม แม้ปัจจุบันจะลงทุนอยู่แล้วก็ตาม แต่ยังน้อยมาก

และการลงทุนที่ผ่านมาจะลงทุน กองทุนรวม RMF เพราะมองว่าอายุมากแล้ว และใกล้เป้าหมายที่จะขายกองทุนคืนเมื่ออายุครบ 55 ปี แต่ในความเป็นจริงการลงทุนกองทุน RMF ในช่วงอายุมาก ถือว่าเป็นข้อผิดพลาดเพราะจะเก็บเงินได้ไม่มาก

ลงทุนเพิ่ม 10% จะได้เงิน 30 ล้าน

ณัฐพงษ์ กล่าวว่าปัจจุบันลูกค้าลงทุนไปแล้ว 20% ของรายได้ต่อเดือน และแนะนำให้ลูกค้าลงทุนเพิ่มอีก 10% จะได้เงินออมเพิ่มอีกประมาณ 11 ล้านบาท รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอีก 18 ล้านบาท จะมีเงินออมรวมทั้งหมดประมาณ 30 ล้านบาท แต่การออมที่กล่าวถึง ต้องออมตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นทุกปี
หลังจากให้คำแนะนำผ่านไป 4 เดือน  ลูกค้าก็เริ่มทำ แต่นำเงินโบนัสมาซื้อกองทุนรวม ซึ่งในความจริงต้องการให้นำเงินเดือน เพราะโบนัสจะลงทุนได้ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากหมดแล้วต้องมาพิจารณาต่อไปว่าจะทำอย่างไรต่อปี

ส่วนเหตุผลไม่ใช้เงินเดือน แต่ใช้เงินโบนัสเพราะมีรายจ่ายมาก เช่น ค่าผ่อนบ้าน จ่ายภาษีสูงประมาณ 8-9 แสนบาทต่อปี

ก่อนไปสู่วัยเกษียณ ลูกค้ามีเงินออมจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพส่วนหนึ่ง โดยลูกค้ากลับต้องการสร้างอพาร์ตเมนต์ให้เช่าเพื่อเลี้ยงตัวเองและภรรยาหลังเกษียณ แต่ณัฐพงษ์มองว่าการไม่เคยทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มาก่อน แต่จะเริ่มลงมือทำตอนอายุ 55 ปี จึงไม่แนะนำในการทำธุรกิจ เพราะอาจจะไปกระทบเงินออมเพื่อเกษียณ

นอกจากเรื่องการทำธุรกิจส่วนตัวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ ประกันสุขภาพ ถึงแม้ผู้บริหารธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินจะมีประกันสุขภาพครอบคลุมเต็ม 100% แต่จะไม่ดีตอนเกษียณ พออายุเกินไม่มีอะไรคุ้มครอง

“ควรมีประกันสุขภาพก่อนวัยเกษียณ และก่อนที่จะเป็นโรคภัยไข้เจ็บหรือโรคร้าย เพราะหากอายุเกิน 60 ปี บริษัทประกันจะไม่รับประกันสุขภาพ ดังนั้นควรทำตั้งแต่อายุ 40 หรือ 50 ปี”

       แบ่งเงินออมหรือลงทุนตามช่วงอายุ เพื่อใช้หลังเกษียณ

อายุ 20-30 ปี                         อายุ 31-49 ปี                                     อายุมากกว่า 50 ปี

10%/เดือน                                         20%/เดือน                                         10%/เดือน


ทบทวนแผนทุก 6 เดือน

ออมเงินเกษียณ สิ่งจำเป็นคือ การทบทวนแผนเป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งควรทำทุก 6 เดือน เพื่อให้เป้าหมายประผลสำเร็จ เพราะระหว่างทางในการทำตามแผนจะมีหลายสิ่งๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การลงทุนใหม่ๆหรือความจำเป็นต้องใช้เงิน เช่น เจ็บป่วย หรือเพื่อการท่องเที่ยว

“เราไม่ได้บอกให้อดๆอยากๆกินข้าวน้อยลง หรือไม่ฉลองวันเกิด สิ่งที่เราอยากบอกคือ บางอย่างที่เขากำลังตัดสินใจอยู่นั้น เขาต้องเลือกให้สอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้”ณัฐพงษ์ บอก

การวางแผนการเงินเพื่อวัยเกษียณจะสำเร็จได้นั้น จะต้องมีเป้าหมายชัดเจน ใช้วินัยเดินไปตามทาง แม้ระหว่างทางจะไปผิดเส้นทางบ้าง แต่ถ้าทบทวนก็จะกลับมาทางเดิมได้ และเริ่มตั้งแต่วันนี้ พร้อมไม่พร้อมก็ต้องเริ่มเพื่อความสุขในอนาคต

Info : PropertyToday.in.th

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่