เรียนภาษาเหนือจากเพลง Basic --> Advance นิด ๆ - มาก ๆ

สวัสดีครับ

จากที่เคยเขียนไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ถ้าใครยังไม่ได้อ่านก้อไปอ่านดูเอาครับ http://pantip.com/topic/33393598
คือเหมือนเดิม ผมออกตัวไว้ก่อน ศึกษามาบ้างไม่มาก แต่ด้วยความเป็นคนท้องถิ่น และเชื้อชาติผมเป็นผสม
คือ ทางคุณแม่  เชื้อชาติเป็น ไตขืน
     ทางคุณพ่อ  เชื้อชาติเป็น ไตหลง(เงี้ยว หรือส่าง) + คนจีน

แต่ผมเกิดในเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านเดิมของฝ่ายคุณแม่(บ้านเกิด) เพราะ ประเพณีทางเหนือเดิม หรือวัฒนธรรมทางเหนือเดิมทั้งหมด(กลุ่มล้านนา) แต่งเอาลูกเขยเข้าบ้าน คือเมื่อ บ่าว สาว แต่งงานกัน ฝ่ายชายจะต้องย้ายไปอยุ่บ้านฝ่ายหญิง ทำงานและดูแลครอบครัวฝ่ายหญิง อย่างน้อย 2 ปี(แต่ส่วนมากโดนตลอดชีวิต จริง ๆ เรื่องวัฒนธรรมประเพนี เยอะกว่านี้ รวมทั้งเรื่องผู้สืบทอดผู้รับมรดกด้วย อยากรู้ก้อถามละกันครับ มันเยอะเดี๋ยวจะยาว) ทำให้ผมได้รับอิทธิพลด้านภาษาของไตขืน และได้เข้ารับการศึกษาในดัวเมืองเชียงใหม่ ทำให้ภาษาที่ผมใช้จะผสม ระหว่าง ไตขืน กับ โยน(ชาติพันธ์เชียงใหม่ดั้งเดิม) แต่ปัจจุบันในเชียงใหม่ จะมีการพูด, ใช้, ออกเสียง ของภาษาปนกันหลาย ๆ แห่ง เนื่องจากหลาย ๆ ชาติพันธ์ของทางเหนือเดิมคือ ยอง, ลื้อ, ขืน, ไตหลง มีการอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ในเชียงใหม่มากขึ้น ทำให้ปนกันหมด แต่ถ้าจะเอาแบบดั้งเดิมของแต่ละ ชาติพันธ์ ก้อคงต้องไปถึงถิ่นเดิมของเขา ซึ่งแยกดังนี้
ภาษาขืนแท้ มีใช้กันอยู่ส่วนมากอำเภอรอบนอก ขืนในเชียงใหม่ ก้อ อ.เมือง, อ.สันกำแพง, อ.ดอยสะเก็ด, อ.หางดง, อ.สันป่าตอง, อ.จอมทอง อ.รอบ ๆ ที่ติด อ.เมืองเชียงใหม่ ส่วนมาก ขืนทั้งนั้น
ไตลื้อ ส่วนมากจะอยู่ที่ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน, พะเยา, น่าน, เชียงราย(บ้าง)
ไตยอง ส่วนมากจะอยู่ที่ ลำพูน
ไตหลง หรือ ไตหลวง หรือ เงี๊ยว หรือ ส่าง(ภาษาไทยภาคกลางเรียก ไทยใหญ่) อยู่ที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่, จ.แม่ฮ่องสอน
ลั๊วะ อยู่ เชียงราย ไม่มากครับ อ่ะพอละ ๆ เกริ่นยาวเกิน เดี๋ยวเหนือย มาเริ่มกันเลย

วันนี้มาเรียนจากเพลงกัน ด้วยการตีความ เนื้อเพลง และเปรียบเทียบกับภาษาไทยภาคกลาง จากนั้นจะอธิบายลักษณะการใช้ภาษาในชีวิตประจำวันครับ
เพลงนี้จะมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับ ตำนานของทางภาคเหนือ คือตำนานพระเจ้าเลียบโลก ซึ่งประพันธ์เนื้อหาเกี่ยวกับ ความข้องเกี่ยวชาติพันธ์ของคนเหนือ, พระพุทธศาสนาในภาคเหนือ(ล้านนาเดิม รวมทั้งในพม่า และสิบสองปันนาในจีน)

ในภาษาเดิมของเชียงใหม่ จะไม่มีคำว่าเพลง แต่จะใช้คำว่า "ซอ หรือ จ๊อยซอ หรือ ขับซอ", ลื้อจะเรียกว่า "ขับ หรือ ขับลื้อ" ส่วน ยอง กับ ไตหลง ผมไม่ทราบ ฮ่า ๆ ไปหาเอง และที่ได้เขียนไว้ในก่อนหน้านี้แล้วว่าภาษาเหนือ จะใกล้เคียงกับภาษามคธ มากกว่าภาษาบาลี ส่วนภาคกลางจะใกล้เคียงภาษาบาลีมากกว่าภาษามคธ แต่เพลงนี้ก้อมีการนำคำภาษาไทยภาคกลางมาผสมอยู่ไม่ใช่เหนือแท้ทั้งหมด ผมจะพยายามนำภาษาเหนือแท้มาให้ดูและเปรียบเทียบกับคำบางคำนะครับ และผมจะยกอันนี้เป็นภาษาเหนือมาแปล จะบอกรายละเอียดเท่าที่ทำได้ อันไหนที่ผมพอจะเห็นว่าท่านเข้าใจผมก้อจะไม่พูดถึง แต่อันไหนที่ผมคิดว่าเป็นภาษาเหนือที่บางท่านจะไม่เข้าใจผมจะแปลให้ นะครับ อ่ะมาดูกันในเพลงนี้กัน

เพลง ไหว้สาปารมีพระธาตุ ๓ ดวง แปลว่า กราบไว้ บารมี พระธาตุทั้ง 3 ถ้าออกเสียงเหนือแท้จะเป็น "ไหว้-สา-ป๋า-หละ-มี-ผะ-ธาตุ-สาม-ดวง" เพลงนี้ เป็นการบรรยายประวัติความเป็นมาตามตำนานของพระธาตุ 3 แห่งใน จ.แพร่ ครับ

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ

เนื้อเพลงนะครับ "อ๊ะตีเต๋ก๋าเล แต่เดิมกอนก่อนเก๊า  ป๋างพระพุทธเจ้าเลียบโลกเมินมา"  แปล ในอดีตกาล แต่ก่อนเริ่มพระศาสนา ตอนนั้นพระพุทธเจ้าได้เสด็จเลียบโลกเพื่อโปรดสัตว์ มาดูประโยคครับ  คำว่า "เก๊า" แปลว่า เริ่มต้น หรือจุดเริ่มต้น หรือโคน(โคนต้นไม้ ไม่ใช่ไอติมโคนนะ) แต่จะแปลเป็นลักษณะไหนแล้วแต่รูปประโยค และการพูดคุยในเวลานั้น เช่นในเพลงนี้ จะแปลได้ว่า ก่อนเริ่มพระศาสนา เพราะมีคำว่า ก่อนมานำหน้าครับ แต่ถ้าพูดกันแบบ เก๊าบ่ะม่วง อันนี้คือโคนต้นมะม่วง โอเคนะฮะ. ต่อ ๆ "ป๋างพระพุทธเจ้าเลียบโลกเมินมา" แปลว่า เมื่อครั้งพระพุทธเจ้า เสด็จเลียบโลก คำว่า ป๋าง ก้อคือ ปาง(ปางนั้น, ปางก่อน ประมานนี้) คำว่าพระพุทธเจ้า ถ้าเหนือจริงจะออกเสียงว่า "ผะ-ปุ๊ด-ถะ-เจ้า" ออกเสียงเป็น เจ้า นะครับ ไม่ใช่ จ้าว แบบภาษาไทยภาคกลาง.

"พร้อมพระสาวกอรหันต๋า มีผญาอินตาถือฉัตรก้างบังบน" แปล พร้อมพระสาวกอรหันต์ โดยมี พระอินทร์ เป็นผู้ถือฉัตร กางไว้ บันแดด บังฝนให้กับพระพุทธเจ้า สังเกตได้คือ ผะ-ญา อันนี้คำเหนือแท้ เราจะไม่ใช้คำว่าพระ จะใช้คำว่า ผะ แทน อย่างพระแก้วขาว ภาษาเหนือจะเรียกว่า ผะ-แก้ว-ขาว คำว่าพระจะใช้เรียก เณร ส่วนพระ เราจะเรียกตุ๊เจ้า

ต่อ ๆ "เสด็จข้ามน้ำข้ามเวหาหน มาโปรดเมืองคน มนุษย์ลุ่มฟ้า" ประโยคนี้คงเข้าใจกันหลายส่วน จะแปลแค่ "มนุษย์ลุ่มฟ้า"  คำว่า "ลุ่ม" ในภาษาเหนือ แปลว่า "ข้างล่าง, ข้างใต้" มนุษย์ลุ่มฟ้า จะแปลว่า มนุษย์ที่อยู่ใต้ฟ้า (ในภาษาเหนือแบบโบราณแท้ ๆ จะไม่มีคำว่าฟ้า จะใช้คำว่า ผ่า แทน เช่น ผ่าฮ้อง แปลว่า ฟ้าร้อง, ผ่าลั่น แปลว่า ฟ้าผ่า และคำว่า ลั่น ยังใช้กับเครื่องแก้วหรือกระจกเวลาร้าวด้วย จะเรียกว่า แก้วมันลั่น แปลว่า แก้วมันร้าว ปัจจุบันคำว่า ผ่า ยังมีใช้ในบางอำเภอและบางจังหวัด ส่วนคำว่าลั่นใช้กันเกลื่อน)

"เพื่อจัดตั้งยังพระศาสนา ในโลกหล้าจมปู" แปล ๆ เพื่อจะตั้งพระศาสนาในชมภูทวีป(ถ้าคนที่ศึกษาเรื่องราวของศาสนาพุทธ จะรู้ว่าชมภูทวีปไม่ใช่อินเดียนะครับ ใครอยากรู้ไปหาอ่านเองเน้อ)

"องค์สัพปันญู ผู้มีธรรมผ่องแผ้ว ได้มาเถิงแล้ว ดินแดนล้านนา" อันนี้คงไม่ต้องแปลมาก "องค์สับปันญู" ก้อคือ องค์สัพพัญญู แต่ที่เคยบอกไว้ในกระทู้ก่อนหน้านี้ ภาษาเหนือบางแห่งไม่มีการออกเสียง "พ.พาน" คำว่า "มาเถิง" ก้อคือ มาถึง ในภาษาภาคกลาง แต่จริง ๆ เยอะกว่านี้ แล้วแต่ถิ่น หรือแล้วแต่ใครจะใช้ มีคำว่า มาฮอดแล้ว, มาแผ๋ว, มาเติง ใช้ได้หมด แต่ คำว่า ฮอด จะแปลได้อีกอย่างเพราะความหมายของภาษาภาคกลางเข้ามาเกี่ยวข้อง คือรอด(รอดตาย)

"ฟ้าฮ่ำยามเจ้า ส่องแสงอุษา พระเจ้าเสด็จมาดอยจ๋อมแจ้งตี้นั้น" แปล  คือพึ่งจะสว่างตอนเช้ามาก(ไม่ใช่เช้ามืดนะ) แดดเพิ่งจะออกประมานว่าพึ่งเห็นลายมือ พระพุทธองค์ได้เสด็จมาที่ดอยจอมแจ้ง" คนเหนือเรียกดอยจ๋อมแจ้ง คนภาคกลางเรียกดอยจอมแจ้ง  
"ทรงทอดพระเนตรบนดอยเล็งนึ่งจั้น"  แปล ๆ ทรงทอดพระเนตรบนดอยเล็ง นึ่งจั้น" นึ่ง แปลว่า หนึ่ง, จั้น แปลว่า ชั้น อันนี้เป็นการออกเสียงแบบภาษามคธ เสียง "ช" เป็น เสียง "จ"

"เป๋นสันฐานเตี่ยงมั่น เรืองไร" แปล เป็นสันฐานที่ มั่นคง, เตี่ยงมั่น แปลว่ามั่นคง แต่ถ้าแยกคำ เป็นเตี่ยง จะอีกแปลเป็น 12.00 น. มั่น ก้อแปลว่า กระชับมั่น เช่น เวลาถือของ ผู้ใหญ่จะเตือนเด็ก ว่า ก๋ำฮื้อมั่น แปลว่า ถือให้กระชับ อย่าให้หล่น ประมานนี้แล

"ดอยโกศัยยะ เมื่อหน้าสืบไป เป๋นตี้รวมไว้ยังศรัทธา" แปล "ดอยโกศัย ในอนาคตกาล จะเป็นที่รวมของความศรัทธา"
เสียงบรรเลงเครื่องดนตรีภาคเหนือ(เท่าที่ได้ยินจะมีเสียง ซึง, ขลุ่ยเมือง, เปี๊ยะ, สะล้อ) จนถึง นาทีที่ 3.30

"ฮื้อขุนลั๊วะอ้ายก้อม น้อมนำเกศา บรรจุในคูหาธรรมนี้" แปลว่า "ให้ขุนลํวะอ้ายก้อม เป็นผู้นำพระเกศาธาตุ บรรจุใน หีบธรรม"

"พระธาตุเจ้าสามดวง งามเป๋นสะหลี ต๋ามต๋ำนานมี ดังเป๋นตี้น้อง" แปลว่า "พระธาตุทั้งสามดวง มีความงามเป็นศรี ตามตำนาน(พระเจ้าเลียบโลก) ดังเป็นตี้น้อง(อั้นนี้ผมเข้าใจว่าเป็นพี่น้อง เพราะพระธาตุทั้งสามแห่งอยู่ในจังหวัดเดียวกันเป็นพระธาตุพี่น้องกันนะครับ แต่ยังไงรอท่านผู้รู้อื่นมาขยายความอีกที)

"พระธาตุจ๋อมแจ้ง สรรเสริญแซ่ซ้อง บนดอยสูงเต้ต้อง จื่อพระธาตุดอยเล็ง พระธาตุจ่อแฮ ขึ้นเดือนหกเป็ง จึ่งเป๋นตำนานโบราณมา" แปล ๆ พระธาตุจอมแจ้ง เป็นที่สรรเสริญแซ่ซ้อง,
บนดอยสูงเต้ต้อง(เต้ต้องไม่มีความหมายนะครับ คาดว่าจะนำมาใส่เพื่อให้บนเพลงนี้มีความไพเราะ) ชื่อพระธาตุดอยเล็ง
พระธาตุจ่อแฮ(แต่นักวิชาการตั้งชื่อให้ใหม่ว่า พระธาตุช่อแฮ ยังดีครับคนเหนือไม่เรียกตามยังคงเรียกพระธาตุจ่อแฮ)
ขึ้นเดือนหกเป็ง คือ วันเพ็ญเดือนหก(เดือนหกเหนือ คือเดือนมีนาคม, เดือนเจ็ดเหนือคือสงกรานต์ แต่เดือนของไตลื้อ การนับเดือนจะ - 1 จากเดือนของเหนือ) จึ่งเป๋นตำนานโบราณมา ก้อคือ เป็นไปตามตำนานโบราณ แหละครับ

"แม้นไผคนได ได้ไหว้ได้สา พระเจ๋ติยาสามดวงเลิศแล้ว" แปล ๆ "แม้ว่าใครคนไหนก้อตาม ได้กราบไว้พระธาตุเจดีย์อันเลิศทั้งสามแล้ว" (ในภาษาเหนือแท้ ๆ จะไม่มีคำว่าเจดีย์ครับ ไม่มีคำว่า "ผะธาตุ" ด้วย แต่จะมีคำว่า "ธาตุ" เท่านั้น ยกตัวอย่าง "ในวันสังขารปี๋ใหม่เมือง เฮาจวนกั๋นไปปักตุงก่อธาตุทราย" แปลว่า ในวันสงกรานต์ เราชวนกันไปปักตุง(ธงแบบเหนือ) ก่อเจดีย์ทราย

"นาบุญสมปาน ไผได้มาแผ๋ว สักก๋าระต๋ามแนว ฮีดฮอยก่อนนั้น" แปลว่า "เป็นบุญสมประมาน ที่ใครได้มาถึง ได้มาสักการะตามแนวทางรีตรอยโบราณ" คำว่า "ฮีตฮอย" แปลว่า รีตรอย สมัยก่อน จะมีอีกคำหนึ่งเก่ากว่าคำว่า ฮีดฮอย คือคำว่า ฮีตกอง แปลเหมือนกัน จะเจอในภาษาของไตลื้อ สิบสองปันนา ทางกลุ่มจังหวัดล้านนา ก้อมีใช้อยู่บางพื้นที่

"จะอยู่เตี่ยงมั่น ดังแก้วสามประก๋าน อายุยืนนานเตี่ยงแต้" แปลอีก "จะอยู่อย่างมั่นคง เหมือนแก้วสามประการ(คือ พระรัตนะตรัย) จะมีอายุยืนนานเป็นแน่แท้"  ทางเหนือแท้จะไม่เรียก สามประการ ครับ แต่จะเรียกว่า สาม ผะ ก๋าน เก่ากว่านี้ แก้วตังสาม เหมือนกับ การไหว้ ท้าวทั้งสี่ คนเหนือจะเรียกว่า เต๊าตังสี่ ครับ

"มาเมืองแป่ แว่พระธาตุสามดวง บวงสรวงเจดีย์ปาระมีธรรม" แปลง่าย ๆ "มาเมืองแพร่ แวะ พระธาตุสามดวง เพื่อ บวงสรวง เจดีย์ อันเป็นธรรมบารมี ของพระพุทธเจ้า หรือแปลอีกอย่าง เพื่อเสริมบารมี เสริมบุญ เสริมภูมิธรรม ให้กับตัวท่านผู้ที่ได้มากราบไหว้"

จบแล้ว

โอ้ แม่เป๋นเจ้า กว่าจะจบ 7500+ ตัวอักษร

แถม เคยมีคนถาม คำว่า "เปิ้น"
คงเคยได้ยินคำบอกรักภาษาเหนือนะครับ ที่พูดกันว่า "เปิ้นฮักตั๋ว" แปลว่า "ฉันรักเธอ"
คำว่า  "เปิ้น" แปลได้ 2 ความหมาย ระวังงงนะครับ(คนเหนือด้วยกันจะเข้าใจ แต่คนที่อื่นจะมึนมาก)
1. เปิ้น ที่แปลว่า ฉัน ยกตัวอย่างก้อ "เปิ้นฮักตั๋ว", เปิ้นจะไปแอ่ว(ฉันจะไปเที่ยว)
2. เปิ้น ที่แปลความหมายถึง บุคคลที่ 3 ยกตัวอย่าง (ในตัวอย่างนี้จะมีทั้งเปิ้นแบบบุคคลที่ 1 และ 3)
สมมติเหตุการณ์ ในแคนทีนมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เด็กสาวซื้อไอติมไปให้แฟน โดยแฟนนั่งรออยู่ที่โต๊ะ โดยกำลังเดินถือไอติมไป 2 อัน
แล้วเจอเพื่อนในระหว่างเดินกลับไปหาแฟน อันนีแบบ Sound Track เบา ๆ
สมมติ เด็กสาวชื่อหล้า

เพื่อน : หล้า ตั๋วหยังซื้อไอติม 2 อัน ขออันได้ก่อ กาว่าจะเอาไปฮื้อไผกา (หล้า เธอทำไมซื้อไอติม 2 อัน ขออันหนึ่งได้ไหม หรือจะเอาไปให้ใครเหรอ)
หล้า  : เปิ้นเอาฮื้อบ่ะได้  เปิ้นจะเอาไปฮื้อเปิ้น เปิ้นนั่งถ้าอยู่ปุ้น(ฉันเอาให้ไม่ได้  ฉันจะเอาไปให้เขา เขานั่งรออยุ่โน่น)
เพื่อน : เปิ้นนั่งตังใด เดวเปิ้นจะซื้อละไปนั่งตวย (เขานั่งที่ไหน เดี๋ยวฉันจะไปซื้อละไปนั่งด้วย)
หล้า  :  ไปซื้อแล่ เปิ้นจะถ้า ละก่อยเตวไปหาเปิ้นตางปุ้นตวยกั๋น (ไปซื้อสิ ฉันจะรอ แล้วค่อยเดินไปหาเขาทางโน้นด้วยกัน)

จบละ

คงไม่งงนะครับ อันนี้แบบธรรมดา
แต่ถ้าแบบพูดเร็ว ๆ จะพูดแบบคำบางคำหายไปเลย แบบสนิทกันเลย ประมาน Advance ครับ ถ้าไม่ใช่คนเหนือบางทีจะไม่เข้าใจเลย การออกเสียงจะเป็นแบบนี้ครับ

เพื่อน : หล้า หยังซื้อติม 2 อัน  อันได้ก่อ กาฮื้อไผกา (แบบนี้ฮะ แต่ความหมายเหมือนกัน แต่การเน้นเสียงจะเปลี่ยนไปด้วย)
หล้า   : ฮื้บได้ เจ้ามันถ้าปุ้น (ให้ไม่ได้ เจ้าของมันรออยู่โน่น) (ฮื้อ+บะ = ฮื้บ จะพูดเร็วออกเสียง บ. นิดเดียวเท่านั้น คล้าย ๆ กับ พ่อ+มรืง = พ่อง ของเด็กภาคกลางแหละครับ ฮ่า ๆ)
เพื่อน : ตังใดฮั่น เดวซื้อละจะไปหา (ทางไหนเหรอ เดี๋ยวซื้อแล้วจะไปหา)
หล้า   : ซื้อแล่ เดวถ้า ละก่อยไปกั๋น (ซื้อสิ จะรอ แล้วค่อยไปด้วยกัน)

พอสมควรละ เอาแค่นี้ก่อน ไว้มีโอกาสจะมาใหม่ หรือใครงงก้อถามได้เน้อ หรือใครจะให้สอนก้อได้ แต่สอนได้เท่าที่รู้เน้อ
หากผิดพลาดประการใดก้อขออภัย อาจจะไม่ตรงกับสำเนียงหรือลักษณะการพูดบางพื้นที่ แต่ทางเชียงใหม่ส่วนมากเป็นแบบนี้ครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่