ฟองสบู่ Nasdaq VS MAI

กระทู้สนทนา
การปรับตัวขึ้นของราคาหรือดัชนีหุ้น MAI ในช่วง 3-4 ปีมานี้สูงมากจนทำให้ผมคิดว่ามันเป็น  “ฟองสบู่” จากปลายปี 2554 ถึงปัจจุบัน ดัชนีปรับตัวขึ้นเป็นมากกว่า 3 เท่าในเวลา 3 ปี เศษ ๆ จากดัชนี 242 เป็นประมาณ 800 จุดในปัจจุบัน  ราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นมากกว่า 10 เท่าภายในช่วงเวลาดังกล่าว ดัชนีหุ้น MAI ปรับตัวขึ้นไปสูงลิ่วจนค่า PE สูงถึง 84 เท่า ค่า PB สูงถึง 7 เท่า และอัตราปันผลต่อราคาหุ้นเท่ากับ 0.6% ต่อปี  นักลงทุนส่วนบุคคลจำนวนมากต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นตัวเล็กที่มักจะอยู่ในตลาดหุ้น MAI ถ้าจะว่าไป  ไม่เคยมีครั้งไหนในประวัติศาสตร์ตลาดหุ้นไทยที่หุ้นจะ “เวอร์” ขนาดนี้  ถ้าจะหาประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้นที่จะมาเปรียบเทียบ  ผมคิดว่ากรณี “ฟองสบู่หุ้น Nasdaq” หรือฟองสบู่หุ้น ไฮเท็คในช่วงต้นปี 2000 ในสหรัฐอเมริกาน่าจะนำมาเทียบเคียงและอาจจะเป็นบทเรียนให้เราได้

    ข้อแรกก็คือ  ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเริ่มต้นในช่วงประมาณต้นปี 1997 พอถึงเดือนมีนาคมปี 2000 ดัชนีได้ปรับตัวขึ้นไปกว่า 3 เท่าในเวลาเพียง 3 ปีเศษ  ดัชนีวิ่งขึ้นจาก 1000 ต้น ๆ  เป็นเกือบ 4000 จุด หุ้นหลายตัวที่โดดเด่นเช่นหุ้น Cisco Systems ที่ทำเกี่ยวกับระบบเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตที่ใหญ่ที่สุดนั้น  ผมจำได้ว่ากลายเป็นหุ้นที่มี Market Cap. หรือมูลค่าตลาดของหุ้นใหญ่ที่สุดในโลกตัวหนึ่งทั้ง ๆ  ที่มันจดทะเบียนในตลาด Nasdaq หรือ  “ตลาดหุ้นตัวเล็ก” คล้าย ๆ  ตลาด MAI ในบ้านเรา  เหตุผลก็เพราะว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉพาะที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตนั้นมีราคาวิ่งขึ้นไปสูงมาก  หลาย ๆ  ตัวราคาปรับขึ้นไปเป็นกว่าสิบเท่าในเวลาอันสั้น  ค่า PE ของดัชนี Nasdaq นั้นสูงถึง 100 เท่า   ดังนั้น  มองในแง่ของความ “เวอร์” ก็ต้องบอกว่าฟองสบู่หุ้นไฮเท็คดูเหมือนว่าจะสูงกว่าเล็กน้อยในนาทีนี้  แต่ก็ไม่แน่ว่าในที่สุดหุ้น MAI จะเหนือกว่าหรือไม่  เพราะฟองสบู่ไฮเท็คแตกไปนานแล้วในขณะที่หุ้น MAI ดูเหมือนว่าจะยังขึ้นอยู่

    ข้อสอง ฟองสบู่หุ้นไฮเท็คนั้นเกิดขึ้นเพราะ Story หรือเรื่องราวการพัฒนาทางเท็คโนโลยีโดยเฉพาะทางด้านอินเตอร์เน็ตที่กำลังกลายเป็นกระแสใหม่ของโลกที่คนธรรมดาทั้งโลกจะสามารถใช้มันได้ทุกวัน  กระแสนี้ทำให้คนคิดว่าบริษัทจดทะเบียนที่ทำเกี่ยวกับอินเตอร์เน็ตจะกลายเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่และโดดเด่นในระบบ  “เศรษฐกิจใหม่” ของโลก  มันจะทำรายได้และมีกำไรมหาศาลยิ่งกว่าบริษัทยักษ์ใหญ่เดิมที่มีอยู่ใน  “โลกเก่า” ในอนาคตอันใกล้แม้ว่าในขณะนั้นมันยังมีรายได้น้อยมากและจำนวนมากก็ยังไม่มีกำไรเลย  ตัวอย่างถ้าผมจำไม่ผิดก็เช่นบริษัทอเมซอนดอทคอมที่ขายหนังสือผ่านทางอินเตอร์เน็ตที่มีมูลค่าหุ้นใหญ่กว่าบริษัทบาร์นแอนด์โนเบิลซึ่งเป็นบริษัทขายหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลกและอยู่มาน่าจะหลาย ๆ สิบปีแล้ว  ว่าที่จริงมูลค่าของอเมซอนในขณะนั้นใหญ่กว่าบริษัทขายหนังสือทั้งหมดในประเทศรวมกันด้วยซ้ำทั้ง ๆ  ที่ยังไม่มีกำไรเลย

    Story ของหุ้น MAI นั้นผมคิดว่าแตกต่างจากตลาด Nasdaq มาก  เนื่องจากนโยบายก็คือ  หุ้น MAI นั้นมีขึ้นเพื่อสนับสนุนบริษัทขนาดเล็กเพื่อให้มีช่องทางการระดมทุนเพื่อการเติบโตและบริษัทขนาดเล็กที่เข้ามาจดทะเบียนก็มีหุ้นไฮเท็คน้อยมาก  อย่างไรก็ตาม  ในช่วงเร็ว ๆ  นี้  เราก็ได้เห็น “กระแส” อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นนั่นก็คือเรื่องของพลังงานทดแทนซึ่งรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดขึ้นโดยการ  สนับสนุนด้านราคาขายให้แก่บริษัทที่ผลิตพลังงานไฟฟ้าเข้าสู่ระบบ  นี่ทำให้บริษัทที่ทำพลังงานทดแทนเกิดขึ้นและเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์และก็ได้รับการ “ต้อนรับ”  จากนักลงทุนจำนวนมากที่อาจจะมองว่ามันจะเป็นธุรกิจที่จะโตไปได้อีกมหาศาลพร้อม ๆ กับกำไรที่จะเติบโตขึ้นเนื่องจากเม็ดเงินที่จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐไปอีกนาน    มองในแง่นี้ผมคิดว่า Story ของหุ้นไฮเท็คน่าจะเหนือกว่าหุ้น MAI มาก

เรื่องที่สามที่ผมคิดว่าคล้าย ๆ  กันระหว่าง Nasdaq กับ MAI ก็คือ  บริษัทจดทะเบียนหลายแห่งในตลาด MAI ต่างก็พยายามเข้ามาทำธุรกิจพลังงานทดแทนเพราะอาจจะเห็นว่ามันทำกำไรได้  แต่ที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันก็คือ  พวกเขาเปลี่ยนชื่อบริษัทเพื่อ “สะท้อน” ให้เห็น “ทิศทาง” ที่บริษัทจะเดินไป  ประเด็นก็คือ  การเปลี่ยนชื่อนั้น  พวกเขาเชื่อว่าจะทำให้คนสนใจหุ้นมากขึ้นและเข้ามาซื้อทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นไปอย่างรวดเร็วโดยที่ยังไม่ต้องลงมือทำอะไรเลย  ชื่อที่จะทำให้คนสนใจนั้นจะต้องมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับแสงอาทิตย์เช่นคำว่า  “โซลาร์” เป็นต้น  ในทำนองเดียวกัน  ในช่วงของฟองสบู่ไฮเท็คเองนั้น  บริษัทจำนวนมากต่างก็เปลี่ยนชื่อให้มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับอินเตอร์เน็ตหรือไฮเท็ค เช่น  ต่อท้ายชื่อของบริษัทด้วยคำว่า  “ดอทคอม”  หรือ “ดอทเน็ต”  หรือ “โทรนิค”  อะไรทำนองนี้  มีการศึกษาพบว่าหุ้นของบริษัทที่มีการเปลี่ยนชื่อให้เข้ากับกระแสนั้น  ภายในเวลา 10 วันมีราคาเพิ่มสูงขึ้นถึง 125 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้เปลี่ยนชื่อ ของเมืองไทยผมไม่รู้ว่าผลของการเปลี่ยนชื่อทำให้หุ้นขึ้นไปมากน้อยแค่ไหน  แต่คิดว่าน่าจะมีผลอยู่เหมือนกัน

ข้อสี่ที่ผมอยากเปรียบเทียบก็คือเรื่องของหุ้น IPO  ทั้งในตลาดหุ้น MAI และ Nasdaq ในช่วงฟองสบู่ก็คือ  มีการนำหุ้นเข้าตลาดจำนวนมากอย่างแทบไม่เคยปรากฏมาก่อน  หุ้นไฮเท็คจำนวนมากนั้น  เป็นเรื่องของ Concept หรือแนวความคิดใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ที่อาจจะ “ปฏิวัติ” แนวความคิดหรือผลิตภัณฑ์เดิม  หุ้นที่เข้าตลาดในวันแรก ๆ  นั้นต่างก็  “วิ่งระเบิด” หลายสิบเปอร์เซ็นต์หรืออาจจะเป็นเท่าตัว   แต่ข้อเท็จจริงที่พบในภายหลัง หลังจากที่ฟองสบู่แตกก็คือ  ผลิตภัณฑ์จำนวนมากนั้นเป็นเพียง “ความฝัน” ที่ไม่รู้ว่าคนที่ซื้อหุ้นคิดว่ามันจะเป็นจริงได้อย่างไร  ตัวอย่างเช่น  บริษัทที่อ้างว่าเมื่อเสียบปลั๊กเข้าเครื่องคอมแล้วสามารถส่งกลิ่นที่ต้องการออกมาได้  เป็นต้น  ก็อย่างที่เราเห็น  หุ้น IPO จำนวนมากกลายเป็นกระดาษที่ไม่มีค่าเพราะบริษัทล้มละลายไปเมื่อ  “ฟองสบู่แตก”

ในกรณีของหุ้น IPO ของตลาด MAI นั้น  ส่วนใหญ่หุ้นที่เข้าตลาดวันแรก ๆ  ก็มักจะวิ่งระเบิด  น่าจะปรับตัวสูงกว่าหุ้นไฮเท็คโดยเฉลี่ย  แต่ถ้ามองดูก็จะเห็นว่าหุ้นส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีอะไรโดดเด่นไม่ต้องพูดถึงว่ามันจะ “ปฏิวัติ” แนวความคิดอะไร   บางตัวอาจจะมีโมเดลธุรกิจที่น่าสนใจอยู่บ้างในแง่ที่มันยังไม่มีบริษัทในตลาดที่ทำแบบนั้น  ตัวที่โดดเด่นก็ดูเหมือนยังอยู่ที่ธุรกิจที่ดูเหมือนกำลังโตเช่น พลังงานทดแทน เป็นต้น  ดูเหมือนว่านักลงทุนจะดูแค่ว่ามันยังเป็นธุรกิจที่เล็กและจะโตได้เร็วเมื่อเข้ามาจดทะเบียนในตลาดแล้ว  ผมเองคิดว่าถ้า “ฟองสบู่” แตกจริง  บริษัทก็คงไม่ล้มละลาย  มันคงไม่ได้กระทบอะไรกับบริษัทมากมายนักเพราะหุ้นที่เข้ามาจดทะเบียนนั้นไม่ได้อาศัยเงินจากตลาดในการอยู่รอดแบบหุ้นไฮเท็ค ตรงกันข้าม  บริษัทได้เงินจาก IPO และดังนั้นจึงน่าจะมีฐานะทางการเงินดีขึ้น  สิ่งที่บริษัททำเองก็ไม่ได้มีความเสี่ยงอะไรมากมายนัก  เป็นธุรกิจธรรมดา ๆ  ที่นักลงทุนอาจจะ “ฝัน” ว่าจะโตเร็วเท่านั้น

บทสุดท้ายของตลาด Nasdaq ในปี 2000 ก็คือ  “ฟองสบู่แตก”  ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงมาอย่างรุนแรง  ปีแรกตกลงมาเกือบ 50% และตกต่ออีก 2 ปี ปีละ20% รวมแล้วตกลงมา ประมาณ 66%  หุ้นจำนวนมากล้มละลายกลายเป็น 0 แม้แต่หุ้น “สุดยอด”  และกลายมาเป็นหุ้นที่ “ยิ่งใหญ่” ในปัจจุบันบางตัวอย่างหุ้นอเมซอนนั้น  ในช่วงที่ตกต่ำมาก ๆ ปี 2001-2002 ก็ตกลงมาเหลือเพียงไม่ถึง 10% จากราคาสูงสุดก่อนหน้านั้นเช่นเดียวกับหุ้นยาฮูและซิสโก้    ผมเองไม่แน่ใจว่าบทสุดท้ายของหุ้น MAI จะเป็นอย่างไร  เป็นไปได้ว่าฟองสบู่อาจจะไม่แตกและกำไรของบริษัทจดทะเบียนหุ้นตัวเล็กจะโตเร็วจนกระทั่งค่า PE ลดลงหรือราคาหุ้นก็ขึ้นไปอีกจน PE ทะลุ 100 เท่าก็เป็นไปได้  อย่างไรก็ตาม  ประวัติศาสตร์ของตลาดหุ้น Nasdaq ก็น่าจะเป็นเครื่องเตือนใจว่า  มีโอกาสที่ฟองสบู่อาจจะแตก  และนั่นอาจจะหมายถึงความเสียหายที่รุนแรงสำหรับคนที่เข้าไป “เล่น”  ในยามนี้  เพราะประวัติศาสตร์นั้น  มีพลังที่ยิ่งใหญ่เสมอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่