7 ความเชื่อผิด ๆ เพี้ยนๆ เกี่ยวกับไอน์สไตน์


ใคร ๆ ก็เคยได้ยินชื่อของไอน์สไตน์ หรือแม้เพียงเห็นภาพแค่แวบเดียวก็รู้แล้วว่าเป็นใคร และแน่นอนว่าคนดังคับโลกระดับนี้ย่อมมีเรื่องเล่าเยอะแยะเป็นแน่ แต่จะเป็นไปได้หรือที่ทุกเรื่องที่คุณเคยได้ยินมาเกี่ยวกับไอน์สไตน์จะเป็นจริงไปเสียทั้งหมด  คงจะดีไม่น้อยหากเรามีมุมมองมองใหม่ ๆ ที่แตกต่างไปจากที่กล่าวอ้างต่อ ๆ กันมาเป็นทางเลือกเพื่อให้เราตัดสินใจได้เองว่าเรื่องไหน น่าจะ  ชัวร์  เรื่องไหน  (น่าจะ) มั่วนิ่ม  และเรื่องไหนที่ยังคงต้องหาหลักฐานมายันกันต่อไป !
          แต่เล่นกับประเด็นจับผิดชาวบ้านอย่างนี้  ผมต้อง  “ใส่กระจับ”  โดยรีบออกตัวไว้แต่เนิ่น ๆ  ก่อนว่า  แม้ผมจะพยายามค้นคว้าและเสาะหาข้อมูลต่าง ๆ มานำเสนออย่างเต็มความสามารถแล้ว  แต่ก็ไม่ได้ผูกขาดความถูกต้องไว้แต่เพียงผู้เดียว    ในทางกลับกัน  ผมจะยินดีเป็นที่สุด หากมีผู้อ่านมาร่วมแจมเพื่อสนับสนุน  เสริมข้อมูล  คัดค้าน  ทักท้วง  หรือตั้งข้อสังเกตอย่างสร้างสรรค์  เพื่อให้เราเข้าใจอัจฉริยภาพบุคคลท่านนี้ดียิ่งขึ้น
          ลองมาไล่ดูทีละเรื่องกันเลย.......ดีไหมครับ ?

1. ไอน์สไตน์ตอนเป็นเด็ก  แสนจะโง่ทึ่มเรียนรู้ได้ช้า  สอบตกแทบทุกวิชา

         ใครที่ชอบอ่านประวัติของอัจฉริยบุคคลคงจะเคยพบว่า  บ่อยครั้งที่หนังสือต่างๆ จะเล่าว่า  อัจฉริยะท่านนั้นในวัยเด็กมักจะเรียนหนังสือไม่เก่ง  ดูเหมือนโง่  หัวทึบ ฯลฯ  และเนื่องจากไอน์สไตน์เป็นหนึ่งในบรรดาอัจฉริยะทั่วโลกคุ้นเคยกันมากที่สุด  จึงมักจะเป็นตัวอย่างยอดนิยมที่ถูกกล่าวถึงในทำนองนี้อยู่เสมอ
         ทั้งนี้  ข้อกล่าวหาที่หนักหน่วงที่สุดเท่าที่ค้นพบเป็นลายลักษณ์อักษร ก็คือ    ไอน์สไตน์เกิดมามีหัวกะโหลกบูด ๆ เบี้ยว ๆ  ทำให้พูดได้ช้ากว่าปกติ  และพอเข้าโรงเรียน  ก็เป็นนักเรียนที่เรียนไม่ดีและมีพฤติกรรมก้าวร้าวกับครูอีกด้วย !
         แต่น่าสงสัยไหมละว่า  หากไอน์สไตน์มีหัวกะโหลกบูดเบี้ยวจริง ทำไมเขาถึงได้สร้างสรรค์งานทางวิทยาศาสตร์ไว้อย่างยิ่งใหญ่เมื่อมีอายุเพียง 26 ปี   ในปี ค.ศ. 1905  ซึ่งถือกันว่าเป็นปีมหัศจรรย์ของไอน์สไตน์  (Einstein’ Miraculous  Year)
         เรื่องที่ว่าไอน์สไตน์พูดได้ค่อนข้างช้านั้น  ฝรั่งเองก็เชื่อกันมาก ถึงขนาดที่บางคนเรียกอาการที่เด็กฉลาด  แต่พูดได้ช้าว่ากลุ่มอาการไอน์สไตน์ (Einstein Syndrome)  ประเด็นนี้มีเกร็ดสั้น ๆ เล่าว่าสุภาพสตรีที่ทำงานรับใช้ในครอบครัวของไอน์สไตน์ออกปากว่าไอน์สไตน์นั้นโง่ เพราะเธอสังเกตเห็นว่าไอน์สไตน์มักจะทวนประโยคพูดซ้ำ ๆ 2 ครั้งเสมอ
         แต่คนที่ศึกษาประวัติของไอน์สไตน์แบบเจาะลึก  เช่น ไมเคิล  ฮาวอี (Michael J.A. Howe)   แห่งมหาวิทยาลัยเอกซีเทอร์ (Exeter University)  กลับมองเรื่องนี้ในอีกมุมหนึ่งว่า  พูดซ้ำก็ไม่จำเป็นต้องโง่ซะหน่อย  แถมยังตีความว่า  นี่เป็นยุทธวิธีในการทบทวนคำพูดของหนูน้อยไอน์สไตน์  เพื่อให้แน่ใจว่าทุกประโยคที่หลุดออกจากปากนั้นถูกต้อง  100 เปอร์เซ็นต์  (มองกันแง่ดีแบบสุด ๆ )  และในช่วงวัยนี้เองก็มีหลักฐานว่า  ไอน์สไตน์ชอบเล่นเกมปริศนา แถมยังฉายแววความมุ่งมั่นในการทำเรื่องหนึ่ง ๆ ให้เสร็จสิ้นอีกด้วย  อย่างเช่น  เล่นตัวต่อ  ก่อไพ่เป็นรูปบ้าน
         นอกจากนี้ ยังมีจดหมายฉบับหนึ่งซึ่งเขียนโดยคุณยายของไอน์สไตน์เองระบุว่า  ขณะที่หนูน้อยไอน์สไตน์อายุเพียง 2 ขวบกับ 8 เดือน  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้องสาวชื่อ มายา (Maja) ถือกำเนิดขึ้นนั้น  ผู้ใหญ่พูดกับไอน์สไตน์ว่ากำลังจะมีเพื่อนเล่นใหม่แล้วนะ   ทำให้หนูน้อยไอน์สไตน์ถามกลับด้วยความสงสัยว่า  “แล้วล้อของ  “ของเล่น”  ชิ้นใหม่นี้อยู่ตรงไหนล่ะ?!   (น้องสาว  = ของเล่น และของเล่นก็ควรจะมีล้อจะได้วิ่งได้)  จุดนี้เองที่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า  หากเด็กอายุไม่ถึง 3 ขวบสามารถคิดและพูดได้ขนาดนี้แล้ว  จะเรียกว่าเขามีพัฒนาการช้าได้หรือ?
         พอไอน์สไตน์อายุได้ 4-5 ขวบ  ก็มีเหตุการณ์ประทับใจที่ทำให้เขาจดจำไปชั่วชีวิต  นั่นคือ  คุณพ่อได้มอบเข็มทิศให้ขณะที่เขากำลังล้มป่วยอยู่   ไอน์สไตน์รู้สึกทึ่งเหลือเกินว่า  ทำไมเข็มทิศถึงได้ชี้ทิศเหนืออยู่ตลอดเวลา?  มันต้องมีพลังอะไรสักอย่างที่เรามองไม่เห็น  รู้สึกก็ไม่ได้  ที่ทำให้เข็มทิศมีพฤติกรรมเช่นนั้น  นี่คือความประทับใจทางวิทยาศาสตร์ครั้งแรกของเขา  ซึ่งเชื่อกันว่ามีผลต่อความมุ่งมั่นในการค้นหาสัจจะแห่งธรรมชาติตลอดชั่วชีวิตของเขา
         อีกเรื่องหนึ่งที่ไอน์สไตน์โดนกล่าวหาก็คือ  เขาเก่งแต่คณิตศาสตร์แต่สอบตกวิชาอื่นหมด  รวมทั้งภาษาก็ไม่ได้เรื่องอีกด้วย  เรื่องนี้น่าคิดเพราะประวัติที่ค้นได้บ่งว่า  เขาชื่นชมภาษาละตินเหลือเกิน  เนื่องจากภาษาละตินมีกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์ที่งดงาม  ส่วนเรื่องการเขียนรายงานนั้น  ก็มีหลักฐานของทางโรงเรียนว่าเขาทำรายงานได้ดีเช่นกัน
         พออายุได้  11  ปี  ไอน์สไตน์วัยโจ๋ก็สนใจอ่านเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์กับศาสนา  และก็เริ่มคิดว่าเรื่องราวทางศาสนาหลายเรื่องนั้นไม่น่าจะเป็นไปได้  ในช่วงเวลาเดียวกันนี้เอง  ไอน์สไตน์ก็เริ่มสนใจคณิตศาสตร์   และสามารถพิสูจน์ทฤษฎีบทของพิทากอรัสได้ด้วยตนเอง  แม้ว่าจะใช้เวลาหลายสัปดาห์ก็ตามที  (อย่าลืมว่าไอน์สไตน์เรียนรู้เองตอนอายุเพียง  11 ปีเท่านั้น)
         พออายุได้ 12  ปี คุณลุงของไอน์สไตน์ซึ่งเป็นวิศวกร  ก็ได้มอบหนังสือเรขาคณิตให้เขาใช้ศึกษา  ไอน์สไตน์รู้สึกประทับใจในความเรียบง่ายและความงดงามของเรขาคณิตของยูคลิดมาก  และแนวทางของยูคลิดนี่เอง (“เรียบง่าย” + “งดงาม”)   ที่เชื่อกันว่ามีผลต่อการคิดค้นทฤษฎีต่าง ๆ ทางฟิสิกส์ของเขาในเวลาต่อมา
        ได้รู้ประวัติในวัยเด็ก (ถึงวัยรุ่น)  ในอีกแง่มุมหนึ่งอย่างนี้แล้วยังคงคิดว่าไอน์สไตน์ตอนเด็กโง่ทึ่มอีกไหม?

2.ไอน์สไตน์เป็นบิดาของระเบิดอะตอม  

       เพราะสมการ E = mc2  เพียงแต่ระบุว่า  มวลสารสามารถเปลี่ยนไปเป็นพลังงานได้  และกลับกันคือพลังงานก็อาจเปลี่ยนไปเป็นมวลสารได้เช่นกัน   โดยมีแฟกเตอร์การแปลง  ได้แก่  อัตราเร็วของแสงยกกำลังสอง  แต่สมการนี้ไม่ได้ระบุขั้นตอนในการสร้างระเบิดอะตอมเลยแม้แต่น้อย !
       นอกจากนี้สมการ  E = mc2  ยังอาจใช้อธิบายปริมาณพลังงานที่ดวงอาทิตย์ปลดปล่อยออกมา  ปริมาณพลังงานที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าพลังปรมาณู รวมถึงใช้อธิบาย (หรือคำนวณ)  มวลของอนุภาคที่เกิดขึ้น  หากพลังงานจำนวนหนึ่งเปลี่ยนรูปไปเป็นสสาร  เช่น  ในกระบวนการสร้างคู่อนุภาค  (pair  creation)
       สำหรับระเบิดอะตอมนั้นถือกำเนิดขึ้นในโครงการแมนฮัตตัน (The Manhattan Project)  และถือกันว่านักฟิสิกส์ชื่อ โรเบิร์ต  ออปเพนไฮเมอร์ (J.Robert Oppenheimer)  เป็นบิดาของระเบิดอะตอม  ส่วนระเบิดที่ทรงอานุภาพร้ายแรงกว่าระเบิดอะตอม คือ  ระเบิดไฮโดรเจน  (hydrogen bomb)  นั้น  บิดาคือ เอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์  (Edward Teller)


3.ทฤษฎีของไอน์สไตน์มีชื่อเรียกว่า  ทฤษฎีสัมพันธภาพ  และตามทฤษฎีนี้  ทุกสิ่งทุกอย่างจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับว่าใครมอง

      ชื่อทฤษฎีนี้เขียนผิดกันมากที่สุด  และแม้บางคนจะไม่คิดว่าเป็นเรื่องใหญ่  แต่ผมเองจะให้ความสำคัญมาก  เพราะการเรียกชื่อผิด  ย่อมแสดงว่าไม่เข้าใจว่าแก่นสารของทฤษฎีกล่าวถึงอะไร (บ้าง) แต่ที่ซับซ้อนกว่านั้นก็คือ  แม้จะเรียกชื่อได้ถูกต้องแล้ว  ก็ยังอาจมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนอีกชั้นหนึ่ง...ลองมาดูกันว่าทำมาและอย่างไร
       ประเด็นแรกสุด คือ ในภาษาอังกฤษเรียกทฤษฎีของไอน์สไตน์ว่า Theory of Relativity  ซึ่งต้องแปลว่า  ทฤษฎีสัมพัทธภาพ (อ่านว่า  สัม-พัด-ทะ-พาบ)  โดยคำว่า  สัมพัทธภาพ = relativity = สภาวะที่เหตุการณ์หนึ่ง ๆ อาจปรากฏแตกต่างกันได้ถ้ามองจากคนละมุมพูดง่าย ๆ คือ  เธอเห็นแบบนี้  แต่ฉั้นเห็นอีกแบบ  (ส่วนคนอื่นก็อาจจะเห็นอีกแบบ)  ส่วนที่คนไทยมักจะเขียน (หรือพูด)  ผิดเพี้ยนเป็น “สัมพันธภาพ”  ซึ่งไม่ใช่แน่  เพราะสัมพันธภาพ =  relationship = ความเกี่ยวข้องกันระหว่างสิ่งต่าง ๆ
       แม้จะเรียกชื่อถูกต้องแล้ว  แต่คำว่าสัมพัทธภาพนี้เองก็ยังชวนให้เข้าใจผิดไปได้ว่า  ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นสัมพันธ์ (คือ  แล้วแต่ว่าใครมอง”  และทำให้บางคนคิดเลยเถิดไปว่า  ความจริงแท้นั้นไม่มี  เพราะใครจะเห็นอย่างไรก็ได้  ก็มองกันคนละมุมหรือคนละกรอบนี่  (แบบนี้มั่วครับ)
       เพราะแท้จริงแล้ว  ทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์มีแนวคิดสำคัญอีกอย่างหนึ่ง (ที่ไม่ค่อยมีใครพูดถึงกันเท่าไร)  เรียกว่า  ความไม่แปรเปลี่ยน  (invariance)  ซึ่งหมายความว่า  ไม่ว่าเธอ ฉัน หรือใคร ๆ ก็ตามที จะระบุค่าตรงกันหมด
สมมุติว่ามีคนขี่จักรยานวิ่งผ่านคุณและผมซึ่งยืนอยู่บนถนนเราจะพบว่า ตัวจักรยานและคนขี่จะหดสั้นลงตามทิศทางการวิ่ง  แต่ถ้าถามคนขี่จักรยาน  เขาจะบอกว่า  ตัวเขาเองปกติดี  แต่สิ่งที่หดไปก็คือ  ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวเขาต่างหาก  - นี่คือ สัมพัทธภาพคือแล้วแต่ว่าใครมอง

ภาพแสดงการหดของความยาวของสิ่งที่กำลังเคลื่อนที่  คนที่ยืนอยู่บนถนนจะบอกว่า  จักรยานหดสั้นในแนวการเคลื่อนที่  (ภาพซ้าย)  คนที่ถีบจักรยานจะบอกว่า สิ่งต่างๆ รอบตัวเขาต่างหากที่หดสั้นลงไป (ภาพขวา)  ภาพนี้วาดโดย  จอร์จ กามอฟ ( Geoge Gamow)  นักวิทยาศาสตร์และนักเขียน  ซึ่งมีชีวิตร่วมสมัยกับไอน์สไตน์  แต่ต้องระวังว่าภาพนี้สัดส่วนเกินจริงไปมาก  และเป็นไปได้ยากเพราะอัตราเร็วของจักรยานต้องสูงระดับอัตราเร็วของแสง
       สมมุติต่อไปว่า  มีใครเปิดไฟหน้ารถยนต์ฉายออกไปในทิศทางหนึ่ง  แล้วแต่ละคนสามารถวัดอัตราเร็วของแสงได้อย่างแม่นยำ  ก็จะพบว่าทุกคนจะวัดค่าได้เท่ากับเราเปี๊ยบ ไม่ว่าคุณและผม (ซึ่งอยู่นิ่ง)  หรือคนที่เคลื่อนที่พุ่งเข้าหาแสง  หรือเคลื่อนที่หนีออกจากแสง  -  นี่คือตัวย่างหนึ่งของความไม่แปรเปลี่ยน  คือ  ไม่ว่าใครก็เห็นว่าแสงมีอัตราเร็วเท่ากันหมด  (ความไม่แปรเปลี่ยนยังมีอีกหลายแบบในทฤษฎีสัมพัทธภาพ  อัตราเร็วแสงเป็นตัวอย่างที่ง่ายที่สุดเท่านั้น”
       นักฟิสิกส์ชั้นนำเช่น เทย์เลอร์ (Edwin F. Taylor) และ วีลเลอร์ (John Arehibald Wheeler)  ผู้แต่งตำรามาตรฐานชื่อ Spacetime Physics  กล่าวว่า   “In relativity, invariants are diamonds,  Do not throw away diamonds ! “  ซึ่งหมายความว่า  “ในทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้น  ปริมาณและกฎต่าง ๆ ซึ่งเป็นแบบไม่แปรเปลี่ยนมีคุณค่าดุจดั่งเพชร  จงอย่าได้โยนเพชรเหล่านี้ทิ้งไป!  พอพูดถึงทฤษฎีสัมพัทธภาพเมื่อไรก็จะศึกษา 2 ประเด็นนี้เอง   นั่นคือ ในแง่สัมพัทธภาพคือ  แต่ละคนสังเกตเหตุการณ์หนึ่ง ๆ แตกต่างกันอย่างไร  และในแง่ความไม่แปรเปลี่ยน  คือ  มีอะไรบ้างที่แต่ละคนเห็นพ้องต้องกันหมด
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่