ICHI – อิชิตัน สรุปข้อมูล IPO

ICHI – อิชิตัน สรุปข้อมูล IPO

จำนวนหุ้นเดิม 1000 ล้านหุ้น พาร์ 1 บาท
จำนวนหุ้น IPO 300 ล้านหุ้น
คิดเป็น 23.1% ของจำนวนหุ้นรวมหลัง IPO 1300 ล้านหุ้น

ราคา IPO ระหว่าง 13 – 15 บาท ราคาออกวันที่ 4 เม.ย. 57

สัดส่วนการถือหุ้นก่อน IPO
กลุ่มนายตัน และ นางอิง ภาสกรนที ถือหุ้น 515 ล้านหุ้น
กลุ่มผู้ถือหุ้นที่ถือหุ้นแทนนายตัน ถือหุ้น 270 ล้านหุ้น
เท่ากับว่า ส่วนที่เป็นของตระกูลภาสกรนที ถือหุ้นรวม 785 ล้านหุ้น ก่อน IPO คิดเป็นสัดส่วนราว 78%
นาย โช เอวี่ย จิ้น (คนนี้ตามคุณตันออกมาจากโออิชิ) ถือหุ้น 64.84 ล้านหุ้น หรือ 6.5%
นายวุฒิไกร สายนาค 22.5 ล้านหุ้น 12.5%
ผู้ถือหุ้นอื่น 125.17 ล้านหุ้น

ในส่วนของผู้ถือหุ้นอื่นนี้ เป็นส่วนที่คุณตันทำสัญญาขายหุ้นส่วนตัวให้กับพนักงานกลุ่มหนึ่ง และคู่ค้ากลุ่มหนึ่ง ระหว่างปี 2553 – 2556 ในราคา 1 บาท จำนวนรวม 78.7 ล้านหุ้น ในปี 2553 – 2556

****ความเห็นส่วนตัว******

ใน filing ฉบับก่อนหน้านี้ กลุ่มที่ถือหุ้นแทนนายตันได้เคยระบุว่า เป็นหุ้นส่วนที่จะถูกโอนเข้ามูลนิธิ “ตันปัน” แต่ใน filing ล่าสุดนี้ ได้ตัดข้อมูลเกี่ยวกับการโอนหุ้นและเงินปันผลเข้ามูลนิธิ “ตันปัน” ทิ้งทั้งหมด และระบุเป็นการถือหุ้นแทนนายตันแทน คาดว่าน่าจะเป็นปัญหาเรื่องการใช้ชื่อมูลนิธิถือหุ้น จึงได้ตัดส่วนนี้ทิ้ง

Filing ฉบับล่าสุดไม่ได้ระบุเรื่อง silent period ว่ามีจำนวนเท่าไหร่ แต่จากที่สอบถามมา ส่วนที่เป็นของตระกูลภาสกรนที 785 ล้านหุ้น จะมีส่วนที่ไม่ติด silent period ประมาณ 5% ซึ่งเป็นไปตามกฏนะครับ

ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆจำนวน 125 ล้านหุ้นนั้น “ไม่น่า” จะติด silent period ซึ่งหุ้นดังกล่าวราว 70 ล้านหุ้นเป็นหุ้นตามสัญญาที่พนักงานและคู่ค้าซื้อจากคุณตันไปที่ราคา 1 บาท

ถามว่า เป็นการเอาเปรียบผู้จอง IPO หรือไม่ อย่าไปมองเช่นนั้นนะครับ คุณตันออกมาจากโออิชิ ก็คงต้องการพนักงานบางส่วนออกมาด้วยเพื่อมาทำแบรนด์ใหม่ของตัวเอง การจะดึงเอาพนักงานเหล่านี้ออกมาก็ต้องมีอะไรตอบแทน ซึ่งคุณตันน่าจะมีข้อตกลงส่วนนี้กับพนักงานและคู่ค้าเหล่านี้ โดยการให้สิทธิซื้อหุ้นที่ราคาพาร์ 1 บาท โดยกะว่าจะให้ส่วนนี้เป็นผลตอบแทนแก่บุคคลที่ยอมตามมาเปิดบริษัทใหม่หลังหุ้น ICHI เข้าตลาด ซึ่งส่วนตัวแล้วผมมองว่าเป็นเรื่องปกติในการทำธุรกิจนะครับ

****จบความเห็นส่วนตัว*****

ผลประกอบการของ ICHI
รายได้ปี 54 1056.8 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 198 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 7.7% EPS (-0.3) บาท
รายได้ปี 55 3906.7 ล้านบาท กำไรสุทธิ 306.4 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 27.1% EPS 0.4 บาท
รายได้ปี 56 6484.4 ล้านบาท กำไรสุทธิ 883.7 ล้านบาท ส่วนแบ่งการตลาด 42.1% EPS 0.9 บาท

อย่างไรก็ตาม ถ้าคิดจำนวนหุ้นหลัง IPO แล้ว EPS ปี 2556 จะอยู่ที่ 0.68 บาท หากคำนวณราคา IPO ที่ 13 – 15 บาท จะคิดเป็นช่วง PE ratio ที่ 19.11 – 22.06 เท่า

แต่หากใช้คาดการณ์กำไรปี 57 ที่บริษัทให้สัมภาษณ์ว่ากำไรน่าจะเติบโต 10% - 20% หากเราคิดแบบอนุรักษ์นิยมสุดๆที่ 10% เป็น 972.07 ล้านบาท จะได้ EPS ปี 2557 ที่ 0.747 บาท ที่ราคา IPO13 – 15 บาท จะคิดเป็น PE ratio ที่ 17.4 – 20 เท่า

อย่างไรก็ตาม ในการประเมินราคาเหมาะสม นักวิเคราห์เลือกใช้วิธี DCF หรือ Discounted Cash Flow มากกว่านะครับ แต่ก็มีการเทียบกลับมาเป็น PE ว่าเป็นกี่เท่า

ถ้าเอา OISHI เป็น benchmark ราคาของ OISHI ตอนนี้เทรดกันที่ PE 23 เท่า และที่ Fair Value ที่ใช้วิธี DCF จากโบรกแห่งหนึ่ง จะคิดเป็น PE 26 เท่า
ดังนั้นหากเราประเมินราคา ICHI ที่ระดับ PE 23 เท่าเช่นเดียวกับราคาปัจจุบันของ OISHI ก็จะได้ราคา ICHI ที่ราว 17 บาท ส่วนคำถามว่าจะน่าจองหรือไม่ก็ต้องรอดูราคาจองนะครับ ถ้าออกมา 13 บาท ก็น่าจองนะ เพราะมีส่วนลดประมาณ 25% แต่หากราคาออกมา 15 บาท ก็จะมีส่วนลดเพียงแค่ 12% ซึ่งส่วนตัวผมคิดว่า “ต่ำเกินไป”

การขายหุ้น IPO โดยให้ส่วนลดเพียง 10% ผมถือว่าต่ำมาก และ ASP ก็มีบทเรียนมาแล้วจากหุ้น M ซึ่งสร้างความผิดหวังให้กับลูกค้าของ ASP อย่างมาก เพราะตั้งราคาสูงจนเกินไป ผมได้แค่คาดหวังว่า ราคา IPO จะออกมาในจุดที่สมเหตุสมผลมากขึ้นกับหุ้น ICHI เพื่อให้สมประโยชน์กันทุกฝ่าย ทั้งตัวบริษัท ICHI ทั้ง ASP รวมถึงลูกค้าผู้จองหุ้นทุกคน

ประเด็นอนาคตของบริษัท

คงไม่มีใครไม่รู้จัก ว่าความสามารถของคุณตันนั้นมากขนาดไหน การออกมาทำ ICHI แข่งกับเจ้าตลาดเดิมอย่าง OISHI ที่ตนเองเป็นปลุกปั้นมาก่อนและใช้เวลาเพียงแค่ไม่กี่ปี ในการขยับขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ได้ (ถ้านับรวมทุกผลิตภัณฑ์)

ส่วนแบ่งการตลาดปัจจุบันรวมทุกรสชาติ ICHI อยู่ราว 42% ส่วน OISHI อยู่ที่ 39% น่าจะเป็นตัวบอกอะไรได้บ้าง หากสามารถดึงส่วนแบ่งตลาดจาก OISHI ได้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ นั่นก็หมายความว่าผลประกอบการก็น่าจะดีขึ้นเรื่อยๆเช่นเดียวกัน กลยุทธการออกเครื่องดื่ม เย็น เย็น ออกมา ก็ประสบความสำเร็จเป็นอันมาก

แม้ว่าตลาดชาเขียวอาจไม่ได้เติบโตจากกระแสได้เฉกเช่นเมื่อหลายปีก่อน แต่ ICHI ก็ยังสามารถโตจากการแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดได้อยู่ ทำให้มองว่า ICHI น่าจะยังสามารถเติบโตต่อไปได้อีกสักระยะ เพราะสมัยที่ OISHI โตสุดๆนั้น ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับที่สูงมากจริงๆ โอกาสที่ ICHI จะสามารถกินส่วนแบ่งทางการตลาดมากขึ้นก็ยังมีโอกาสเป็นไปได้ แต่คงไม่ง่ายเหมือนตอน OISHI ล้ม UNIF ลงได้

ในส่วนภาษีชาเขียวที่กังวลกัน สาเหตุหลักๆที่เรื่องนี้ถูกหยิบยกยึ้นมาบ่อยครั้งก็เพราะสภาวะ “ถังแตก” ของรัฐบาล ที่เรามองกันว่าน่าจะหาทางรีดภาษีด้วยวิธีหลากหลาย และชาเขียวก็มีตลาดที่ใหญ่พอสมควร แถมยังถูกมองว่าเป็นเครื่องดื่มที่ไม่มีประโยชน์ แถมกำไรขวดนึงตั้งเยอะ ก็เลยมีแนวคิดที่จะเก็บภาษี

อย่างไรเสีย การที่สภาวะการเมืองยังเป็นเช่นนี้ เรื่องการขึ้นภาษีคงเกิดขึ้นไม่ได้ง่ายๆ เพราะน่าจะต้องให้รัฐมนตรีเป็นคนเซ็นอนุมัติ แล้วรัฐมนตรีรักษาการก็คงไม่กล้าเซ็นอะไรอยู่แล้ว ดังนั้น ประเด็นนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลมากนักในระยะอันใกล้นี้

สรุป— จอง หรือ ไม่จอง ขึ้นอยู่กับราคาที่จะออกมา ถ้าออกมา 13 ก็น่าจองมาก แต่ถ้าออกมาที่ 15 ความน่าจองก็ลดน้อยลง แต่ แต่ แต่ อย่าคาดหวังกำไรเยอะมากจนเกินไปนะครับ เพราะจำนวนหุ้น IPO 300 ล้านหุ้น รวมกับหุ้นที่ไม่ติด silent period ที่คาดว่าจะมีประมาณ 150 ล้านหุ้น ที่ต้นทุน 1 บาท ทำให้หุ้นอยู่ในสภาวะที่ “หนัก” มาก ถ้าไม่มีคนทำราคาก็คงจบวันแรกไม่ต่างจาก M ที่ทาง ASP เคยทำมาก่อน

อย่างไรก็ตาม จังหวะการเอาหุ้นเข้าตลาดของ ICHI ก็ยังดีกว่าหุ้นอย่าง BJCHI หรือ PCSGH ก่อนหน้านี้ ที่เอาเข้าตลาดตอนที่ธุรกิจผ่านจุดสูงสุดไปแล้ว เพราะ ICHI เลือกเอาเข้าตลาดตอนที่ธุรกิจยังมีโอกาสเติบโตได้อีก จึงถือว่า คนที่จองไป ถ้าไม่รีบขาย ก็ถือรอลุ้นให้บริษัทเติบโตขึ้นไปเรื่อยๆหลังจากนี้ได้อีก

อ้อ นโยบายการจ่ายปันผล ไม่ต่ำกว่า 40% นะครับ

Cr.Watana Stock Page

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่