ที่มาแห่งบัญญัติการอะซาน

ที่มาแห่งบัญญัติการอะซาน


มีรายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ อุมัร (ร.ฎ.) ว่า:

’’كان المسلمون حين قدموالمدينة يجتمعون فيتحينون الصلوات ليس ينادى بهافتكلموا يوما في ﺬلك فقال بعضهم: اﺘﺨﺬواناقوسا مثل ناقوس النصارى ، وقال بعضهم: بل بوقامثل قرن اليهود ، فقال عمر: اولا تبعثون رجلا ينادي بالصلاة ، فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: ’’يابلال قم فناد بالصلاة‘‘ رواه البخاري ومسلم

ความว่า : “บรรดามุสลิมขณะที่พวกเขามาถึงนครมะดีนะฮฺนั้น พวกเขาจะร่วมชุมนุมแล้วเผ้ารอคอยการละหมาดโดยจะไม่ถูกส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดนั้น อยู่มาวันหนึ่งพวกเขาก็ปรารภในเรื่องนั้น บางคนกล่าวว่า:พวกท่านจงเอาระฆังมาใบหนึ่งเหมือนอย่างระฆังของพวกนะศอรอ บ้างก็กล่าวว่า:พวกท่านจงเอาแตรอย่างเขา (สัตว์) ของพวกยะฮูดจะดีกว่า แล้วอุมัร (ร.ฎ.) ก็กล่าวว่า:ไฉนพวกท่านจึงไม่ส่งคนๆหนึ่งให้เขาส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาดเล่า!ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) จึงกล่าวว่า:“โอ้ บิล้าล จงลุกขึ้น แล้วจงส่งเสียงเรียกด้วยการละหมาด” (บันทึกโดย อัล-บุคอรีย์และมุสลิม)



การส่งเสียงเรียกนี้ คือการเชิญชวนสู่การละหมาดที่มิใช่การอะซาน และเหตุการณ์ตามที่ระบุไว้ในอัล-หะดีษข้างต้นเกิดขึ้นก่อนหน้าการบัญญัติเรื่องการอะซาน (ดู กิตาบ อัล-มัจญมูอฺ ชัรหุลมุฮัซซับ;อัน-นะวาวียฺ เล่มที่ 3/82)



ส่วน อัล-หะดีษที่ระบุถึงบัญญัติการอะซานนั้น คืออัล-หะดีษที่รายงานจากท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ อิบนิ อับดิร็อบบิฮฺ อัล-อันศอรียฺ (ร.ฎ.) ว่า:



’’لما امر رسول الله صلى الله عليه وسلم بالناقوس يعمل ليضرب به للناس لجمع الصلاة طاف بي وانانائم رجل يحمل ناقوسا في يده فقلت: ياعبدالله اتبيع الناقوس؟ فقال: وماتصنع به؟ فقلت: ندعوبه الى الصلاة قال: افلا ادلك على ماهوخيرمنﺬلك؟ فقلت: بلى ، فقال: تقول: الله اكبر الله اكبر ، الله اكبر الله اكبر ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان لااله الاالله ، اشهدان محمدارسول الله ، اشهدان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، حي على الفلاح ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله. ثم استأخرعني غيربعيد ، ثم قال: ثم تقول اﺬا اقمت الصلاة: الله اكبر الله اكبر ، اشهد ان لااله الا الله ، اشهد ان محمدارسول الله ، حي على الصلاة ، حي على الفلاح ، قدقامت الصلاة ، قدقامت الصلاة ، الله اكبر الله اكبر ، لا اله الا الله ، فلما اصبحت اتيت رسول الله صلى الله عليه وسلم فأخبرته بما رايت فقال: انها رؤياحق ان شاءالله ، فقم مع بلال فألق عليه مارأيت فليؤﺬن به ، فانه اندى صوتامنك ، فقمت مع بلال فجعلت القيه عليه فيؤﺬن به ، فسمع ﺬلك عمر بن الخطاب وهو في بيته فخرج يجر رداءه يقول: واﻟﺬي بعثك بالحق يارسول الله لقدرايت مثل مارأى. فقال رسول الله صلى الله عليه وسلم: فلله الحمد‘‘ رواه ابوداودباسناد صحيح.



ความว่า : “เมื่อท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) มีบัญชาให้นำระฆังมาใช้ตีเพื่อเป็นสัญญาณให้ผู้คนมาร่วมละหมาด มีชายผู้หนึ่งมาในความฝันขณะที่ฉันนอนหลับ เขาถือระฆังใบหนึ่งอยู่ในมือ ฉันจึงกล่าว (ในความฝันนั้น) ว่า:โอ้ บ่าวของอัลลอฮฺ ท่านจะขายระฆังใบนั้นหรือไม่? ชายผู้นั้นกล่าวว่า: ท่านจะทำอะไรกับระฆังนั้น? ฉันก็กล่าวว่า:เราจะเรียก (ผู้คน) มาสู่การละหมาดด้วยระฆังนั้น ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ฉันจะไม่ชี้แนะท่านถึงสิ่งที่ดีกว่าสิ่งดังกล่าวกระนั้นหรือ? ฉันจึงกล่าวว่า:หามิได้!ชายผู้นั้นกล่าวว่า:ท่านกล่าวว่า “อัลลอฮุอักบัร อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอะซานจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ”



ต่อมาชายผู้นั้นก็ถอยห่างจากฉันไม่ไกลนัก แล้วเขาก็กล่าวว่า:ต่อมาท่านก็กล่าวเมื่อท่านลุกขึ้นละหมาด (อิกอมะฮฺ) ว่า:“อัลลอฮุอักบัร (ตามสำนวนของการอิกอมะฮฺจนถึงประโยคที่ว่า) ลาอิลาฮะอิลลัลลอฮฺ” ครั้นเมื่อฉันอยู่ในเวลาเช้าตรู่ ฉันจึงมาหาท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) แล้วฉันก็บอกให้ท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ตามสิ่งที่ฉันฝันเห็น ท่านก็กล่าวว่า:“แท้จริงมันคือความฝันที่เป็นจริง หากพระองค์อัลลอฮฺทรงประสงค์ ดังนั้นท่านจงลุกขึ้นยืนพร้อมกับบิล้าล แล้วท่านจงบอกแก่บิล้าลถึงสิ่งที่ท่านฝันเห็น แล้วบิล้าลก็จงอะซานตามสิ่งนั้น เพราะบิล้าลมีเสียงที่กังวานไกลมากกว่าท่าน” ฉันจึงลุกขึ้นพร้อมกับบิล้าลแล้วฉันก็เริ่มบอก (ถ้อยคำ) ให้แก่บิล้าล แล้วบิล้าลก็อะซานตามนั้น



ฝ่ายอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบก็ได้ยินสิ่งดังกล่าวขณะที่อุมัรอยู่ภายในบ้านของเขา อุมัรก็ออกจากบ้านโดยลากผ้าคลุมของเขาพลางกล่าวว่า: ขอสาบานต่อพระผู้ซึ่งส่งท่านมาด้วยสัจธรรม โอ้ท่านรสูลุลลอฮฺ แน่แท้ฉันฝันเห็นเหมือนอย่างที่เขาฝันเห็น แล้วท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ก็กล่าวว่า:“การสรรเสริญเป็นสิทธิแด่อัลลอฮฺ” (บันทึกโดย อบูดาวูด ด้วยสายรายงานที่เศาะฮีหฺ)



อัล-หะดีษบทนี้เป็นหลักฐานในการบัญญัติเรื่องการอะซานและอิกอมะฮฺ ซึ่งถึงแม้ว่าจะเป็นความฝันของท่านอับดุลลอฮฺ อิบนิ ซัยดฺ (ร.ฎ.) และท่านอุมัร อิบนุ อัล-คอฏฏอบ (ร.ฎ.) แต่ก็ได้รับการรับรอง (อิกร็อรฺ) จากท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ด้วยคำกล่าวของท่าน ตลอดจนการสั่งใช้ให้ท่านบิล้าล อิบนุ เราะบาหฺ (ร.ฎ.) ทำการอะซานด้วยถ้อยคำอะซานตามที่ท่านอับดุลลอฮฺ อิบนุ ซัยดฺ (ร.ฎ.) เป็นผู้บอก กอปรกับมีรายงานที่ระบุว่าท่านรสูลลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม) ได้สอนสำนวนการอะซานแก่ท่านอบู มะหฺซูเราะฮฺ (ร.ฎ.) ตามสำนวนการอะซานที่ทราบกันอีกด้วย การอะซานจึงเป็นสิ่งที่ถูกบัญญัติตามหลักการของศาสนาอย่างชัดเจน และถือเป็นส่วนหนึ่งจากศาสนกิจที่เป็นสัญลักษณ์อันเด่นชัดและทราบกันสำหรับชาวมุสลิมโดยทั่วไป

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่