สมลักษณ์ จัดกระบวนพล : อย่างไรจึงถือว่าเป็นการ"ชุมนุมโดยสงบ" ตามรัฐธรรมนูญมาตรา63

หมายเหตุ ผู้เขียนเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาและกรรมการ ป.ป.ช. อาจารย์พิเศษผู้บรรยายวิชาระบบศาล และหลักทั่วไปว่าด้วยการพิจารณาคดี (พระธรรมนูญศาลยุติธรรม) คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ ศาลแพ่งมีคำพิพากษาคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 เรื่องละเมิดจากการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการในบางอำเภอ รวมทั้งออกข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 มาตรา 9 และมาตรา 11 โดยมิชอบและไม่มีเหตุจำเป็น ขอให้ศาลเพิกถอนประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยมีสาระสำคัญอันเป็นที่สนใจของนักกฎหมายโดยเฉพาะนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ และคณะรัฐศาสตร์ (ผู้เขียนได้รับการสอบถามจากนักศึกษาหลายมหาวิทยาลัย จึงขอตอบด้วยบทความนี้)

การที่คำพิพากษาคดีนี้เป็นที่สนใจมากก็เพราะเมื่อ พ.ศ.2553 นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรีก็เคยออกประกาศ รวมทั้งข้อกำหนดซึ่งมีลักษณะเกือบจะเหมือนกันกับประกาศ และข้อกำหนดฉบับนี้ แต่ศาลแพ่งได้เคยมีคำสั่งว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหารที่จะกระทำได้ เมื่อถึง พ.ศ.2557 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้ใช้อำนาจเช่นเดียวกัน แต่ศาลแพ่งมีคำพิพากษาว่า "ห้ามจำเลยทั้งสามนำประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงมาใช้บังคับ เพื่อจะออกประกาศและข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน โดยให้ข้อบังคับตามประกาศและข้อกำหนดดังกล่าวไม่มีผลบังคับต่อโจทก์และประชาชนนับแต่วันที่ 21 ม.ค.57" รวมทั้งไม่ให้จำเลยทั้งสามกระทำการรวม 9 ข้อ เช่น ห้ามมิให้จำเลยทั้งสามใช้หรือสั่งพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ใช้กำลังและหรืออาวุธเข้าสลายการชุมนุมของโจทก์และประชาชน ที่ชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ เป็นต้น

เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นฝ่ายบริหารได้ใช้อำนาจออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงและข้อกำหนดที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เช่นเดียวกัน จะต่างกันก็แค่เพียงสถานการณ์และกาลเวลาเท่านั้น แต่ศาลวินิจฉัยแตกต่างกันเช่นนี้ จึงเป็นที่สงสัยของสังคม

ผู้เขียนจึงพลิกไปตรวจสอบประกาศและข้อกำหนดที่ออกสมัยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ.2553 เปรียบเทียบกับประกาศ และข้อกำหนดตามคำพิพากษาของคดีหมายเลขดำที่ 275/2557 แล้ว มีข้อสังเกตที่มีสาระสำคัญดังนี้


ข้อ 1.ข้อห้ามของศาลแพ่งข้อ 6 มีข้อความเช่นเดียวกับข้อ 1 ตามประกาศ และข้อกำหนดที่ออกสมัยนายอภิสิทธิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ข้อห้ามข้อ 7 ข้อ 8 มีข้อความเช่นเดียวกับ ข้อ 3 ข้อ 4 ตามประกาศ และข้อกำหนดที่ออกสมัยนายอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี และในข้ออื่นๆ ก็ยังมีข้อความเช่นเดียวกันอีกหลายข้อ (น่าจะลอกข้อความกันมา) แต่ปรากฏว่าศาลแพ่งมีคำวินิจฉัยในสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ ว่าเป็นอำนาจของฝ่ายบริหาร และไม่มีข้อห้ามไม่ให้รัฐบาลนั้นกระทำการเช่นเดียวกับรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่อย่างใด

ข้อ 2.คำวินิจฉัยของศาลแพ่งกล่าวถึงการชุมนุมว่าสืบเนื่องจากรัฐบาลได้กระทำการ เช่น ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมที่น่าจะมีประโยชน์ทับซ้อน การแจ้งข้อหาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. แก่นายกรัฐมนตรี เรื่องโครงการจำนำข้าว และการกระทำอื่นๆ ซึ่งการกระทำเหล่านั้นของรัฐบาลเป็นเหตุให้มีการชุมนุมและเป็นเหตุผลที่ผู้ชุมนุมอ้าง แต่ข้ออ้างดังกล่าวก็มิใช่เหตุผลตามกฎหมายที่จะนำมาอ้างว่าผู้ชุมนุมมีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองให้กระทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63 แต่เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมอยู่แล้ว

ข้อ 3.การออกประกาศและข้อกำหนด เป็นการออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นอำนาจของฝ่ายบริหารโดยเฉพาะ และมีบทบัญญัติควบคุมการใช้อำนาจไว้ในมาตรา 5 แล้ว

ข้อ 4.ศาลแพ่งวินิจฉัยว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธ เพราะศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยแล้วว่าการชุมนุมเป็นไปโดยสงบไม่ขัดต่อมาตรา 68 ด้วยความเคารพต่อคำวินิจฉัยของศาลแพ่ง ผู้เขียนมีความเห็นโดยสุจริตใจว่า ศาลแพ่งได้นำบทบัญญัติมาตรา 68 และมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาพิจารณาปะปนกันด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

4.1 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้นวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคหนึ่งนั้น ซึ่งบัญญัติว่า "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ มิได้" ศาลรัฐธรรมนูญจึงไม่เคยวินิจฉัยว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งต้องวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 63

4.2 การชุมนุมเป็นไปโดยสงบปราศจากอาวุธหรือไม่ ยังไม่มีศาลใดมีคำวินิจฉัยไว้โดยตรง แต่การที่จะพิจารณาว่าการชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยสงบและปราศจากอาวุธตามมาตรา 63 หรือไม่ อาจเทียบเคียงได้กับคำวินิจฉัยของศาลปกครองคดีหมายเลขดำที่ 1605/2551 ดังนี้....

"ผู้ร้องที่ 5 ให้ถ้อยคำว่าในช่วงเวลาบ่ายในการชุมนุมของประชาชนที่บริเวณรัฐสภา ได้มีการปิดล้อมประตูเพื่อมิให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาเข้าออกบริเวณรัฐสภา และเป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่าฝ่ายผู้ชุมนุมได้ใช้รั้วลวดหนาม ยางรถยนต์ราดน้ำมัน ขวางกั้นถนนไว้ การกระทำดังกล่าวของผู้ชุมนุมจึงมีลักษณะทำให้ผู้อื่นกลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ จนไม่กล้าที่จะเข้าไปในรัฐสภา หรือออกจากรัฐสภา อันเป็นการกระทบต่อเสรีภาพของผู้อื่น

ดังนั้น การชุมนุมหน้ารัฐสภาดังกล่าว จึงมิใช่การชุมนุมโดยสงบ อันจะได้รับการคุ้มครองตามมาตรา 63 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 อีกทั้งการปิดกั้นห้ามมิให้มีการเข้าออกรัฐสภาในวันดังกล่าวเป็นไปเพื่อมิให้คณะรัฐมนตรีแถลงนโยบายต่อรัฐสภา อันจะทำให้คณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินไม่ได้ ตามมาตรา 176 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ

เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงมีอำนาจหน้าที่ที่จะเข้าสลายการชุมนุมเพื่อแก้ไขปัญหาการกระทำของผู้เข้าชุมนุมได้...."



นอกจากคำวินิจฉัยของศาลปกครองดังกล่าวแล้ว ยังได้ตรวจสอบเจตนารมณ์ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งแสดงไว้ในการร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 63 พบว่ามี ส.ส.ร.แสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้หลายท่าน เช่น นายวรพจน์ วงศ์สว่าง กล่าวว่า "...การชุมนุมของประชาชนที่แสดงความเดือดร้อนให้ประจักษ์นั้นควรกระทำอยู่ในลักษณะที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นที่ไม่ได้เกี่ยวข้อง ไม่ควรจะไปขัดขวางการใช้ที่สาธารณะเพื่อสัญจรไปมา" นายไพบูลย์ วราหะไพฑูรย์ กรรมาธิการอภิปรายว่า "เมื่อเป็นเสรีภาพในการชุมนุม ปราศจากอาวุธ ถ้าอยู่ในกรอบกติกาของกฎหมาย ก็สามารถที่จะได้รับความคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญนะครับ แต่ถ้าสิ่งใดการชุมนุมละเมิดกรอบกฎหมาย เช่น ละเมิดกฎหมายอาญา ละเมิดพระราชบัญญัติทางหลวง เป็นการกีดขวางการจราจร ตรงจุดนั้นไม่ได้รับอนุญาต...."

รองศาสตราจารย์เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เคยอภิปรายว่า "ประเด็นที่ 2 ก็คือ เรื่องการชุมนุมโดยสงบนั้นเป็นเรื่องด้วยความมุ่งหมายของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิดน่าจะหมายถึงการไม่ใช้ความรุนแรง การใช้อาวุธ การใช้กำลังเข้าทำร้ายกัน เข้าประหัตประหารกัน อย่างนี้จะบอกสงบคงไม่ได้..."

สรุปว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 63 ให้ความหมายคำว่าการชุมนุม "โดยสงบ" ซึ่งจะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายนั้น ต้อง

1.ไม่ละเมิดกฎหมาย เช่น กฎหมายอาญา พระราชบัญญัติทางหลวง (ขณะนี้ศาลอาญาออกหมายจับแกนนำ ผู้ชุมนุม ในข้อหากบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113)

2.ไม่ใช้ความรุนแรงหรือใช้กำลังประทุษร้าย คือ ประทุษร้ายแก่กายหรือจิตใจของบุคคล ไม่ว่าจะทำด้วยแรงกายภาพหรือด้วยวิธีอื่นใด....

3.ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาระหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดินและการจัดทำบริการสาธารณะ (เช่น ปิดสภา ปิดกระทรวง หรือปิดสถานที่ราชการต่างๆ)

4.ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคแรก

ประการสุดท้าย ถึงแม้จะเป็นการชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ซึ่งได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 63 วรรคแรกก็ตาม แต่ก็ไม่อาจได้รับความคุ้มครองให้กระทำการชุมนุมได้ หากมีกรณีตามมาตรา 63 วรรคสอง ซึ่งบัญญัติว่า

"การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง จะกระทำมิได้ เว้นโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะในกรณีการชุมนุมสาธารณะ และเพื่อคุ้มครองความสะดวกของประชาชนที่จะใช้ที่สาธารณะ และเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ในระหว่างเวลาที่ประเทศอยู่ในภาวะสงคราม "หรือในระหว่างเวลาที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน" หรือประกาศใช้กฏอัยการศึก"

................


ร่วมเป็นแฟนเพจเฟซบุ๊กกับมติชนออนไลน์
www.facebook.com/MatichonOnline
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่