มองทะลุใจ "พล.อ.ประยุทธ์" กลางกระแส รัฐประหาร Shut Down-Count Down กับเยื่อใย "นายกฯ ปู-ผบ.ตู่" และเยื่อใย "ป๋าเปรม-นายก

กระทู้สนทนา
วิกฤติการเมือง ที่ใครๆ ก็ตั้งคำถามว่า มันจะจบแบบไหน และเมื่อไหร่ ประกอบกับความวุ่นวายที่รออยู่เบื้องหน้า จากการประกาศปิดกรุงเทพฯ Bangkok Shut Down 13 มกราคม 2557 ของ กปปส. จึงมีส่วนทำให้เกิดข่าวลือการปฏิวัติรัฐประหาร

ยิ่งเมื่อฝ่ายรัฐบาล พรรคเพื่อไทย และคนเสื้อแดง เชื่อมั่นว่า เป้าหมายท้ายที่สุดของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ คือ การสร้างสถานการณ์ และบีบให้ทหารปฏิวัติ

ในเมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ยอมลาออก การก้าวสู่การตั้งรัฐบาลชั่วคราว และนายกรัฐมนตรีคนกลาง และสภาประชาชน จึงยิ่งห่างไกล ดังนั้น การรัฐประหาร จึงจะเป็นหนทางเดียวเท่านั้น

จึงมีการใช้ความรุนแรง ตั้งแต่เหตุการณ์ที่รามคำแหง ที่ต้องยอมรับว่า ฝ่ายนักศึกษา เริ่มจัดตั้งเวทีต้านการชุมนุมของคนเสื้อแดง ที่สนามราชมังคลาฯ ที่อยู่ใกล้ๆ กันที่กำหนดมาล่วงหน้าแล้ว จนเกิดเหตุปะทะและมีการเสียชีวิตทั้ง 2 ฝ่ายเกิดขึ้น

เช่นเดียวกับเหตุปะทะของตำรวจกับผู้ชุมนุม ที่พยายามจะบุกเข้าไปในสนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง จนมีเจ็บตาย ทั้งสองฝ่าย

แต่ก็ยังไม่ได้เป็นเงื่อนไข ที่จะให้ทหารออกมารัฐประหาร...



การประกาศปิดกรุงเทพฯ ตัดน้ำ ตัดไฟ การจราจร จึงถูกมองว่า เป็นอีกความพยายามในการบีบให้ทหารรัฐประหาร

ประกอบกับมีความเคลื่อนไหวด้านกำลังของทหาร ทั้งการเคลื่อนย้ายกำลังทหาร พร้อมรถเกราะ รถถัง มาจัดงานวันเด็ก ที่ พล.ม.2 รอ. และเพื่อมาซ้อมและทำพิธีสวนสนามเนื่องในวันกองทัพไทย 18 มกราคม ที่ ร.11 รอ. โดยเป็นปีที่แรกที่มีการสวนสนามยานยนต์ แถมเป็นหน่วยสำคัญของ ทบ. และเหล่าต้นกำเนิดของ พล.อ.ประยุทธ์ ทั้ง บูรพาพยัคฆ์ พล.ร.2 รอ. ทหารเสือราชินี ร.21 รอ. และรถถังจากทหารม้า สระบุรี ทหารรบพิเศษ และ ร.31 รอ. จากลพบุรี

จึงทำให้เกิดความหวาดหวั่นว่า จะเป็นแผน ลับ ลวง พราง เพื่อเตรียมก่อนการรัฐประหาร ถึงขั้นที่ ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ตั้งคำถามถึง พล.อ.ประยุทธ์ แบบตรงๆ ว่า "จะสวนสนาม หรือจะรัฐประหาร"

จะเห็นได้ว่า ทั้ง นายจตุพร และ เด็จพี่ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ต่างพุ่งเป้าไปที่ บิ๊กป้อม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีต รมว.กลาโหม ในรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และ บิ๊กหนุ่ย พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ อดีต รอง ผบ.ทบ. เพื่อนรัก ตท.12 ของ พล.อ.ประยุทธ์

ในฟากฝั่งรัฐบาลนั้น พยายามเข้าใจ พล.อ.ประยุทธ์ ว่า ต้องการเป็นตัวของตัวเอง แต่ทว่า ถูกกดดันจากพี่ใหญ่และบูรพาพยัคฆ์ อย่างมาก ในการให้โน้มเอียงไปทางนายสุเทพ

เม้าธ์กันว่า ในงาน คาวบอย เคาต์ดาวน์ ปาร์ตี้ ข้ามปี ที่ พล.อ.ประวิตร จัดเป็นประจำทุกวันที่ 31 ธันวาคม ที่บ้านสุวินทวงศ์ ที่บรรดาบูรพาพยัคฆ์ ทหารเสือราชินี มากันพร้อมพรั่งทุกปี ค่ำนั้น พล.อ.ประวิตร สวมเสื้อสีฟ้า จนสีเสื้อกลายเป็นประเด็นในวงสนทนา เดชะบุญที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งใจสวมเสื้อหลายสีมา เขาจึงคุยได้ว่า

"ผมไม่ใช่สีไหน ผมเสื้อหลากสี"



เนื่องจากที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ โดนกดดันจากหลายทิศทาง แต่เขาก็พยายามที่จะเป็นตัวของตัวเองให้มากที่สุด เพราะไม่มีใครมาอ้าง "อำนาจพิเศษ" หรือ มือที่มองไม่เห็น ใดๆ ได้อีกแล้ว เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ นั้น "เข้าถึง" และสามารถเช็กข่าวได้เอง

แม้ว่า จะมีผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายหญิง ที่รู้จักกับนายสุเทพ จะเป็นที่เคารพและเกรงใจของ พล.อ.ประยุทธ์ แต่ก็ไม่สามารถสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ ทำตามที่ต้องการได้ทั้งหมด

เพราะคราวนี้ เขาต้องพิจารณาให้รอบคอบ ในฐานะผู้ที่ต้องรับผิดชอบโดยตรง ที่หากตัดสินใจผิดพลาด คือชีวิตทั้งชีวิต

อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ นั้นรู้แก่ใจดีว่า ตอนปราบเสื้อแดงปี 2553 นั้น ทั้ง พล.อ.ประวิตร และ บิ๊กป๊อก พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผบ.ทบ. ในเวลานั้น ที่เป็นพี่เลิฟของตนเอง ต่างรอดตัวทั้งคู่ เพราะพยายามไม่ออกหน้า และเก็บตัวเงียบมาตลอด แต่ผลพวงต่างๆ ตกอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว

โดย พล.อ.ประวิตร ก็ถูกจับตามองว่า จะเป็น "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ของนายสุเทพ หลังจากที่ผ่านมา ตกเป็นข่าวว่า นายสุเทพเข้ามาพบปะหารือด้วยเสมอๆ ใน ร.1 รอ. แม้ว่าเจ้าตัวจะปฏิเสธมาตลอด แต่ก็มีข่าวออกมาตลอดเช่นกัน

ที่สำคัญ อดีตโหร คมช. ผู้หาฤกษ์ปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 ให้ บิ๊กบัง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน มาแล้ว อย่าง อาจารย์วารินทร์ บัววิรัตน์เลิศ ก็ยังคงยืนยันที่ว่า ประเทศไทยจะต้องมีนายกรัฐมนตรี ที่ชื่อ "ป." โดยเขาย้ำนอกรอบมาเสมอว่าคือ พล.อ.ประวิตร ศิษย์เอกของตนเองนั่นเอง

ถึงขั้นที่พรรคเพื่อไทย ปูดแผน 10 ข้อ กปปส. กับทหาร เพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร โดยเฉพาะการให้โควต้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรี เป็นของฝ่ายทหาร และระบุว่า มีหมอดูให้ฤกษ์ปฏิวัติ เป็นวันโลกาวินาศ 14 มกราคม 2557

"ใครจะเขียนแผนอะไรก็ได้ ผมอ่านแล้วผมก็ขำ ให้รอดูแล้วกันว่าจะเป็นจริงหรือเปล่า" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว



แต่ที่ทำให้เกิดความฮือฮาอีกครั้ง หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ เคยระบุว่า "จะไม่เปิด และไม่ปิดประตูปฏิวัติ" ให้แล้วแต่สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด มาแล้ว ก็ยังไม่ยอมพูด ไม่ยอมยืนยันว่า จะไม่ปฏิวัติ "ผมไม่ยืนยัน ผมไม่ตอบ ผมไม่ยืนยัน"

"อย่าไปกลัวในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง เมื่อมองไม่เห็น ก็อย่าไปกลัว เพราะทุกอย่างมีสาเหตุหมด ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม อย่าพูดถึงเรื่องนั้นเรื่องเดียว ทุกเรื่องต้องมีสาเหตุ ต้องมีเงื่อนไข ดังนั้น ต้องไปหาให้เจอว่า อยู่ที่ไหน ถ้าไม่มีเหตุอะไรก็ไม่มีเรื่อง เหมือนเรื่องอีกากับวัว ถ้าวัวมีแผล อีกาก็จะมาจิกหลังทุกวัน ถ้าไม่มีแผลก็ไม่มีอีกา" บิ๊กตู่ ยกนิทาน อีกากับวัวสันหลังหวะ มาเปรียบเทียบ

รวมทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศกร้าวว่า "ใครก็ตามที่ทำให้เกิดความรุนแรง คนนั้นจะต้องรับผิดชอบ จำไว้ ไม่ว่าพวกไหนก็แล้วแต่ ถ้าออกมาเมื่อไร ประชาชนตีกัน มีการบาดเจ็บล้มตาย จลาจล รัฐบาลต้องรับผิดชอบ"



แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะพูดในหลักการ ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ก็ต้องรับผิดชอบก็ตาม แต่การที่ พล.อ.ประยุทธ์ พูดเช่นนี้ ก็ทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต้องแอบน้อยใจอีกครั้ง เมื่อฟังคำให้สัมภาษณ์ของ ผบ.ทบ.

ด้วยเพราะก่อนหน้านั้น ในการประชุมคณะกรรมการอำนวยการ กอ.รมน. เมื่อ 3 มกราคม 2557 ที่สวนรื่นฤดี ด้วยกันนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็เคยให้เหตุผลที่คัดค้านการประกาศใช้ พ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่ให้ใช้แค่ พ.ร.บ.ความมั่นคง เท่านั้นพอแล้ว เพราะเกรงว่าจะทำให้เกิดความสูญเสีย

โดยเฉพาะการเปรียบเทียบว่า ตอนเสื้อแดงปี 2553 นั้น ก่อนประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง มีเหตุการณ์ใช้ความรุนแรง 6 ครั้ง มีการใช้อาวุธสงคราม ระเบิด ยิง จากนั้นพอประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคง เมื่อกุมภาพันธ์ 2553 มีเหตุใช้อาวุธสงครามยิง 24 หรือ 26 ครั้ง จึงมีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในเดือนตุลาคม และจากนั้นยังมีการเหตุการณ์ความรุนแรงอีก 60 กว่าครั้ง รวมทั้งหมดมีเหตุ 96 ครั้ง ยิ่งหากเทียบกันจะเห็นว่า ตอนปี 2553 ใช้เวลาไปตั้ง 9 เดือน แต่ตอนนี้ แค่ 2 เดือน เท่านั้นเอง

โดยมีการให้ข้อคิดในที่ประชุมเพื่อยืนยันให้ใช้แค่ พ.ร.บ.ความมั่นคง ว่า หากรัฐบาลประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ก็จะมีแต่ผลเสีย เหมือนในสมัยที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เป็นรองนายกฯ และ ผอ.ศอฉ. ในปี 2553 ที่ก็ต้องรับผิดชอบ เมื่อเกิดความรุนแรงหรือสูญเสีย

ดังนั้น มาตอนนี้ หากเกิดอะไรขึ้น ทุกคนต้องมีส่วนรับผิดชอบ ด้วยกันหมด รวมทั้งนายกรัฐมนตรี และกรรมการ กอ.รมน. ก็หนีไม่พ้นความรับผิดชอบได้ หากเกิดความสูญเสียเช่นปี 2553 อีก ทหารเองก็โดนดำเนินคดี ทุกวันนึ้ มีแต่คดีประชาชนถูกกระสุนทหาร เสียชีวิต แต่คนลืมไปหมดแล้วว่า ตอนนั้นมีการใช้อาวุธทำร้ายทหาร"

อาจเป็นเพราะเห็นว่า บิ๊กตู่ เครียดๆ นายกฯ ปู เลยแซวว่า "นี่ ผบ. น้อยใจหรือเปล่าคะ" บิ๊กตู่ เลยแซวกลับว่า "แล้วท่านนายกฯ น้อยใจหรือเปล่า ที่ทหารเราต้องทำแบบนี้"

"ไม่น้อยใจ ผบ.ตู่ หรอกค่ะ แค่น้อยใจในโชคชะตา" แม้จะมีเสียงหัวเราะแทรกขึ้นมากลางความเครียด แต่ก็แค่ไม่กี่วินาทีเท่านั้น ด้วยเพราะทุกคนยังคงอยู่กันในความเครียด กับสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

อีกทั้งฝ่ายรัฐบาลก็รู้ว่า ทหารไม่ได้เต็มที่กับรัฐบาล เพราะแม้ว่าทางตำรวจจะขอให้ทหารออกมาทำงานเคียงคู่กับตำรวจ แต่ทหารก็ยังเลือกที่จะอยู่หลังแนวตำรวจ จากที่เดิมขออยู่แต่ในอาคาร

โดยเมื่อ ศอ.รส. ขอกำลังทหารเพิ่มอีก 20 กองร้อย รวมเป็น 40 กองร้อย มาช่วยตำรวจคุมการปิด กทม. นั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็ย้ำไม่ให้ทหารเผชิญหน้าผู้ชุมนุม และให้มีแต่โล่และกระบอง ติดตัวเท่านั้น



มีรายงานด้วยว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ มีการจัดระบบสายการบังคับบัญชาใหม่ คือ ให้กำลังกองร้อยรักษาความสงบเรียบร้อย (ร้อย รส.) ทั้งหมด ของทหาร ขึ้นตรงกับ บิ๊กหมู พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และขึ้นตรงกับ พล.อ.ประยุทธ์ ผบ.ทบ. เลย ในการสั่งการเร่งด่วน ถึงระดับผู้บังคับกองร้อย โดยไม่ต้องรอผ่านไปยังผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกรม และผู้บังคับกองพัน ทั้งนี้ก็เพื่อความรวดเร็ว

แต่ก็ถูกมองว่า เป็นการคุมอำนาจเบ็ดเสร็จของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อหลีกเลียงปัญหา "กล้ามเนื้อนอกบังคับ" อันเกิดจากการที่มี ผบ.หน่วยในบางระดับ ถูกมองว่า เป็นทหารแตงโมบ้าง เป็นทหารในสายชินวัตรบ้าง นั่นเอง

ความจริงแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ นั้น จากที่เคยสนิทสนมกันมาก ในช่วงที่ผ่านมา แต่สถานการณ์ทำให้ต้องห่างๆ กันบ้าง โดยเฉพาะ พล.อ.ประยุทธ์ มักจะระวังตัวเสมอ เมื่ออยู่ต่อหน้า หรือมีภารกิจกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และต้องอยู่ในสายตาสื่อ เขาพยายามที่จะเดินออกห่างๆ

เพราะในการประชุม ผบ.หน่วยขึ้นตรง ทบ. จนถึงระดับผู้บังคับกองพันที่ บก.ทบ. ครั้งล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกตัวว่า ตนเองโดนโจมตีอย่างไร้เหตุ จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะเรื่องใกล้ชิดกับนายกรัฐมนตรี และปล่อยข่าวกล่าวหาเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่ก็ต้องอดทน เพราะ ทบ. ต้องมีจุดยืนทั้งการเป็นทหารของประชาชนและเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ กลไกรัฐบาล

และมีบทเรียนมาแล้ว



แต่ทว่า ในทางลับแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะ ผบ.ทบ. รอง ผอ.รมน. ก็ยังมีการพูดคุยกันเสมอๆ ทั้งเวลาพบกันในงานต่างๆ และการโทรศัพท์ปรึกษาหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เสมอๆ

ด้านหนึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็น้อยใจ พล.อ.ประยุทธ์ ที่ก็สนิทสนม ทำงานด้วยกันมากว่า 2 ปี ที่ดูเหมือน ไม่ช่วยอะไรรัฐบาล เพราะทหารวางเฉยอย่างเดียว

"ดิฉันไม่ได้ขอร้อง ไม่ได้อยากให้ทหารไปสลายม็อบ นะคะ เพราะดิฉันก็ไม่ต้องการให้ใช้ความรุนแรง แต่ดิฉันอยากให้ทหารช่วยลดจำนวนผู้คนที่จะมาร่วมชุมนุม เพราะทหารเก่งเรื่องจิตวิทยามวลชน ก็น่าจะไปทำความเข้าใจ หรือทำอะไรได้" สายข่าวระบุ คำพูดของนายกฯ หญิง นอกเหนือจากที่เธอมักย้ำเสมอว่า เธอได้ยอมถอยเสียจนไม่รู้จะถอยเช่นไรแล้ว

ฝ่าย พล.อ.ประยุทธ์ เอง ก็เปรียบเทียบว่า ตนเองเป็นเสมือน "กระสอบทราย" ที่โดนทุกฝ่ายกระหน่ำโจมตี กดดัน มาตลอด จนแอบเปรยว่า "นอนไม่ค่อยหลับ" มาเป็นเดือน

แต่สิ่งหนึ่งที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ขอให้ พล.อ.ประยุทธ์ และ ผบ.เหล่าทัพ ช่วยเหลืออีกอย่าง ก็คือ การเจรจากับนายสุเทพ อีกครั้งหนึ่ง โดยเธอย้ำเรื่องนี้ถึง 2 ครั้ง ทั้งในการพูดคุยส่วนตัวกับ ผบ.เหล่าทัพ หลังออกจากอวยพรปีใหม่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ และในการประชุมบอร์ด กอ.รมน. เมื่อ 3 มกราคมที่ผ่านมา

โดยทั้ง บิ๊กเข้ พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ต่างก็เห็นด้วยที่จะให้มีการพูดคุยกันอีกครั้ง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกตัวว่า ไม่รู้ว่านายสุเทพ จะยอมคุยหรือไม่ เพราะคุยกันแล้วก็ไม่ได้ผล เพราะต่างฝ่ายต่างก็ไม่ยอมกัน

ด้วยเพราะหลังจากที่ ผบ.เหล่าทัพ เคยเป็นคนกลางในเจรจามาแล้วครั้งหนึ่ง ใน ร.1 รอ. เมื่อ 1 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมาแล้ว จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ก็พยายามที่จะพูดคุยอย่างไม่เป็นทางการกับนายสุเทพ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มาหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เป็นผล

จน พล.อ.ประยุทธ์ เปรยว่า ต่างฝ่ายต่างไม่ยอม เพราะฝ่ายหนึ่งก็อ้าง อำนาจประชาชน ส่วนอีกฝ่ายก็อ้างกฎหมาย กติกา ก็เลยไม่ต้องไปไหนกัน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่