[SR] รีวิว OPPO N1 by bacidea

กระทู้รีวิว


ปลายปีนี้ แต่ละค่ายต่างส่งเรือธงเพื่อสร้างสีสันส่งท้าย ซึ่งส่วนใหญ่จะแข่งกันที่ความเร็ว หันมาใช้ cpu รุ่นใหม่อย่าง Snapdragon 800 ทั้ง LG G2, Xperia Z1 รวมทั้ง Note 3 บางโมเดล

ต่างจาก OPPO N1 เปิดตัวปลายปีเหมือนเจ้าอื่น แต่เลือกใช้ Snapdragon 600 ซึ่งมีความเร็วน้อยกว่า และหันไปเน้นกล้องแทน แต่สิ่งที่ทำให้แฟนๆส่ายหน้าก็คือราคาเปิดตัว 19,900 บาท เพราะเมื่อเทียบกับค่ายอื่นแล้วแพ้เรื่อง cpu แต่เท่าที่ผมได้ลองใช้งาน มันไม่ได้มีดีแค่กล้องครับ... มีเยอะจนอาจจะพูดถึงไม่ครบด้วยซ้ำ

สเป็ก
- CPU Snapdragon 600
- RAM 2 GB
- พื้นที่ 16 GB
- หน้าจอ 5.9 นิ้ว ความละเอียด Full HD 1920 x 1080 (377 PPI)
- กล้อง 13 ล้าน f/2.0 พร้อมแฟลชคู่ ปรับหมุนได้ 206 องศา
- น้ำหนัก 213 กรัม
- แบต 3610 mAh
- มาพร้อม O-Click และ Color rom



ด้านบนเป็นส่วนของกล้องหมุนได้ ด้านล่างเรียงจากหูฟัง ช่อง Micro USB และลำโพง
ด้านซ้ายเป็นช่องใส่ซิม ส่วนด้านขวาเป็นปุ่มเปิด-ปิด และปรับเสียง

ทีนี้มาพูดถึงความเร็วกันบ้าง Snapdragon 600 พูดลอยๆก็คงคิดไม่ออก และผมไม่ใช่พวกบ้าผลการทดสอบ benchmark ซะด้วย ดังนั้นขอเทียบกับรุ่นใกล้เคียงกันก็คือ HTC One ซึ่งความจริงผมว่ามันก็เร็วเพียงพอแล้ว อยู่ที่ว่าจะทำรอมออกมาดีแค่ไหน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ Color rom ที่ OPPO ใส่มาให้



ปุ่มควบคุมด้านล่างเรียงแบบเดิมคือ menu, home, back แต่การทำงานต่างจากเดิมเล็กน้อยคือกด menu หรือ back ค้างไว้ จะไม่มีคำสั่งพิเศษ แต่ถ้ากด home ค้างจะเป็น google now และถ้ากด home 2 ครั้งจะเป็น recent apps



Dock ด้านล่างใส่ได้ 5 icon และเปลี่ยนธีมของทั้งระบบได้



ส่วนแถบแจ้งเตือนด้านบน ถ้าลากจากด้านบนขวา จะเป็นการแจ้งเตือนแบบที่เราเคยชิน
ถ้าเลื่อน Quick Setting ลงอีกครั้งจะแสดงการตั้งค่าทั้งหมด

ถ้าเลื่อนจากมุมบนซ้ายจะเป็นการใช้ Hand Gesture Board สำหรับสั่งงานเครื่อง เช่น เขียนตัว F เพื่อเปิด Facebook จากการใช้งานจริงถือว่าทำงานได้ฉลาดและแม่นยำมาก และสามารถสร้าง Gesture เองได้



จุดเด่นของ Color rom ที่เห็นได้ชัดๆเลยก็คือเรื่องของ Motion & Gesture ที่น่าสนใจก็อย่างเช่น
- เปิดแอพกล้องทันทีที่หมุนกล้องมาด้านหน้า
- จับภาพหน้าจอโดยลาก 3 นิ้วขึ้นหรือลง
- ขยุ้มหน้าจอด้วย 3-5 นิ้วเพื่อเปิดกล้อง
- ปรับเสียงด้วยการลาก 2 นิ้วขึ้นหรือลง
- เคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อเปิดจอ

ต่อมาก็ Guest mode ที่ทำได้ดีกว่าของ LG G2 ที่ผมเคยใช้ เพราะ Guest mode บน Color rom ยืดหยุ่นกว่า เลือกได้ว่าจะให้เข้าถึงแอพไหนได้บ้าง



วิธีใช้ก็คือการตั้ง password เป็น 2 ชุด ชุดนึงสำหรับใช้งานปรกติ และอีกชุดสำหรับคนอื่น ซึ่งหน้าตาการใช้งานทั้ง 2 แบบจะเหมือนกันแบบแยกไม่ออก ต่างกันแค่ว่าเราเลือกซ่อนข้อมูลบางอย่างจากคนอื่นได้ เช่น ซ่อนบางรูป บางคลิป หรือบางแอพ



ลูกเล่นที่ช่วยเพิ่มความสนุกอย่าง Exclusive Space ว่ากันง่ายๆมันก็คือ Widget แบบเต็มหน้านั่นเอง ซึ่งตอนนี้มีให้ใช้งาน 2 อย่างคือส่วนของกล้อง กับเครื่องเล่นเพลง

ในส่วนของกล้อง ทำหน้าที่คล้าย diary กดถ่ายรูปแล้วจะแสดงบน timeline และส่วนแผ่นเสียงก็เพียงลากหัวอ่านมาใส่ ก็จะเริ่มเล่นเพลงทันที



ส่วน O-Touch หรือการควบคุมผ่านฝาหลัง จะมีเส้นกรอบบางๆ บ่งบอกครับ



สิ่งที่ O-Touch ทำได้ก็อย่างเช่น
- เลื่อนหน้าจอ
- กดถ่ายรูป หรืออัดเสียง
- ใช้ควบคุม Exclusive Space

แต่ใช้ได้สักพัก ผมรู้สึกว่ารบกวนการทำงาน มากกว่าจะเพิ่มความสะดวก เพราะระหว่างการถือ นิ้วไปโดนมันก็เลื่อนหน้าเอง



การแสดงผล เลือกได้ว่าจะแสดงชื่อเครือข่ายหรือเป็นโลโก้ ส่วนของ Font ระบบก็ปรับเปลี่ยนและโหลดเพิ่มได้



สำหรับการตั้งค่าอย่างอื่นที่น่าสนใจได้แก่
- ระบบเสียง Dolby Effect
- ใส่รหัสล็อคบางแอพ
- บล็อกเบอร์ในวันที่ต้องการพักผ่อน
- ตั้งค่าการแจ้งเตือนของแต่ละแอพ หรือปิดทั้งหมด
- เลือกแอพที่ให้ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพื่อประหยัดเนท
- จัดการ permission เมื่อแอพต้องการเข้าถึงส่วนต่างๆของระบบ จะขออนุญาตเราก่อน
- โหมดประหยัดพลังงาน
- ตั้งเวลาเปิด-ปิดเครื่อง



แอพจัดการไฟล์มีการแบ่งประเภทไฟล์ไว้ให้ และมีระบบ Cleanup สำหรับเพิ่มพื้นที่ด้วยการกำจัดไฟล์ขยะ



แอพดูหนังสามารถล็อกหน้าจอ ป้องกันมือไปโดนระหว่างดูหนัง ถ้าเลื่อนนิ้วขึ้น-ลงที่ด้านขวาจะเป็นการปรับเสียง ส่วนด้านซ้ายเป็นการปรับแสง และย่อเป็นหน้าต่างเล็กๆได้



แอพฟังเพลงสามารถเลือกเพลงจาก Folder และตั้งเวลาปิดเพลงได้ ส่วนปุ่มสแกนมีไว้เพื่อค้นหาเพลงทั้งหมดในเครื่องครับ



อัลบั้มรูปเลือกการแสดงผลได้ 3 แบบคือ แบบปรกติ, เรียงตามวัน, เรียงตาม folder และมีลูกเล่นสำหรับทำ collection แล้วแชร์ได้



การโทรก็จัดมาให้ครบมากๆ ทั้งการโทรด่วน, รวมประวัติการโทรไว้กับ dial pad เพื่อความสะดวก, บล็อกเบอร์, โทรซ้ำอัตโนมัติ, แจ้งเตือนเมื่อปลายทางรับสาย รวมทั้งการบันทึกเสียงสนทนา



O-Click ที่เป็นอุปกรณ์เสริม ตอนแรกมีข่าวลือว่าเปลี่ยนแบตไม่ได้ ถ้าแบตหมดต้องซื้อใหม่ เรื่องนี้ไม่จริงครับ สามารถเปลี่ยนแบตได้ และเป็น Bluetooth 4.0 ซึ่งประหยัดไฟกว่า และมีระยะการใช้งานไกลสุด 15 เมตร

สิ่งที่ O-Click ทำได้ก็คือ
- ใช้เป็นรีโมทเพื่อกดถ่ายรูป
- กด 2 ครั้งเพื่อค้นหา N1 (เหมือนมีสายโทรเข้า)
- แจ้งเตือนเมื่อ N1 หลุดจากระยะ O-Click
- กดเรียก O-Click (เสียงบี๊บ)

และสุดท้ายก็ถึงจุดเด่นของรุ่นนี้... กล้อง!



เริ่มจากงานประกอบที่ใช้ชิ้นส่วนจำนวนมาก เพื่อให้ได้ภาพที่ดีที่สุด ใช้เลนส์ 6 ชิ้น เทคโนโลยี Pure Image แฟลชคู่ และ f/2.0 ...ซึ่งทางเทคนิคนี่ช่างมัน ผมเน้นใช้จริง

อย่างแรก กล้องรุ่นนี้หมุนได้ 206 องศา หลายคนคิดว่ามันน่าจะพังง่าย ดังนั้น OPPO จึงมีการทดสอบในส่วนนี้และยืนยันว่าหมุนได้ราว 1 แสนครั้ง

ส่วนแฟลชคู่ มันไม่ได้ทำงานพร้อมกัน แต่มันแบ่งการทำงาน ถ้าใช้หมุนกล้องมาด้านหน้ามันจะใช้แฟลชคนละตัวกับโหมดกล้องหลัง



ความละเอียดสูงสุด 13 ล้าน แต่ถ้าตั้งแบบ 16:9 จะอยู่ที่ 10 ล้าน นั่นหมายความว่าเราจะมีกล้องหน้า 13 ล้านเช่นกัน โหมดการทำงานมีไม่เยอะ แต่ครอบคลุมการใช้งานจริงก็คือ Normal, HDR, Panorama, Beautify, Slow Shutter

แต่ละโหมดเราคงคุ้นกันอยู่แล้วยกเว้น Slow Shutter ถ้าเอาแบบบ้านๆก็คือ ใช้ถ่ายแสงไฟตอนกลางคืน ประมาณนี้ครับ (ไม่ได้ถ่ายเอง)



ส่วนตัวอย่างการใช้จริง ผมลองพา N1 ไปตะเวนตามที่ต่างๆ ประมาณนี้















สรุป เรื่องความเร็วในการใช้จริง บางรุ่นที่สเป็กสูงกว่านี้แต่ทำรอมมาไม่ดี ใช้จริงอืดก็เคยเจอมาแล้ว แต่สำหรับ N1 ลื่นไหลดีครับ ยังไม่เจออาการหน่วง (แต่มี error บ้างเนื่องจากเป็นเครื่องทดสอบ)

ส่วนลูกเล่นต่างๆ ก็มีเยอะไม่แพ้ค่ายอื่นๆ แต่จะหนักไปทาง Gesture ซะส่วนใหญ่ ซึ่งส่วนตัวผมไม่ชอบแนวนี้ เพราะมีเยอะเกินก็ไม่ได้ใช้ เพราะจำไม่ได้ว่ามี!



ทางออกก็คือการหนีไปลง CyanogenMod ซึ่งเป็นรอมที่ใกล้เคียงแอนดรอยเดิมๆ ข้อดีคือทำงานได้เร็วมาก และได้อัพเดทเรื่อยๆ ซึ่งพวกขาโมจะรู้ดี เพราะ N1 เป็นรุ่นที่จับมือกับ CyanogenMod อย่างน้อยก็อุ่นใจว่ารุ่นนี้ไม่ตกรุ่นง่ายๆ

ทีนี้ก็อยู่ที่คุณแล้วแหละ ที่ต้องพิจาณาว่าความสามารถประมาณนี้ คุ้มค่าที่จะจ่ายหรือไม่ ยิ้ม

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
Source: http://www.bacidea.com/review-oppo-n1.html
ชื่อสินค้า:   OPPO N1
คะแนน:     
**SR - Sponsored Review : ผู้เขียนรีวิวนี้ไม่ได้ซื้อสินค้าหรือเสียค่าบริการเอง แต่มีผู้สนับสนุนสินค้าหรือบริการนี้ให้แก่ผู้เขียนรีวิว โดยที่ผู้เขียนรีวิวไม่ได้รับสิ่งตอบแทนอื่นใดในการเขียนรีวิว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่