สอบถามความเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมในการใช้คำราชาศัพท์กับผู้นำทางการเมืองและราชวงศ์ต่างประเทศครับ

สวัสดีทุกคนครับ
ขอออกตัวก่อนนะครับว่าตั้งใจสร้างกระทู้ในห้องนี้เพราะเห็นว่าเนื้อหาที่จะพูดไม่ได้เกี่ยวกับภาษาโดยตรง
แต่เป็นการพูดในบริบทของสังคมและการเมืองมากกว่า ดังนั้นหากใครคิดว่าเนื้อหาต่อไปนี้
ไม่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์ของห้องก็ต้องขออภัยด้วยนะครับ


ทุกคนคงทราบนะครับว่าเวลาคนไทยสื่อสารกับพระบรมวงศานุวงศ์ของเราเอง ไม่ว่าจะเป็นด้วยการพูดหรือการเขียน
หรือการกล่าวในลักษณะของการอ้างอิงถึงอย่างเป็นทางการ เราจำเป็นต้องใช้คำราชาศัพท์
ซึ่งความเคร่งครัดของระเบียบการใช้ก็ขึ้นอยู่กับความเป็นทางการในแต่ละโอกาส

ประเด็นคือการใช้คำราชาศัพท์เท่าที่ปรากฏตามสื่อต่างๆ ไม่ได้จำกัดการใช้เฉพาะกับพระบรมวงศานุวงศ์และคนไทยเท่านั้น
หากแต่ยังปรากฏการใช้กับพลเมืองต่างชาติ ผู้นำทางการเมืองระดับสูง และพระราชวงศ์ต่างประเทศด้วย
การใช้คำราชาศัพท์ดังกล่าวปราฏใน 2 ลักษณะ ได้แก่

1. การนำเสนอข่าวที่มีสาระเกี่ยวกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทยอันเกี่ยวเนื่องกับชาวต่างชาติทุกระดับ

- เช่น ภาษาที่ใช้ในการรายงานข่าวในพระราชสำนักในโทรทัศน์ หรือข่าวที่ลงพิมพ์ในสื่อต่างๆ

- สังเกตได้ว่า หากคนที่ต้องปฏิบัติกิจธุระที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทยไม่ใช่พระราชวงศ์ แต่เป็นสามัญชน
ระเบียบการใช้คำราชาศัพท์ในการรายงานจะคงเดิมเกือบทั้งหมด
เช่น ใช้บุรุษสรรพนาม "ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท" "ใต้ฝ่าละอองพระบาท
ใช้คำกริยา "ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย" "ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณ" ฯลฯ

- แต่หากผู้ที่เข้าพบพระบรมวงศานุวงศ์เป็นผู้นำทางการเมืองหรือเป็นพระราชวงศ์ระดับสูงของประเทศ
ก็จะมีการลดความเคร่งครัดของการใช้คำราชาศัพท์กับฝ่ายที่เข้าพบลงบ้าง เช่น

"...ทรงรับนายบารัค โอบาม่า...ในการนี้นางสาวยิ่งลักษณ์  ชินวัตรและ...ร่วมเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท...
นางฮิลารี  คลินตัน...และคณะร่วมถวายพระพรชัยมงคล...ทั้งนี้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา
สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณต่อความสัมพันธ์ที่ดี...ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกาได้ถวายของขวัญ...
ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานหนังสือ..."
แม้จะลดความเคร่งครัดของการใช้คำราชาศัพท์ลงบ้าง แต่ก็จะเห็นว่าคำที่เน้นตัวหนาเป็นภาษาที่ค่อนข้างลักลั่น
แสดงสถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างผู้เข้าพบและผู้ให้การต้อนรับ

2. การแปลเอกสารภาษาอังกฤษที่เกี่ยวเนื่องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย

- เช่น จดหมายอวยพรของผู้นำต่างประเทศ

- (อันนี้ผมไม่ทราบจริงๆ ว่าสำนวนแปลมีหลายสำนวนหรือเปล่า และใครมีหน้าที่แปล แต่คิดว่าไม่ใช่ประเด็นสำคัญ)

- ถ้อยคำทั้งหมดในจดหมายหลายฉบับถูกแปลให้เป็นคำราชาศัพท์ เช่น จดหมายอวยพรของประธานาธิบดีสหรัฐ
(คัดลอกข้อความมาจากเฟซบุ๊คของ The Nation) ความว่า

ขอเดชะฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม
ในนามของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ วันที่ ๕ ธันวาคมนี้
ดังที่ข้าพระพุทธเจ้าได้กราบบังคมทูลพระกรุณาในคราวที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เข้าเฝ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทที่กรุงเทพมหานครเมื่อปีที่แล้ว สหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อพันธไมตรีและความร่วมมือกับประเทศไทย ในปีนี้ ทั้งสองประเทศได้เฉลิมฉลองปีที่ ๑๘๐ แห่งมิตรภาพอันมั่นคงระหว่างกัน นับตั้งแต่การลงนามสนธิสัญญาทางไมตรีและพาณิชย์ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๖ ในภาคอารัมภบทของสนธิสัญญา ระบุไว้ว่า มิตรภาพอันบริสุทธิ์จริงใจของทั้งสองชาติจะอภิบาลสายสัมพันธ์นี้ “สืบไปชั่วฟ้าแลดิน” จิตวิญญาณนี้ได้กำหนดแนวทางความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และไทยเรื่อยมา โดยเป็นความร่วมมือที่กว้างขวาง หยั่งลึก และมิอาจสั่นคลอนได้ ทั้งสองประเทศยังคงเสริมสร้างความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในด้านความมั่นคง การค้าการลงทุน และการพัฒนามนุษย์ ด้วยเหตุนี้ ข้าพระพุทธเจ้าจึงเชื่อว่า อนาคตของความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ และไทยจะสดใสโชติช่วง
ข้าพระพุทธเจ้าขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสถวายพระพรชัยมงคลให้ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาททรงพระเจริญยิ่งยืนนาน และขออวยพรให้ประชาชนชาวไทยประสบแต่สิ่งดีงามในวันพิเศษเช่นนี้
ด้วยเกล้าด้วยกระหม่อมขอเดชะ
นายบารัค โอบามา

https://www.facebook.com/NationChannelTV/posts/10152035681327450:0

ขอตัดประเด็นเรื่องสถานภาพและการดำรงอยู่ของคำราชาศัพท์ในสังคมไทยออกก่อนนะครับ
ผมขอถามแค่ว่าการใช้คำราชาศัพท์กับคนต่างชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางการเมืองและพระราชวงศ์ระดับสูง
เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่อย่างไร ถ้าไม่เหมาะสม ควรได้รับการปรับปรุงอย่างไรบ้าง
โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่า การใช้คำราชาศัพท์เฉพาะในบริบทของพลเมืองไทย
เป็นสิ่งที่สามารถทำความเข้าใจและยอมรับได้ แม้จะมีข้อโต้แย้งอยู่บ้างในหลายๆ ประเด็นก็ตามที
ทั้งนี้เนื่องจากเราปฏิเสธการเป็นส่วนหนึ่งของลำดับขั้นในสังคมไม่ได้
แต่การใช้คำราชาศัพท์ในบริบทของพลเมืองต่างชาติไม่ว่าจะเป็นระดับไหน
ออกจะเป็นเรื่องที่ทำความเข้าใจได้ได้ยากและลำบากที่จะหาเหตุผลมารองรับอยู่มากทีเดียว
เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความต่ำสูงในสังคมที่มีลำดับขั้นของเรา
ยิ่งไปกว่านั้นประเด็นนี้ก็ยังเกี่ยวข้องกับการให้เกียรติและการให้ความเคารพสถานภาพของบุคคลด้วย

ผมอยากรู้ว่าคิดยังไงกันบ้างครับ?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่