วิเคราะห์ "วันเฉลิม"

หลังจากที่ดูทองเนื้อเก้ามาได้ 2-3 วันมานี้ หลายคนอาจจะเพลียกับวันเฉลิมในช่วงหลังๆ ที่ดูจะกตัญญูมากจนเกินเหตุ (จนบางทีผมก็อยากจะให้วันเฉลิมรับประทานสร้นตรีนซะที)
วันนี้ผมเลยลองใช้วิชา "จิตวิทยาเบื้องต้น" วิเคราะห์วันเฉลิม และก็ได้มาเป็นดังนี้ครับ
วันเฉลิมเป็นเด็กที่ถูกลำยองจิกหัวใช้มาตั้งแต่เด็ก จนมีความคิดฝังหัวไปแล้วว่าตนเองมีหน้าที่ต้องเลี้ยงแม่ เลี้ยงน้อง ในช่วงที่ยังสามารถพาวันเฉลิมออกมาจาก ณ จุดนั้นได้ กลับไม่มีใครคิดจะพาออกมา คนที่มีบารมี (เช่น ย่าปั้น ยายแล) ต่างก็มืดบอดด้วยทิฐิ และพวกกลุ่มคนดี (เช่น สันต์) ก็อ่อนแอ ปวกเปียก ไม่สามารถช่วยเหลืออะไรวันเฉลิมได้เลย (เห็นได้ชัดในตอนที่มีเงินแต่ไม่สามารถไปไถ่ตัววันเฉลิม แต่สามารถไปแต่งเมียใหม่ได้) จนวันเฉลิมก็น้อยใจพ่อซ้ำแล้วซ้ำเล่า แต่สันต์ก็ยังปวกเปียกยังงั้นต่อไปอีก จนกระทั่งวันเฉลิมเกิดความผูกพัน และหันไปให้ความสำคัญต่อลำยองและน้องๆ มากกว่าคนอื่นๆ (ที่ดูน่าจะมีบุญคุณมากกว่า) ซึ่งนั่นก็ทำให้วันเฉลิมแสดงอาการกตัญญูกับแม่ และเป็นห่วงน้องๆ มาก จนบางครั้งก็แสดงออกมามากเกินไป
นอกจากนี้แล้ว คำสอนต่างๆ ที่ทั้งหลวงตา พ่อ ฯลฯ สอน ถึงแม้ว่าจะเป็นความดีก็จริง แต่ไม่มีใครเคยสอนให้วันเฉลิมรู้จักคำว่า "พอดี" เลย เลยทำให้วันเฉลิมพยายามปฏิบัติความกตัญญูจนเกินความพอดี และเมื่อจะหันมาเปลี่ยนความคิดวันเฉลิมใหม่ ก็กลายเป็นไม้แข็งเกินกว่าจะดัดได้เสียแล้ว
ดังนั้น วันเฉลิมไม่ได้เยอะเกินไปแต่อย่างใด แต่วันเฉลิมไม่รู้จักคำว่า "พอดี" และ "พอประมาณ" ต่างหาก
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่