ศธ. เชื่อหลักสูตรใหม่ 3 ปี เห็นผล

กระทู้ข่าว
ศ.ดร.ภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะประธานคณะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า หลักสูตรการศึกษาใหม่ก็มีทิศทางใหม่ๆ ให้เห็นพอสมควร เพื่อให้เรามุ่งเป้าไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นทิศทางที่ดี จะให้พลิกโฉมทันทีคงเกิดขึ้นไม่ได้ทันที เพียงแต่จะเป็นพิมพ์เขียวในการเดินไปข้างหน้าอย่างเข้มแข็งกว่าเดิม

“ถ้าทำตามแผนการศึกษาของไทยจะมีการพัฒนาเพิ่มขึ้น คาดว่าภายใน 3 ปีจะเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงจากตัวชี้วัดต่างๆ เช่น เด็กอ่านหนังสือไม่ออกน้อยลง การวัดผลจากโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (PISA) ได้ลำดับที่ดีขึ้น คะแนนโอเน็ตเพิ่มขึ้น เป็นต้น แต่คงไม่สามารถพลิกโฉมแบบทันทีได้ โดยสภาพการณ์ของบ้านเราเป็นไปไม่ได้”

นอกจากนี้ยืนยันว่าหลักสูตรการศึกษาใหม่ไม่ได้เลียนแบบมาจากต่างประเทศ นักวิชาการที่พูดต้องมาดูรายละเอียดของหลักสูตรจริงๆ จึงจะรู้ว่าไม่ได้เป็นการเลียนแบบ แต่การที่จะศึกษาว่าประเทศต่างๆ เขาเรียนอะไรกันบ้าง ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำ การจัดการศึกษาให้คนไทยมีคุณภาพเป็นเรื่องจำเป็น เพราะประเทศไทยไม่ได้อยู่คนเดียว เราต้องทัดเทียมนานาประเทศ

เราต้องดูภาพของประเทศเรา เพราะความรู้ทางวิชาการต่างๆ บางวิชาเป็นสากล ความรู้เหล่านั้นไม่ได้เกิดขึ้นในเมืองไทย เช่น ฟิสิกส์ เคมี ชีววิทยา ทฤษฎีต่างๆ ก็เป็นเรื่องของต่างประเทศที่เขาคิดค้นกันขึ้นมา

หลักสูตรการศึกษาแบบเดิมมีมาแล้ว 12 ปี เป็นหลักสูตรที่ครูต้องใช้ความสามารถในการจัดการเรียนการสอนเอง ซึ่งความสามารถของครูไทยไม่ได้มีศักยภาพสูงขนาดนั้น การทำแผนการสอนจึงพึ่งหนังสือเรียนเป็นหลัก การผลิตหนังสือเรียนของเอกชนก็หลากหลาย หากเจอหนังสือที่ไม่ดีก็เป็นผลเสียกับเด็ก หลักสูตรเดิมจะดีหากนำไปใช้กับครูที่มีความสามารถสูง จึงจำเป็นต้องปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาใหม่

ผลกระทบในวงการการศึกษาบ้านเราจากการใช้หลักสูตรเดิม คือ ระบบการศึกษาที่แย่ลง เห็นได้จากผลการสอบโอเน็ตที่คะแนนลดลง การอ่านออกเขียนได้ลดลง การจัดอันดับการศึกษาต่างๆ ที่ถดถอยลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้หลักสูตรการศึกษาใหม่ได้แบ่งหลักสูตรออกเป็น 2 ส่วน คือหลักสูตรแกนกลางและหลักสูตรสถานศึกษา ข้อดีคือการมีหลักสูตรท้องถิ่นรวมอยู่ด้วย จะทำให้เด็กได้เรียนรู้สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาท้องถิ่น

สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้ที่ถูกปรับให้เหลือ 6 กลุ่ม ประกอบไปด้วย 1.ภาษาและวรรณกรรม 2.วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและคณิตศาสตร์ 3.การดำรงชีวิตและโลกของงาน 4.ทักษะสื่อและการสื่อสาร 5.สังคมและความเป็นมนุษย์ และ 6.อาเซียน ภูมิภาค และโลก

ไทยรัฐ

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่